ศุกร์ 4 พ.ย.2554--eFinanceThai.com :
อย่าไว้ใจหุ้นชิ้นส่วนอิเล็กฯ *กูรู! ประสานเสียงเตือนให้ระวังหลังน้ำท่วมฉุดธุรกิจ
หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ดี๊ด๊า! บวกทั่วหน้า แต่วงการประสานเสียงให้น้ำหนักลงทุนน้อยกว่าตลาด พร้อมระมัดระวัง หลังน้ำท่วมหนักในรอบ 50 ปี ฉุดธุรกิจแถมถูกกระทบหนักสุด ขณะที่ชี้ KCE ผลงานปี 54 มีโอกาสขาดทุน หลังปิด รง.หนี ส่วน SVI ยังน่าสนใจ ฟากผู้บริหาร SMT ระบุรง.ที่นิคมฯ บางปะอิน กลับมาผลิตได้วันที่ 1 ธ.ค.54 ส่วน METCO ยอมรับน้ำท่วมกระทบการผลิต เพราะจัดส่งชิ้นส่วนชะลอ ด้าน SVI เผยสั่งซื้อเครื่องจักรเสริม รง.แจ้งวัฒนะระบุผลิต-ส่งสินค้าได้ปลาย พ.ย. 54
***หุ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์บวกทั่วหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวของหุ้นในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งประกอบด้วยบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ,บริษัทมูราโมโต้ อีเล็คตรอน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ METCO ,บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SMT ,บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) SVI และบริษัท ทีมพรีซิชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TEAM วานนี้ปรับเพิ่มขึ้นทั้งหมด
โดย KCE ปิดตลาดที่ราคา 4.94 บาท เพิ่มขึ้น 0.04 หรือ 0.82% มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 275.63 ล้านบาท
METCO ปิดตลาดที่ราคา 193.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.00 บาท หรือ 0.52% มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 0.058 ล้านบาท
SMT ปิดตลาดที่ราคา 8.35 บาท เพิ่มขึ้น 0.30 บาท หรือ 3.73% มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 228.09 ล้านบาท
SVI ปิดตลาดที่ราคา 3.26 บาท เพิ่มขึ้น 0.10 หรือ 3.16% มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 205.80 ล้านบาท
TEAM ปิดตลาดที่ราคา 1.45 บาท เพิ่มขึ้น 0.04 บาท หรือ 2.84% มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 0.043 ล้านบาท
***บล.เอเซีย พลัส ให้น้ำหนักลงทุนหุ้นชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์น้อยกว่าตลาด
บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่าจากวิกฤตสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในครั้งนี้ ได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรม Hard Disk Drives (HDD) อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากโรงงาน 3 ใน 7 โรงงานได้รับความเสียหายแล้ว ซึ่งประกอบด้วยโรงงาน 2 แห่งของบริษัท เวสเทิร์นดิจิตอล (WDC) ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.อยุธยา และโรงงาน 1 แห่งของบริษัท โตชิบา ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร จ.