อังคาร 28 ก.ย.--Market Talks :
ที่มา : บมจ.หลักทรัพย์ เอเชีย พลัส

กลยุทธ์การลงทุน
     Fund Flow ยังหนุนตลาดหุ้นเอเซีย แต่ให้สังเกตค่าเงินเอเซีย เริ่มชะลอการแข็งค่า อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ จึงแนะนำให้ถือหุ้นเพียง 30% ของพอร์ตเช่นเดิม และเลือกถือหุ้นบางกลุ่มเช่น ธ.พ. (BBL, BAY, TCAP) สาธารณูปโภค (CK, ITD, BTS, BMCL) พลังงาน (BANPU, PTTCH, PTTAR)
คาด Fund Flow น่าจะเริ่มชะลอตัว หลังเข้ามาแล้วกว่า 5 หมื่นล้านบาท  
     วานนี้นักลงทุนต่างชาติได้ซื้อสุทธิในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องเป็นวันที่ 6 ด้วยมูลค่า 2.63 พันล้านบาท ส่งผลให้ยอดซื้อสะสมสุทธิตั้งแต่วันที่ 23 ก.ค. 2553 ถึงปัจจุบัน สูงกว่า 5.1 หมื่นล้านบาทไปแล้ว สอดคล้องกับที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้เบื้องต้นว่า ในรอบนี้จะมี Fund Flow เข้ามาอย่างน้อย 5 หมื่นล้านบาท และจะหนุนให้ SET ขึ้นมาเหนือที่ระดับ 960 จุดได้ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดเพื่อนบ้านที่ยังมีแรงซื้อเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องเป็นวันที่ 3 (เฉพาะที่รายงาน 6 ประเทศ) รวม 393.87 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้นราว 142% จากวันก่อนหน้า นำโดยตลาดหุ้นไต้หวัน 147 ล้านเหรียญฯ รองลงมาเป็นเกาหลีใต้ 132 ล้านเหรียญฯ ตามมาด้วยไทย 86 ล้านเหรียญฯ อินโดนีเซีย 20.7 ล้านเหรียญฯ ฟิลิปปินส์ 7.3 ล้านเหรียญฯ และเวียดนาม 0.14 ล้านเหรียญฯ ฝ่ายวิจัยเชื่อว่า Fund Flow จะยังคงไหลเข้าต่อตลอดจนถึงสิ้นเดือนนี้ (อีก 3 วันทำการ) ตามผลของฤดูกาล โดยหาก Fund Flow ยังไหลเข้าตลาดหุ้นไทยอีกราว 1 หมื่นล้านบาท จะทำให้ยอดซื้อสะสมสุทธิรอบนี้พุ่งสู่ 6 หมื่นล้านบาท เทียบเท่าระดับปกติที่ Fund Flow มักจะไหลเข้ามาและไหลออกไปในช่วง 2-3 ปีหลังสุด จะหนุนให้ดัชนีมีโอกาสปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 999 จุดได้  แต่อย่างไรก็ตามด้วยระยะเวลาทำการที่เหลือน้อยในเดือนนี้ และประกอบกับช่วงเดือน ต.ค. ของทุกปี นักลงทุนต่างชาติมักมีสถานะขายสุทธิ หรือเป็นช่วง Fund Flow ไหลออก ดังนั้นอาจเป็นไปได้ที่ดัชนีอาจปรับตัวขึ้นสูงสุดช่วงนี้ไม่ถึงระดับดังกล่าว และให้เริ่มระมัดระวังการลงทุนมากขึ้นในช่วงเดือน ต.ค. นี้ เพราะมีความเสี่ยงจาก Fund Flow ไหลออกเพิ่มสูงขึ้น
เงินสกุลเอเซีย เริ่มชะลอการแข็งค่า  ให้จับตาอย่างใกล้ชิด เงินบาทมาถึงจุดเปลี่ยนที่สำคัญ 
     แม้นักลงทุนต่างชาติยังคงซื้อตลาดหุ้นไทย แต่เมื่อวานนี้นับเป็นครั้งแรกในรอบ 6 วันที่นักลงทุนต่างชาติได้ขายตราสารหนี้ในวงเงินสูงถึง  3.53 พันล้านบาท (ทำให้ยอดซื้อสะสมสุทธิคงเหลือ 1.76 แสนล้านบาท)  มีผลทำให้ค่าเงินบาทเริ่มมีทิศทางแกว่งตัว โดยวานนี้เงินบาทแกว่งตัวในกรอบ 30.83-30.55 บาทต่อดอลลาร์ แต่สุดท้ายเงินบาทก็แข็งค่าขึ้นอีกเล็กน้อยราว 0.4% โดยแข็งค่ากว่ารูปีย์ หยวน ดอลลาร์ออสเตรเลีย ซึ่งแข็งค่าเฉลี่ย 0.21% เท่า แต่แข็งค่าน้อยกว่าเงินวอนของเกาหลีที่แข็งค่า 0.6% ขณะที่ค่าเงินของบางประเทศในเอเซีย เริ่มหยุดแข็งและกลับมาทรงตัว เช่น เปโซ (ฟิลิปปินส์) ริงกิต มาเลเซีย ดอลลาร์นิวซีแลนด์ และดอลลาร์สิงคโปร์  ทั้งนี้ค่าเงินเอเซียที่เริ่มมีทิศทางขัดแย้ง อาจจะเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญ และน่าจะมีผลทำให้เงินทุนที่ไหลเข้าในตลาดหุ้นเอเซีย เริ่มชะลอตัวตามผลฤดูกาลดังกล่าวข้างต้น 
