จันทร์ 22 พ.ย.--eFinanceThai.com :
BANK เนเวอร์เซย์ดาย

* เชียร์ Overeweight หลังสินเชื่อกระฉูด
          เซียนหุ้น แนะลุยหุ้นแบงก์ หลังแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อแจ่ม เผย14 แบงก์พาณิชย์ โชว์สินเชื่อ 10 เดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้น 3.63 แสนลบ. จากสิ้นปีก่อน ที่มีจำนวน 6.15 ล้านล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 6.29 % ส่วนเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 7.68 หมื่นลบ.จากเดือนก่อน เชียร์ Overweight เน้นธนาคารขนาดใหญ่ พัฒนสิน ชู KBANK- BBL -SCB เป็น top picks ของกลุ่ม ฟาก เอเซียพลัส ชี้ สินเชื่อและกำไร กลุ่มแบงก์ จะ peak สุดใน 4Q53 ดีบีเอสวิคเคอร์ส คาด กำไรสุทธิปี 54 กลุ่มแบงก์ โตน่าประทับใจ 16%
          สินเชื่อรวมกลุ่มแบงก์ 10 เดือนแรกปีนี้ น่าประทับใจ หลังเศรษฐกิจขยายตัวได้ดีขณะที่สภาพคล่องดอกเบี้ยไม่อยู่ในอัตราสูงเกินไป และแนวโน้มยังอยู่ในทิศทางที่ดี1
*เซียนหุ้น แนะลุยหุ้นแบงก์ หลังแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อแจ่ม
          นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. คันทรี่กรุ๊ป เปิดเผยว่า หลังจากตัวเลขการปล่อยสินเชื่อของกลุ่มสถาบันการเงินในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้เติบโตออกมาอย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าผลการดำเนินงานในช่วงไตรมาส4/53 จะยังขยายตัวอยู่ในเกณฑ์ดี เนื่องจากในช่วงไตรมาสดังกล่าวเป็นฤดูกาลของการปล่อยสินเชื่อของธนาคารอยู่แล้ว หลังจากผู้ประกอบการต้องการขยายธุรกิจเพิ่มเติมในช่วงสิ้นปี ประกอบกับยังได้รับอานิสงส์จากปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เชื่อว่าหลังระดับน้ำลดลงแล้วจะมีประชาชนเข้ามาขอสินเชื่อเพิ่มขึ้นเพื่อไปซ่อมแซมที่อยู่อาศัยหรืออุปกรณ์ เครื่องใช้ที่เกิดความเสียหาย อย่างไรก็ตาม ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะส่งผลต่อการปล่อยสินเชื่อของผู้ประกอบการภาคการส่งออกให้ชะลอตัวลง เพราะได้รับผลกระทบโดยตรงต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ
          สำหรับแนวโน้มการขยายตัวของการปล่อยสินเชื่อรวมของธนาคารแต่ละแห่ง คาดว่าจะชะลอลงมาจากปี53 โดยเบื้องต้นประเมินไว้ว่าอัตราการปล่อยสินเชื่อรวมปี54 เติบโต 5-6% เมื่อเปรียบเทียบกับปีนี้ที่เติบโต 9-10% โดยเป็นค่าเฉลี่ยการเติบโตของตัวเลขการปล่อยสินเชื่อรวมของธนาคารแต่ละแห่ง โดยเป็นผลมาจากค่าเงินมีทิศทางแข็งค่าขึ้นในช่วงปีหน้า ประกอบกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า อย่าง จีน และประเทศแถบยุโรป
          ขณะเดียวกัน การปล่อยสินเชื่อของธนาคารของภาครัฐที่เร่งออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำนั้น เชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อตัวเลขการปล่อยสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์บ้าง แต่ไม่ได้ถือว่ามีนัยสำคัญ เนื่องจากการแข่งขันของธนาคารคงจะไม่เน้นหนักไปถึงเรื่องอัตราดอกเบี้ยต่ำเพียงอย่างเดียว แต่คงจะต้องดูเกี่ยวกับคุณภาพของลูกค้าด้วยว่ามีความสามารถในด้านการชำระหนี้มากน้อยแค่ไหน เพราะไม่เช่นนั้นจะทำให้เกิดเป็นหนี้เสียได้ในอนาคต
          ด้านกลยุทธ์การลงทุน หากจะพิจารณาลงทุนหุ้นกลุ่มธนาคาร ควรเข้าลงทุนในหุ้นขนาดใหญ่ 4 ตัว ได้แก่ BBL(ราคาพื้นฐาน 182 บาท) SCB(ราคาพื้นฐาน 125 บาท) KTB(19.80 บาท) KBANK(ราคาพื้นฐาน 142 บาท ) โดยหุ้นกลุ่มดังกล่าวมีพื้นฐานทางด้านการเงินที่มีความแข็งแกร่งมากพอสมควร ทำให้การขยายตัวของผลประกอบการจึงมีสูงกว่าหุ้นตัวอื่นๆที่ทำธุรกิจเดียวกัน
