อังคาร 18 ต.ค.2554--eFinanceThai.com :
น้ำท่วมกระทบจีดีพี 1.0-1.7%

       วิกฤตน้ำท่วม ฉุดจีดีพีร่วง สภาพัฒน์และธปท. คาดกระทบจีดีพี 1.0-1.7% หลังน้ำทะลักเข้าท่วม 5 นิคมฯในอยุธยา และล่าสุด โจมตี นิคมฯนวนคร ของปทุมธานีอีก 1 แห่ง ด้าน BAY คาดน้ำท่วมฉุดจีดีพีปีนี้โตเพียง 2.7-3.5% ขณะที่โบรกฯ คาดวิกฤตการณ์ครั้งนี้กระทบต่อจีดีพี 1-2 ไตรมาส คืองวด Q4/54- Q1/55 และกดดันตลาดหุ้นไทยในระยะ 1-2 เดือน ด้านรัฐบาล คาดใช้งบกว่าแสนลบ.ฟื้นฟูและเยียวยาหลังน้ำลด หวังเรียกความเชื่อมั่นนลท.ต่างชาติ ระบุมีทั้งมาตรการสิทธิพิเศษแก่โรงงานที่ถูกน้ำท่วม และเตรียมเพิ่มการขาดดุลงบปี 55 เป็น 4 แสนลบ. จากเดิม 3.5 แสนลบ. ให้ครม.พิจารณาวันนี้
       จากสถานการณ์น้ำท่วมที่ขยายวงกว้าง ส่งผลให้มีจังหวัดที่ประสบภัยครั้งนี้ 61 จังหวัดจากจำนวน 77 จังหวัดทั้งประเทศ ประชาชนได้รับความเดือดร้อนประมาณ 2.69 ล้านครัวเรือน และ 8.59 ล้านคน นอกจากนั้นวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทางภาคเกษตร และอุตสหากรรม โดยเฉพาะนิคมอุตสาหกรรม ในจังหวัดอยุธยา ทั้งหมด 5 แห่ง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรม สหรัตน์นคร นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนเกี่ยวข้องอาทิ ROJNA, TICON, SPPT นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค (บ้านหว้า) มีบริษัทจดทะเบียนเกี่ยวข้องประกอบด้วย HANA, KCE, AH และ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ประกอบด้วย TICON, QCON, SMT, SPCG, KIAT, TTW (BLDC) และ นิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์
       ล่าสุดมวลน้ำได้เข้าโจมตี นิคมอุตสาหกรรมนวนคร ในจังหวัดปทุมธานี ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องคือ NNCL, OISHI, TTCL (โรงไฟฟ้า 1 แห่ง)
       อย่างไรก็ตามนิคมที่น้ำยังไม่ท่วมแต่มีความเสี่ยง ประกอบด้วย นิคมอุตสาหกรรมบางกะดี จังหวัด ปทุมธานี ซึ่งมีบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องอาทิ TFD, SVI, GEN, DRACO
       นิคมอุตสาหกรรมเวลล์โกที่จังหวัด ฉะเชิงเทรา มีบริษัทดจดทะเบียน DELTA, SAWANG, TPA, TOPP นิคมอุตสาหกรรมบางปู จังหวัดสมุทรปราการ บริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องอาทิ DELTA, KCE, LST, BAT3K, SITHAI, BWG, TBSP,TUCC, CEI, GENCO, OGC นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ มีบริษัทจดทะเบียนที่เกี่ยวข้องอาทิ AH, TFD, TRT , นิคมอุตสาหกรรมบางชัน กรุงเทพฯ PB, UP, UPF, HITECH นิคมอุตสหากรรมลาดกระบัง กรุงเทพฯ KCE, KCE (บริษัทย่อยคือ TLM), EIC, PB, S&P, KKC,BJC, GFM, SIMAT
