พฤหัสฯ 20 ต.ค.2554--eFinanceThai.com :
สุดเครียด!! น้ำท่วมฉุดผลงาน บจ.Q4 วูบ
* กนง.ชี้กระทบศก.รุนแรง เล็งปรับจีดีพี ใน 2 สัปดาห์
        "จรัมพร" ชี้ น้ำท่วมฉุดผลงาน บจ.ในQ4/54 วูบ เผย หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์- นิคมฯ อ่วมสุด กนง.ชี้ น้ำท่วมซัด ศก.แรง เล็งปรับประมาณการ GDP Q4/54 และทั้งปีใน 2 สัปดาห์หน้า ประธาน ด้าน ตลท. คาดบริษัทที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมใช้เวลาฟื้นฟูไม่เกิน 6 เดือน
        สถานการณ์น้ำท่วมในไทย ขยายวงกว้างลามจ่อท่วมกรุงเทพฯ ซึ่งถือเป็นจุดศูนย์รวมประเทศ แน่นอนว่าความเครียดแผ่ปกคลุมไปแล้วทุกหย่อมหญ้า รัฐบาลเครียดกับการรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้า ผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบก็เครียดที่ต้องหยุดการผลิตความเสียรวมๆแล้วนับหลายแสนล้านบาท คนงานในนิคมอุตสาหกรรมก็เครียดนับแสนคนเพราะยังไม่รู้อนาคตหลังน้ำลด เกษตรกรเองก็เครียดเพราะพื้นที่ไร่นาล่มรวมนับล้านไร่ รวมๆแล้วกระทบจีดีพีประเทศลดลงแน่นอน และจนถึงขณะนี้สถานการณ์ยังไม่ดูดีขึ้น และจากสภาวะการณ์ไม่น่าไว้วางใจดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
* "จรัมพร" ชี้ น้ำท่วมฉุดผลงาน บจ.ในQ4/54 วูบ เผย หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์- นิคมฯ อ่วมสุด
        นายจรัมพร โชติกเสถียร ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า เหตุการณ์น้ำท่วมจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงไตรมาส 4/2554 ลดลง ซึ่งโบรกเกอร์ต่างๆ จะต้องมีการปรับทบทวนประมาณการรายได้และกำไรของบริษัทใหม่ โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่ามีผลกระทบต่อภาพรวมของตลาดหุ้นไทยไม่มาก เนื่องจากมีมาร์เก็ตแคปที่ต่ำ
        " บริษัทที่ได้รับผลกระทบก็จะแจ้งความเสียหายมาที่ตลาดฯ แต่จะไม่แจ้งมูลค่าความเสียหาย เพราะเกรงว่าอาจกระทบต่อจิตวิทยาของนักลงทุน" นายจรัมพรกล่าว
        นายจรัมพร กล่าวว่า จากการที่ตลาดหลักทรัพย์ได้มีการประชุมกับ 3 สมาคม ทั้ง สมาคมบจ. สมาคมบลจ. และสมาคมบล. เพื่อจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยเบื้องต้นตลท. จะใส่เงินลงทุนในกองทุนดังกล่าว 250 ล้านบาท จากเม็ดเงินทั้งกองทุนรวมทั้งสิ้น 500 ล้านบาท ซึ่งเงินในส่วนที่เหลือทั้ง 3 สมาคมจะพิจารณาตัดสินใจจัดสรรเงินเข้าในกองทุนเอง
* กนง. คาดวิกฤตน้ำท่วมกระทบรุนแรงทำ ศก.ชะลอถึงปลายปี เล็งปรับประมาณการ GDP Q4/54 และทั้งปีใน 2 สัปดาห์หน้า
        นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวว่า สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีผลกระทบรุนแรงและคาดว่าจะทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจบางส่วนหยุดชะงักไปจนถึงช่วงปลายปี ทั้งภาคการผลิตและการส่งออกจึงจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ต่ำกว่าที่คาดไว้มาก ทั้งนี้ธปท.จะมีการ
        ประเมินปรับประมาณการแนวโน้มการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 และทั้งปีนี้ใหม่ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งคาดว่าการปรับประมาณการดังกล่าวจะสะท้อนภาพสถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้ ส่วนจีดีพีในไตรมาส 4 จะชะลอลงจนติดลบหรือไม่นั้น ยังต้องขอเวลาช่วงที่เหลือพิจารณาปัจจัยแวดล้อมที่เกี่ยวข้องทั้งสิ้นอีกครั้งหนึ่ง
