พฤหัสฯ 3 พ.ย.2554--eFinanceThai.com :
กำไรตลาดจ่อวูบ หากรัฐเลื่อนลดภาษี

          วงการมอง หากรัฐเลื่อนลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 23% ไปปี 56 ฉุด กำไรตลาดวูบ 2 บาท/หุ้น ส่งผลให้กลุ่มที่คาดว่าจะได้รับผลบวก อาทิ กลุ่มแบงก์ - ประกัน -หลักทรัพย์ -สื่อสาร- บันเทิง-โรงพยาบาล -ขนส่ง -วัสดุก่อสร้าง และ ค้าส่ง-ค้าปลีก กลับกลายเป็นผู้เสียประโยชน์ ขณะที่กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง - ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์- รถยนต์ - อาหาร - ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมปาล์มน้ำมัน กลับกลายเป็นได้ประโยชน์แทน
          จากกรณีที่วิกฤตน้ำท่วมหนักได้สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจในประเทศ อย่างมหาศาล ที่สำคัญ มวลน้ำก้อนใหญ่นับหมื่นล้านลูกบาศก์เมตร ยังจ่อถล่มกรุงเทพฯ
          อย่างไรก็ตามเบื้องต้นกระทรวงการคลัง ประเมินความเสียหายจากวิกฤตอุทกภัยครั้งนี้ประมาณ 1.8แสนล้านบาท ส่งผลให้การขยายตัวทางเศราฐกิจในQ4/54 อาจติดลบ และฉุดจีดีพีปีนี้ลดลงเหลือแค่ 2.7% ด้านนายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้ส่งผลกระทบต่อบริษัทจดทะเบียน 30แห่ง ทำให้ต้องมีการปิดโรงงาน ซึ่งกระทบต่อรายได้ 50% ทั้งนี้คาดว่าจะกระทบต่อมาร์เก็ตแคปของตลาด 1%
          ล่าสุดภาคเอกชน นำโดยคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) รวมถึงบริษัทเอกชนขนาดใหญ่ เช่น บริษัท ปูนซีเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน)(SCC) และ บริษัทปตท จำกัด(มหาชน) PTT ได้ประชุมวาระพิเศษ เตรียมข้อเสนอให้รัฐบาลเลื่อนการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ออกไปอีก 1 ปี เป็นปี 2556 จากเดิมปี 2555เพื่อให้รัฐบาลยังมีรายได้จากการเก็บภาษี ราว 7หมื่นล้านบาท เพื่อนำไปจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาด ย่อม(เอสเอ็มอี) ที่ได้รับผลกระทบจากภัย น้ำท่วมในครั้งนี้ และเตรียมเสนอต่อนายกรัฐมนตรี นอกจากนี้ยังเสนอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายประชานิยมต่างๆ ที่ได้ดำเนินไปก่อนหน้านี้แล้ว เช่น ลดภาษีบ้านหลังแรก ลดภาษีรถยนต์คันแรก ตลอดจนการขยายเวลาปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300บาท ต่อวันออกไป
          ทั้งนี้วงการคาดว่าหากเลื่อนมาตรการดังกล่าวออกไปจะส่งผลกระทบต่อกำไรของตลาด
***ASP คาดเลื่อนลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 23% ไปปี 56 ฉุดกำไรตลาดลดเหลือ 93.1บาท/หุ้น***
          ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส (ASP) ประเมินว่าหากรัฐบาลเลื่อนการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% ออกไปอีก 1 ปี เป็นปี 2556 จากเดิมปี 2555 พร้อมกับการเลื่อนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ไปเป็นปี 2556 จริง คาดว่าจะทำให้ฝ่ายวิจัย อาจจะต้องปรับลดลงประมาณการกำไรของตลาดลง หลังจากที่ทยอยปรับเพิ่มกำไรตลาดในปี 2555 โดยได้รวมประเด็นดังกล่าวแล้วในหลายกลุ่ม เช่น ธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น อย่างไรก็ตามหักตัดประเด็นนี้ออกคาดว่าจะทำให้กำไรตลาดหายไปราว 2% ซึ่งคาดว่าจะทำให้กำไรตลาดปี 2555 ลดลงจากเดิม 95 บาทต่อหุ้น เหลือเพียง 93.1 บาทต่อหุ้น หรือหายไปราว 2 บาทต่อหุ้น และจะส่งผลให้บริษัทจดทะเบียนที่เคยคาดว่าจะได้รับผลบวก เช่น กลุ่มธ.พ. ประกันหลักทรัพย์ สื่อสาร บันเทิง โรงพยาบาล ขนส่ง วัสดุก่อสร้าง และ ค้าส่ง-ค้าปลีก กลับกลายเป็นผู้เสียประโยชน์