       ทั้งนี้มีการวิเคราะห์ว่า นิคมอุตสาหกรรมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาน้ำเข้าท่วมหมดทุกแห่ง รวม 5 แห่ง แต่ยังไม่รวมความเสียหายของ นิคมฯนวนคร โดยทั้ง 5 นิคมอุตสาหกรรมใช้เงินทุนประมาณ 2 แสนล้านบาท และมีแรงงานกว่า 2 แสนคน ขณะที่ค่ายรถประกาศหยุดผลิตชั่วคราวเนื่องจากขาดชิ้นส่วน ที่หนักสุด คือ HONDA เริ่มต้นจาก HONDA ประกาศหยุดผลิตชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. หลังนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครถูกน้ำท่วม ต่อมาเมื่อวันที่ 8 ต.ค. HONDA ต้องประกาศหยุดการผลิตอย่างไม่มีกำหนดเนื่องจากน้ำเข้าท่วมโรงประกอบรถยนต์ HONDA ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมโรจนะ FORD ประกาศหยุดผลิตชั่วคราวในวันที่ 11-12 ต.ค. และกลับมาผลิตได้ 1 กะตั้งแต่วันที่ 13 ต.ค. TOYOTA และ ISUZU ประกาศหยุดผลิตชั่วคราวในวันที่ 12-15 ต.ค. และ NISSAN ประกาศลดการทำงานล่วงเวลา (OT) ในสายการผลิตรถกระบะในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา
       ขณะที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ประเมินผลกระทบของวิกฤตการณ์น้ำท่วมครั้งนี้ว่าจะกระทบเศรษฐกิจ ประมาณ 1 แสนล้านบาท และเตรียมจ่อปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจปีนี้ จากเดิมที่คาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหาย 6 หมื่นล้านบาท หรือกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี )ประมาณ 0.6% ขณะที่กระทรวงการคลัง จ่อปรับลดคาดการณ์จีดีพีเช่นกัน หลังจากเคยปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีในปี 2554 ว่าจะขยายตัวในอัตรา 4% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.8-4.3% จากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจีดีพีจะเติบโตเฉลี่ย 4.5%
*** คลัง คาดวิกฤตน้ำท่วมกระทบจีดีพี 1.0-1.7 % ***
       นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเยียวยาผลกระทบจากอุทกภัยด้านเศรษฐกิจว่า จากปัญหาผลกระทบภาวะน้ำท่วมในขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประเมินผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเบื้องต้น ว่าจะกระทบประมาณ 1-1.7% ของการเติบโตเศรษฐกิจโดยรวมหรือ จีดีพีในปีนี้ โดยตัวเลขผลกระทบดังกล่าวสูงขึ้นจากเดิมที่ได้ประมาณการไว้ แต่ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขความเสียหายจากผลกระทบปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้ได้ ทั้งหมด เพราะระดับน้ำยังไม่นิ่งและต้องติดตามต่อไปว่าปัญหาน้ำท่วมจะลุกลามไปมากน้อยเพียงใด
       ทั้งนี้ในส่วนของมาตรการที่จะเข้ามาเยียวยาภาคอุตสาหกรรมในเบื้องต้น กระทรวงการคลังได้เตรียมยืดระยะเวลาการยื่นแบบเสียภาษีเงินได้นิติบุคคลให้กับบริษัทของประเทศญี่ปุ่น จากเดิมจะยื่นแบบเสียภาษีในช่วงเดือน พ.ย.-ธ.ค.2554 โดยได้ยืดระยะเวลาออกไปจากเดิม รวมไปถึงการออกมาตรการผ่อนปรนการชำระหนี้ให้แก่ผู้ประกอบการในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ
       นอกจากนี้ ยังอยู่ระหว่างการแก้กฎระเบียบของกระทรวงการคลัง เพื่อให้ผู้ว่าราชการจังหวัดแต่ละแห่งสามารถขออนุมัติวงเงินเพิ่มเติมได้ เพื่อป้องกันปัญหาภัยน้ำท่วม และยังเพิ่มความคล่องตัวในการเบิกจ่ายงบประมาณ ขณะเดียวกันจะหาแนวทางมาดูแลในส่วนของแรงงานที่ได้รับผลกระทบ
       'ในขณะนี้ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลือไว้ 3 แนวทาง โดยแนวทางแรกต้องมีความเร่งด่วน 2.เยียวยาและฟื้นฟูผู้ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม และ 3.จะเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องของน้ำท่วมในระยะยาว' รมว.คลัง กล่าว
       ทั้งนี้กระทรวงการคลังมีแนวทางที่จะจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อนำมาฟื้นฟูและเยียวยาหลังจากได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยในขณะนี้ โดยในเบื้องต้นจะจัดทำงบประมาณเพิ่มเติมเพื่อมาป้องกันอุทกภัยในระยะยาวใน 3-5 ปีข้างหน้า อย่างไรก็ดียังไม่ได้สรุปแนวทางว่าจะจัดทำอย่างไร
       ส่วนการออก พระราชกำหนดหรือ พ.ร.ก.เพื่อกู้เงิน จะหารือในส่วนของรายละเอียดให้มีความรอบคอบก่อนว่าจะทำหรือไม่นายธีระชัย เปิดเผยว่า รัฐบาลได้มีแนวทางที่จะเร่งการลงทุนในระบบโครงสร้างพื้นฐานของประเทศให้เร็วขึ้น เพื่อเป็นการฟื้นฟูหลังจากได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัย เพื่อเรียกความเชื่อมั่นของประเทศให้กลับมาโดยเร็ว
       ทั้งนี้โดยในเบื้องต้นได้ประสานงานกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการดูแลสภาพคล่องของระบบการเงินว่าเพียงพอหรือไม่ รวมไปถึงการฟื้นฟูว่าจะดำเนินการอย่างไร โดยเฉพาะในเรื่องการเครมประกันภัย การเลือกสินไหมชดเชย และการแก้ไขปัญหาในการลดระดับน้ำในส่วนของนิคมเพื่อให้เร่งการผลิตในภาค อุตสาหกรรมให้เร็วขึ้นและป้องกันปัญหาน้ำท่วมนิคมในระยะต่อไป
       นอกจากนี้ ในส่วนของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกันที่ยังไม่ได้รับผลกระทบ อาจจะใช้ระบบพี่ช่วยน้อง โดยอาจจะว่าจ้างแรงงานของบริษัทที่ไม่ได้รับผลกระทบมาช่วยเหลือเพื่อแก้ปัญหาโรงงานที่ประสบกับปัญหาขาดแคลนแรงงาน
       นายธีระชัย กล่าวต่อว่า ยอมรับว่ามีความเป็นห่วงว่าปัญหาน้ำท่วมจะส่งผลกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทย ซึ่งจะเป็นผลกระทบเชื่อมโยงกับความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ ดังนั้นจึงอยากฝากให้นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ไปช่วยชี้แจงกับนักลงทุนว่าปัญหาน้ำท่วมเป็นเพียงผลกระทบในระยะสั้นและชั่วคราว