        ทั้งนี้ ธปท.ตระหนักและมีความเห็นใจต่อความเดือดร้อนของผู้ได้รับผลกระทบทั้งภาค ประชาชนและธุรกิจ ซึ่งเมื่อ 2 สัปดาห์ก่อนธปท.ได้ดำเนินมาตรการช่วยเหลือที่สอดคล้องกับมาตรการต่างๆ ของทางการ ได้แก่ 1.สร้างความมั่นใจแก่ภาคการเงินว่ามีสภาพคล่องเพียงพอที่สถาบันการเงินจะ สามารถสนับสนุนความต้องการในช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบและช่วยส่งเสริม ภาคเศรษฐกิจจริงได้ 2.ได้ประสานงานกับธนาคารพาณิชย์ให้ผ่อนปรนเงื่อนไขการให้กู้ยืมเงินแก่ ลูกหนี้ เช่น การพักชำระหนี้ การให้วงเงินกู้เพิ่มเติม รวมถึงการพิจารณาอัตราดอกเบี้ยพิเศษ ทั้งนี้เชื่อว่ามาตรการต่างๆ จะมีประสิทธิภาพในการบรรเทาความเดือดร้อนได้
        อย่างไรก็ตาม สมมติฐานของทาง ธปท.ในเบื้องต้น มองว่าการฟื้นฟูของภาคธุรกิจและโรงงานต่างๆ จะกลับเข้าไปฟื้นฟูได้ไม่เร็วไปกว่าปลายปีนี้
* 'กิตติรัตน์' รับกังวล นลท.ถอนการลงทุนในไทย หากรัฐไร้แนวทางดูแลผู้ประกอบการที่รับผลกระทบ วอน ธ.พาณิชย์ ลด ดบ.-ยืดเวลาชำระหนี้
        นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมว่า หากทุกฝ่ายในประเทศช่วยกันดูแลผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบอย่างเต็มที่ เชื่อว่านักลงทุนคงจะไม่ย้ายการลงทุนออกไปนอกประเทศ แต่หากรัฐบาลไม่มีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจนก็ยอมรับว่าเป็นห่วงการลงทุนทั้งทางตรงและการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ แต่ขณะนี้ก็ถือว่ามีแนวทางการดูแลที่ชัดเจน ผลกระทบต่อการลงทุนก็จะไม่มากอย่างที่คาดไว้
        'กระทรวงการคลังและตนเองก็จะเร่งการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อฟื้นฟู ประเทศและสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยใช้งบประมาณหลายแสนล้านบาททั้งในและต่างประเทศ' นายกิตติรัตน์กล่าว
        นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า ธนาคารพาณิชย์ควรจะต้องมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือลูกค้าที่ประสบกับภัยน้ำท่วม ซึ่งเบื้องต้นอาจจะต้องมีมาตรการลดอัตราดอกเบี้ยและยืดระยะเวลาการชำระหนี้ให้กับลูกค้า รวมไปถึงการพิจารณาตัดสินใจให้สินเชื่อกับลูกค้าที่ต้องการซื้อเครื่องจักรและฟื้นฟูธุรกิจ หลังจากที่ได้ประสบกับเหตุการณ์น้ำท่วม โดยเชื่อว่าขณะนี้ธนาคารพาณิชย์ยังไม่พบสัญญาณการเกิดหนี้เสีย แต่อาจจะกระทบให้ผลประกอบการหรือกำไรลดลง โดยธนาคารพาณิชย์ก็เป็นบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งผู้ถือหุ้นก็ไม่ต้องตื่นตระหนก เพราะช่วงนี้เป็นช่วงวิกฤตและแนวโน้มต่อไปการเติบโตของผลประกอบการก็จะมีความชัดเจนมากขึ้น
        อย่างไรก็ดี ที่ผ่านมาผู้ว่า ธปท.ก็ได้ประกาศว่าจะดูแลสภาพคล่องในระบบการเงินอย่างเต็มที่ แต่ก็ควรที่จะหามาตรการเพิ่มเติมขึ้นมาอีก เพื่อดูแลธนาคารพาณิชย์ให้มีความแข็งแกร่งรองรับกับสถานการณ์ในช่วงที่มีปัญหาน้ำท่วม
        'แบงก์พาณิชย์ในขณะนี้เชื่อว่ามีความพร้อมที่จะช่วยดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วม ซึ่งธปท. กระทรวงการคลังและรัฐบาลก็ได้ดูแลตรงนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งหากธนาคารพาณิชย์ช่วยลูกค้าอย่างเต็มที่แล้ว รัฐบาลก็จะช่วยเช่นกันไม่ให้โดดเดี่ยว ซึ่งรัฐบาลก็ได้เพิ่มงบประมาณขาดดุลและอาจจะต้องออกพ.ร.บ.กู้เงินเพื่อมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ต้องให้ทันในช่วงหน้าฝนครั้งหน้า ซึ่งอาจจะต้องเชิญผู้เชี่ยวชาญมาบริหารงานตรงนี้ในการบริหารจัดการน้ำ ส่วนนักวินัยการคลังต้องเริ่มคิดถึงความจำเป็นและผลที่คุ้มค่าในอนาคต'นายกิตติรัตน์ กล่าว
