พฤหัสฯ 21  ต.ค.--Market Talks :
ที่มา : บมจ.หลักทรัพย์ เอเชีย พลัส

กลยุทธ์การลงทุน
        แม้จะได้รับ Sentiment เชิงบวกจากตลาดหุ้นฝั่งโลกตะวันตก แต่เชื่อว่าโดยภาพรวมดัชนีหุ้นไทยยังคงแกว่งตัวในทิศทางขาลง  ตาม Fund Flow     ที่อยู่ในช่วงปลายขาเข้า ต้นขาออก จึงยังคงคำแนะนำเดิมคือให้ถือเงินสดเป็นส่วนใหญ่ และเลือกเก็บหุ้นที่มีปัจจัยพื้นฐานดี Dividend Yield สูง เช่น ESSO, TCAP, KK, SMT และกองทุนรวมอสังหาฯ
         คาดการณ์ SET Index ในช่วงที่เหลือของปีนี้
 SET Index             988.11           
เปลี่ยนแปลง (จุด)         -1.16           
มูลค่าซื้อขาย (ล้านบาท) 26,619.69           
ยอดซื้อ-ขายสุทธิ นักลงทุนแต่ละประเภท (ล้านบาท)         
นักลงทุนต่างชาติ        -1,056.41          
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์        -217.38          
นักลงทุนสถาบันในประเทศ    391.53          
นักลงทุนรายย่อย           882.26          
* Fund Flow ไหลออกจากเอเซียต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ยืนยันว่าอยู่ในช่วงปลายขาเข้า-ต้นขาออก
        วานนี้นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นเอเซีย ต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 โดยมีสถานะขายสุทธิเป็นส่วนใหญ่เกือบทุกตลาด หรือขายสุทธิ 5 ประเทศ จากที่รายงาน 6 ประเทศ หากพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่า กลุ่มแรกที่มีการขายสุทธิต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ได้แก่ ไต้หวัน (ขายสุทธิอีก 110 ล้านเหรียญฯ) รองลงมาคือ ฟิลิปปินส์ (ขายสุทธิ 10 ล้านเหรียญฯ) และอินโดนีเซีย (ขายสุทธิ 2.3 ล้านเหรียญฯ) กลุ่มที่ 2   มีซื้อบ้าง แต่สุดท้ายแล้วเป็นขายสุทธิ บางวัน ได้แก่ เกาหลีใต้ (ขายสุทธิ 182 ล้านเหรียญฯ) และไทย (ขายสุทธิ 35 ล้านเหรียญฯ) ซึ่งเป็นการขายต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ของสัปดาห์นี้ และกลุ่ม 3 แม้จะยังคงมีสถานะซื้อสุทธิ แต่เริ่มลดน้อยถอยลง เช่น เวียดนาม โดยมียอดซื้อสุทธิเพียง 0.15 ล้านเหรียญฯ หดตัวลงถึง 96% จากวันก่อนหน้า พฤติกรรมทั้ง 3 ประเภทเป็นการยืนยันถึงแนวโน้ม Fund Flow ไหลเข้าเอเซียอยู่ในช่วงปลายขาเข้าหรืออยู่ในช่วงต้นขาออกแล้ว โดยเฉพาะตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทน Outperform ค่าเฉลี่ยในภูมิภาคกว่าเท่าตัว เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย พบว่าเป็นกลุ่มที่เริ่มถูกขายออกอย่างต่อเนื่อง และน่าจะกดดันตลาดหุ้นเอเซียให้อยู่ในช่วงของการปรับฐาน  สะท้อนภาพชัดเจนที่วานนี้นักลงทุนต่างชาติ ได้ขายสุทธิในตลาดเงินไทยทุกตลาด เริ่มจากตลาดตราสารหนี้ มียอดขายสุทธิ 3,491 ล้านบาท เป็นแรงขายต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 ตามมาด้วยแรงขายตลาดหุ้น ขายสุทธิ 1,056.41 ล้านบาท และขายในตลาดฟิวเจอร์ส 1,786 สัญญา  เป็นการขายต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 แต่ไม่มีมูลค่า เพราะตลาดหลักทรัพย์ยกเลิกการเปิดเผยมูลค่าซื้อขายสุทธิของนักลงทุนต่างชาติในตลาดฟิวเจอร์ส ตั้งแต่วันที่ 15 ต.ค 2553  
* ค่าเงินโลกผันผวน โดย Dollar Index น่าจะอยู่ในทิศทางทรงตัว