       'ภาคประกันภัยที่มีผลกระทบน้ำท่วมโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นจำนวนเงินหมื่น ล้าน ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะโรงงานอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมได้ทำประกัน ภัยได้ทำประกันภัยไว้กับบริษัทประกันภัยต่างประเทศ จึงเชื่อได้ว่าบริษัทประกันภัยในต่างประเทศจะมีเงินเพียงพอในการจ่ายสินไหม ทดแทนแก่โรงงานอุตสาหกรรมที่ประสบปัญหาน้ำท่วมอย่างแน่นอน ซึ่งฝ่ายภาครัฐให้ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ดูแลสภาพคล่องทางการเงินของไทยทั้ง ระบบให้เพียงพอกับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากภัยน้ำท่วมด้วย'นายธีระชัย
***นายกฯคาดใช้งบฯกว่า 1แสนลบ.ฟื้นฟูประเทศ เล็งเพิ่มการขาดดุลงบฯปี 55 เป็น 4 แสนลบ.หลังเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ในประเทศ***
       ทั้งนี้ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐานตรี คาดว่า รัฐบาลจะใช้งบประมาณกว่า1 แสนล้านบาท ในการฟื้นฟูประเทศ หลังประสบกับภาวะน้ำท่วมใหญ่ในขณะนี้
       นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังเข้าหารือกับนายกรัฐมนตรี เกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในขณะนี้ว่า กระทรวงการคลังมีแนวคิดทางที่เพิ่มการขาดดุลงบประมาณปี 2555 จากเดิมที่ตั้งไว้ 3.5 แสนล้านบาท แต่จะเป็นวงเงินเท่าใดนั้น คงต้องมีการหารือกับผู้อำนวยการสำนักงบประมาณในขั้นตอนต่อไป เพื่อนำมาฟื้นฟูผลกระทบจากอุทกภัยในครั้งนี้
       ทั้งนี้ ในที่ประชุมนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ไปหารือกับธนาคารพาณิชย์ เพื่อดูแลลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาอุทกภัยว่าจะมีวิธีการใดบ้าง ซึ่งในแนวทางปฏิบัติต้องดูว่าธนาคารพาณิชย์จะสามารถใช้มาตรการเยียวยาผู้ประสบภัยเช่นเดียวกับธนาคารรัฐได้หรือไม่ ซึ่งธนาคารรัฐได้มีวิธีการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้ประสบภัย โดยเฉพาะมาตรการพักชำระหนี้ เช่น ธ.ก.ส.ได้หยุดพักชำระหนี้ให้กับลูกค้า 2-3 ปี ส่วนธนาคารออมสินที่เป็นลูกค้ารายย่อยนั้นได้พักชำระหนี้ให้กับลูกค้าที่ประสบภัย 4-6 เดือน
       ด้านนายวรวิทย์ จำปีรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เผยว่า ในวันนี้ จะเสนอที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาขยายกรอบวงเงินการขาดดุลงบประมาณ ปี 55 เป็นขาดดุล 4 แสนล้านบาท จากเดิมที่ตั้งไว้ขาดดุล 3.5แสนล้านบาท หลังเกิดภาวะน้ำท่วมใหญ่ในประเทศ
       ทั้งนี้ยังเตรียมจะเสนอวาระการปรับลดงบดำเนินการและงบลงทุนขั้นพื้นฐานของแต่ละหน่วยงานลง 10% หรือประมาณ 8 หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปฟื้นฟูจากปัญหาภัยน้ำท่วมด้วย
***รองนายกรัฐมนตรี  เตรียมเสนอแผนฟื้นฟูเยียวยาผลกระทบอุทกภัยต่อครม. ***
       ด้านนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า รัฐบาลจะนำความคิดเห็นและข้อสรุปจากคณะกรรมการเยียวยาผลกระทบอุทกภัยด้านเศรษฐกิจเสนอให้กับคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาว่าจะทำแผนฟื้นฟูอย่างไรต่อไป โดยในเบื้องต้นอาจจะจัดตั้งงบประมาณเพิ่มเติมขึ้นมาเพื่อฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานของประเทศเป็นหลัก และหาแนวทางป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาน้ำท่วมขึ้นมาอีก ทั้งนี้งบประมาณเพิ่มเติมจะไม่รวมงบประมาณที่ตั้งไว้ 80,000 ล้านบาท จากการลดรายจ่ายขั้นพื้นฐานของแต่ละหน่วยงานเพื่อมาเยียวยาผลกระทบเพิ่มเติม