        นายกิตติรัตน์ กล่าวต่อว่า สำหรับกรณีที่เอกชนเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดโครงการประชานิยมนั้น เห็นว่าการเดินหน้าโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลตามนโยบายหาเสียงไว้ ถือว่ามีความจำเป็น ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ได้ใช้งบประมาณมากมาย ซึ่งเป็นนโยบายที่ทำให้ประชาชนดีขึ้นและกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไป
        'การชักเข้าชักออกนโยบายไม่ควรที่จะทำ เพราะจะทำให้ขาดความเชื่อมั่น ซึ่งก็ยืนยันว่าโครงการต่างๆ ไม่ใช่โครงการประชานิยม แต่ทำให้ชีวิตประชาชนดีขึ้น และทำให้เศรษฐกิจไทยไหลลื่น' นายกิตติรัตน์ กล่าว
        พร้อมกันนี้ในช่วง 2 วันที่ผ่านมา คณะกรรมการไตรภาคีได้มีมติให้เลื่อนการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท เป็นช่วง 1 เม.ย. 2555 จากเดิมที่กำหนดไว้ในช่วง 1 ม.ค. 2555 ถือว่าค่าจ้างขั้นต่ำ 300 บาทคนงานในเมืองก็แทบจะไม่ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งเห็นว่าก็ไม่สมควรที่จะหยุดเดินหน้านโยบายดังกล่าว
        'ผมคิดว่าจากเหตุการณ์น้ำท่วมก็คงจะไม่มีคนตกงาน เพราะจะมีกองทุนประกันสังคมเข้ามาดูแล รวมไปถึงนายจ้างหลายราย ก็จะดูแลคนงานเพื่อดำเนินการผลิตให้ได้กลับมาอีกครั้ง หลังที่ระดับน้ำลดแล้ว แต่หากกลุ่มใดที่ต้องการความช่วยเหลือรัฐจะเข้าไปดูแลเช่นกัน'นายกิตติรัตน์กล่าว
* ตามคาด กนง.คงดบ.นโยบายที่ระดับ 3.5% เหตุ ศก.โลก-อุทกภัยมีผลรุนแรง
        นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวว่า คณะกรรมการมีมติ 6 ต่อ 1 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 3.50% โดย 1 เสียงให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% ทั้งนี้การประเมินภาวะเศรษฐกิจสถานการณ์อุทกภัยและแนวโน้มเงินเฟ้อในระยะต่อไปมีประเด็นสำคัญดังนี้
        เศรษฐกิจโลกอ่อนแอลงจากปัญหาหนี้สาธารณะในกลุ่มประเทศยูโรที่ยังไม่มีทางออกชัดเจน ส่งผลให้ตลาดการเงินมีความผันผวนสูงจากความกังวลว่าปัญหาจะลุกลามเข้าสู่ภาคการธนาคารและภาคเศรษฐกิจจริง สำหรับสหรัฐฯตัวเลขล่าสุดสะท้อนภาวะเศรษฐกิจที่เปราะบาง และตลาดประเมินว่าความเสี่ยงจะเข้าสู่ภาวะถดถอยมีมากขึ้น ขณะที่ภูมิภาคเอเชียการส่งออกของบางประเทศเริ่มมีสัญญาณชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก แต่อุปสงค์ในประเทศที่ยังเติบโตได้และแรงกระตุ้นจากภาครัฐจากฐานะการคลังที่ดีอยู่ จะเป็นปัจจัยที่ช่วยบรรเทาผลกระทบจากประเทศอุตสาหกรรมหลักต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการค้าในประเทศได้ระดับหนึ่ง
        สำหรับเศรษฐกิจไทย ข้อมูลเบื้องต้นของไตรมาส 3 ชี้ว่าเศรษฐกิจไทยยังขยายตัวแต่เริ่มมีสัญญาณของการแผ่วลง ด้านการส่งออกสอดคล้องกับเศรษฐกิจต่างประเทศที่อ่อนแอ ทั้งนี้ในส่วนปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นมีผลรุนแรงและทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจ บางส่วนหยุดชะงักซึ่งจะทำให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ ต่ำกว่าที่คาด
        ด้านแรงกดดันด้านราคา ยังมีอยู่จากอุปสงค์ในประเทศที่ขยายตัว แม้ต้นทุนการผลิต เช่นราคาน้ำมันลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกและการคาดการณ์เงินเฟ้อในประเทศที่ทรงตัว จะช่วยลดโอกาสที่อัตราเงินเฟ้อเร่งขึ้นในระยะต่อไปได้บ้าง แต่ยังคงต้องติดตามความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในระยะต่อไปจากการใช้จ่ายที่จะเร่งตัวขึ้นทั้งจากภาครัฐและเอกชน ภายหลังเหตุการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย
* กนง.มองแรงกดดันเงินเฟ้อปีหน้าเพิ่มไม่มากนัก ขณะที่ดบ.แท้จริง ติดลบ 0.3% ระบุยังเหมาะต่อการฟื้นตัวศก.
        นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปีหน้าคาดว่าไม่มีแรงกดดันเข้ามาเพิ่มเติมมากนัก แต่ยังไม่อยู่ในระดับที่ลดลงจนวางใจได้ เนื่องจากยังคงต้องติดตามความเสี่ยงด้านเงินเฟ้อในระยะต่อไปจากการใช้จ่ายที่เร่งตัวขึ้น ภายหลังจากเหตุการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย ขณะเดียวกันการขยายตัวของเศรษฐกิจมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ
        ขณะที่หากพิจารณาอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงในขณะนี้ พบว่าติดลบประมาณ 0.3% โดยเงินเฟ้อปัจจุบันอยู่ที่ 4% และอัตราเงินเฟ้อที่ตลาดคาดการณ์เฉลี่ยปี 2555 อยู่ที่ 3.8% จากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันที่อยู่ 3.5% ดังนั้นจึงยังถือว่าอัตราดอกเบี้ยในระดับดังกล่าวยังมีความเหมาะสมต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า และยังเป็นอัตราดอกเบี้ยที่มีความผ่อนปรนและกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในปัจจุบัน
        อย่างไรก็ตาม ข้อซักถามที่ระบุว่า การคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในครั้งนี้ สะท้อนภาพว่าหมดช่วงขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้วหรือไม่นั้น นายไพบูลย์ กล่าวว่า จะต้องประเมินทั้งภาพรวมเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทย และผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม รวมถึงปัจจัยอื่นๆ ในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งจะต้องประเมินภาพใหม่ทั้งหมด ดังนั้นจึงยังไม่สามารถตอบข้อซักถามดังกล่าวได้
        แต่อย่างไรก็ตามการที่อัตราเงินเฟ้อในปีหน้าไม่มีแรงกดดันเพิ่มขึ้นมากนัก และมีโอกาสที่จะทรงตัวจึงเป็นการเสริมสร้างให้กนง.พิจารณาคงอัตราดอกเบี้ยใน ระดับต่ำไปได้อีกระยะหนึ่งจนกว่าจะมีการประชุมในรอบหน้า
* ประธาน ตลท. คาดบริษัทที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมใช้เวลาฟื้นฟูไม่เกิน 6 เดือน
        นายสมพล เกียรติไพบูลย์ ประธานกรรมการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า บริษัทที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งนี้ คาดว่าจะใช้เวลาไม่เกิน 6 เดือนฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาปกติ เนื่องจากโรงงานต่าง ๆ ไม่ได้เสียหายทั้งหมด แต่เสียหายเป็นบางส่วนเท่านั้น แต่ต่างจากเหตุการณ์สึนามิที่ทุกอย่างเสียหายหมด จึงต้องใช้เวลาฟื้นฟูค่อนข้างนาน แต่เหตุการณ์น้ำท่วมเมื่อน้ำลดก็กลับมาทำความสะอาดใหม่และฟื้นฟูขึ้นมาใหม่
        ทั้งนี้สิ่งที่น่าห่วงมากที่สุดคือด้านสาธารณูปโภคมากกว่าไม่ว่าจะเป็นไฟฟ้า ประปา ถนนหนทาง ซึ่งเป็นสิ่งที่รัฐบาลต้องเร่งทำเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจให้เอกชน นายสมพล เปิดเผยด้วยว่า ในวันที่ 20 ต.ค. นี้ทางกลุ่มตลาดทุน ทั้งบริษัทจดทะเบียน (บจ.) บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.)จะมีการประชุมเพื่อหารือถึงวงเงินที่จะช่วยเหลือผู้ที่ประสบภัยน้ำท่วม เริ่มต้นคาดว่าวงเงินน่าจะอยู่ที่ 500 ล้านบาท โดยแนวทางหลักๆ จะช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่ในเรื่องของด้านสาธารณูปโภค หรือเรื่องของผลกระทบต่อธุรกิจน่าจะเป็นความช่วยเหลือส่วนของธนาคารพาณิชย์มากกว่า ไม่ว่าจะเป็นการแฮร์คัท ปรับโครงสร้างหนี้รวมถึงการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
        สำหรับผลกระทบของตลาดทุนจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมขณะนี้ยังไม่ชัดเจน และบริษัทที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นรถยนต์และส่งออก ซึ่งบริษัทเหล่านี้ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์มีบางบริษัทที่จดทะเบียนในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งก็อาจจะเกิดความเสียหายในแง่ของทรัพย์สินบางส่วนแต่ไม่ใช่ทั้งหมด และส่วนใหญ่ล้วนทำประกันความเสียหายและค่าความเสียโอกาสไว้เรียบร้อยแล้ว
