ศุกร์ 21 ต.ค.2554--eFinanceThai.com :
แบงก์สะเทือน น้ำท่วมฉุดสินเชื่อวูบ

          น้ำท่วมสะเทือนแบงก์! บล.กรุงศรีอยุธยาคาดสินเชื่อรวมกลุ่มธนาคารพาณิชย์ Q4/54 ชะลอตัว ฟากบล.กิมเอ็ง-บล. ฟิลลิป ยังไม่ฟังธง! ระบุรอประเมินหลังน้ำลด แต่ บล.ธนชาต เล็งปรับลดกำไรปี 55 ลง ขณะที่ธปท. หวั่นสินเชื่อทั้งปีโตไม่ถึง 20% และปี 55 โต 7-8% ด้าน "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ยอมรับน้ำท่วมฉุดผลงานแบงก์ ส่วน Q3/54 โชว์ผลงานสวยทั่วหน้า
***บล.กรุงศรีอยุธยา คาดสินเชื่อรวมกลุ่มธนาคารพาณิชย์ Q4/54 ชะลอตัว
          บล.กรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่าปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นรุนแรงในหลายจังหวัดขณะนี้ น่าจะเป็นปัจจัยที่ฉุดการเติบโตตัวเลขสินเชื่อของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 4/2554 ให้ชะลอตัวลง โดยเฉพาะผลกระทบในนิคมอุตสาหกรรมจำนวน 6 แห่ง ที่ต้องหยุดการผลิตและบางส่วนได้รับความเสียหาย ซึ่งความเสี่ยงที่เกิดขึ้นในตอนนี้นอกจากเรื่องการชะลอตัวของสินเชื่อแล้ว ยังต้องรอดูในเรื่องตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ที่อาจปรับเพิ่มขึ้น และอาจส่งผลไปถึงการตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งขณะนี้ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินว่าแต่ละธนาคารจะได้รับผลกระทบมากน้อยเพียงใด แต่เบื้องต้นธนาคารพาณิชย์ที่อาจจะมีผลกระทบระยะสั้น ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพและธนาคารกสิกรไทย เนื่องจากเป็นธนาคารที่มีสัดส่วนลูกค้ารายใหญ่มากที่สุด ขณะที่ธนาคารไทยพาณิชย์ อาจได้รับผลกระทบในส่วนของกลุ่มลูกค้าเอสเอ็มอี แต่คงต้องรอประเมินความเสียหายต่ออุตสาหกรรมต่างๆ หลังจากที่ระดับน้ำปรับลดลง
          ส่วนภาพรวมตัวเลขสินเชื่อรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในปี 2554 นี้ คาดว่าจะเติบโตในระดับ 10-11% ลดลงเล็กน้อยจากเดิมที่คาดว่าจะเติบโตที่ระดับ 12% แม้ในไตรมาส 4/2554 มีแนวโน้มว่าสินเชื่อของกลุ่มธนาคารพาณิชย์อาจจะเติบโตในลักษณะชะลอตัว แต่ตัวเลขสินเชื่อในช่วง 9 เดือนแรกของปีมีการเติบโตในระดับสูงมาก จึงยังทำให้ภาพรวมของสินเชื่อค่อนข้างดี
***บล.กิมเอ็ง ระบุยังไม่ประเมินน้ำท่วมกระทบสินเชื่อ Q4/54 กลุ่มแบงก์มากน้อยแค่ไหน
          นายวรพล วิรุฬห์ศรี ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าผลกระทบจากน้ำท่วมต่อการขยายตัวของสินเชื่อในไตรมาส 4/2554 ของหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังประเมินได้ลำบาก เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นอาจส่งผลทั้งในเชิงบวกและเชิงลบต่อดีมานด์สินเชื่อ โดยอาจมีผู้ประกอบการบางรายที่ชะลอการลงทุน จึงชะลอการขอสินเชื่อ เพราะกังวลกับสถานการณ์เศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับน้ำท่วม ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอาจต้องการสินเชื่อ เพื่อใช้ฟื้นฟูธุรกิจ ซึ่งโดยปกติของทุกปีช่วงไตรมาส 4 จะเป็นช่วงไฮซีซั่นและสินเชื่อจะโตประมาณ 4-5% อย่างน้อยที่สุดเติบโต 3%
          "ไตรมาส 4 ปีนี้ ประเมินได้ยากจริงๆ จนกว่าน้ำท่วมจะทุเลาลง ซึ่งให้มีโอกาสได้พูดคุยกับผู้บริหารของธนาคารพาณิชย์ก่อน ถึงจะประเมินภาพออกว่าจะเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ เราต้องมาประเมินภาพของสินเชื่อทั้งปีอีกครั้งหนึ่งด้วย" นายวรพล กล่าว
          สำหรับสินเชื่อทั้งปี เดิมประเมินไว้ว่าจะเติบโต 13.7% แต่งวด 6 เดือน สินเชื่อเติบโตตามเป้าหมายแล้ว ส่วนงวด 9 เดือนแรกของปีนี้ ต้องรอให้ธนาคารพาณิชย์ประกาศงบการเงินครบหมดทุกธนาคารก่อน