       ทั้งนี้เห็นว่าปัญหาน้ำท่วมในครั้งนี้ได้ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจขั้นรุนแรง ซึ่งปัจจุบันยังไม่สามารถประเมินตัวเลขได้ชัดเจน เพราะความรุนแรงของระดับน้ำยังคงมีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งรัฐบาลอยู่ระหว่างประเมินอย่างใกล้ชิดโดยที่ประชุมคณะกรรมการชุดดังกล่าวก็แสดงความเห็นว่า แม้ว่าผลกระทบน้ำท่วมจะรุนแรงแค่ไหน แต่ยังมีความมั่นใจว่าจะสามารถบริหารจัดการฟื้นฟูให้กลับมาเติบโตได้อีกครั้ง หลังจากที่ระดับน้ำได้ปรับลดลงก็จะดำเนินการทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการและหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป
       'ขณะนี้ในช่วงที่แถลงข่าวระดับน้ำเริ่มได้ไหลเข้าสู่นิคมนวนครแล้ว ผมเชื่อว่าคนที่อยู่ที่ทำงานในนิคมฯ ดังกล่าวคงทำงานอย่างสุดความสามารถและผมก็ขอเอาใจช่วยแต่น้ำเริ่มที่จะเจาะเข้ามาแล้ว โอกาสที่จะป้องกันก็น้อยลง ซึ่งแนวทางการช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมในนิคมฯ และนอกนิคมฯ ก็เป็นไปตามที่รมว.อุตฯ -คลังได้ชี้แจงไป'นายกิตติรัตน์ กล่าว
***รมว.อุตสาหกรรม ชี้ เล็งให้สิทธิพิเศษกับโรงงานที่ได้รับผลกระทบเพื่อจูงใจนลท.ต่างชาติ***
       ด้านนายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการเยียวยาด้านเศรษฐกิจว่า จากปัญหาน้ำท่วมหลายฝ่ายกังวลว่าจะกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่าง ชาติที่ลงทุนภายในประเทศ มองว่าการสร้างความเชื่อมั่นจากนักลงทุนต่างชาติ ประเทศไทยต้องฟื้นฟูโครงสร้างต่างๆจากปัญหาน้ำท่วมโดยเร็ว เพื่อสร้างความมั่นใจให้ต่างชาติและจะให้สิทธิพิเศษกับโรงงานที่ได้รับผล กระทบจากปัญหาอุทกภัยครั้งนี้เพื่อเป็นแรงจูงใจให้กับนักลงทุนต่างชาติกลับ เข้ามาลงทุนภายในประเทศไทย
       ส่วนการประเมินความเสียหายจากอุทกภัยในครั้งนี้มองว่ายังประเมินไม่ได้ ต้องรอสถานการณ์น้ำให้ลดลงก่อน ส่วนแนวทางการแก้ไขผลกระทบน้ำท่วมโรงงานอุตสาหกรรม ประเมินว่าถ้าน้ำรอบอุตสาหกรรมลดลงจะสร้างเขื่อนรอบโรงงานแล้วสูบน้ำออกมาเพื่อเร่งกู้เครื่องจักรภายในอุตสาหกรรมต่างๆ และจะขอความร่วมมือจากกลุ่มโรงเรียนอาชีวะต่างๆภายในประเทศเร่งซ่อมเครื่องจักรภายในโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบ
       ส่วนเครื่องจักรที่มีเทคโนโลยีสูงก็จะประสานงานให้วิศวกรที่ซ่อมเครื่องจักรต่างๆจากต่างประเทศเข้ามาประเทศไทยโดยเร็ว โดยการรีบดำเนินการออกวีซ่าให้กับวิศวกรต่างชาติในการเข้าประเทศไทยโดยเร็วที่สุด