* กนง. คาดปีหน้า ศก.ไทยยังขับเคลื่อนได้ จากพื้นฐานศก.ยังดี มีมาตรการรัฐหนุน - สถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายเข้าสู่ภาวะปกติ
        นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) กล่าวว่า ทิศทางเศรษฐกิจไทยในปี 2555 เชื่อว่าจะยังเติบโตได้ เนื่องจากพื้นฐานปัจจัยทางเศรษฐกิจยังดีอยู่ ทั้งภาคเกษตรกรรม การจ้างงาน และการส่งออกเป็นต้น ซึ่งหากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายลงภาคการท่องเที่ยวคงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ดังนั้นแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยจะยังช่วยให้มีการขยายตัวกลับสู่ปกติ ทั้งนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการกระตุ้นของรัฐบาล ทั้งการรับจำนำข้าวและมาตรการปรับขึ้นค่าแรง
* ทิสโก้ สั่งลดน้ำหนักลงทุนกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์
        บทวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ระบุว่า เราคาดไม่ถึงว่าเหตุการณ์น้ำท่วมในปีนี้จะสร้างความเสียหายต่อนิคม อุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะบริษัทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยมี 3 บริษัทจดทะเบียน คือ KCE และ HANA อยู่ที่นิคมไฮเทค และ SMT ที่นิคมบางปะอิน โดยทั้ง 2 นิคมได้ถูกน้ำท่วมอย่างหนักและน้ำได้เข้าท่วมสายการผลิตในชั้น 1ด้วยน้ำเข้าท่วมสายการผลิต ในกรณีเลวร้ายที่สุด คือ จำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนเครื่องจักรใหม่ ถึงแม้ว่าบริษัททั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้นจะได้มีการประกันความเสียหายเอาไว้ ทั้งในแง่ของทรัพย์สินและการหยุดชะงักทางธุรกิจแต่สิ่งที่เรากังวลคือความ เชื่อมั่นของลูกค้า และขั้นตอนในการรับคำสั่งซื้อใหม่ นอกจากนี้การทดสอบเครื่องจักรใหม่จำเป็นต้องผ่านคุณสมบัติที่ลูกค้าต้องการ กระบวนการเหล่านี้อาจกินระยะเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี จึงจะสามารถมีกำลังการผลิตเทียบเท่ากับช่วงก่อนน้ำท่วมได้
        เรายังคงอยู่ระหว่างรอดูข้อมูลของความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเครื่องจักรและอาคารซึ่งยังคงมีความไม่แน่ชัด แต่อย่างไรก็ตาม KCE และ HANA ยังคงสามารถดำเนินการผลิตต่อได้ เนื่องจากยังมีโรงงานแห่งอื่นอยู่อีก ในขณะที่ SMT จะได้รับผลกระทบสูงสุด เนื่องจากมีโรงงานเพียงแห่งเดียว โดยเราคาดว่าเราจะมีการปรับลดประมาณการลงอย่างมากในหุ้นกลุ่มนี้
        จากการประเมินความเสียหายที่เราเห็น ณ ขณะนี้ เราแนะนำให้ “ลดน้ำหนักการลงทุน” ของหุ้นในกลุ่มนี้ลง เราไม่กังวลในด้านของความเสียหายต่อทรัพย์สินและรายได้ เนื่องจากบริษัทได้มีการทำประกันภัยไว้ แต่เรากังวลกับการเรียกความเชื่อมั่นของลูกค้ากลับคืนมา เนื่องจากโรงงานในประเทศไทยเป็นสายการผลิตซึ่งสามารถเปลี่ยนฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นทำได้ง่าย แต่การจะเรียกลูกค้ากลับคืนมาอาจต้องใช้เวลา
* เอเซีย พลัส แนะชะลอลงทุนหุ้นกลุ่มยานยนต์
        บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า จากกรณีที่ผู้บริหารของ บริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ STANLY ระบุว่าบริษัทยังคงเดินหน้าแผนลงทุน 3 พันล้านบาทตามเดิม เพื่อขยายโรงงานผลิตโคมไฟรถยนต์และรถจักรยานยนต์ โดยจะป้อนให้กับรถยนต์ที่เตรียมผลิตรถอีโคคาร์ ที่ก่อนหน้านี้บริษัทได้รับออเดอร์ 90% ของปริมาณรถยนต์ออกสู่ตลาด ไม่ว่าจะเป็นนิสสัน ฮอนด้า มิตซูบิชิ ซูซูกิ และโตโยต้า รวมถึงส่วนของกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็กในซิตี้คาร์ด้วย
