พุธ 20 ต.ค.--Market Talks :
ที่มา : บมจ.หลักทรัพย์ เอเชีย พลัส

กลยุทธ์การลงทุน
        การขึ้นดอกเบี้ยของจีน, Fund Flow     ที่เริ่มไหลออกจากตลาดหุ้นเอเซีย, ราคาสินค้าโภคภัณฑ์หลักเช่น น้ำมัน ปรับตัวลดลง อีกทั้งยังมีประเด็นเรื่องดอกเบี้ย และมาตรการดูแลค่าเงินบาท ล้วนเป็นปัจจัยที่จะสร้างแรงกดดันต่อ SET Index ซึ่งมีค่า Current PER สูงกว่า 15 เท่า จึงคาดว่า SET Index น่าจะเข้าสู่ช่วงปรับตัวอย่างแท้จริง คงคำแนะนำ ถือครองเงินสดเป็นส่วนใหญ่ ส่วนหุ้นที่เลือกเก็บไว้ควรมีปัจจัยพื้นฐานดี, Dividend Yield สูง เช่น ESSO, TCAP, KK, SMT และ กองทุนรวมอสังหาฯ
       คาดการณ์ SET Index ในช่วงที่เหลือของปีนี้
SET Index          989.27              
เปลี่ยนแปลง (จุด)     5.24        
มูลค่าซื้อขาย (ล้านบาท) 27,830.02           
ยอดซื้อ-ขายสุทธิ นักลงทุนแต่ละประเภท (ล้านบาท)         
นักลงทุนต่างชาติ         778.22            
บัญชีบริษัทหลักทรัพย์       55.66             
นักลงทุนสถาบันในประเทศ  -1,104.14         
นักลงทุนรายย่อย         270.25            
        * จีนขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกช็อคตลาด เพื่อชะลอเศรษฐกิจ กดดันตลาดหุ้นเอเซียปรับฐานวานนี้ธนาคารกลางของประเทศจีนได้ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย (Lending Rate) 0.25% จาก 5.31% สู่ 5.56% และปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 1 ปี ในระดับที่เท่ากันสู่ 2.5% โดยการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ เป็นการปรับขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 ปี และเหนือความคาดหมายของตลาด เนื่องจากนักเศรษฐศาสตร์โลกส่วนใหญ่เชื่อว่าจีนจะยังคงดอกเบี้ยนโยบายไว้อย่างน้อยตลอดสิ้นปี 2553 การที่ประเทศจีนหันมาใช้นโยบายการเงินที่ตรึงตัวยิ่งขึ้นในครั้งนี้ เนื่องจากทางการจีนต้องการชะลอการเติบโตของเศรษฐกิจที่ร้อนแรงเกินไป หลังเริ่มวิตกต่อภาวะฟองสบู่ที่อาจเกิดขึ้น ปัจจัยดังกล่าวน่าจะส่งผลให้ Demand ในจีนเริ่มชะลอตัวลง รวมไปถึงการขึ้นดอกเบี้ย จะสร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้นจีนให้แกว่งตัวหรือปรับฐานช่วงสั้น กดดันตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเซียให้ปรับฐานตาม และส่งผลให้นักลงทุนทั่วโลกเทขายสินทรัพย์เสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นหุ้น หรือสินค้าโภคภัณฑ์ เข้าถือครองสินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยสูง เช่น เงินดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น
* Dollar Index ฟื้นตัวตามคาด กดดันราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนตัวลง 