*** BAY คาดน้ำท่วมฉุดGDO ปี 54 โต เพียง 2.7-3.5%***
       ด้านฝ่ายวิจัย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประเมินว่า น้ำท่วม ฉุด GDP ไตรมาส 4 ปีนี้ลดลง 2-3% ภาวะน้ำท่วมในไทยครั้งนี้ต่างจากหลายครั้งก่อนอย่างมาก เพราะไม่เพียงแต่จะกระทบผลผลิตภาคเกษตร การเดินทางและการขนส่งอย่างที่เคยประสบ แต่ยังสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่จากการเกิด Supply-chain disruption ในภาคการผลิตซึ่งจะมีผลกระเทือนภาคการส่งออก การลงทุนภาคเอกชน รวมทั้งการจ้างงาน ส่งผลให้รายได้ของประชาชนและภาคธุรกิจถูกกระทบตามไปด้วย เมื่อผนวกกับความเสียหายของทรัพย์สินและความสะเทือนใจจากภาพข่าวน้ำท่วมรายวัน จึงส่งผลทางลบต่อการจับจ่ายใช้สอย โดยรวมแม้ว่าการบริโภคสินค้าจำเป็นหลายรายการจะเพิ่มขึ้นในช่วงน้ำท่วมรวมถึงมีการกักตุนสินค้าบางรายการก็ตาม
       จากสภาวการณ์ดังกล่าวจึงคาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไทย(GDP)ไตรมาส 4 จะลดลงจากที่คาดไว้เดิมประมาณ 2-3% เหลือเพียง 2.0-3.5% และส่งผลให้อัตราการขยายตัวของ GDP ทั้งปี 2554 ลดลงจากคาดการณ์เดิม 0.7-1.2% เหลือ 2.7-3.5% (เดิมคาด 3.5-4.5%) อย่างไรก็ตาม ตัวเลข GDP ที่หายไปเป็นการพิจารณาเฉพาะความเสียหายด้านผลผลิตซึ่งไม่นับรวมความเสียหายด้านทรัพย์สิน เช่น สิ่งปลูกสร้าง เครื่องจักรกล โครงข่ายสาธารณูปโภค ดังนั้น ความเสียหายโดยรวมที่เกิดขึ้นจริงจะมีมูลค่าสูงมากกว่าที่หลายฝ่ายประเมินผ่านตัวเลข GDP เพียงอย่างเดียว
       ส่วนปี 2555 GDP จะขยับสูง ส่วนหนึ่งโตจากการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม เนื่องจากในช่วงครึ่งแรกของปีหน้าจะได้เห็นการบูรณะซ่อมแซมสิ่งก่อสร้างต่างๆ มากมายที่เสียหายจากภาวะน้ำท่วม รวมถึงอาจเห็นการลงทุนจากภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้นเพื่อป้องกันภาวะน้ำท่วม ซึ่งจะผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศขยายตัวสูงขึ้น และส่งผลให้ GDP ทั้งปี 2555 เติบโตเพิ่มขึ้นในอัตรา 4.0-5.0% อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนุนดังกล่าวเกิดขึ้นเพียงในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้นไม่ได้เกิดจากความต้องการที่จะขยายการลงทุนตามภาวะปกติ จึงไม่น่าจะเสริมบรรยากาศการใช้จ่ายโดยรวมได้มากนัก
***CNS คาดผลกระทบน้ำท่วม ฉุดจีดีพีเหลือ 3.7% ****
       ฝ่ายวิจัย บล.พัฒนสิน โนมูระ (CNS)คาดว่าสถานการณ์อุทกภัยที่รุนแรงในปีนี้ น่าจะมีผลต่อ GDP ณ ราคาตลาด ราว 6 หมื่นล้านบาท เมื่อคิดตามราคาตลาด ประกอบด้วยมูลค่าเพิ่ม จากภาคเกษตร ที่อาจจะเสียหายราว 5 หมื่นล้านบาทและมูลค่าเพิ่มของภาคอุตสาหกรรมราว 1 หมื่นล้านบาท เมื่อพิจารณาผลต่อการคาดการณ์ Real GDP แล้ว CNS คาดว่าอาจจะมีผลต่อการคาดการณ์ GDP Q4/11F ซึ่งปัจจุบันคาดไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 5.4% ปีต่อปี น่าจะเหลือราว 3.7% และจะมีผลต่อการคาดการณ์ GDP ปี 2011F ให้ลดลง 0.4pp จากคาดการณ์ปัจจุบันที่ 4.1% เหลือ 3.7%