***บล. ฟิลลิป ระบุรอหลังน้ำลด พร้อมประเมินผลกระทบต่อกลุ่มแบงก์
          นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. ฟิลลิป (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าแนวโน้มสินเชื่อในไตรมาส 4/2554 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ยังประเมินได้ลำบาก ต้องรอหลังน้ำลดจึงจะเห็นภาพที่ชัดเจน แม้ธนาคารพาณิชย์เองในขณะนี้ก็ยังไม่สามารถประเมินผลกระทบต่อสินเชื่อที่ ชัดเจนได้แต่คาดว่าสินเชื่อบางส่วนน่าจะชะลอตัวโดยเฉพาะผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่โดยปกติแล้วไตรมาส 4 จะเป็นช่วงไฮซีซั่น ดังนั้นสินเชื่อรวมทั้งปีก็ต้องมาทบทวนใหม่อีกครั้งหนึ่ง แต่เชื่อว่าในแง่ของกำไรไม่น่าจะลดลงมากนัก แม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วม เพราะผลกระทบต่อสินเชื่อน่าจะไปสะท้อนอย่างชัดเจนต้นปีหน้ามากกว่า ซึ่งหากดูผลงานในปีนี้ช่วงไตรมาส 3/2554 แม้กลุ่มธนาคารพาณิชย์ตั้งสำรองสูงก็ไม่กระทบกำไร เพราะทำรายได้รวมเติบโตดี
***บล.ธนชาต เล็งปรับลดกำไรปี 55 กลุ่มแบงก์ลง หลังน้ำท่วมกระทบ
          บล.ธนชาต เปิดเผยว่าหุ้นในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ตามปัจจัยพื้นฐานของฝ่ายวิเคราะห์ที่มีการประเมินการตั้งสำรองในกรณีเลวร้ายสุด โดยสมมติให้การตั้งสำรองปี 2555 สูงกว่าปี 2555 สองเท่า หลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่รุนแรงกว่าคาดทำให้เกิดความกังวลต่อคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารมากขึ้น ส่งผลให้ประมาณการกำไรปี 2555 มีโอกาสถูกปรับลดลงไปอีก ความกังวลต่อคุณภาพสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นน่าจะเป็นสาเหตุให้เกิดการ de-rating มูลค่าของหุ้น
          กลุ่มธนาคารอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และหากใช้ P/BV ที่ระดับต่ำในอดีต จะทำให้เกิด downside ต่อราคาหุ้นกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 26-47% โดยประเมินว่า ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL และบริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO น่าจะมีโอกาสตั้งสำรองเพิ่มขึ้นน้อยกว่าธนาคารอื่น เนื่องจากทั้งสองธนาคารตั้งสำรองในระดับที่สูงอย่างมากแล้ว โดย loan loss coverage ratios ของ BBL และ TISCO ณไตรมาส 2/2554 อยู่เหนือระดับ 160% ดังนั้นจึงไม่คาดว่ามูลค่าทางบัญชีของ BBL และ TISCO จะลดลงไปอีกมากนักในปีหน้า แต่น่าจะยังคงมีการ de-rating อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากสมมติให้ P/BV ปี 2555 อยู่ที่ระดับต่ำสุดในอดีต ราคาหุ้นของ BBL และ TISCO จะอยู่ที่ 108 บาท/หุ้น และ 35 บาท/หุ้น ตามลำดับ
***บล.กิมเอ็ง แนะซื้อเก็งกำไร TISCO
          บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แนะนำนักลงทุนซื้อเก็งกำไรหุ้นของ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO เพราะ กนง. มีมติคงดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 3.5% และจะไม่ขึ้นดอกเบี้ยในช่วงที่เหลือของปีแล้ว ซึ่งจะส่งผลบวกต่อส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ของผู้ประกอบธุรกิจเช่าซื้อ จากต้นทุนทางการเงินที่หยุดขยับขึ้น และจะทำให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยเริ่มขยับขึ้นได้ในปีหน้า นอกจากนี้ แม้จะได้รับผลกระทบเชิงลบในช่วงสั้น จากการเกิดน้ำท่วม แต่จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่ต้องปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจที่ประสบปัญหาน้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรม ขณะที่ผลกระทบจากความเสียหายของรถยนต์คาดว่าจะจำกัด เพราะพอร์ตสินเชื่อรถยนต์ของ TISCO เป็นรถยนต์ใหม่ถึง 80% และมีประกันชั้น 1 เพื่อรองรับความเสียหายจากน้ำท่วม
