อังคาร 12 ต.ค.--eFinanceThai.com :
ครม. กระสุนด้าน
ครม. กระสุนด้าน 3 มาตรการคุมค่าบาทไร้ผล ล่าสุดยังแข็งโป๊กที่ 29.95-30.00 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ตลาดหุ้นออกอาการผันผวน ต่างชาติซื้อสุทธิต่ออีก 2,373.77 ล้านบาท ขณะที่โบรกฯ มอง เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าแตะ 29 บาทต่อดอลลาร์ในปลายปีนี้ และจะแข็งถึง 28 บาทต่อดอลลาร์ในสิ้นปี 2554
* ครม.ไฟเขียว 3 มาตรการลดผลกระทบบาทแข็ง
          ในที่สุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 ตุลาคม 2553 ก็ไฟเขียวเห็นชอบมาตรการคุมค่าเงินบาทตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เสนอ ได้แก่ มาตรการชะลอ capital inflow คือการยกเลิกยกเว้นการจัดเก็บภาษี 15% จากกำไรและดอกเบี้ยในพันธบัตรที่ถือโดยนักลงทุนต่างชาติที่เป็นธุรกรรมใหม่ ซึ่งครอบคลุมพันธบัตรรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)
          มาตรการส่งเสริม capital outflow ด้วยการ ให้หน่วยงานรัฐบาลและรัฐวิสาหกิจเร่งเบิกจ่ายงบลงทุนที่ใช้เงินตราต่างประเทศและจัดซื้อเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า(ฟอร์เวิร์ด)
          และมาตรการช่วยเหลือ เอสเอ็มอีผู้ส่งออกที่จะได้รัผลกระทบ โดยจะให้ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ibank) ธนาคารเพื่อวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SME Bank) และ ธนาคารกรุงไทย (KTB) สนับสนุนให้เอกชนทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน
* บาทแข็งค่า - หุ้นไม่ขานรับ
          ด้านนักลงทุนต่างแสดงความผิดหวังกับ 3 มาตรการดังกล่าว เพราะไม่ได้ช่วยให้เงินบาทแข็งค่า รวมทั้งตลาดหุ้นไทยให้ปรับเพิ่มขึ้นได้ ซึ่งประเมินว่าน่าจะเป็นเรื่องที่อยู่ในคาดการณ์แล้ว และที่สำคัญเงินบาทไม่อาจต้านทานผลกระทบจากเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องได้
          โดยล่าสุดค่าเงินบาทยังคงแข็งค่า และปิดตลาดที่ระดับ 29.95-30.00 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่แข็งค่าสุดของวัน ซึ่งในระหว่างวันได้อ่อนค่าสุดระหว่างวันอยู่ที่ 30.09-30.13 บาท/ดอลลาร์
          ทั้งนี้ นักค้าเงินจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) (BBL) ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทในวันพรุ่งนี้อยู่ที่ 29.90-29.98 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งยังคงมีทิศทางที่จะแข็งค่าต่อเนื่อง ดังนั้นนักลงทุนจึงต้องติดตามการประชุมและถ้อยแถลงของธนาคารกลางสหรัฐฯ ซึ่งจะมีการหารือภายในคืนวานนี้
         ขณะที่ตลาดหุ้นไทย ที่ดูเหมือนจะได้รับผลกระทบในด้านบวก ที่สนับสนุนให้ดัชนีฯ พลิกกลับมายืนในแดนบวกได้ในช่วงบ่าย แต่ในที่สุดก็ปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง และปิดตลาดที่ระดับ 977.08 จุด ลดลง 0.77 จุด หรือ 0.08% ด้วยมูลค่าการซื้อขายหนาแน่นที่ 34,371.21 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างประเทศซื้อสุทธิ 2,373.77 ล้านบาท
* บล.ฟิลลิป คาดบาทแข็งต่อ หลังเฟดลุยออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ
          นางสาวธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ในเบื้องต้นประเมินว่า กว่าที่มาตรการดังกล่าวจะทำให้ค่าเงินบาทอ่อนลง ก็คงต้องใช้เวลาอีกซักระยะหนึ่ง สะท้อนได้จากตลาดหุ้นไทยที่ไม่ได้มีการตอบรับกับมาตรการดังกล่าวมากนัก เพราะมองว่านักลงทุนยังคงอิงกับอัตราแลกเปลี่ยนเป็นหลักในการลงทุน