ปทุมธานี ส่วนโรงงานที่เหลือแม้ว่ายังไม่ได้รับความเสียหาย แต่ไม่สามารถผลิตได้เต็มที่ เนื่องจากซัพพลายเออร์หลักได้รับความเสียหายไปแล้วเช่นกัน โดยรวมแล้วฝ่ายวิจัยเชื่อว่าผู้ประกอบการที่จะได้รับผลกระทบเชิงลบโดยตรง คือ CCET จึงแนะนำขาย โดยให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 2.74 บาทต่อหุ้น และ SMT แนะนำขาย ให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 6.45 บาทต่อหุ้น ซึ่งเป็นผู้รับจ้างประกอบผลิต HDD ในประเทศ และมี WDC เป็นลูกค้าหลักของยอดขายในกลุ่ม HDD ดังนั้นฝ่ายวิจัยแนะนำให้หลีกเลี่ยงการลงทุนไปก่อนสำหรับหุ้น CCET และ SMT เนื่องจากผู้ประกอบการในกลุ่มชิ้นส่วนฯ ยังคงได้รับปัจจัยลบจากสถานการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในประเทศ รวมถึงปัจจัยจากต่างประเทศ ซึ่งได้แก่ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในประเทศสหรัฐฯ และยุโรป
***บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะลุยหุ้นอิเล็กทรอนิกส์ด้วยความระมัดระวัง
บล.ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยว่าตลาดกลับมาเล่นกลุ่ม Domestic และอิเล็กทรอนิกส์ แต่ฝ่ายวิเคราะห์ยังมีมุมมองระวังต่อกลุ่มนี้ โดยเฉพาะกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมไม่ต่ำกว่า 3 ไตรมาส (4/54- 2/55) ส่วนกลุ่มวัสดุก่อสร้างที่คาดว่าจะได้รับผลบวกมี DCC, SCC,SCCC, TPIPL, DRT ไม่ใช่กลุ่มเหล็กและ TASCO เพราะบริหารต้นทุนได้ไม่ดี สำหรับกลุ่มรับเหมา แม้ว่าจะได้งานเพิ่ม แต่ต้องเผชิญกับต้นทุนค่าแรงและค่าวัสุดที่เพิ่ม สุทธิแล้วเป็นผลลบมากกว่า ส่วนกลุ่มแบงก์ มีเพียง KBANK, BBL ที่ความเสี่ยงต่ำลงทุนได้ นอกจากนี้กรุงเทพยังประกาศพื้นที่อพยพเพิ่ม ความเสียหายยังไม่สิ้นสุด กลุ่มที่ปลอดภัยได้แก่อาหาร ประกอบด้วย CPF, TUF สื่อสาร ประกอบด้วย ADVANC, THCOM) โรงพยาบาล ได้แก่ BGH พลังงานและปิโตรเคมีต้องรอดูทิศทางดอลลาร์ประกอบการลงทุนด้วย
***บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส ชี้ KCE มีโอกาสขาดทุน หลังปิด รง.หนีน้ำท่วม
บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส เปิดเผยว่าแม้ราคาหุ้น KCE ปรับตัวขึ้นได้ดีในระยะหลัง เพราะคาดกันว่าจะมีการฟื้นตัวได้ หลังภาวะน้ำท่วมได้ผ่านพ้นไป แต่ฝ่ายวิเคราะห์ประเมินว่ายังเต็มไปด้วยความเสี่ยง ที่เข้าซื้อกันเร็วเกินไป เพราะจากนี้ไปตั้งแต่ไตรมาส 4/2554 ผลการดำเนินงานจะออกมาไม่ดี กำไรสุทธิปี นี้จะลดลงในอัตรา 45% จากงวดเดียวกันของปีก่อน รวมทั้งยังมีแนวโน้มเกิดขาดทุนสุทธิ จากการปิดโรงงาน หากมีสมมุติฐานว่าปิดโรงงานไฮเทคไปเป็นเวลา 2.5 เดือน นับตั้งแต่ 12 ตุลาคม 2554 ส่วนกำไรสุทธิปี 2555 ลดลงอีก 19% จากปีก่อน เพราะได้รับผลลบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นตามการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาทต่อวัน อีกทั้งบริษัทยังมีความเสี่ยงที่อีก 2 โรงงานคือ ลาดกระบังและบางปู จะถูกน้ำท่วมเพิ่มเติมหรือไม่ ดังนั้นจึงคงคำแนะนำในเชิงลบคือ เต็มมูลค่า (Fully Valued) หากบริษัทไม่จ่ายเงินปันผลสำหรับในงวด 2H54 ความน่าสนใจในการลงทุนก็จะยิ่งลดลง ส่วนราคาพื้นฐานประเมินด้วย P/E ปีนี้ที่ 5.5 เท่า อยู่ที่ 3.41 บาทต่อหุ้