        โดยคาดโรงงานจะเสร็จสิ้นภายในปีนี้ สำหรับผลกระทบจากเหตุน้ำท่วมในครั้งนี้ บริษัทยังไม่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ โดยยังต้องรอประเมินความเสียหายของซัพพลายเออร์ รวมถึงเร่งสร้างป้องกันโรงงานไม่ให้น้ำท่วมด้วย
        ทั้งนี้ฝ่ายวิเคราะห์ประเมินว่าวิกฤตน้ำท่วมที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลเชิงลบอย่างหนักต่อ STANLY ในระยะสั้นถึงกลาง โดยแม้ปัจจุบันโรงงานยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากปัญหาน้ำท่วม แต่ก็มีความสุ่มเสี่ยงสูง เนื่องจากทำเลที่ตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี
        ประกอบกับซัพพลายของบริษัท และลูกค้าหลัก เช่น ฮอนด้า ที่มีโรงงานตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม ซึ่งทำให้การผลิตรถยนต์ชะงักทั้งวงจร ย่อมส่งผลกระทบต่อยอดขายลดลงอย่างมีนัยสำคัญในระยะเวลาอย่างน้อย 6 เดือนกว่าที่ภาคอุตสาหกรรมจะฟื้นตัวอีกครั้ง
        อย่างไรก็ตามด้วยแผนระยะยาวในการรองรับออเดอร์อีโคคาร์จากทุกกลุ่มลูกค้าในอนาคต ทำให้บริษัทคงดำเนินแผนการลงทุนเหมือนเดิม ซึ่งบริษัทก็มีความพร้อมในการลงทุน พิจารณาได้จากกระแสเงินสดในมือสูงถึง 3.7 พันล้านบาท ทั้งนี้ Sentiment เชิงลบในระยะสั้นต่อภาคอุตสาหกรรมและการดำเนินงานของบริษัท ซึ่งฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างประเมินความเสียหาย จึงแนะนำให้ชะลอการลงทุนหุ้นในกลุ่มยานยนต์ออกไปก่อน
* เอเซียพลัส ลดน้ำหนักในกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมเป็น “น้อยกว่าตลาด” แต่ชู HEMRAJ เป็น Top Pick
        บทวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส ระบุว่า วิกฤตน้ำท่วมหลายจังหวัดเขตภาคกลาง สร้างความเสียหายต่อภาวะเศรษฐกิจของไทย โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมเนื่องจากมีหลายนิคมฯได้รับความเสียหาย เฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่จ.อยุธยา ซึ่งเป็นที่ตั้งนิคมอุตสาหกรรม 4 แห่ง ที่น้ำได้เข้าท่วมนิคมสหรัตนนคร สวนอุตสาหกรรมโรจนะ และนิคมฯไฮเทคไปแล้ว สำหรับกลุ่มนิคมฯที่ฝ่ายวิจัย Cover ทั้งหมด 4 บริษัท (AMATA, HEMRAJ, ROJNA และ TICON) ผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ ROJNA เนื่องจากมีพื้นที่ใน จ.อยุธยาคิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 75% ของพื้นที่รวม 1.2 หมื่นไร่ ซึ่งปัจจุบันน้ำได้เข้าท่วม ทั้งหมดแล้ว เบื้องต้นคาดว่าจะกระทบต่อรายได้ของ ROJNA ทั้งในด้านการขายที่ดิน ซึ่งมีสัดส่วน 15% ของรายได้รวม และการให้บริการสาธารณูปโภคโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขายไฟฟ้า ในสัดส่วน 60% จะต้องหยุดชะงักลง และคาดว่าจะต้องใช้เวลาฟื้นฟูจนถึงปลายปี 2554 ส่งผลให้รายได้ช่วง 4Q54 จะหดตัวอย่างมาก ขณะที่ TICON เป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบรองลงมา เพราะประกอบธุรกิจสร้างโรงงานให้เช่ากระจายอยู่นิคมฯทั่วประเทศ 13 แห่ง จำนวน 145 โรง แบ่งเป็นในโรจนะ จ.อยุธยา จำนวน 36 โรง และอยู่ในนิคมฯอื่นที่เข้าข่ายจะอาจโดนน้ำท่วม (ได้แก่นิคมฯไฮเทค จ.อยุธยา, บางปะอิน จ.อยุธยา, นวนคร จ.ปทุมธานี และ ลาดกระบัง จ.กรุงเทพฯ) รวมประมาณ 40% ของพื้นที่โรงงานพร้อมปล่อยเช่า 4.1 แสนตร.ม. ส่วนคลังสินค้าให้เช่าอยู่ในโรจนะ 1.8 หมื่นตร.ม. จากทั้งหมด 2.3 แสนตร.ม. อย่างไรก็ตามทาง TICON ได้ทำประกันความเสี่ยงสำหรับความเสียหายทุกประเภท และมี Business Interruption ไว้ 6 เดือน ซึ่งจะสามารถชดเชยความเสียหายที่จะเกิดขึ้นจากภาวะน้ำท่วม แต่สำหรับการหาผู้เช่ารายใหม่อาจทำได้ยากขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะทำเลที่มีความเสี่ยงน้ำท่วม ส่วนแผนการขายโรงงานเข้ากองทุน TFUND มูลค่า 1.5 พันล้านบาท ในเดือนธ.ค.54 คาดว่าอาจจะเลื่อนออกไปก่อน เพราะโรงงาน 15 โรง จาก 26 โรง อยู่ในนิคมฯที่อาจโดนน้ำท่วม