          ส่วนแนวโน้มกำไรในไตรมาส 4/2554 ที่ชะลอตัวลง แต่จะเติบโตในอัตราเร่งในไตรมาส 1/2555 แทน จากอานิสงส์ของนโยบายรถคันแรก ที่คาดว่าจะเป็นตัวผลักดันหลังผ่านพ้นภาวะน้ำท่วม ขณะที่ราคาหุ้นซื้อขาย PER 2554 เพียง 6.9 เท่า และให้ผลตอบแทนจากเงินปันผล 8.3% ในปีนี้ และ 9.8% ในปีหน้า และเป็นบริษัทที่จ่ายปันผลงวดเดียวในสิ้นปี จึงทำให้ได้เงินปันผลแบบเต็มปี ขณะที่ธนาคารอื่นๆในกลุ่ม เช่น BAY, BBL, KBANK, SCB และ TCAP มีการจ่ายปันผลงวด 1H54 ไปแล้วจึงเหลือเพียงเงินปันผลส่วนที่เหลือใน 2H54
***บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะขาย TMB หลังโชว์กำไร Q3/54 ไม่สวย
          บล.ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยว่า ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) หรือ TMB ประกาศกำไรในไตรมาส 3/2554 ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดไว้ โดยลดลง 3.5% จากงวดเดียวกันของปีก่อน และ 37% จากไตรมาสที่ผ่านมา เป็น 750 ล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงกับที่ฝ่ายวิเคราะห์คาด ว่ากำไรที่ลดลง เป็นเพราะตั้งสำรองหนี้สูญสูงถึง 1.7 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 1.9% ของสินเชื่อรวม นอกจากนี้ฝ่ายวิเคราะห์ยังเชื่อว่าเป็นการตั้งเผื่อความสูญเสียที่ยังไม่เกิดขึ้นจริง จึงอาจเห็น NPL เพิ่มขึ้นในไตรมาส 4/2554 จึงคงคำแนะนำขาย นอกจากกำไรที่แย่ลงแล้ว TMB ยังเป็นธนาคารเดียวที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์จากการปรับลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลเหมือนธนาคารอื่นๆ จึงแนะนำนักลงทุนขาย โดยให้ราคาเหมาะสมปี 2555 เท่ากับ 1.30 บาทต่อหุ้น และมี PBV 1 เท่า
***บล.กิมเอ็ง หวั่น Q4/54 สินเชื่อ BBL ชะลอตัว
          บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าแนวโน้มสินเชื่อของธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BBL ในไตรมาส 4/2554 มีความเสี่ยงที่อาจจะชะลอตัวลงจากผลกระทบของน้ำท่วม ซึ่งอาจกินระยะเวลานานกว่าคาดกว่าน้ำจะลด ขณะที่สินเชื่อของ BBL มีสัดส่วนธุรกิจขนาดใหญ่เป็นจำนวนมาก ดังนั้น หากเกิดความติดขัดจาก supply chain หลังนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งเกิดภาวะน้ำท่วม คาดว่าจะส่งผลให้ความต้องการใช้สินเชื่อกระทบเป็นห่วงโซ่
***ธปท. คาดสินเชื่อทั้งปีโตไม่ถึง 20% หลังชะลอตัวตามศก.โลก
          นายเกริก วณิกกุล รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าการขยายตัวของสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ในครึ่งปีหลังนี้ มีอัตราการเติบโตในลักษณะที่ชะลอลงจากครึ่งปีแรก โดยเป็นผลจากการที่ภาวะเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น โดยประเมินว่าสินเชื่อทั้งระบบสิ้นปีนี้จะขยายตัวได้ไม่ถึง 20% แม้ว่าในครึ่งปีแรกจะมีการขยายตัวแล้ว 15-16% ก็ตาม นอกจากนี้ยังเริ่มเห็นแล้วว่าธนาคารพาณิชย์มีความระมัดระวังมากขึ้นในการพิจารณาสินเชื่อ รวมทั้งให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการในการทำธุรกิจให้มีความรอบคอบมากขึ้น ท่ามกลางภาวะความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลก แต่อย่างไรก็ตามยังไม่เห็นสัญญาณการชะลอการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์