***บล.เอเซีย พลัส ระบุ KCE ปิดรง.หวั่น Q4/54 ขาดทุน
บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า KCE อาจต้องเลื่อนแผนสร้างโรงงานใหม่มูลค่าหลายพันล้านบาทในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง เนื่องจากจำเป็นต้องฟื้นฟูโรงงาน KCE Technology ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จ.อยุธยา ภายหลังจากได้รับความเสียหายจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ ส่งผลให้โรงงาน KCE Technology ในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จ.อยุธยาได้รับความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญ รวมถึงแผนโครงการลงทุนใหม่จำเป็นต้องชะลอออกไปก่อน โดยฝ่ายวิจัยยังไม่ได้รวมแผนขยายกำลังการผลิตใหม่ไว้ในประมาณการ จึงไม่ได้กระทบต่อประมาณการและมูลค่าพื้นฐานปี 2554 ของฝ่ายวิจัย สำหรับโรงงาน KCE Technology ซึ่งฝ่ายวิจัยยังเชื่อว่าจำเป็นต้องหยุดดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์อย่างน้อย 2 ไตรมาส เนื่องจากช่วงเวลาในการจัดซื้อเครื่องจักรใหม่ใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน อีกทั้ง มีแนวโน้มสูงที่ KCE จะบันทึกตั้งสำรองค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ ซึ่งนำไปสู่ผลการดำเนินงานที่ขาดทุนในไตรมาส 4/2554
นอกจากนี้ ความเสี่ยงทางด้านสภาพคล่องทางการเงินในระยะสั้น รวมถึงสัดส่วนทางด้านสภาพคล่องทางการเงินที่อยู่ในระดับสูงถึง 1.95 เท่า ซึ่งอาจทำให้แนวโน้มการจ่ายปันผลลดลงในปี 2554-2555 โดยรวมแล้ว ฝ่ายวิจัยแนะนำให้ชะลอการลงทุนไปก่อน โดยยังต้องติดตามสถานการณณ์น้ำท่วมซึ่งอาจกินเวลานานกว่าที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ รวมถึงนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง และนิคมอุตสาหกรรมบางปู ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วม และเป็นที่ตั้งของโรงงาน KCE เช่นกัน
***บล.ฟินันเซีย ไซรัส ชี้กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ถูกกระทบหนักสุด แต่ SVI ยังน่าสนใจ
บล.ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยว่าผลกระทบที่เกิดขึ้นกับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์อาจยาวนานกว่า 6 เดือน คือในไตรมาส 4/2554-1/2555 หรืออาจถึงกลางปีหน้า เพราะปัญหา Supply chain รวมถึงผู้ประกอบการที่เป็นลูกค้าก็ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมด้วย สิ่งที่เป็นห่วงที่สุดซึ่งกำลังเกิดขึ้นกับบางโรงงาน คือการสูญเสียลูกค้าให้กับประเทศคู่แข่ง อย่างไรก็ตามราคาหุ้นปัจจุบันในกลุ่มดังกล่าวได้สะท้อนกรณีเลวร้ายไปเกือบหมดแล้ว โดย SVI มีราคาที่น่าสนใจมากที่สุด แต่ SVI มีโรงงานทั้งหมดตั้งอยู่ที่ จ.ปทุมธานีซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยง นักลงทุนที่สามารถรับความเสี่ยงได้ แนะนำให้ลงทุน
***บล.เอเซีย พลัส แนะเลี่ยงลงทุน SVI -เล็งทบทวนกำไรปี 54 และ 55
บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่าสายการผลิตที่ SVI ย้ายไปยังโรงงานแจ้งวัฒนะ คิดเป็นสัดส่วน 35% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของ SVI ซึ่งจะดำเนินการผลิตตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2554 น่าจะช่วยลดผลกระทบเชิงลบต่อผลการดำเนินงานของ SVI ไปได้ในระดับหนึ่ง โดยฝ่ายวิจัยคาดว่าหากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.