        นิคมอุตสาหกรรมที่อยู่ทางภาคตะวันออกอย่าง AMATA และ HEMRAJ ค่อนข้างปลอดภัยจากปัญหาน้ำท่วม โดยทาง AMATA มีนิคมฯ 2 แห่งคือ อมตะนคร จ.ชลบุรี และอมตะซิตี้ จ.ระยอง พื้นที่รวมกว่า 2.8 หมื่นไร่ ส่วนทาง HEMRAJ มีนิคมฯ 6 แห่ง ซึ่งอยู่ในจ.ระยอง 4 แห่ง คือ มาบตาพุด, อีสเทอร์ซีบอร์ด, เหมราชอีสเทอร์ซีบอร์ด และ เขตอุตสาหกรรมเหมาราชระยอง (RIL) ส่วนที่เหลือคือเหมราชชลบุรี และเขตอุตสาหกรรมเหมาราชสระบุรี (SIL) พื้นที่รวม 3.1 หมื่นไร่ ซึ่งทั้งหมดมีความเสี่ยงน้ำท่วมต่ำ เพราะไม่ได้อยู่ในทำเลที่ใกล้แม่น้ำสายหลัก โดยภาพรวมของกลุ่มนิคมฯคาดว่าผู้ที่มีทำเลที่ปลอดภัยจากภัยธรรมชาติ อยู่ไม่ไกลจากกทม. ท่าเรือ สนามบิน และมีระบบสาธารณูปโภครองรับ อย่างเช่นในจ.ชลบรี และระยอง จะเป็นพื้นที่ที่ได้รับความนิยมเข้ามาตั้งโรงงานจากนักลงทุนทั้งชาวไทยและต่างชาติ ซึ่งทาง AMATA และ HEMRAJ จะได้ประโยชน์ในระยะยาว ส่วนพื้นที่ใน จ.อยุธยา กรณีที่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมทุกๆปีอาจถูกลดความน่าสนใจ สำหรับผลกระทบในระยะสั้นต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ทั่วประเทศคือการขาดแคลนชิ้นส่วนบางประเภทที่จากเดิมจะรับมาจากโรงงานแถบจ.อยุธยา อาจจะต้องหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ หรือชะลอการผลิตลง ซึ่งจะกระทบต่อปริมาณการใช้น้ำและไฟฟ้าในนิคมฯต่างๆตามมา ทั้งนี้ยอดขายที่ดินช่วง 1H54 ของ 3 บริษัทเท่ากับ 1.5 พันไร่ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ของ AMATA และ HEMRAJ 1.2 พันไร่ และเป็นของ ROJNA กว่า 300 ไร่
        ฝ่ายวิจัยปรับลดน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มนิคมฯจาก “เท่ากับตลาด” เป็น “น้อยกว่าตลาด” เพื่อสะท้อนผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมต่อ ROJNA และ TICON ที่ได้ลดประมาณการและคำแนะนำไปก่อนหน้านี้ โดยฝ่ายวิจัยยังคงเลือก HEMRAJ เป็น Top pick เนื่องจากมีทำเลที่ตั้งปลอดภัย โครงสร้างรายได้กระจายตัวดีที่สุด และการเติบโตสูงที่สุดในปี 2555 จากโรงไฟฟ้า Gheco-one (ถือหุ้นในสัดส่วน 35%)
* ส.อ.ท. เสนอ 4 มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ด้านรมว.อุตฯ เตรียมชงครม.สรุปสัปดาห์หน้า
        นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยภายหลังการหารือกับทางผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมว่า ในเบื้องต้นได้มี 4 มาตรการที่จะนำเสนอให้แก่ภาครัฐในการออกมาตรการเพื่อมาเยียวยาผู้ประกอบการที่ประสบอุทกภัยจากปัญหาน้ำท่วมอย่างหนัก โดยแบ่งเป็น
        1.รัฐบาลควรที่จะต้องเร่งฟื้นฟูแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในเขตนิคมอุตสาหกรรมและต้อง มีการฟื้นฟูแบบครบวงจร ทั้งระบบไฟฟ้าและน้ำประปา โดยขณะนี้ส.อ.ท.ได้จัดตั้งศูนย์ฟื้นฟูบูรณาการภาคอุตสาหกรรมเพื่อเป็นตัว กลางในการประสานงานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการดูแลผู้ประกอบการที่ได้รับ ผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น
        2.อยากให้กระทรวงการคลังออกมาตรการผ่อนปรนการชำระเงินต้น รวมไปถึงการลดอัตราดอกเบี้ยเพื่อลดภาระให้กับผู้ประกอบการ
        3.ให้กระทรวงแรงงานนำเงินประกันสังคมจ่ายชดเชยให้กับลูกจ้างที่ได้หยุดงานจาก การปิดกิจการชั่วคราวของผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบ โดยในเบื้องต้นให้จ่ายเป็นเวลา 3-6 เดือน
        4.อยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กำหนดมาตรการของผู้ประกอบการที่ผิดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยไม่ต้องขึ้นทะเบียนเป็น NPL กับธนาคารที่ได้ข้อสินเชื่อไว้
        นอกจากนี้ยังมีข้อเสนอแนะให้กับรัฐบาล 8 ข้อ แบ่งเป็น