          "ทั้งปีสินเชื่อของระบบคงโตไม่ถึง 20% ครึ่งปีหลังชะลอมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจโลกมีความเสี่ยง แบงก์ก็เริ่มแนะผู้ประกอบการว่าจะขอสินเชื่อในระยะนี้มากน้อยเพียงใด และแนวโน้มธุรกิจจะเป็นอย่างไร ไม่ได้หมายความว่าธนาคารพาณิชย์จะชะลอหรือไม่ปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ แต่คงมีความระมัดระวังมากขึ้น" นายเกริก กล่าว
***ผู้ว่าธปท. คาดสินเชื่อแบงก์ปี 55 โต 7-8%
          นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่าแนวโน้มสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ในปี 2555 มีโอกาสที่จะชะลอลงจากปีนี้ โดยมีความเป็นไปได้ที่จะมีการขยายตัวประมาณ 7-8% ตามที่ธนาคารพาณิชย์แต่ละแห่งได้ประเมินไว้ จากที่ในปีนี้พบว่ามีการขยายตัวของสินเชื่ออย่างมาก ซึ่งในครึ่งปีแรกสินเชื่อธนาคารพาณิชย์เติบโตเฉลี่ยมากกว่า 10% ทั้งนี้สาเหตุที่ทำให้ในปีหน้าการเติบโตไม่สูงนัก เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง อาจทำให้การค้าและเศรษฐกิจของประเทศไทยมีการเติบโตที่ชะลอตัวลงเช่นกัน นอกจากนี้ยังประเมินว่าปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นสร้างความเสียหายกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าที่คาดการณ์กันไว้ และต้องติดตามดูสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยตัวเลขความเสียหายเบื้องต้นคาดว่าคงเพิ่มสูงขึ้นแตะระดับ 1 แสนล้านบาท
***ธปท. ชี้สินเชื่อแบงก์พาณิชย์ยังขยายตัวต่อเนื่อง
          นางสาวนวพร มหารักขกะ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ในไตรมาส 2 ปี 2554 มีเสถียรภาพ และระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น โดยสินเชื่อขยายตัวต่อเนื่อง จากสภาพคล่องตึงตัวขึ้นเล็กน้อย แม้การระดมทุนจากเงินฝากและตั๋วแลกเงินจะสูงขึ้น ส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลง ขณะที่ฐานะเงินกองทุนยังอยู่ในระดับสูงจากกำไรที่เพิ่มขึ้นและเพียงพอที่จะรองรับการขยายสินเชื่อตามภาวะเศรษฐกิจ โดยมีรายละเอียดดังนี้
          สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2554 ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ15.1 เร่งขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 13.4 ในไตรมาสก่อน จากการขยายตัวของสินเชื่อภาคธุรกิจ (สัดส่วนร้อยละ 71.4 ของสินเชื่อรวม) ที่ขยายตัวร้อยละ 14.9 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 12.2 ในไตรมาสก่อนตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ อีกทั้งเพื่อรองรับการเพิ่มการผลิตของภาคอุตสาหกรรมที่สามารถกลับมาดำเนิน การได้หลังจากประสบปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจากเหตุภัยพิบัติที่ประเทศญี่ปุ่นใน เดือนมีนาคม 2554โดยสินเชื่อขยายตัวเร่งขึ้นทั้งสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ประกอบการรายใหญ่ และผู้ประกอบการ SME ที่ร้อยละ 17.9และร้อยละ 12.2 ตามลำดับ ทั้งนี้ สินเชื่อขยายตัวมากในภาคอุตสาหกรรมการผลิต การพาณิชย์ และสาธารณูปโภค
          ขณะที่สินเชื่อแก่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และการก่อสร้างชะลอตัว เนื่องจากมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ของรัฐสิ้นสุดลง สำหรับสินเชื่ออุปโภคบริโภค (สัดส่วนร้อยละ 28.6 ของสินเชื่อรวม) ขยายตัวร้อยละ 15.7 จากระยะเดียวกันปีก่อน ชะลอลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 16.3 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากสินเชื่อที่อยู่อาศัย