* KBANK เผย14 แบงก์พาณิชย์ โชว์สินเชื่อ 10 เดือนแรกปีนี้เพิ่มขึ้น 3.63 แสนลบ. จากสิ้นปีก่อน ที่มีจำนวน 6.15 ล้านล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 6.29 % ส่วนเดือน ต.ค. เพิ่มขึ้น 7.68 หมื่นลบ.จากเดือนก่อน
          ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เดือน ต.ค. 53 สินเชื่อเพิ่มด้วยขนาดที่มากกว่าการเพิ่มขึ้นของเงินฝาก โดย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2553 ยอดเงินให้สินเชื่อสุทธิ (หักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) ของ 14 ธนาคารพาณิชย์ไทย มีจำนวน 6.15 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.68 หมื่นล้านบาท จาก 6.07 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 (จากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อในทุกกลุ่มธนาคาร นำโดยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่) ซึ่งสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจที่ยังคงมีแรงส่งของการขยายตัวแม้ด้วยอัตราที่ชะลอลง ขณะที่ธนาคารพาณิชย์น่าจะเร่งขยายสินเชื่อในช่วงที่เหลือของปีเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตที่ตั้งไว้สำหรับทั้งปี
          ด้านยอดเงินฝาก ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2553 มีจำนวน 6.59 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.43 หมื่นล้านบาท จาก 6.53 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 (ตามการเพิ่มขึ้นของเงินฝากในกลุ่มธนาคารขนาดกลางและกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ ขณะที่เงินฝากในกลุ่มธนาคารขนาดเล็กลดลง) และเงินกู้ยืม เพิ่มขึ้น 8.52 หมื่นล้านบาท จาก 8.97 แสนล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน มาที่ 9.82 แสนล้านบาท อันเป็นผลจากการออกหุ้นกู้เสนอขายในต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ตลอดจนการที่ธนาคารพาณิชย์ต่างๆ ยังคงมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์เงินฝากและตั๋วแลกเงินที่ให้ผลตอบแทนจูงใจ เพื่อรักษาฐานลูกค้าและเสริมสภาพคล่องไว้รองรับการดำเนินธุรกิจ รวมทั้งเพื่อรับมือกับภาวะการแข่งขันกับทางเลือกการออมอื่นๆ ทั้งนี้ จากการเปลี่ยนแปลงของแหล่งที่มาและใช้ไปของเงินทุนดังกล่าว ที่แม้สินเชื่อจะเพิ่มขึ้นด้วยขนาดที่มากกว่าเงินฝาก แต่เงินกู้ยืมที่เพิ่มขึ้น ก็ได้ช่วยชดเชยและสนับสนุนให้สภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ไทยในเดือนกันยายน 2553 ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้เมื่อเทียบกับเดือนก่อน
          สินทรัพย์สภาพคล่องในงบดุลของธนาคารพาณิชย์ไทยตามความหมายกว้าง (รวมเงินสด เงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้น และเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์) เพิ่มขึ้นค่อนข้างมากจากเดือนก่อน โดย ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2553 สภาพคล่องดังกล่าวมีจำนวน 2.26 ล้านล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นอีกจำนวน 1.05 แสนล้านบาท จาก 2.16 ล้านล้านบาท ณ สิ้นเดือนกันยายน 2553 อันเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นในองค์ประกอบอย่างเงินลงทุนสุทธิในตลาดเงินระยะสั้นและเงินลงทุนสุทธิในหลักทรัพย์ ขณะที่เงินสดลดลงจากเดือนก่อน ทั้งนี้ การเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องดังกล่าว สะท้อนการเพิ่มขึ้นของสภาพคล่องในทุกกลุ่มธนาคารพาณิชย์ โดยเฉพาะกลุ่มธนาคารขนาดกลางและขนาดใหญ่
          ในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 : สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์ไทยเพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2552 สินเชื่อเพิ่มมากกว่าเงินฝาก แต่สภาพคล่องที่เพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของเงินกู้ยืม ซึ่งเป็นภาพที่ไม่ต่างจากในช่วง 9 เดือนแรกของปี โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 เงินให้สินเชื่อสุทธิ (หักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ) เพิ่มขึ้น 3.63 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นการเติบโตร้อยละ 6.29 จาก ณ สิ้นปี 2552 ขณะที่เงินฝากเพิ่มขึ้น 8.78 หมื่นล้านบาท หรือร้อยละ 1.35 จาก ณ สิ้นปี 2552 ส่วนเงินกู้ยืม เพิ่มขึ้น 2.74 แสนล้านบาท จาก ณ สิ้นปี 2552 สภาพคล่องตามความหมายกว้างเพิ่มขึ้น โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2553 สภาพคล่องดังกล่าวเพิ่มขึ้น 1.42 แสนล้านบาท จากระดับ 2.12 ล้านล้านบาท ณ สิ้นปี 2552
          โดยสรุป ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2553 แม้โมเมนตัมการขยายตัวทางเศรษฐกิจอาจมีแนวโน้มอ่อนแรงลงจากปัจจัยเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นผลกระทบจากอุทกภัย ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจคู่ค้า และความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเบิกใช้วงเงินสินเชื่อในบางภาคธุรกิจ อย่างไรก็ดี คาดว่าความต้องการสินเชื่อของภาคเอกชนในภาพรวมยังมีแนวโน้มเติบโตในเกณฑ์ที่น่าพอใจ โดยเฉพาะในช่วงฤดูการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งก็เป็นช่วงเวลาที่สถาบันการเงินต่างๆ จะมีการนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการ รวมถึงกลยุทธ์ทางการตลาดที่หลากหลายและจูงใจมาตอบสนองลูกค้า ส่งผลให้ยอดสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะขยายตัวได้ใกล้เคียงกับเป้าหมายที่ตั้งไว้สำหรับทั้งปี
          ด้านเงินฝากและสภาพคล่องในช่วงท้ายปีนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ธนาคารพาณิชย์น่าจะยังมีการออกผลิตภัณฑ์เงินฝากและตั๋วแลกเงินที่แข่งขันได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการดำเนินธุรกิจและรักษาฐานลูกค้า ตลอดจนเพื่อรับมือกับการโยกเงินออมของผู้ฝากเงินไปยังทางเลือกการลงทุนอื่นๆ ซึ่งลูกค้ามุ่งหวังจะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีเป็นหลัก ทั้งนี้ จากภาพการแข่งขันในตลาดเงินฝากดังกล่าว อาจส่งผลให้มีการไหลกลับของเงินออมบางส่วนเข้าสู่เงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ และทำให้สภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ไทยในช่วงโค้งสุดท้ายของปีปรับตัวสูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับในปัจจุบัน ดังจะเห็นได้จากยอดเงินฝากในช่วง 2 เดือนสุดท้ายของปีที่มักขยับขึ้นเฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 6-7 หมื่นล้านบาทขึ้นไปในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา
