พุธ 22 ก.ย.--Market Talks :
ที่มา : บมจ.หลักทรัพย์ เอเชีย พลัส

กลยุทธ์การลงทุน
     แม้ตลาดยังขาดปัจจัยบวกใหม่ ๆ หนุน แต่ Fund Flow ยังอยู่ในตลาดหุ้นไทย และจะหนุนให้ตลาดหุ้นไทยแกว่งตัวในเชิงบวก โดยแนะนำให้ซื้อและถือหุ้น Domestic Plays (เช่น KK, CK, ITD BTS, BMCL, SPALI, AP, LPN) ในสัดส่วนที่มากกว่าหุ้น Global Plays (เช่น BANPU, PTTCH, TOP, PTTAR) 
Fed ยืนดอกเบี้ยนโยบายที่เดิม พร้อมอัดฉีดเงินเข้าระบบ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ 
     วานนี้ในการประชุมของธนาคารกลางสหรัฐ (Fed) สรุปให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับต่ำ 0-0.25% เช่นเดิม เพราะยังมีความกังวลต่ออัตราเงินเฟ้อในสหรัฐ ที่อยู่ในระดับต่ำเพียง 1.25% ขณะที่คาดว่าอัตราการว่างงานจะยังอยู่ในระดับสูงเกิน 9% ไปถึงปีหน้า ด้วยเหตุนี้ จึงมีความเป็นไปได้ที่ Fed จะอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจ ผ่านการซื้อพันธบัตรรัฐบาล เพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจของสหรัฐในระยะสั้น รวมถึงการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจอื่นๆ น่าจะเกิดขึ้นนับจากนี้ โดยเฉพาะนโยบายการลงทุนสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน ที่ประธานาธิบดีสหรัฐ ได้นำเสนอก่อนหน้านี้ ภายใต้ Obamanomics มูลค่าลงทุนราว 5 หมื่นล้านเหรียญฯ (คิดเป็นเพียง 0.3% ของ GDP Growth ในสหรัฐ) แต่อย่างไรก็ตาม มาตรการนี้ต้องชะลอออกไปก่อน เนื่องจากวุฒิสมาชิกใกล้ครบอายุการบริหารงานในช่วงสิ้นเดือนนี้  และจะต้องรอให้การเลือกตั้งวุฒิฯ ใน 2 พ.ย. นี้เสร็จสิ้น จึงจะได้วุฒิฯ ชุดใหม่เข้ามาสานต่อนโยบายดังกล่าวได้ ในระยะสั้นจึงเกิดช่องว่าง ในการผลักดันนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตามจากการสำรวจมุมมองของนักลงทุนในสหรัฐต่อเศรษฐกิจในสหรัฐ ล่าสุดพบว่าราว 45% เชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มมีเสถียรภาพ ขณะที่  37% ยังกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจสหรัฐ และมีส่วนน้อยเพียง 18% ที่มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีแนวโน้มที่ดีขึ้น โดยประเด็นหลักที่ยังเป็นห่วงคือ ค่าเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า ปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และขาดดุลงบประมาณ อย่างไรก็ตามหากพิจารณาดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐทุกตลาด พบว่าฟื้นตัวต่อเนื่องติดต่อกันเกือบ 1 เดือนที่ผ่านมา แม้ยังมีความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจที่อ่อนแอ แต่เป็นการบ่งบอกว่าตลาดหุ้นสหรัฐได้ซึมซับความเสี่ยงเหล่านั้นไปแล้วระดับหนึ่ง 
เสถียรภาพรัฐบาล กับความคืบหน้าคดียุบพรรค เริ่มถ่วงน้ำหนักต่อตลาดมากขึ้น