          ขณะที่กลุ่มที่เคยเสียประโยชน์จากประเด็นนี้ เช่น กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ อาหาร ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม ปาล์มน้ำมัน กลับกลายเป็นได้ประโยชน์แทน
*** บล.ไทยพาณิชย์ มองรัฐเลื่อนลดภาษีนิติบุคคล ไม่กระทบต่อภาพรวมของตลาดหุ้น แต่Upside ของหุ้นลดลง***
          นายสุกิจ อุดมศิริกุล ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์ลงทุนลูกค้าบุคคล บล.ไทยพาณิชย์ กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีแนวทางที่จะเสนอต่อนายกรัฐมนตรีให้ทบทวนนโยบายประชานิยมต่างๆ ที่ได้ดำเนินไปก่อนหน้านี้แล้ว ออกไปอีก 1 ปี เป็นปี 2556 จากเดิมปี 2555 ว่า โดยส่วนตัวไม่แน่ใจว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เนื่องจากนโยบายต่างๆได้ผ่านความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไปแล้ว อย่างไรก็ตาม การพิจารณาการเปลี่ยนแปลงนโยบายประชานิยมอาจต้องแบ่งแยกการประเมินดังนี้
          สำหรับนโยบายลดภาษีบ้านหลังแรก ลดภาษีรถยนต์คันแรกนั้น มองว่าจะเกิดขึ้นตามความต้องการของประชาชนเป็นหลัก ซึ่งในปัจจุบันบรรยากาศของความต้องการดังกล่าวลดลงอย่างมาก หลังจากประชาชนส่วนใหญ่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม ทำให้ความจำเป็นในการใช้เงินจ่ายเงินเปลี่ยนแปลงไป และจากมาตรการนี้ที่เป็นเพียงมาตรการช่วยเหลือ ไม่ใช่มาตรการบังคับ ดังนั้นการเลื่อนนโยบายดังกล่าวออกไปหรือมีผลในทางปฏิบัติตามกำหนดการเดิมอาจไม่ได้มีผลเปลี่ยนแปลงมากนัก อย่างไรก็ตาม อาจเพิ่มในส่วนเงื่อนไข และเพิ่มเติมนโยบายเป็นมาตรการฟื้นฟูและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและรถยนต์อีกด้วย
          ส่วนนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300บาทนั้น เห็นว่ามีความเหมาะสมหากจะเลื่อนออกไปก่อน เนื่องจากขณะนี้ผู้ประกอบการยังแบกรับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม และขณะเดียวกันก็ยังช่วยเหลือพนักงานอย่างเต็มที่ ซึ่งอาจต้องได้รับความยืดหยุ่นมากกว่าปกติ
          ด้านการปรับลดภาษีเงินได้นิติบุคคลจาก 30% เหลือ 23% นั้น ยอมรับว่าอาจจะกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนให้ลดลง จากที่คาดการณ์ว่าในปีหน้ากำไรของบริษัทจดทะเบียนจะเติบโต 13% หรือเติบโตสุทธิที่ 6% โดยกลุ่มธนาคาร พลังงาน และสื่อสารจะได้รับประโยชน์จากนโยบายนี้มากสุด ดังนั้นหากเลื่อนออกไปอาจทำให้กำไรของปีหน้ากลับสู่ภาวะปกติ ขณะเดียวกันอาจทำให้กำไรลดลงจากการที่บริษัทจดทะเบียนจะมีค่าใช้จ่ายจาก ปัญหาน้ำท่วมในปัจจุบันและแรงกดดันจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ซึ่งหากมีมาตรการดังกล่าวก็อาจช่วยลดทอนผลกระทบดังกล่าวได้พอสมควร
          อย่างไรก็ตาม หากมีการเปลี่ยนแปลงของนโยบายต่างๆจริงคงไม่ได้มีผลทำให้ภาพรวมการลงทุนในตลาดหุ้นเปลี่ยนแปลง แต่อาจทำให้ Upside ของหุ้นลดลง ซึ่งคงต้องติดตามอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำมาพิจารณาและประเมินแนวโน้มกำไรของบริษัทจดทะเบียนในปีหน้าต่อไป