          สำหรับแนวโน้มในปี 2554 นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า ภายใต้แรงส่งการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอลง สภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ไทยน่าจะสามารถรักษาระดับสูงและเพียงพอที่จะรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจตลอดทั้งปีได้ อย่างไรก็ตาม คงจะต้องติดตามหลากหลายปัจจัย ทั้งพัฒนาการทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในประเทศ ตลอดจนอิทธิพลจากปัจจัยภายนอกประเทศที่ยากจะควบคุม (อาทิ การขยายตัวของเศรษฐกิจหลัก ตลอดจนการดำเนินนโยบายของทางการในแต่ละประเทศ ที่จะมีอิทธิพลต่อกระแสเงินลงทุนจากต่างประเทศ ความเคลื่อนไหวของตลาดเงินตลาดทุน และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก) ซึ่งนอกจากจะมีผลต่อการกำหนดนโยบายเศรษฐกิจมหภาค รวมถึงนโยบายอัตราดอกเบี้ยของทางการไทยแล้ว ยังอาจมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ไทยในแต่ละช่วงเวลา และในท้ายที่สุดก็คงจะมีผลต่อกลยุทธ์การบริหารจัดการสภาพคล่อง ตลอดจนการพิจารณาจังหวะเวลาของการปรับเปลี่ยนอัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์ นอกเหนือไปจากภาวะการแข่งขันทางธุรกิจ ซึ่งเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่คงจะมีผลต่อการกระจายตัวของสภาพคล่องที่ธนาคารพาณิชย์ในช่วงเวลาต่างๆ ด้วยเช่นกัน
* โบรกฯ แนะOverweight เน้นธนาคารขนาดใหญ่
          บทวิเคราะห์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ระบุว่า สินเชื่อเดือนต.ค. เพิ่มขึ้น 1.2%M-M การกลับมาของสินเชื่อตามฤดูกาลและสินเชื่อเพื่อการลงทุน ธนาคารขนาดใหญ่นำสินเชื่อเพิ่มขึ้น ส่วนธนาคารเล็กที่เน้นเช่าซื้อสินเชื่อชะลอตัวรวม 10 เดือนแรกของปี สินเชื่อ +11.6%YTD แต่หากไม่รวมผลของ TCAP ที่รวมสินเชื่อของ SCIB เข้ามาในการคำนวณตั้งแต่เดือน มิ.ย. สินเชื่อ 10M10 เพิ่มขึ้นราว 6.5%YTD
          ด้านเงินฝากรวมเพิ่มขึ้น +1.4%M-M หลายธนาคารมีการออกโปรแกรมเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษเพื่อเตรียมปล่อยสินเชื่อและล็อกต้นทุนดอกเบี้ยในยามดอกเบี้ยกำลังปรับขึ้นจากอัตราการเติบโตของสินเชื่อในเดือน ต.ค. และความต้องการสินเชื่อตามฤดูกาลในช่วงที่เหลือของปี ทำให้มั่นใจการขยายตัวของสินเชื่อปี 2010 น่าจะทำได้ที่ ~8.5-9% และคาดการณ์สินเชื่อปีหน้าเพิ่มขึ้น 9.4% แนวโน้ม 4Q10 เพิ่ม ~ 21%Y-Y แต่ ลดลง ~8.8%Q-Q
          คงคำแนะนำ Overweight เน้นธนาคารขนาดใหญ่ รับสินเชื่อที่จะเติบโตสูงใน 4Q10 และปี 2011 TOP Pick ยังคงเป็น KBANK, SCB
          รายงาน ธ.พ.1.1 ประจำเดือน ตุลาคม 2010 ของ 9 ธนาคาร มีเงินให้สินเชื่อรวมเพิ่มขึ้น 1.2%M-M (~6.9 หมื่นลบ.) จากการสอบถาม สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่มาจากสินเชื่อเพื่อธุรกิจรายใหญ่ (Corporate loan) และเป็นสินเชื่อเพื่อการลงทุน ส่วนสินเชื่อเพื่อการผลิตและการส่งออกตามฤดูกาลน่าจะเกิดมากใน 2 เดือนสุดท้ายของปี ธนาคารส่วนใหญ่มีสินเชื่อเพิ่มขึ้นนำโดย SCB (+2.4%M-M), KBANK และ KK (+1.9%M-M) ส่วน BBL สินเชื่อเดือนนี้ยังน่าผิดหวัง เพิ่มขึ้นเพียง 0.5%M-M ถือว่าน้อยกว่ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ด้วยกัน
          รวม 10 เดือนแรกของปี สินเชื่อของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้น 11.6% YTD แต่หากไม่รวมผลของ TCAP ที่รวมสินเชื่อของ SCIB เข้ามาในการคำนวณตั้งแต่เดือน มิ.ย. สินเชื่อ 10M10 เพิ่มขึ้นราว 6.5%YTD
          ในส่วนของกลุ่มสินเชื่อเช่าซื้อ (TISCO, TCAP, KK) เงินให้สินเชื่อเพิ่มขึ้นเพียง 0.18%M-M ซึ่งเป็นอัตราที่น้อยที่สุดในรอบปี โดย TCAP เป็นแห่งเดียวที่มีสินเชื่อลดลง 0.2%M-M เกิดจากการจ่ายชำระคืนสินเชื่อในส่วนของ SCIB จากอัตราการเติบโตของสินเชื่อในเดือน ต.ค. และความต้องการสินเชื่อตามฤดูกาลในช่วงที่เหลือของปี ทำให้มั่นใจการขยายตัวของสินเชื่อปี 2010 น่าจะทำได้ที่ ~8.5-9% และคาดการณ์สินเชื่อปีหน้าเพิ่มขึ้น 9.4%