        วานนี้ Dollar Index กลับข้างฟื้นตัวตามคาด มาอยู่ที่ระดับ 78.186 จุด เพิ่มขึ้น 1.6% จากสัปดาห์ก่อนหน้า และสูงสุดในรอบ 3 สัปดาห์ กดดันให้ราคาน้ำมันดิบโลกอ่อนตัวลงต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ โดยวานนี้ ราคาน้ำมันดิบดูไบอ่อนตัวลงไปที่ 77.93 เหรียญฯต่อบาร์เรล ลดลงไปกว่า 3 เหรียญฯต่อบาร์เรลจากวันก่อนหน้า หลังคาดว่าความต้องการใช้น้ำมันในจีนจะชะลอตัวลงจากประเด็นดังกล่าวข้างต้น อีกทั้งเศรษฐกิจโลกยังมีแนวโน้มชะลอตัวในระยะ 6-12 เดือนข้างหน้า น่าจะกดดันให้ราคาน้ำมันอ่อนตัว หรือแกว่งตัวออกด้านข้างในกรอบ 76-79 เหรียญฯต่อบาร์เรล จึงแนะนำให้ขายทำกำไรระยะสั้นในกลุ่มผู้ผลิตและสำรวจปิโตรเลี่ยม โดยเฉพาะ PTTEP (FV@B185) ซึ่งคาดว่าราคาตลาดได้ตอบสนองการฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบโลกที่ฟื้นตัวไปแล้ว และราคาหุ้นยังมี upside เหลือน้อย ในทางตรงกันข้ามแนะนำให้เปลี่ยนไปลงทุนในหุ้นโรงกลั่นเมื่อราคาอ่อนตัวลง เช่น ESSO, TOP, PTTAR ซึ่งคาดว่าเป็นช่วงที่ดีของธุรกิจนับตั้งแต่ค่าการกลั่นที่ฟื้นตัวมาเหนือ 6 เหรียญฯต่อบาร์เรล ราคาปิโตรเคมีซึ่งเป็นธุรกิจต่อยอดของโรงกลั่น มีแนวโน้มที่ดีขึ้นเช่นกัน ขณะที่คาดว่าจะไม่มี Stock loss เหมือนช่วง 2Q53 ตรงกันข้ามอาจจะมี Stock gain แทน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจโรงกลั่น โดยรวม มีแนวโน้มที่ดีขึ้นต่อเนื่องอย่างน้อย 2-3 ไตรมาสข้างหน้า
* Fund Flow ยังไหลออกจากตลาดหุ้นเอเซียต่อเนื่องเป็นวันที่ 2
        นักลงทุนต่างชาติยังคงขายสุทธิในตลาดหุ้นเอเซีย แม้ว่าจะมีสถานะซื้อสุทธิบ้างในบางตลาด โดยข้อมูลที่รายงานออกมา 6 ประเทศ  พบว่า  Fund Flow ยังไหลออกต่อเนื่องเป็นวันที่สองอีก 185 ล้านเหรียญฯ นำโดยแรงขายสุทธิในไต้หวัน 176 ล้านเหรียญฯ เป็นการขายติดต่อกันเป็นวันที่ 2 ต่อเนื่องจากวานนี้ที่ขายสุทธิถึง 343 ล้านเหรียญฯ ตามมาด้วยแรงขายสุทธิที่หนักขึ้น เช่น อินโดนีเซียขายสุทธิ 147 ล้านเหรียญฯ และฟิลิปปินส์ขายสุทธิ 4 ล้านเหรียญฯ เป็นการขายต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 ขณะที่บางประเทศแม้จะยังคงมีสถานะซื้อสุทธิแต่พบว่าเป็นแรงซื้อที่หดตัวลงอย่างมาก เช่น ไทยและเวียดนาม ซึ่งการซื้อน้อยสลับกับการขายสุทธิ น่าจะสะท้อนถึงความเสี่ยงต่อการถอยออกของ Fund Flow ที่เพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะตลาดหุ้นที่ให้ผลตอบแทน Outperform ค่าเฉลี่ยในภูมิภาคกว่าเท่าตัว เช่น อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และไทย ปัจจัยดังกล่าวน่าจะกดดันตลาดหุ้นเอเซียให้อยู่ในช่วงของการปรับฐาน 
* ไม่ว่าจะปรับขึ้น/ลง หรือคงอัตราดอกเบี้ย หุ้นไทยก็ยังอยู่ในภาวะที่ผันผวน และมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น