          สำหรับเงินฝากรวมตั๋วแลกเงิน (B/E) ขยายตัวเร่งขึ้น โดย ณ สิ้นไตรมาส 2 ปี 2554 ขยายตัวร้อยละ 14.0 จากระยะเดียวกันปีก่อน เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 11.6 ในไตรมาสก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อแข่งขันกันระดมเงินไว้รองรับการขยายสินเชื่อ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของเงินฝากและB/E ที่น้อยกว่าสินเชื่อ ส่งผลให้สภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ตึงตัวขึ้นเล็กน้อย โดยสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากรวม B/E เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 89.1 จากร้อยละ 87.1 ในไตรมาสก่อน
          ส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) มียอดคงค้าง 284.7 พันล้านบาท ลดลงจากไตรมาส 1 ปี 2554จำนวน 15.7 พันล้านบาท จากการโอนหนี้ให้บริษัทบริหารสินทรัพย์และการรับชำระคืน เป็นสำคัญ ทำให้สัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงทั้ง Gross NPL จากร้อยละ 3.2 เหลือร้อยละ 3.0 และ Net NPL จากร้อยละ 1.7เหลือร้อยละ 1.6 ทั้งนี้ สินเชื่อธุรกิจมีสัดส่วน NPL ลดลงเหลือร้อยละ 3.2 จากการลดลงในเกือบทุกภาคธุรกิจทั้งธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจ SME ขณะที่สินเชื่ออุปโภคบริโภคมีสัดส่วน NPL ลดลงเช่นกันเหลือร้อยละ 2.1สำหรับสินเชื่อจัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Delinquent Loan) ก็มีสัดส่วนต่อสินเชื่อรวมลดลงเหลือร้อยละ 2.1 ด้วย
          นอกจากนี้ในไตรมาส 2 ปี 2554 ระบบธนาคารพาณิชย์มีกำไรจากการดำเนินงานและกำไรสุทธิ 68.9 พันล้านบาท และ 45.3 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน 10.7 พันล้านบาท และ 11.5 พันล้านบาท ตามลำดับ โดยส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิตามการขยายตัวของสินเชื่อ ส่งผลให้อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยรับสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin: NIM) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 2.4 เป็นร้อยละ 2.6และอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Return on Asset: ROA) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 1.1 และร้อยละ 1.5ระบบธนาคารพาณิชย์มีเงินกองทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่สินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มขึ้นมากตามสินเชื่อที่ขยายตัวทำให้อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS ratio) และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยง(Tier-1 ratio) ลดลงเหลือร้อยละ 15.4 และร้อยละ 12.0 ตามลำดับ นับว่ายังอยู่ในระดับสูงและเพียงพอรองรับการขยายสินเชื่อในระยะต่อไป โดยสรุปแล้ว ระบบธนาคารพาณิชย์มีเสถียรภาพ อย่างไรก็ตาม ธนาคารพาณิชย์ควรให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง จากการที่ภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะในต่างประเทศมีความผันผวนสูง
*** "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" ยอมรับน้ำท่วมฉุดผลงานแบงก์
          นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่าจากเหตุการณ์น้ำท่วมคงส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของธนาคารพาณิชย์ นอกจากนี้ยังประเมินว่าธนาคารพาณิชย์ควรจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบกับภัยน้ำท่วม ซึ่งเบื้องต้นอาจจะต้องมีมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยและยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้กับลูกค้า