          ด้านเงินฝากรวมเพิ่มขึ้นตามสินเชื่ออีก +1.4%M-M (~8.6 หมื่นลบ.) หลายธนาคารมีการออกโปรแกรมเงินฝากดอกเบี้ยพิเศษเพื่อเตรียมปล่อยสินเชื่อและล็อกต้นทุนดอกเบี้ยในยามดอกเบี้ยกำลังปรับขึ้น ธนาคารขนาดเล็กอย่าง KK และ BAY มีเงินฝากเพิ่มขึ้นมากที่สุด +10.9%M-M และ +3.4%M-M ตามลำดับ LDR เฉลี่ยของกลุ่มธนาคารยังอยู่ที่ 93% เทียบกับอัตราที่เหมาะสมที่ราว 95% จึงยังไม่เห็นสัญญาณการแข่งระดมเงินฝาก
          ประเมินแนวโน้มกำไรสุทธิ 4Q10 ของกลุ่มธนาคารจะอ่อนตัวลงราว 8.8%Q-Q จาก 1.กำไรจากเงินลงทุนลดลง 2.ไม่มีรายได้จากเงินปันผลวายุภักษ์ และ 3.ค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น และถ้าหากเทียบงวดเดียวกันของปีก่อน คาดกำไรสุทธิยังคงปรับเพิ่มขึ้นในระดับสูงราว 21%Y-Y ทั้งจากรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ค่าธรรมเนียมที่เพิ่มขึ้น
          ธนาคารส่วนใหญ่คาดว่าจะมีผลประกอบการดีขึ้น Y-Y ยกเว้น TMB ตรงกันข้ามกับเมื่อเทียบกับ Q-Q ซึ่งคาดว่าธนาคารส่วนใหญ่จะแสดงกำไรลดลง ยกเว้น KK (มีกำไรจากการขาย NPA ต่อเนื่อง) เราคงคำแนะนำ Overweight เน้นธนาคารขนาดใหญ่ รับสินเชื่อที่จะเติบโตสูงใน 4Q10 และปี 2011 TOP Pick ยังคงเป็น KBANK, SCB
* พัฒนสิน แนะ ทยอยสะสมหุ้นแบงก์ลงทุนระยะยาว ชู KBANK, BBL และ SCB เป็นหุ้น top picks ของกลุ่ม
          บทวิเคราะห์ บล.พัฒนสิน ระบุว่า กลุ่มแบงก์ สินเชื่อธนาคารส่วนใหญ่เดือน ต.ค. 10 เติบโตดี m-m ตามคาด โดยเฉพาะในธนาคารขนาดใหญ่อาทิ SCB และKTB หลักๆ ผลักดันจากการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ ขณะที่ เราคาดว่าธนาคารขนาดใหญ่อื่นจะรายงานสินเชื่อเดือน ต.ค. 10 เติบโตดี m-m เช่นกัน โดยส่วนหนึ่งน่าจะมาจากสินเชื่อเพื่อการเข้าซื้อกิจการของ TUF และBANPU ในขณะที่ ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ คาดว่าจะไม่กระทบต่อการเติบโตสินเชื่อของกลุ่มธนาคารอย่างมีนัยสำคัญ โดยคาดกระทบไม่น่าเกิน 1% โดยเรายังคงเป้าการเติบโตสินเชื่อของกลุ่มธนาคารที่ +9% และ +11% ในปี 2010-11F ตามลำดับ และยังคง KBANK, BBL และSCB เป็นหุ้น top picks ใน
          กลุ่มธนาคาร โดยเรามองว่าการปรับฐานของตลาดฯและหุ้นกลุ่มธนาคาร เป็นโอกาสในการทยอยสะสมหุ้นธนาคารเพื่อการลงทุนในระยะยาว โดยเฉพาะหุ้น Top picks ของเรา และ KTB
          สินเชื่อธนาคารเดือน ต.ค. 10 เติบโตดีตามคาด โดยเฉพาะในธนาคารขนาดใหญ่: ธนาคารพาณิชย์ 5 แห่ง ได้ประกาศสินเชื่อเดือน ต.ค. 10 ออกมาเติบโตดี m-m ตามที่เราคาดไว้ว่า สินเชื่อของธนาคาร โดยเฉพาะในธนาคารขนาดใหญ่ จะเริ่มเติบโตในอัตราที่เร่งตัวสูงขึ้นในช่วงไตรมาส 4 โดยเฉพาะเดือน ธ.ค. อาทิ SCB และ KTB ที่สินเชื่อเดือน ต.ค. 10 เติบโตถึง +2.3% m-m และ +1.1% m-m ตามลำดับ หลักๆ ผลักดันจากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ ในขณะที่ สินเชื่อของธนาคารที่เน้นสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ยังคงเติบโตต่อเนื่องคาดธนาคารขนาดใหญ่จะรายงานสินเชื่อเดือน ต.ค. 10 เติบโตดี m-m เช่นกัน: โดยแรงผลักดันหลักคาดว่าจะยังคงมาจากสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ โดยส่วนหนึ่งน่าจะมาจากสินเชื่อเพื่อการเข้าซื้อกิจการของ TUF และ BANPU ในขณะที่ ผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในหลายพื้นที่ของประเทศ คาดว่าจะไม่กระทบต่อการเติบโตสินเชื่อของกลุ่มธนาคารอย่างมีนัยสำคัญนัก คาดกระทบไม่น่าเกิน 1% โดยสินเชื่อธุรกิจการเกษตรอาจชะลอลงบ้างจากผลกระทบของภาวะน้ำท่วม แต่น่าจะชดเชยด้วยสินเชื่อซ่อมแซมบ้าน และสินเชื่อธุรกิจรายใหญ่ที่เติบโตแข็งแกร่ง ได้เป็นส่วนใหญ่ โดยเรายังคงเป้าการเติบโตสินเชื่อของกลุ่มธนาคารที่ +9% และ +11% ในปี 2010-11F ตามลำดับ