       ทั้งนี้คงคาดการณ์ GDP 2012 F ที่ 4.7% ปีต่อปี จากงบลงทุนเพื่อบูรณะฟื้นฟู และผลผลิตการเกษตรฯจะเพิ่มขึ้นหลังน้ำลด เนื่องจากหลังสถานการณ์ อุทกภัยมักจะมีการเร่งเพาะปลูก ทำให้ผลผลิตข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นจากแนวโน้มปกติมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากรัฐบาลยังคงตั้งราคาจำนำข้าวเปลือกไว้สูงเหมือนปัจจุบัน (ซึ่งสูงกว่าราคาตลาดราว50%) ในขณะที่ภาคการก่อสร้างจะได้ประโยชน์จากการบูรณะซ่อมแซมความเสียหาย โดยในส่วนของภาครัฐมีแนวโน้มจะจัดสรรงบประมาณราว 8 หมื่นล้านบาทเพื่อการนี้ในปี 2012
       CNS คาดผลกระทบจากอุทกภัยล่าสุด จะส่งผลลบโดยตรงต่อราคาหุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ (HANA DELTA KCE SMT) ชิ้นส่วนยานยนต์ (AH STANLY SAT) และโดยเฉพาะกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม (แนะนำหลีกเลี่ยง)เพราะอาจมี Downside risk จากการย้ายฐานการผลิต หากต้นทุนในการฟื้นฟูสูงกว่า Replacement cost หรือผู้ประกอบการไม่มั่นใจต่อแผนการแก้ปัญหาอุทกภัยระยะยาวจากภาครัฐฯ ส่วนหุ้นที่ได้รับผลกระทบทางอ้อม ในระยะสั้น คือกลุ่มโรงแรม ท่องเที่ยว ประกันฯ โรงพยาบาลที่อิงสัดส่วนรายได้ชาวต่างชาติ
       ส่วนหุ้นที่คาดได้ประโยชน์จากการบูรณะซ่อมแซมหลังน้ำลด ได้แก่ SCC SCCC TGCI DCC DRT VNT TASCO HMPRO และหุ้นที่ได้ประโยชน์ระยะสั้น ได้แก่ กลุ่มค้าปลีก สินค้าอาหารจำเป็น จากอุปสงค์ส่วนเพิ่ม (การกักตุนสินค้า)อาทิ BIGC CPALL MAKRO TF
*** บล.เอเซียพลัส มองน้ำท่วมฝั่งตะวันตกของกรุงเทพ และกำลังโอบเข้าฝั่งตะวันออก กระทบต่อ GDP 1-2 ไตรมาส***
       ด้านฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส ประเมินว่าสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศยังคงลุกลามขึ้นอย่างต่อเนื่องหลังจากล่าสุด ความพยายามสุดกำลังในการป้องกันกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกต้องเป็นหมันลง เพราะแนวคันกั้นน้ำแถวสามโคกปทุมธานี ไม่สามารถต้านทานมวลน้ำเหนือขนาดใหญ่ที่ไหลบ่าเข้ามาได้ ทำให้น้ำพุ่งเข้าพื้นที่ฝั่งปทุมธานี สามโคก และลาดหลุมแก้ว และกำลังลุกลามสู่กรุงเทพฝั่งตะวันตกและรอยต่อของ กทม. ไม่ว่าจะเป็นแถบจังหวัดนนทบุรีบางบัวทอง และมีโอกาสลุกลามถึงที่ราบลุ่มของ กทม.ด้านตะวันตกคือเขตบางพลัด บางกอกน้อย ตลิ่งชัน ภาษีเจริญ ทวีวัฒนา และบางแค แถบที่ราบลุ่ม
       ขณะที่ฝั่งตะวันออก ภาครัฐยังคงพยายามยื้อเต็มที่ในแนวคันกั้นน้ำแถบวังน้อย และบางปะอิน ไม่ให้ไหลเข้าสู่เข้าฝั่งตะวันตกของ กทม หลังจากน้ำท่วมได้สร้างความเสียหายต่อนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และนวนคร บ้างแล้ว ซึ่งหากความพยายามป้องกันฝั่งนี้ล้มเหลว กทม.ฝั่งตะวันตกที่อาจจะได้รับผลกระทบคือ เขตดอนเมือง สายไหม บางเขน อนุเสาวรีย์ฯ ลาดพร้าว คลองจั่น-คลองกุ่ม บางกะปิ หัวหมาก และเขตลาดกระบัง โดยเฉพาะวันที่ 17-18 ต.