*** คลัง ประเมินความเสียหายน้ำท่วม 1.8 แสนลบ. ฉุดจีดีพีปี 54โตแค่ 2.7% รับQ4/54 มีโอกาสติดลบ***
          นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้ประเมินมูลค่าความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยไว้ประมาณ 1.8 แสนล้านบาท หลังจากที่น้ำได้ไหลเข้าในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง ทำให้คาดว่าอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพี ไตรมาส 4/2554 มีโอกาสติดลบ แต่ทั้งปียังคงสามารถเติบโตได้ในระดับ 2.7%
          'แม้ว่ากทม. จะได้รับผลกระทบน้ำท่วมจนเป็นอัมพาต แต่ก็คงไม่ทำให้จีดีพีทั้งปีติดลบ เพราะเป็นแค่ช่วงไตรมาส 4 เท่านั้น'นายสมชัย กล่าว
          ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อจีดีพีไทย ในปีนี้ มากกว่า 1.7% แต่ยังมีความมั่นใจว่าในปีนี้จีดีพีไทยจะยังคงเป็นบวกได้ ซึ่งคาดว่าจะเติบโตอยู่ในระดับกว่า 2% แต่มีความเป็นห่วงกับบริษัทประกันภัยในต่างประเทศจะไม่ยอมต่ออายุกรมธรรม์ ประกันภัยที่เกี่ยวกับกรณีน้ำท่วมที่กำลังจะหมดอายุลง หลังจากความเชื่อมั่นของบริษัทประกันภัยต่างชาติลดลงจากแผนการบริหารน้ำของ รัฐบาลที่ยังไม่มีความชัดเจน โดยในเบื้องต้นได้มอบหมายให้
          นายอารีพงษ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงการคลังในฐานะประธานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ไปหารือเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของบริษัทประกันภัยในต่างประเทศให้กลับมาโดยเร็วที่สุด โดยใช้ข้อมูลจากการเตรียมแผนป้องกันน้ำท่วมของรัฐบาลรวมไปถึงแพ็คเกจงบประมาณที่ช่วยเหลือผู้ประกอบการไปประกอบการเจรจา โดยจะเริ่มในประเทศญี่ปุ่นเป็นประเทศแรก
          อย่างไรก็ตามขณะนี้มีผู้ประกอบการที่เสียหายจากน้ำท่วมขอเคลมประกัน เพื่อขอค่าสินไหมชดเชย มูลค่ากว่า 200,000 ล้านบาท โดยคปภ. ได้กำลังดำเนินการในเรื่องนี้อย่างเต็มที่ ซึ่งทางกระทรวงการคลังให้ธนาคารของรัฐเข้าไปช่วยเหลือประชาชน ซึ่งที่ผ่านมาที่ประชุมครม. ได้อนุมัติวงเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากธนาคารออมสิน 1.5 หมื่นล้านบาทเพื่อให้นิคมอุตสาหกรรมไปสร้างกำแพงถาวรป้องกันน้ำท่วม
          ทั้งนี้ธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศญี่ปุ่น (เจบิค) ก็ได้มีความพร้อมที่จะปล่อยกู้ให้กับไทย แต่อยู่ระหว่างการศึกษาในเรื่องของความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ซึ่งได้ให้สบน. ไปศึกษาข้อมูลส่วนดังกล่าวก่อนจะมารายงานให้รับทราบในภายหลัง
***เปิดโผหุ้นได้ประโยชน์-เสียประโยชน์จากมาตรการลดภาษีนิติบุคคลปี 55***
          อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ บทวิเคราะห์ บล.เอเซียพลัส ระบุว่า การดำเนินมาตรการตามแผนของรัฐบาลในครั้งนี้ น่าจะส่งผลกระทบต่อตลาดหลักทรัพย์ทั้งด้านบวก ลบ หรือเสมอตัว แต่โดยรวมแล้ว คาดว่าจะมีผลทำให้กำไรสุทธิของตลาดหุ้นไทยในปี 2555 เพิ่มขึ้นจากเดิมราว 2%
          ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่เสียประโยชน์ส่วนใหญ่ จะอยู่ในกลุ่มที่มีต้นทุนค่าแรงงานระดับล่างสูง เมื่อเทียบกับต้นทุนพนักงานทั้งหมด และ หรือค่าใช้จ่ายในการขาย และบริหารในระดับสูง หรือมีฐานการจ่ายภาษีในอัตราต่ำ โดยเรียงลำดับจากกลุ่มที่เสียประโยชน์จากมากไปน้อยดังต่อไปนี้
          1) กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง พบว่า NWR ได้รับผลกระทบมากสุดในกลุ่ม ตามมาด้วย ITD และ CK ส่วนผู้ประกอบการที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบน้อยสุดในกลุ่มฯ นี้คือ TPOLY และ SEAFCO
          2) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ บริษัทที่รับผลกระทบมากสุด 5 ลำดับแรกคือ SSPT, KCE, CCET, DELTA, SMT ตรงกันข้ามบริษัทที่ได้รับผลกระทบน้อยสุดได้แก่ SVI
          3) รถยนต์ ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบมากสุด 4 ลำดับแรกคือ IRC, AH, IHL และ SAT โดยคาดว่าผลกำไรจะลดลงจากประมาณการเดิมถึง 38%, 19%, 10% และ 9% ตามลำดับ
          4) อาหาร พบว่า TUF น่าจะเป็นผู้เสียประโยชน์มากที่สุด รองลงมาคือ GFPT ส่วน CPF คาดว่าจะได้ผลกระทบน้อยสุด
          5) ธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรม คาดว่าน่าจะได้ผลกระทบน้อย คือ ERW และ CENTEL จะได้รับผลกระทบมากสุด ขณะที่ MINTคาดว่าจะสูญเสียประโยชน์เล็กน้อย
          6) ปาล์มน้ำมัน บริษัทที่ได้รับผลกระทบมากสุดในกลุ่มนี้คือ CPI ตรงกันข้ามกับ UVAN คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบเพราะแม้อัตราภาษีจ่ายในระดับปานกลาง
          สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์เนื่องจากผู้ประกอบการในกลุ่มนี้ ส่วนใหญ่มีอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลในอัตราสูงเกือบ 30% ขณะที่มีต้นทุนแรงงานระดับล่างน้อย หรือมีแรงงานไร้ฝีมือน้อย ทำให้ต้นทุนค่าแรงระดับล่างมีสัดส่วนน้อยเมื่อเทียบกับต้นทุนดำเนินงาน หรือบริการโดยรวม ทั้งนี้เรียงลำดับจากอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์มากไปน้อยดังต่อไปนี้
          1) ธนาคารพาณิชย์ คาดว่า TCAP จะได้รับประโยชน์มากสุด รองลงมาคือ KBANK, TISCO และ LHBANK ยกเว้น TMBเพียงแห่งเดียวที่ไม่ได้ประโยชน์
          2) บริษัทประกัน คาดว่าBLA และ THRE ได้รับประโยชน์
          3) หลักทรัพย์ บริษัทที่ได้ประโยชน์มากสุดได้แก่PHATRA, KGI, KEST, ASP และ BLS
          4) กลุ่มสื่อสาร ADVANC และ DTAC คาดว่าจะส่งผลให้กำไรสุทธิในปี 2555 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นราว 8% และ 10% ยกเว้น TRUE ที่ยังประสบภาวะขาดทุน ขณะที่ JAS จะได้ประโยชน์รองลงมา
          5) กลุ่มบันเทิง คาดว่า BEC , MCOT จะมีผลให้กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น ยกเว้น MAJOR
          6) โรงพยาบาล เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ผู้ที่มีคุณวุฒิและความรู้ทางการแพทย์ ทำให้มีต้นทุนพนักงานที่เป็นค่าแรงขั้นต่ำน้อยมาก
          7) กลุ่มขนส่ง ผู้ที่ได้รับผลบวกสุทธิสูงสุด 2 อันดับแรก คือ AOT และ THAI
          8) วัสดุก่อสร้างผู้ที่ได้ประโยชน์ เรียงลำดับจากมากไปน้อย คือ เริ่มจากกลุ่มเหล็กได้แก่ MCS, BSBM, SMIT และ CSP ตามมาด้วยกลุ่มปูนซิเมนต์ SCC และ TPIPL และกระเบื้อง DCC
          9) ผู้ค้าส่ง-ค้าปลีกพบว่าHMPRO เป็นผู้ที่จะได้รับประโยชน์มากสุด