          คง KBANK, BBL และ SCB เป็นหุ้น top picks ในกลุ่มธนาคาร โดยเรามองว่าการปรับฐานของตลาดฯและหุ้นกลุ่มธนาคาร เป็นโอกาสในการทยอยเข้าสะสมหุ้นกลุ่มธนาคาร โดยเฉพาะหุ้น Top picks ของเรา และ KTB เพื่อการลงทุนในระยะยาว เนื่องจากการทำกำไรและฐานะทางการเงินของกลุ่มธนาคารยังคงแข็งแกร่ง
*ฟาก เอเซียพลัส ชี้ กลุ่มแบงก์ สินเชื่อและกำไรจะ peak สุดใน 4Q53 พร้อมระบุ ดอกเบี้ยขาขึ้นยิ่งดีในปี 2554
          บทวิเคราะห์ เอเซียพลัส ระบุว่า สินเชื่อสุทธิ ต.ค.53 ของ ธ.พ. 9 แห่ง เติบโต 1.2% mom SCB, KBANK, KK เด่นสุด ธ.พ. 9 แห่งที่ฝ่ายวิจัยศึกษา รายงานยอดสินเชื่อสุทธิ (หลังหักค่าเผื่อหนี้ฯ) คงค้าง ณ สิ้นเดือน ต.ค.53 เท่ากับ 5.78 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 6.94 หมื่นล้านบาท จากเดือน ก.ย.53 หรือเติบโต 1.2% mom และ 9.9% yoy (เดือน ก.ย.53 สินเชื่อสุทธิเพิ่มขึ้นเพียง 0.7% mom) เนื่องจากเริ่มย่างเข้าสู่ช่วงฤดูกาลสินเชื่อใน ไตรมาสที่ 4 ของทุกปี ทั้งนี้ ธ.พ. ทุกแห่ง (ยกเว้น TCAP ที่แสดงยอดลดลงของสินเชื่อสุทธิในเดือนนี้ราว 0.2% mom ซึ่งเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบปี 2553 เนื่องจากอยู่ในช่วงของการควบรวมกิจการกับ SCIB ซึ่งฝ่ายวิจัยได้นำเสนอไปแล้วว่า TCAP ต้องเร่งกระบวนการโอนหลักประกันสินเชื่อของลูกหนี้เข้ามาเป็นชื่อของ TCAP จากเดิมที่เป็นของ SCIB เพื่อใช้ประโยชน์ทางภาษีในการควบรวมกิจการที่จะได้รับยกเว้นเพียงแค่สิ้นปี 2553 จึงทำให้การปล่อยสินเชื่อใหม่ๆ อาจไม่ได้เร่งมากเท่ากับคู่แข่งอื่นๆ ในกลุ่มฯ) ล้วนแสดงการเติบโตของสินเชื่อสุทธิในเดือนนี้ นำโดย SCB, KBANK และ KK โดยรวมแล้ว สินเชื่อสุทธิในระยะ 10M53 เพิ่มขึ้น 6.1% จากสิ้นปี 2552 ยังสอดคล้องกับเป้าหมายสินเชื่อสุทธิทั้งปี 2553 ที่ฝ่ายวิจัยคาดคือ 7.4% yoy สำหรับสถานการณ์ด้านเงินฝากและเงินกู้ยืมรวมในเดือน ต.ค.53 มียอดคงค้างรวม 6.56 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.20 แสนล้านบาท หรือเติบโต 1.9% mom และ 6.9% yoy โดย TCAP, KK และ TISCO เป็น ธ.พ. ที่มีการเพิ่มขึ้นของเงินฝากสูงสุดในเดือน ต.ค.53 ส่วน BBL และ KBANK เป็น ธ.พ. 2 แห่งที่มียอดลดลงของเงินฝากในเดือนนี้
          คาดหวังสินเชื่อและกำไรจะ peak สุดใน 4Q53…ดอกเบี้ยขาขึ้นยิ่งดีในปี 2554 ฝ่ายวิจัยคาดทิศทางสินเชื่อและแนวโน้มกำไรสุทธิของกลุ่มใน 4Q53 จะยังมีทิศทางที่สดใสและทำระดับ peak สุดในรอบปี 2553 ผลักดันด้วยการเติบโตของกลุ่มสินเชื่อรายใหญ่และ SME ที่จะฟื้นตัวกลับมาเติบโตในเชิงรุกมากขึ้น จากปัจจัยผลักดันเรื่องของโครงการลงทุนไทยเข้มแข็งของภาครัฐ ซึ่งจะทำให้ความต้องการสินเชื่อในภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวเนื่องเติบโตสูงขึ้น นอกจากนี้สถานการณ์ในนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุดที่ได้ข้อสรุป ทำให้โครงการต่างๆ ที่หยุดผลิตไปในช่วงที่ผ่านมา เริ่มกลับมาเริ่มผลิตเชิงพาณิชย์ได้ใน 2H53 รวมถึงความต้องการสินเชื่อของภาคเอกชนในกลุ่ม Blue chip ที่เริ่มทยอยเบิกใช้สินเชื่อมากขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการที่มีลักษณะธุรกิจเป็น Supply chain ทำให้สามารถขยายฐานลูกค้าไปได้กว้างขวางมากขึ้น ขณะที่สินเชื่อ SME นั้น แนวโน้มการเติบโตใน 4Q53 