ผลกระทบจากการปรับปรุงการจัดเก็บค่าธรรมเนียม กระทบ ธ.พ.น้อยกว่าที่คาดไว้
     ผลจากการหารือ ระหว่างสมาคมธนาคารไทย และ ธปท. ในการจัดค่าธรรมเนียมใหม่ โดยเฉพาะการให้บริการผ่านตู้ ATM สรุปได้ 3 ประเด็นคือ 1)  ค่าธรรมเนียมการถอนเงินสด ข้ามธนาคาร ให้คิดอัตราเดียวทั่วประเทศครั้งละ 10 บาท จากเดิมให้ลดในอัตราที่แตกต่างกัน กล่าวคือในต่างจังหวัด คิดค่าบริการเฉลี่ย 10-20 บาท/รายการ และในเขต กทม.และปริมณฑล เดิมฟรี 4 ครั้งแรก ครั้งที่ 5 คิดครั้งละ 5 บาท   2) ค่าธรรมเนียมการเบิกถอนเงินธนาคารเดียวกัน แต่ข้ามเขต ให้คิดค่าบริการอัตราเดียวกันหมด 20 บาท/รายการ จากปัจจุบัน ให้คิดค่าบริการขั้นต่ำอยู่ที่ 20-25 บาท/รายการ และมีการคิดอัตราสูงสุด 1 พันบาท/รายการ และ 3) ค่าธรรมเนียมการโอนเงินของธนาคารเดียวกันแต่ข้ามเขต (จังหวัด)  ให้คิดอัตราเดียวกันทั่วประเทศ 15 บาท/รายการ จากเดิมคิดค่าบริการเฉลี่ยครั้งละ 25-35 บาท/รายการ ทั้งนี้คาดว่า ธปท. จะประกาศใช้อย่างเป็นทางการในปี 2554 โดยสรุป คาดว่าผลกระทบต่อกำไรสุทธิ จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว จะน้อยกว่าที่นักวิเคราะห์ ASP คาดไว้เดิม กล่าวคือจะส่งผลให้กำไรสุทธิจะลดลงเพียง 5% จากเดิมที่คาดไว้ราว 7% ฝ่ายวิจัยเชื่อว่าปัจจัยหนุนให้ธนาคารพาณิชย์ไทยยังมีกำไรเติบโตที่ดีในปี 2554 ยังมาจากการขยายตัวของสินเชื่อในประเทศ โดยได้รับปัจจัยหนุนจากแผนกระตุ้นการลงทุนของรัฐ เป็นหลัก 
คาดหุ้น ธ.พ. จะเป็นที่สนใจ เพราะผลกำไรงวด 3Q53 ดีกว่า 2Q53 
     คาดว่าหุ้น ธ.พ. ยังเป็นที่สนใจของตลาด เพราะสัปดาห์นี้เป็นช่วงของการจัดทำประมาณการกำไรงวด 3Q53 ซึ่งโดยรวมคาดว่ามีแนวโน้มดีขึ้นจากงวดก่อนหน้า โดยหลังจากที่นักวิเคราะห์ ASP ได้จัดทำประมาณการกำไรของหุ้น ธ.พ. ไปแล้ว 4 แห่ง (SCB(FV@B120), BBL(FV@B185), TISCO(FV@B41) และ KTB(FV@B19)) ดังที่ได้สรุปไปวานนี้แล้ว วันนี้นักวิเคราะห์ ASP ได้คาดการณ์หุ้น ธ.พ. เพิ่มอีก  แห่งคือ BAY คาดว่าในงวด 3Q53 จะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากงวด 2Q53  ราว  13%  โดยเป็นการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อรายย่อย  และการเติบโตของรายได้ค่าธรรมเนียม ซึ่งได้กลับเข้าสู่ระดับปกติ หลังจากได้ที่ได้รับผลกระทบในงวด 2Q53  จากปัญหาการเมืองในประเทศ โดยรวมแม้กำไรในงวด 9M53  คิดเป็น 74% ของประมาณการ  แต่พบว่าสินเชื่อ 9M53 เติบโตเพียง 3.3% ต่ำกว่า เป้าหมายที่ BAY และ ASP กำหนดไว้ที่ 8%  และ  10%  ตามลำดับ  ทั้งนี้เป็นผลจากการที่ BAY ได้ขาย NPL  ในงวดนี้ออกไป 5  พันล้านบาท หรือคิดเป็น 6% ของสินเชื่อรวม จึงอาจจะต้องปรับเป้าหมายสินเชื่อปีนี้ลง  แต่เป็นที่สังเกตว่าผลกำไรสุทธิปี 2553 และ 2554 ของ BAY จะเติบโตสูงที่สุดในกลุ่มเฉลี่ยราว 35%  และ 32%  สูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่ม ธ.พ. ที่ 9.2% และ 17%  จึงทำให้ BAY จะมีค่า PER  สูงกว่าค่าเฉลี่ย โดยอยู่ที่เกือบ 20 เท่าในปีนี้ แต่จะลดลงเหลือ 15 เท่าในปี 2554  จึงแนะนำซื้อ BAY(FV@B32.5) ในฐานะที่เป็นหุ้น Growth Stock