          โดยล่าสุดค่าเงินบาทก็ยังคงส่งสัญญาณแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นผลจากปัจจัยภายนอกประเทศ โดยเฉพาะรัฐบาลและธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้เตรียมออกมาตรการผ่อนคลายเพื่อกระตุ้นการเติบโตของเศรษฐกิจเพิ่มเติม ซึ่งก็คงคงปฎิเสธไม่ได้ว่าค่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าอยู่ ซึ่งแนวโน้ม Fund Flow ก็ยังมีต่อเนื่องเช่นเดียวกัน
          ทั้งนี้ สำหรับมาตรการที่ ครม.ได้มีมติออกมาช่วยเหลือผู้ประกอบการด้านภาคการส่งออกเพิ่มเติม ก็เชื่อว่าจะเป็นผลดีอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจส่งออกทั้งขนาดใหญ่-กลาง-เล็ก ซึ่งในช่วงต่อไปก็คาดการณ์ว่ารัฐบาลคงมีมาตรการเพิ่มเติมอีก เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของผู้ประกอบที่ได้รับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน
          “การออกมาตราการนี้ ก็มีผลต่อการลดแรงกดดันค่าเงินบาทได้ส่วนหนึ่ง โดยแบ่งเป็น 2 ด้าน ได้แก่ หากค่าเงินบาทอ่อนลงเงินทุนต่างชาติก็จะไหลออกจากตลาดหุ้นอย่างแน่นอน และการยกเลิกมาตรการภาษี เงินต่างชาติที่ลงทุนในบอนด์ก็จะไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นบ้าง แต่จะไม่เต็มที่ เพราะมองว่าการลงทุนของกองทุนจะแบ่งสัดส่วนการลงทุนระหว่างตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้อย่างชัดเจน เพื่อควบคุมความเสี่ยง” นางสาวธีรดา กล่าว
          ด้านกลยุทธ์การลงทุนในช่วงที่ตลาดอยู่ในทิศทางขาขึ้นนั้น นักลงทุนควรถือหุ้นที่มีอยู่ไว้ก่อนเพื่อรอขายทำกำไรเมื่อดัชนีฯ ใกล้แตะระดับ 1,000 จุด
* บล.กสิกรไทย มองเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าทดสอบ 29-28 บาท
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานว่า การแข็งค่าของเงินบาทที่ล่าสุดยังคงเคลื่อนไหวที่ระดับประมาณ 29.95-30.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ และเข้าใกล้ระดับแข็งค่าสุดในรอบ 13 ปีที่ทำไว้ในช่วงต้นเดือนตุลาคม 2553 ที่ผ่านมา ยังคงเป็นโจทย์ที่ท้าทายสำหรับทางการไทยที่ต้องมีหน้าที่ในการดูแลความ เคลื่อนไหวของเงินบาทให้สอดคล้องกับสกุลเงินในภูมิภาคโดยอิงจากพื้นฐานทาง เศรษฐกิจของไทย
          อย่างไรก็ดี แนวโน้มการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ที่ยากจะหลีกเลี่ยงในระยะข้างหน้า ซึ่งอาจเกิดขึ้นควบคู่ไปกับแนวโน้มการชะลอตัวอย่างชัดเจนของเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2553 จนถึงไตรมาสแรกของปี 2554 เป็นอย่างน้อยนั้น นับเป็นสถานการณ์ที่อาจสร้างความลำบากให้กับทางการไทย และอาจจำเป็นต้องเตรียมมาตรการรับมือกับผลกระทบจากทิศทางเงินบาทที่แข็งค่า และกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่อาจผันผวนมากขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว
          และล่าสุดวันที่ 12 ตุลาคม 2553 ทางการไทยก็ได้ผลักดันมาตรการ “แก้ไข” การแข็งค่าของเงินบาท และเพิ่มเติมมาตรการ “ลดทอนผลกระทบ” จากการแข็งค่าของเงินบาท ออกมา ท่ามกลางความคาดหวังที่มากขึ้นในการแก้ไขโจทย์การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงเวลานี้ ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยมีมุมมองต่อประเด็นนี้ และประเมินภาพของทิศทางของค่าเงินบาทในระยะข้างหน้าโดยสรุป ดังนี้