จะยิ่งสดใสกว่าในช่วง 9M53 เนื่องจากย่างเข้าสู่ช่วงฤดูกาลส่งออก ทำให้ความต้องการสินเชื่อสูงขึ้น ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยบวกต่อศักยภาพการเติบโตของสินเชื่อสุทธิและการทำกำไรของกลุ่มฯ ใน 2H53 และต่อเนื่องถึง ปี 2554 ภายใต้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในช่วงขาขึ้น ซึ่งจะส่งผลบวกต่อ NIM เนื่องจากโครงสร้างสินเชื่อที่ส่วนใหญ่เป็นอัตราดอกเบี้ยลอยตัว ขณะที่เงินฝากกว่าครึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยคงที่
          ให้น้ำหนักลงทุนเท่ากับตลาด...Top picks คือ BBL, KBANK และ TCAP ฝ่ายวิจัยให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นกลุ่ม ธ.พ. เท่ากับตลาด โดยคาด EPS ปี 2553-54 จะเติบโตในเชิงรุกถึง 20.5% yoy และ 14.4% yoy ตามลำดับ โดยฝ่ายวิจัยเลือก BBL, KBANK และ TCAP เป็นหุ้น Top pick ของกลุ่มฯ ซึ่งคาดว่าราคาหุ้นจะสามารถ outperform ตลาดฯ ได้ในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า โดย BBL และ KBANK จะได้รับแรงขับเคลื่อนจากศักยภาพการเติบโตของธุรกิจและกำไรสุทธิที่คาดว่าจะเป็นไปในเชิงรุกมากขึ้นใน 4Q53 ต่อเนื่องถึงปี 2554 อีกทั้งราคาหุ้นปัจจุบันยังมี upside ที่น่าสนใจให้เข้าลงทุน สำหรับ TCAP ด้วยราคาหุ้นที่ยังถูกมากในปัจจุบันเมื่อเทียบกับแนวโน้มการเติบโตเชิงรุกมากขึ้นในปี 2554-55 ถือเป็นโอกาสที่ดีมากให้เข้าสะสมหุ้นในปัจจุบัน ส่วน SCB นั้น ฝ่ายวิจัยมีความเห็นว่าราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงในช่วงที่ผ่านมา จนเกิด upside เกิน 10% ให้เข้าลงทุน จึงมีโอกาสที่ราคาหุ้นจะกลับมา outperform ได้อีกครั้งเพื่อตอบรับปัจจัยบวกของการเติบโตของสินเชื่อเชิงรุกมากใน 4Q53 และต่อเนื่องถึงปี 2554
* ยูโอบีเคย์เฮียน ชี้ เดือน ต.ค SCB สินเชื่อเพิ่มขึ้น 2.4% จากเดือนก่อนหน้า สูงสุดในกลุ่ม รองลงมาได้แก่ KK และ KBANK ที่เพิ่มขึ้นราว 1.9%
          บทวิเคราะห์ บล.ยูโอบีเคย์เฮียน ระบุว่า สินเชื่อสุทธิหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในเดือน ต.ค. 53 ของกลุ่มเพิ่มขึ้น 1.2% Momเงินฝากของกลุ่มเพิ่มขึ้น 1.4% จากเดือนก่อนหน้า นำโดยธนาคารขนาดกลางและเล็กเป็นหลักแนะนำซื้อธนาคารขนาดใหญ่ ได้แก่ BBL , KTB และ KBANK ซึ่งได้รับประโยชน์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
          ธนาคาร 9 แห่ง รายงานยอดสินเชื่อสุทธิหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญในเดือนต.ค. 53 รวมกันที่ 5.789 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.2% จากเดือนก่อนหน้า และเป็นทิศทางที่ดีขึ้นตามคาดไว้ โดยเฉพาะ SCB ซึ่งรายงานการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อ 2.4% จากเดือนก่อนหน้า สูงสุดในกลุ่ม รองลงมาได้แก่ KK และ KBANK ที่เพิ่มขึ้นราว 1.9% จากเดือนก.ย. 53 อย่างไรก็ดี KBANK เป็นธนาคารเพียงแห่งเดียวที่รายงานการลดลงของสินเชื่อสุทธิหลังหักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญ โดยลดลง 0.16% จากการลดลงของสินเชื่อของ SCIB เป็นหลัก
          ด้านเงินฝากของกลุ่มในเดือนต.ค. 53 อยู่ที่ 6.242 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.4% จากเดือนก่อนหน้า นำโดย KK ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 11% ตามด้วย TCAP ที่เพิ่มขึ้น 7% และ BAY เพิ่มขึ้น 3% ทำให้อัตราส่วนสภาพคล่องของกลุ่มต่ำลงเป็น 80.7% จาก 81.62% ในเดือนก่อนหน้า