ปทุมธานี ยังคงยืดเยื้อต่อไป อาจทำให้โรงงานจำเป็นต้องหยุดดำเนินการผลิตเชิงพาณิชย์อย่างน้อย 2 ไตรมาสข้างหน้า เพื่อฟื้นฟูธุรกิจให้กลับมาอีกครั้ง นอกจากนี้ มีแนวโน้มสูงที่ SVI จะต้องบันทึกค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวกับการสำรองความเสียหายทั้งหมดในเบื้องต้นจากโรงงานใน จ.ปทุมธานีในงวดไตรมาส 4/2554 แม้จะมีประกันครอบคลุมความเสียหายไว้แล้วก็ตาม ซึ่งนำไปสู่ผลประกอบการที่ถึงขั้นขาดทุนในงวดไตรมาส 4/2554 โดยรวมแล้ว ฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างทบทวนประมาณการกำไรสุทธิในปี 2554-2555 และทบทวนคำแนะนำการลงทุน โดยกลยุทธ์การลงทุนขณะนี้ แนะนำให้หลีกเลี่ยงไปก่อน เพื่อลดความเสี่ยงการลงทุนในช่วงสั้น
***ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ชี้น้ำท่วมใหญ่ฉุดอิเล็กทรอนิกส์ไทยวิกฤต
บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เปิดเผยว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2554 ต้องเผชิญกับปัจจัยลบรอบด้าน ทั้งจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวใหญ่ในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนมีนาคม 2554 ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เริ่มปะทุขึ้นในช่วงไตรมาส 3 และมาในช่วงไตรมาส 4 ต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วมที่ได้เข้าท่วมโรงงานผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้ารายสำคัญจำนวนมาก อันเป็นผลทำให้โรงงานเหล่านี้ต้องหยุดการผลิต ขณะที่ความเสียหายของโรงงานจากน้ำท่วมอาจจะส่งผลต่อการผลิตประมาณ 3-6 เดือน ซึ่งขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการฟื้นฟูโรงงาน เพราะโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์นั้นต้องการความสะอาดสูง เพื่อไม่ให้เกิดฝุ่นจับบนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ หรือบางโรงงานอาจต้องติดตั้งเครื่องจักรใหม่ ทำให้อาจจะต้องใช้ระยะเวลา ซึ่งย่อมจะส่งผลกระทบต่อการผลิตและส่งออกของอุตสาหกรรมนี้ต่อเนื่องไปถึงไตรมาสแรกของปี 2555 เป็นอย่างน้อย
สำหรับผลกระทบต่อการส่งออกอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์นั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าวิกฤตน้ำท่วมครั้งนี้อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์จะได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างรุนแรงกว่าอุตสาหกรรมไฟฟ้า เนื่องจากโรงงานอุตสาหกรรมผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ส่วนใหญ่จะกระจุกตัวอยู่ที่จังหวัดอยุธยาและปทุมธานี ทำให้คาดว่าการส่งออกอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ในปี 2554 นี้ อาจมีมูลค่าประมาณ 30,150 - 31,00 5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หดตัวประมาณร้อยละ 6.0-8.5 จากที่เติบโตร้อยละ 21.9 ในปี 2553 ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและส่วนประกอบนั้น แม้ว่าจะได้รับผลกระทบที่น้อยกว่าอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ แต่ก็มีผลต่อการส่งออกอุตสาหกรรมไฟฟ้าให้เติบโตชะลอตัวลงในปี 2554 นี้ โดยคาดว่าจะเติบโตเพียงร้อยละ 7.0-9.0 มีมูลค่าส่งออกประมาณ 22,000-22,400 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งชะลอลงจากที่เติบโตร้อยละ 32.3 ในปี 2553