     เสถียรภาพทางการเมือง ถือว่าเป็นดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของประเทศ และ Sentiment การลงทุนในตลาดหุ้นที่สำคัญอีกประการหนึ่ง โดยปัจจุบันมีปัจจัยเร่งความร้อนแรงที่สำคัญ 2 ประการคือ คดียุบพรรคประชาธิปัตย์ และความเป็นเอกภาพของรัฐบาล ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยอาจนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้ โดยในส่วนของคดียุบพรรคกรณีเงินสนับสนุนพรรคการเมือง 29 ล้านบาท ศาลรัฐธรรมนูญได้สอบพยานฝ่ายผู้ร้อง (อัยการ + กกต.) เรียบร้อยแล้ว และอยู่ในขั้นตอนของการสืบพยายฝ่ายผู้ถูกร้อง (พรรคประชาธิปัตย์) ซึ่งหลังจากนั้นก็จะมีคำตัดสินออกมา ซึ่งหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำตัดสินให้ยุบพรรคฯ และตัดสิทธิทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคในชุดที่มีการกระทำความผิด ก็จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง โดยอาจเกิดการสลับขั้วทางการเมืองได้ หากไม่มีการยุบสภาฯ ก่อนหน้าที่ศาลจะมีคำตัดสิน อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องติดตามได้แก่ เรื่องของความมีเอกภาพของพรรคร่วมรัฐบาล เพราะจากการติดตามข่าวในช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่ามีหลายกรณีที่สะท้อนภาพความขัดแย้งในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการร่วมรัฐบาล เริ่มจากกรณีที่พรรคร่วมรัฐบาลเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ แต่พรรคประชาธิปัตย์ก็มีมติไม่เห็นด้วย, กรณีรถเมล์ NGV 4,000 คัน ซึ่งกลุ่มพรรคภูมิใจไทย เสนอมาตั้งแต่เริ่มต้นการทำงานของรัฐบาล แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่สามารถดำเนินการได้ , การเสนอร่าง พ.ร.บ. นิรโทษกรรม ซึ่งพรรคภูมิใจไทยได้รับการสนับสนุนจากพรรคชาติไทยพัฒนา ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ยังคงท่าที่เดิมคือไม่เห็นด้วยกับร่างดังกล่าว และกรณีล่าสุดได้แก่ การแต่งตั้ง ปลัดกระทรวงมหาดไทย ซึ่งดูเหมือนจะเป็นประเด็นความขัดแย้งที่มีการตอบโต้ผ่านสื่อ ที่ค่อนข้างร้อนแรง
ค่าเงินเอเซียแข็งค่า ยังเป็นประเด็นบวกต่อตลาดหุ้นในเอเซีย รวมถึงไทย
     ภาวะเศรษฐกิจของเอเซียที่ฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว ในช่วง 1H53 และแม้จะมีแนวโน้มชะลอตัวลงในงวด 2H53 ก็ตาม แต่เป็นไปในทิศทางเดียวกับเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตาม ถือว่าอัตราการเติบโตเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะประเทศที่เป็นตัวจักรสำคัญในเอเซีย เช่น จีน และอินเดีย เป็นต้น ประกอบกับแนวโน้มการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดกั้นเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นการใช้นโยบายการเงินเข้มงวด เกือบทุกแห่งในแถบเอเซีย ได้หนุนให้ค่าเงินเอเซียมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง นอกจากนี้ประเทศจีนเองก็ยังมีประเด็นขัดแย้งกับสหรัฐ เพราะถือว่าได้ดุลการค้ากับสหรัฐมากที่สุดในขณะนี้ และถูกสหรัฐกดดันให้ปรับเปลี่ยนระบบอัตราแลกเปลี่ยนให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งของจีน ขณะที่ประเทศไทย ทาง ธปท. เตรียมประกาศมาตรการเพิ่มเติม