          แม้จะได้รับผลกระทบจากการเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่บ้าง แต่การขยายตัวของสินเชื่อในเดือนต.ค. 53 ที่ดีขึ้นตามคาด จากการเข้าสู่ฤดูกาลเบิกจ่ายสินเชื่อในไตรมาส ที่ 4 ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่มีแนวโน้มขยายตัวในระดับสูง โดยธปท.ประเมินไว้ที่ 7.3-8.0% แม้จะได้รับผลกระทบจากอุทกภัย ทำให้เราเชื่อมั่นว่าการขยายสินเชื่อในเดือนที่เหลือของปีนี้จะดีต่อเนื่อง ซึ่งทำให้การขยายตัวของสินเชื่อรายไตรมาสในไตรมาสที่ 4/53 เป็นไตรมาสที่สินเชื่อขยายตัวสูงสุดของปี แนะนำซื้อ BBL เป้าหมายปี 54 ที่ 192 บาท , KTB เป้าหมายปี 54 ที่ 19.70 บาทและ KBANK เป้าหมายปี 54 ที่ 135 บาท
* ดีบีเอสวิคเคอร์ส มอง กำไรสุทธิปี 54 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ คาดจะเติบโตน่าประทับใจ 16%
          บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส สินเชื่อต.ค.ขยายตัวแกร่งตามคาด สินเชื่อของกลุ่มธนาคารพาณิชย์เดือนต.ค.53 เติบโต 1.2%MoM (+9.8%YoY) ทั้งนี้สินเชื่อทุกธนาคารขยายตัวแข็งแกร่งเมื่อเทียบ MoM นำโดยสินเชื่อ Corporate ธนาคารที่มีสินเชื่อเติบโตสูงสุดในเดือนนี้ คือ SCB (+2.3%MoM) โดยหลักมาจากการปล่อยสินเชื่อระยะยาวให้กับ Corporate ขนาดใหญ่ ตามมาด้วย KBANK (+1.8%MoM) โดยหลักเป็นการขยายตัวของสินเชื่อ Corporate และสินเชื่อรายย่อย การเติบโตที่แข็งแกร่งดังกล่าวยืนยันสมมติฐานการเติบโตของสินเชื่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปี 53 ของฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ DBSV ที่ 7.8% (+3.0%QoQ ใน 4Q53) ทั้งนี้ไตรมาส 4 เป็นช่วงที่กลุ่ม Corporate และ SMEs มีความต้องการใช้สินเชื่อสูง   
          สำหรับสินเชื่อของธนาคารขนาดเล็กอย่างKK, TCAP และ TISCO เติบโตชะลอลง ซึ่งเป็นไปตามอัตราการขยายตัวของยอดขายรถยนต์ในประเทศที่ลดลงใน 4Q53 นับได้ว่าธนาคารต่างๆ สามารถบรรลุเป้าหมายการขยายตัวของสินเชื่อในปี 53 ได้เนื่องจากการฟื้นตัวที่แข็งแกร่งของเศรษฐกิจไทย
          คาดสินเชื่อและกำไรสุทธิขยายตัวแข็งแกร่งในปี 54 นักเศรษฐศาสตร์ของ DBS Bank ประมาณการว่า GDP ปี 54 จะเติบโต 4% หลังขยายตัวสูง 9% ในปีนี้ เราจึงคาดว่าสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์จะเติบโตแข็งแกร่งเช่นกัน ฝ่ายวิจัยฯ ประเมินอัตราการเติบโตของสินเชื่อในปี 53-54 ไว้ที่ 7.8% และ 7.6% ตามลำดับ หนุนโดยความต้องการใช้สินเชื่อเพื่อการลงทุนและเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนของ Corporate และ SMEs สำหรับกำไรสุทธิปี 54 ของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ คาดการณ์ว่าจะเติบโตน่าประทับใจ 16% โดยคาดว่าสินเชื่อปี 54 ขยายตัว 7.6%, NIM เพิ่มขึ้น 0.05%, รายได้ค่าธรรมเนียมเติบโต 13% และตั้งสำรองค่าเผื่อฯลดลงเป็น 0.68% ของสินเชื่อรวม
          ให้ BBL, KBANK และ KTB เป็นหุ้น Top Picks เนื่องจากงบดุลแข็งแกร่งและได้รับประโยชน์จากการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทั้งนี้เราชอบ KBANK เนื่องจากมีคุณภาพสินทรัพย์ดี, NPL ratio ต่ำที่สุดในกลุ่ม และรายได้ค่าธรรมเนียมขยายตัวสูงเมื่อเทียบกับกลุ่ม สำหรับ BBL มีจุดเด่นเรื่องงบดุลแข็งแกร่ง และมีสำรองสะสมต่อ NPL (NPL Coverage Ratio) สูงมากด้าน KTB คาดว่าจะได้รับประโยชน์จากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 และการใช้จ่าย & ลงทุนของภาครัฐ เราเชื่อว่าKBANK และ BBL จะได้รับประโยชน์จากความต้องการใช้สินเชื่อของกลุ่ม Corporate และ SMEs ที่เพิ่มขึ้นในปี 53 นอกจากนั้นยังแนะนำซื้อ SCB รวมทั้งแนะนำถือ BAY, TCAP และ TISCO