ขณะเดียวกันส่วนประกอบและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้บริษัทผู้ผลิตรายใหญ่ของโลก มีการปรับแนวทางการดำเนินธุรกิจ ในระหว่างที่โรงงานที่ประสบภัย ยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูและซ่อมแซมความเสียหาย โดยได้มีการย้ายไปผลิตที่โรงงานแห่งอื่นในประเทศและบางบริษัทมีการย้ายออร์เดอร์ไปผลิตในต่างประเทศเป็นการชั่วคราว อย่างไรก็ดีแม้บริษัทต่างชาติจะมีการย้ายออร์เดอร์ไปผลิตที่ประเทศอื่นๆนั้น แต่ก็เป็นการผลิตเพียงเฉพาะรุ่นเท่านั้น ทำให้ปัญหาขาดแคลนสินค้าบางประเภทยังมีสูง โดยเฉพาะสินค้าไอที เช่น HDD ที่โรงงานผลิตส่วนประกอบต่างถูกน้ำท่วม ทำให้แม้โรงงานที่ไม่ได้รับน้ำท่วม ก็ต้องหยุดการผลิตลงและต้องปรับกลยุทธ์ในการจัดหาชิ้นส่วนทดแทน ซึ่งผลกระทบดังกล่าวไม่เพียงแต่จะสร้างความเสียหายทางธุรกิจ ให้แก่ผู้ประกอบการในประเทศไทยเท่านั้น ยังอาจมีผลต่ออุปทานสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภทในตลาดโลกในระยะ 1-2 ไตรมาสข้างหน้า
***SMT ระบุรง.ที่นิคมฯ บางปะอิน กลับมาผลิตได้วันที่ 1 ธ.ค.54
นายยรรยงค์ สวัสดิ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานการเงินและการบริหาร บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SMT เปิดเผยว่าบริษัทฯ ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2554 ว่าขอปิดทำการชั่วคราว เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมและจะเปิดทำการปกติในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2554 แล้วนั้น เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมยังคงไม่คลี่คลายและยังมีน้ำท่วมอยู่ในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมบางปะอินและบริเวณชั้น 1 ของโรงงานอยู่ บริษัทฯ จึงมีความจำเป็นต้องหยุดการดำเนินงานในส่วนของโรงงานต่อไปอีก ทั้งนี้บริษัทฯ คาดว่าจะสามารถเปิดดำเนินการสายการผลิตบางส่วนได้ในวันที่ 1 ธันวาคม 2554 เป็นต้นไป
*** SMT ยันทำประกันภัยคุ้มครองเกือบ 4 พันลบ.
นายพลศักดิ์ เลิศพุฒิภิญโญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SMT เปิดเผย eFinanceThai.com ว่าบริษัทฯ ได้มีการทำประกันภัยคุ้มครองความเสียหาย ทั้งในส่วนของอาคารและเครื่องจักร โดยรวมไปถึงการชดเชยความเสียหาย โอกาสทางธุรกิจมูลค่าเกือบ 4 พันล้านบาท ซึ่งถือว่าสูงกว่ามูลค่าสินทรัพย์ของบริษัทฯที่มีมูลค่า 2.6 พันล้านบาท แต่อย่างไรก็ตามผลกระทบในด้านของสินทรัพย์ถือว่าไม่น่ากังวล แต่มีความเห็นห่วงในเรื่องการเสียโอกาสทางธุรกิจมากกว่า ทั้งนี้เชื่อว่าปัญหาอุทกภัยในนิคมอุตสาหกรรมจะบรรเทาลงและสามารถฟื้นตัวได้ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า
"ก่อนหน้านี้บริษัทฯได้รับผลกระทบพอสมควรจากการที่น้ำไหลทะลักเข้าสู่ชั้นล่างของโรงงานทำให้เครื่องจักรบางส่วนเสียหาย แต่มีเครื่องจักรหลายส่วนที่สามารถย้ายขึ้นไปชั้นสองแล้ว จึงป้องกันความเสียหายได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่น่าเป็นห่วงเพราะมีการประกันภัยคุ้มครองอยู่แล้ว แต่จะมีความเสียหายในเรื่องโอกาสในการทำธุรกิจมากกว่า เพราะออเดอร์ในการผลิตเครื่องจักรใหม่จะยาวหน่อย แต่คงใช้ระยะเวลาในการผลิตเครื่องจักรใหม่ได้ประมาณ 4 เดือน' นายพลศักดิ์ กล่าว