เพื่อส่งเสริมให้เงินทุนไหลออกต่างประเทศได้ง่ายขึ้น จากปัจจุบันที่จำกัดวงเงินไหลออก ทั้งนี้ เพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท อย่างน้อย 3 ประเด็นคือ 1) เพิ่มวงเงินให้บริษัทไทยนำเงินไปลงทุนในต่างประเทศได้มากขึ้น 2) ให้บริษัทแม่ในไทย ปล่อยกู้ให้บริษัทลูกในต่างประเทศมากขึ้นและ 3) ให้คนไทยสามารถซื้ออสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศได้ในวงเงินที่สูงขึ้น จากปัจจุบันจำกัดไว้ที่ 5 ล้านเหรียญฯ อย่างไรก็ตามในมุมมองของ ASP คาดว่า มาตรการดังกล่าวดีต่อประเทศไทยในระยะยาว  แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราแลกเปลี่ยนเงินบาทในระยะสั้น จึงคาดว่าเงินบาทยังมีแนวโน้มทรงตัวถึงแข็งค่าอีกระยะหนึ่ง ตามปัจจัยเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ
วานนี้ต่างชาติซื้อหุ้นไทยสูงสุดในรอบกว่า 6 เดือน คาดจะหนุนดัชนีผ่านแนวต้าน 944 จุดเร็ว ๆ นี้
     แม้ตลาดยังขาดปัจจัยหนุนใหม่ ๆ แต่ยังเห็น Fund Flow ไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างต่อเนื่อง แม้จะเห็นนักลงทุนต่างชาติสลับขาย บ้างเป็นบางวัน โดยวานนี้ต่างชาติได้ซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นวันที่สอง ด้วยมูลค่าสูงถึง 3.6 พันล้านบาท สูงที่สุดนับตั้งแต่วันที่ 2 มี.ค. 2553 ซึ่งเป็นช่วงที่ Fund Flow เริ่มไหลเข้ารอบแรกของปีนี้เกือบ 6 หมื่นล้านบาท ขณะที่ในรอบนี้นับจากวันที่ 23 ก.ค. เป็นต้นมา มียอดซื้อสุทธิเข้ามาแล้ว 4.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งแรงซื้อที่เพิ่มขึ้นในช่วงนี้เป็นไปในลักษณะเดียวกับประเทศเพื่อนบ้าน กล่าวคือ วานนี้นักลงทุนต่างชาติได้เข้าซื้อตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเซียเกือบทุกแห่ง (เฉพาะที่รายงาน 5 ประเทศ) ด้วยมูลค่าราว 290 ล้านเหรียญฯ และเป็นการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยเป็นแรงซื้อใน 2 ตลาดหลัก คือ ตลาดหุ้นไต้หวันที่ซื้อสุทธิสูงถึง 162 ล้านเหรียญฯ รองลงมาตลาดหุ้นไทย 117.4 ล้านเหรียญฯ ตามมาด้วยอินโดนีเซีย 12.6 ล้านเหรียญฯ และฟิลิปปินส์ 1.6 ล้านเหรียญฯ  ยกเว้นเพียงเวียดนาม ที่ขายออกไปเล็กน้อยเพียง 3.4 ล้านเหรียญฯ ปัจจัยดังกล่าวส่งผลให้ค่าเงินในภูมิภาคเอเซียตั้งแต่ต้นสัปดาห์ถึงปัจจุบันแข็งค่าขึ้นเฉลี่ยราว 0.37% ขณะที่ค่าเงินบาทยังคงทรงตัวใกล้ระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 ปี ที่ 30.74 บาทต่อเหรียญฯ เนื่องจาก Fund Flow ยังคงไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้อีก 3.7 พันล้านบาท ทำให้ยอดซื้อสุทธิในตลาดตราสารหนี้ จากต้นปีจนปัจจุบันสูงราว 1.74 แสนล้านบาท ด้วยปัจจัยดังกล่าวข้างต้นฝ่ายวิจัยจึงคาดหมายว่า Fund Flow น่าจะยังคงไหลเข้าต่ออีกอย่างน้อยราว 1-2 สัปดาห์ และน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญหนุนให้ SET สร้างจุดสูงสุดใหม่ในรอบปีนี้ได้อีกครั้ง ก่อนที่ Fund Flow จะเริ่มไหลออกในช่วงเดือน ต.ค. จากผลของฤดูกาล