        ผลการประชุม กนง. เพื่อกำหนดทิศทางอัตราดอกเบี้ยในวันนี้ ไม่ว่าผลที่ออกมาจะเป็นการทรงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม, ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือปรับลดอัตราดอกเบี้ย ฝ่ายวิจัยเห็นว่าอาจไม่มีผลอย่างมีนัยสำคัญต่อทิศทางค่าเงินบาท ส่วนผลกระทบที่เกิดขึ้นกับตลาดหุ้น ก็น่าจะออกมาในลักษณะที่สับสน เพราะโดยปกติหากเกิดกรณีการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย มักจะเป็นปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อตลาดหุ้น แต่สำหรับในสถานการณ์ปัจจุบัน การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอาจมองได้ว่าจะทำให้ Fund Flow ไหลเข้าประเทศไทยและมีบางส่วนเข้ามาเก็งกำไรในตลาดหุ้นมากขึ้น หรือหากเป็นไปในทิศทางตรงข้าม กล่าวคือปรับลดอัตราดอกเบี้ย ในกลไกปกติอาจมองได้ว่าน่าจะทำให้ตลาดหุ้นคึกคัก เนื่องจากทำให้ Earning Yield Gap (ส่วนต่างระหว่าง Earning Yield ของตลาด กับอัตราดอกเบี้ยพันธบัตร 1 ปี) หรืออาจเรืยกได้ว่าเป็น Risk Premium กว้างขึ้น แต่ในสถานการณ์ปัจจุบัน การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจถูกมองว่าทำให้ Fund Flow ไหลออกจากตลาด ส่วนกรณีการคงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับเดิม ก็อาจจะทำให้มองได้ว่าทางราชการอาจมีมาตรการใหม่ๆ ออกมาเพื่อดูแลค่าเงินบาท ซึ่งก็น่าจะสร้างความกังวลเช่นเดียวกัน โดยภาพรวม จึงเห็นว่าไม่ว่าผลการประชุม กนง. จะออกมาเป็นอย่างไร ตลาดหุ้นไทยก็ยังน่าจะอยู่ในภาวะที่ผันผวน และด้วยระดับ PER ปัจจุบัน (Current PER) ที่สูงกว่า 15 เท่า ทำให้รูปแบบการเคลื่อนไหวของ SET Index ในช่วงนี้น่าจะเป็นการผันผวนในทิศทางลง ยังคงคำแนะนำให้ถือครองหุ้นในสัดส่วน 15-20% ของพอร์ตการลงทุน โดยหุ้นที่เก็บไว้ควรมีปัจจัยพื้นฐานเข็งแกร่ง ให้ Dividend Yield ไม่ต่ำกว่า 5% และมี Beta เช่น  ESSO, TCAP, KK, SMT และยังมีกลุ่มที่น่าสนใจในช่วงเวลานี้ได้แก่กลุ่มกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งฝ่ายวิจัยได้ทยอยออกรายงานให้คำแนะนำ ซื้อตามลำดับ อย่างเช่น QHPF, SPF, CPNRF ซึ่งเป็นกอง Leasehold หรือ กอง Freehold อย่างเช่น TFUND
* กลุ่มอสังหาฯ แม้จะมีการเก็งกำไรเรื่องอัตราดอกเบี้ย แต่ผลประกอบการ 3Q53 ก็ยังต้องระวัง 
        2-3 วันที่ผ่านมามีกระแสเข้ามาเก็งกำไรในกลุ่มพัฒนาที่อยู่อาศัยค่อนข้างมาก เนื่องจากมีความคาดหมายว่าการประชุม กนง. ที่จะเกิดขึ้นในวันนี้น่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย อย่างไรก็ตามฝ่ายวิจัยเห็นว่าควรเก็งกำไรด้วยความระมัดระวัง และควรเลือกหุ้นที่ให้ Dividend Yield สูงเป็นหลัก ทั้งนี้หุ้นในกลุ่มที่อยู่อาศัย ยังมีประเด็นเรื่องผลประกอบการ 3Q53 มาสร้างแรงกดดัน เนื่องจากตามที่ฝ่ายวิจัยได้ทำประมาณการผลประกอบการ 3Q53 พบว่าหลายบริษัทมีแนวโน้มที่จะแสดงผลประกอบการที่อ่อนตัวลงอย่างมีนัยสำคัญ ไม่ว่าจะเป็น AP, LPN, PRIN หรือ MK เป็นต้น ซึ่งในช่วงเวลาที่ใกล้ประกาศผลประกอบการ อาจทำให้เกิดแรงขายทำกำไรออกมาได้ อย่างไรก็ตามในงวด 4Q53 คาดว่าหลายบริษัทจะมีผลประกอบการที่โดดเด่น