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วมที่ได้เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่ขอพูดถึงความเสียหายว่าจะกระทบต่อผลงานของบริษัทฯ อย่างไรบ้าง ดังนั้นคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและประเมินสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง
***METCO ยอมรับน้ำท่วมกระทบการผลิต หลังการจัดส่งชิ้นส่วนชะลอ
บริษัท มูราโมโต้ อีเล็คตรอน (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ METCO เปิดเผยว่าปัจจุบันบริษัทฯ มีฐานการผลิตแห่งที่ 1 ตั้งอยู่ที่เขตคันนายาว กรุงเทพฯ และแห่งที่ 2 ตั้งอยู่ที่อำเภอบางเสาธง จ.สมุทรปราการ ซึ่งเหตุการณ์น้ำท่วมใหญ่สร้างความเสียหายอย่างใหญ่หลวงต่อพื้นที่โดยรอบ จ.อยุธยา ที่อยู่ทางตอนเหนือของกรุงเทพฯ ในครั้งนี้ ณ ปัจจุบัน น้ำยังไม่ได้ท่วมเข้ามาถึงพื้นที่โดยรอบที่ตั้งฐานการผลิตทั้ง 3 แห่งของบริษัท แต่อย่างไรก็ตามภายใต้สถานการณ์ที่ธุรกิจจำนวนมาก ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ในเขต จ.อยุธยา ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในครั้งนี้เป็นผลให้เกิดอุปสรรคในเรื่องการจัดส่งชิ้นส่วนที่ใช้ในการผลิตให้แก่บริษัทฯ และอาจส่งผลกระทบต่อแผนการผลิตของบริษัทฯ ไม่น้อยเช่นกัน ขณะนี้บริษัทฯ มีการดำเนินการเฝ้าติดตามสถานการณ์ของบริษัทฯ คู่ค้าอย่างใกล้ชิดและแยกพิจารณามาตรการจัดการเป็นรายบริษัท
***SVI เผยสั่งซื้อเครื่องจักรเสริม รง.แจ้งวัฒนะคาดผลิต-ส่งสินค้าได้ปลาย พ.ย.54
บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI เปิดเผยว่าหลังจากบริษัทย้ายเครื่องจักรบางส่วนจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมบางกะดีที่หยุดการผลิตชั่วคราวจากผลกระทบน้ำท่วม มาที่โรงงานเก่าบริเวณถนนแจ้งวัฒนะ ขณะนี้บริษัทได้สั่งซื้อเครื่องจักรเพิ่มเติม ทำให้คาดว่าจะมีกำลังการผลิตรวมที่ 90% โดยจะเริ่มการผลิตเพื่อส่งมอบสินค้าให้ลูกค้าได้ตั้งแต่ปลายเดือน พ.ย.2554 เป็นต้นไป นอกจากนี้ยังยอมรับว่าผลกระทบจากเหตุอุกภัยที่เกิดขึ้น ทำให้ยอดขายในไตรมาส 4/2554 ลดลง เหลือเพียง 50-60% จากยอดขายในไตรมาส 3/2554 ขณะที่ยอดขายทั้งปี 2554 คงจะลดลง 8-9% จากเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ที่ 330 ล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตามในระยะสั้นยังไม่มีสัญญาณของลูกค้าในการย้ายฐานการผลิตหรือยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้า แต่ในระยะยาวยังไม่สามารถประเมินได้และจากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้น ทำให้บริษัทเตรียมแผนการลงทุนในปี 2555 ซึ่งจะเป็นแผนระยะสั้นและระยะยาว เพื่อป้องกันการเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมโรงงาน ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นจากโรงงานในนิคมฯบางกะดี ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ โดยต้องรอให้น้ำลดก่อน แต่คาดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นมีวงเงินประกันครอบคลุมไว้ทั้งหมด