รวมไปถึงการพิจารณาตัดสินใจให้สินเชื่อกับลูกค้าที่ต้องการซื้อเครื่องจักรและฟื้นฟูธุรกิจ หลังจากที่ได้ประสบกับเหตุการณ์น้ำท่วม โดยเชื่อว่าขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ยังไม่พบสัญญาณการเกิดหนี้เสีย แต่อาจจะกระทบให้ผลประกอบการหรือกำไรลดลง โดยธนาคารพาณิชย์ก็เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผู้ถือหุ้นก็ไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะช่วงนี้เป็นช่วงวิกฤตและแนวโน้มต่อไปการเติบโตของผลประกอบการก็จะมีความชัดเจนมากขึ้น
          อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาผู้ว่า ธปท.ก็ได้ประกาศว่าจะดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินอย่างเต็มที่ แต่ก็ควรที่จะหามาตรการเพิ่มเติมขึ้นมาอีก เพื่อดูแลธนาคารพาณิชย์ให้มีความแข็งแกร่งรองรับกับสถานการณ์ในช่วงที่มีปัญหาน้ำท่วม ส่วนกรณีที่เอกชนเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดโครงการประชานิยมนั้น เห็นว่าการเดินหน้าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตามนโยบายหาเสียงไว้ถือว่ามีความจำเป็น โดยรัฐบาลไม่ได้ใช้งบประมาณมากมาย ซึ่งเป็นนโยบายที่ทำให้ประชาชนดีขึ้นและกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไป
***ราคาหุ้นกลุ่มแบงก์ร่วงยกแผง
          BBL ปิดตลาดวานนี้ (20 ต.ค.54) ที่ 133.00 บาท ลดลง 5.50 บาท หรือ 3.97%
          BAY ปิดที่ 19.30 บาท ลดลง 1.30 บาท หรือ 6.31%
          KBANK ปิดที่ 111.00 บาท ลดลง 3.00 บาท หรือ 2.63%
          KK ปิดที่ 27.25 บาท ลดลง 1.25 บาท หรือ 4.39%
          KTB ปิดที่ 13.60 บาท ลดลง 0.70 บาท หรือ 4.90%
          LHBANK ปิดที่ 1.27 บาท ลดลง 0.02 บาท หรือ 1.55%
          SCB ปิดที่ 100.50 บาท ลดลง 4.50 บาท หรือ 4.29%
          TCAP ปิดที่ 23.90 บาท ลดลง 1.00 บาท หรือ 4.02%
          TISCO ปิดที่ 31.00 บาท ลดลง 1.00 บาท หรือ 3.12%
          TMB ปิดที่ 1.26 บาท ลดลง 0.06 บาท หรือ 4.55%
***แบงก์โชว์ผลงาน Q3/54 สวยทั่วหน้า
          จากการรวบรวมผลประกอบการในไตรมาส 3/2554 ของธนาคารพาณิชย์ จำนวน 8 แห่ง ที่ประกาศผลประกอบการแล้ว พบว่า BAY มีกำไรสุทธิในไตรมาสดังกล่าวอยู่ที่ 3,006.59 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 2,331.49 ล้านบาท , KBANK มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/2554 อยู่ที่ 7,761.14 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 5,515.84 ล้านบาท , KK มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/2554 อยู่ที่ 874.41 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 765.25 ล้านบาท, KTB มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/2554 อยู่ที่ 5,492.36 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 4,992.08 ล้านบาท, LHBANK มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/2554 อยู่ที่ 123.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 113.06 ล้านบาท,SCB มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/2554 อยู่ที่ 8,351.05 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 6,479.48 ล้านบาท, TISCO มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/2554 อยู่ที่ 898.92 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 730.63 ล้านบาท และ TMB มีกำไรสุทธิในไตรมาส 3/2554 อยู่ที่ 749.62 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนที่ทำได้ 726.15 ล้านบาท