ค. นี้ ซึ่งระดับน้ำทะเลจะหนุนสูงขึ้น ร่วมกับน้ำเหนือที่ไหลบ่าเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งหากไม่สามารถต้านทานได้จริง จะเกิดสถานการณ์น้ำท่วมโอบล้อมกรุงเทพฯ 2 ฝั่ง น้ำจะค่อยๆ กระชับเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจที่สำคัญ จะสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศอย่างยิ่ง และน่าจะกดดันการเติบโตของเศรษฐกิจไทยอย่างน้อย 1-2 ไตรมาส (งวด Q4/54- Q1/55) ขณะที่จะกดดันตลาดหุ้นไทยในระยะ 1-2 เดือน ในสถานการณ์นี้
*** ธนชาต คาดน้ำท่วมฉุดจีดีพีมากกว่า 0.6-0.9%***
       บล.ธนชาต คาดว่าจะส่งผลกระทบต่อ GDP มากกว่า 0.6-0.9% หรืออาจมากกว่านั้นหลังจากที่น้ำเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และแฟคตอรี่แลนด์ ตามหลังสวนอุตสาหกรรมโรจนะ และนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค และล่าสุดเข้าท่วมนิคมอุตสาหกรรมนวนคร ดังนั้นสำหรับกลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้จึงเน้นที่แนวโน้มรองในระยะ 1-3 เดือน ยังคงเป็นจังหวะการซื้อสะสมหุ้น ส่วนในระยะสั้นแม้ว่าจะมีความผันผวนอยู่บ้างจากแรงขายตามจังหวะตลาดที่นักลงทุนมีความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วม ซึ่งคาดว่าจะส่งผลให้ดัชนี SETปรับตัวลงระยะสั้นไม่ต่ำกว่า 920 จุด
*** บล.เกียรตินาคิน มองนักลงทุนต่างชาติ ยังไม่ถอดไทยออกจาก กลุ่มประเทศเอเชียที่น่าลงทุน***
       ฝ่ายวิจัย บล.เกียรตินาคิน วิเคราะห์ว่า การลงทุนในประเทศไทยยังมีความน่าสนใจ คาดว่ามุมมองของนักลงทุนต่างประเทศ ยังไม่ถอดไทยออกไปจาก 1 ในกลุ่มประเทศในแถบเอเชียที่น่าลงทุน โดยมองการมีฐานการผลิตยานยนต์ยังเป็นแม่เหล็กดึงดูดความน่าสนใจ จากผู้ประกอบการรายใหญ่ระดับโลกเช่น GM AAT SUZUKI TOYOTA ฯลฯ ทำให้ยังมีการลงทุนต่อเนื่องมาจาก (1) การขยายฐานการผลิตที่จำเป็นเช่นการเป็น Supplier กับผู้ประกอบการรายใหญ่ (2) การลงทุนในประเทศไทยยังมีความน่าสนใจ และเสี่ยงน้อยกว่า ในสายตานักลงทุนจากประเทศญี่ปุ่น หรือ จีน เมื่อเทียบกับเหตุการณ์สินามิ โดยพื้นที่ที่ยังไม่ได้รับผลกระทบตรงจากน้ำท่วมจะยังได้รับความสนใจ เช่น จ.ระยอง จ.ชลบุรี ฯลฯ
       ยอดขอรับการส่งเสริมปี 2554 มีโอกาสทะลุเป้าเกินกว่า 5 แสนล้านบาท จากผลรายงานมูลค่าส่งเสริมการลงทุนของ BOI ในเดือน ก.ย 54 ที่ผ่านมามีเม็ดเงินลงทุนระดับ แสนล้านบาท ทำให้โดยรวมตั้งแต่ต้นปี-ก.ย 54 สูงถึงระดับ 4.4 แสนล้านบาท เติบโตถึง 75%เมื่อเทียบกับรายปี ซึ่งทำได้ดีกว่าที่ประเมินไว้ และคาดว่ายอดขอส่งเสริมการลงทุน ณ สิ้นปี 2554 ทำได้มากกว่าเป้าหมายที่ 5 แสนล้านบาท มองแนวโน้มการเติบโตในภาวะปกติ กลุ่มนิคมอุตสาหกรรมเป็นที่น่าจับตา ซึ่งได้รับความสนใจจากต่างชาติที่มาลงทุนในสัดส่วนกว่า 35% โดยประเทศที่เข้ามาลงทุนส่วนใหญ่จากญี่ปุ่น