        1.รัฐบาลควรจัดตั้งกองทุนเพื่อมาฟื้นฟูผู้ประสบภัย 5 หมื่นล้านบาท โดยในเบื้องต้นอาจจะให้ธนาคารของภาครัฐปล่อยสินเชื่อให้แก่ผู้ประกอบการ โดยไม่ต้องกำหนดเพดานตัวเลขการกู้เงิน โดยพิจารณาให้สินเชื่อตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริง ซึ่งผู้ที่จะได้รับสิทธิควรจะเป็นผู้ประกอบการในไทยและญี่ปุ่น
        2.BOI ควรที่จะต้องลดภาษีการนำเข้าเครื่องจักรทดแทนเครื่องจักรเดิมที่เสียหายจากปัญหาน้ำท่วม
        3.ให้ขยายสิทธิประโยชน์ทางภาษี BOI เพิ่มอีก 1 ปี
        4.ให้ประกันภัยช่วยเร่งการจ่ายค่าสินไหมชดเชยให้แก่ผู้ที่ได้รับความเสียหาย โดยเฉพาะผู้ประกอบการแต่ละโรงงานโดยเร็ว
        5.ผ่อนผันกฏ ระเบียบการนำเข้าเครื่องจักรและการนำเข้าบุคลากรที่เชี่ยวชาญจากต่างประเทศในด้านทางเทคนิคการฟื้นฟูโรงงานให้ได้โดยเร็ว
        6.ให้ชะลอการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาท จากเดิมที่ได้เลื่อนกำหนดเป็น 1 เมษายน 55 ให้เลื่อนเป็นต้นปี 56
        7.ยกเว้นการส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมระยะเวลา 1 ปี เพื่อลดภาระให้ลูกจ้างและผู้ประกอบการ
        8.หามาตรการเยียวยาลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วม
        นายพยุงศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีความเป็นห่วงสินค้าอุปโภค บริโภคที่กำลังขาดแคลนในตลาดแต่เชื่อว่าคงจะไม่มีปัญหา แม้ว่าศูนย์กระจายสินค้าจะอยู่ในพื้นที่ประสบอุทกภัย แต่ผู้ประกอบการและผู้ผลิตจะมีสต็อกสินค้าและวัตถุดิบที่เพียงพอในช่วง 1 เดือน
        นายเซตสึโอะ อิอูจิ ประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่นประจำประเทศไทย (เจโทร) กล่าวว่า การเร่งฟื้นฟูและเยียวยาผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมจะส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทย โดยในเบื้องต้นเพื่อให้กระบวนการผลิตเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง รัฐบาลควรต้องผ่อนปรนกฏระเบียบเรื่องภาษีการนำเข้าเครื่องจักร รวมไปถึงการช่วยเหลือในเรื่องของเงินทุนให้กับผู้ประกอบการ SME ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งการแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจให้อยู่ในวงที่จำกัด และเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนกลับมาโดยเร็ว
        "หากประเทศไทยแก้ไขปัญหาได้รวดเร็ว นักลงทุนญี่ปุ่นก็ยังคงจะลงทุนในไทยต่อไป" นายเซตสึโอะ กล่าว
        นายจุนอิจิ มิโซโนอุเอะ ประธานหอการค้าประเทศญี่ปุ่น เปิดเผยว่า การทำธุรกิจและการลงทุนในประเทศไทยของนักลงทุนญี่ปุ่น มีความสัมพันธ์มายาวนาน ซึ่งนักลงทุนญี่ปุ่นก็จะอยากใช้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิต แต่ในขณะนี้ผู้ประกอบการได้รับผลกระทบเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะชิ้นส่วนของอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้การผลิตรถยนต์ในปีนี้อาจจะทำได้ไม่ตามเป้าที่ 1.8 ล้านคัน
        นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า จากข้อเสนอของภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดถือเป็นประโยชน์ต่อภาครัฐที่จะนำไปกำหนดเป็นแนวทางการแก้ไข เยียวยาและฟื้นฟูจากปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้น ซึ่งจะนำข้อเสนอดังกล่าวเข้าสู่การประชุมครม. ในสัปดาห์หน้า
        นอกจากนี้จากข้อซักถามที่ได้ระบุว่ามีความจำเป็นหรือไม่ในการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉินในสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ นายแพทย์วรรณรัตน์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินหรือไม่กระบวนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยก็ไม่ได้แตกต่างจากในขณะนี้ ซึ่งรัฐบาลก็ได้เร่งประสานงานกับทุกภาคส่วนในการช่วยเหลืออยู่แล้ว แต่เชื่อว่าหากประกาศพ.ร.ก.ฉุกเฉินออกไปก็จะเป็นอุปสรรคต่อการเรียกร้องค่าประกันภัย