        ASP เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของค่าเงินโลก นับจากนี้จะมีความผันผวนสูง และอยู่ในช่วงของกลับทิศกลับทางกับสิ่งที่เกิดขึ้น หรือได้พบเห็น ในช่วงตลอดปี 2553 เป็นต้นมา สะท้อนจากที่ Dollar Index เริ่มทรงตัวถึงฟื้นตัวแข็งค่าเล็กน้อย หรืออยู่ในช่วงของการกลับข้างในช่วงเกือบ 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้อ่อนค่าต่อเนื่องมานานกว่า 1 ปี แม้ในระยะสั้นอาจติดแนวต้าน 78.3-78.5 จุดก็ตาม แต่อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาเป็นรายประเทศพบว่า เงินดอลลาร์มีแนวโน้มจะฟื้นตัว หรือทรงตัวในระยะสั้น เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก ๆ ของโลก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว อย่าง ยูโร ปอนด์ ออสเตรเลียดอลลาร์ และ เยน รวมถึงค่าเงินเอเซีย (มีลักษณะทรงตัวถึงอ่อนค่า) โดยพบว่าล่าสุด เงินบาทอ่อนค่ามาแตะ 30 บาทต่อดอลลาร์ อีกครั้ง แม้ที่ประชุม ธปท. วานนี้ สรุปให้ยืนดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่เดิมคือ 1.75% แต่ตลาดฯ ก็มิได้ตอบรับประเด็นดังกล่าว ยกเว้นค่าเงินหยวนของจีน อาจจะยังมีแนวโน้มแข็งค่า เพราะรัฐบาลจีนเพิ่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี     ประกอบกับการที่ธนาคารกลางของประเทศเกิดใหม่ ล้วนเข้ามาแทรกแซง พร้อมกับเข้ามาดูแลอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด เพื่อช่วยเหลือภาคส่งออก ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความคาดหวังผลตอบแทนจากประเทศเกิดใหม่ ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน และ Capital Gain นับจากนี้จะยากลำบากมากขึ้น 
* คาดราคาน้ำมันดิบโลกนับจากนี้ผันผวน ตาม Dollar Index 
        เนื่องจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ยังเป็นอุปสรรคต่อการใช้น้ำมันของโลก ขณะที่คาดว่า Dollar Index มีแนวโน้มทรงตัวถึงผันผวนในทิศทางแข็งค่าดังกล่าวข้างต้น น่าจะทำให้ราคาน้ำมันมีความผันผวนเช่นกัน อีกทั้งคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันดิบในจีนน่าจะเริ่มชะลอตัวลงจากจีนหันมาใช้นโยบายการเงินที่ตรึงตัว โดยการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกในรอบ 3 ปี เพื่อชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจ หลังจากหวั่นวิตกต่อภาวะฟองสบู่ ทาง ASP คาดว่าราคาน้ำมันดิบน่าจะแกว่งตัวออกด้านข้าง โดยคาดว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ จะเคลื่อนไหวในกรอบ 76-79 เหรียญฯต่อบาร์เรล จึงแนะนำให้ขายทำกำไรระยะสั้นในกลุ่มผู้ผลิตและสำรวจปิโตรเลี่ยม โดยเฉพาะ PTTEP (FV@B185) ซึ่งคาดว่าราคาตลาดได้ตอบสนองการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบโลกที่ฟื้นตัวไปแล้ว และราคาหุ้นยังมี upside เหลือน้อย ในทางตรงกันข้ามแนะนำให้เปลี่ยนไปลงทุนในหุ้นโรงกลั่นเมื่อราคาอ่อนตัวลง เช่น ESSO, TOP, PTTAR ซึ่งคาดว่าเป็นช่วงที่ดีของธุรกิจนับตั้งแต่ค่าการกลั่นที่ฟื้นตัวมาเหนือ 6 เหรียญฯต่อบาร์เรล ราคาปิโตรเคมีซึ่งเป็นธุรกิจต่อยอดของโรงกลั่น มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเช่นกัน ขณะที่คาดว่าจะไม่มี Stock loss เหมือนช่วง 2Q53 ตรงกันข้ามอาจจะมี Stock gain แทน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจโรงกลั่น โดยรวม มีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 ไตรมาสข้างหน้า