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากพิจารณาความเคลื่อนไหวของการเข้าดูแล/จัดการกับปัญหาการแข็งค่าของเงิน บาทของทางการไทยเมื่อเปรียบเทียบกับทางการประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียในช่วงที่ผ่านมา จะพบว่าแนวทางการดำเนินการของทางการไทยเกิดขึ้นอย่างมีลำดับขั้นตอน โดยเริ่มจากมาตรการที่มุ่งเป้าหมายในการสร้างสมดุลให้กับแรงซื้อ-แรงขายเงิน ตราต่างประเทศ อาทิ การผ่อนคลายระเบียบและเพิ่มวงเงินสำหรับนักลงทุนไทยที่ต้องการลงทุนในต่าง ประเทศ ควบคู่ไปกับการเข้าดูแลการเสถียรภาพและลดทอนความผันผวนของเงินบาทโดยธนาคาร แห่งประเทศไทย (ธปท.) ในตลาดปริวรรตเงินตรา และตามมาด้วย มาตรการเก็บภาษีหัก ณ ที่จ่ายสำหรับเงินได้จากดอกเบี้ยและกำไรจากการขายตราสารหนี้ของนักลงทุนต่าง ชาติ
          ซึ่งแม้ว่า การดำเนินการดังกล่าวจะไม่สามารถฝืนทิศทางการแข็งค่าของเงินบาทซึ่งเกิดขึ้นภายใต้กระแสการอ่อนค่าของเงินดอลลาร์ฯ ได้ (โดยเงินบาทกลับมาแข็งค่ากว่าระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์ฯ) แต่ก็อาจกล่าวได้ว่า ทางการไทยมีบทบาทสำคัญในการเยียวยาผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ผู้ประกอบการได้รับ และช่วยดูแลความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทให้สอดคล้องไปกับทิศทางของสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชีย
          โดยอิงอยู่กับพื้นฐานที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทยที่น่าจะสามารถรักษาอัตราการขยายตัวได้สูงกว่าระดับศักยภาพในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2553 (นำโดย ภาคการส่งออกที่มีอัตราการขยายตัวสูงกว่า 30%) โดยที่ไม่ทำให้บรรยากาศการลงทุนในตลาดเงินตลาดทุนไทยได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงเหมือนในช่วงธันวาคม 2549
          อย่างไรก็ดี ทิศทางของเงินดอลลาร์ฯ ในช่วงเวลาหลังจากนี้ ยังอาจตกอยู่ภายใต้แรงกดดันให้อ่อนค่าลงอย่างน้อยก็ในช่วง 6-12 เดือนข้างหน้า และหากความสัมพันธ์ของทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาทและดัชนีเงินดอลลาร์ฯ เมื่อเทียบกับเงินสกุลหลัก ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงไปจากภาพที่เกิดขึ้นในช่วงหลังจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองสิ้นสุดลง หรือประมาณในรอบ 5 เดือนที่ผ่านมาแล้ว ก็เป็นที่คาดหมายว่า เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับประมาณ 28.00-29.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ได้ไม่ยากนัก
          ซึ่งการแข็งค่าของเงินบาทไปที่ระดับดังกล่าวในช่วงเวลานั้น อาจนำมาสู่ผลกระทบในวงที่กว้างขึ้นต่อภาคเศรษฐกิจจริงผ่านการชะลอตัวของภาค การส่งออกที่จำต้องเผชิญกับโมเมนตัมการขยายตัวที่ช้าลงของเศรษฐกิจโลกที่ หลีกเลี่ยงได้ยาก ซึ่งก็จะเป็นนัยว่า ความคาดหวังที่มีต่อประสิทธิผลของมาตการแก้ไขการแข็งค่าของเงินบาทในช่วง เวลานั้น ก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามมาด้วยเช่นกัน
          ทั้งนี้ เครือธนาคารกสิกรไทยคาดว่า เงินบาทอาจยังคงมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นทดสอบระดับ 29.00 และ 28.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงสิ้นปี 2553 และสิ้นปี 2554 ตามลำดับ