จันทร์ 31 ต.ค.2554--eFinanceThai.com :
น้ำซัด ตลาดหุ้นซึม-ศก.ซบ

        มหาอุทกภัย ปี54 ซัด ตลาดหุ้นไทยซึม-ศก.ซบ โบรกฯ ชี้ ดัชนีฯสิ้นปีไม่เกิน 1 พันจุดIPO เลื่อนเข้าตลาดฯ อื้อ คาดบรรยากาศการลงทุน Q4 หงอย ดัชนีฯขยับในกรอบ 933-1,020 จุด ส่วนปีหน้า คาดเคลื่อนไหวในกรอบ 815-1,100 จุด ฟากธปท.หั่นจีดีพี ปีนี้เหลือโต 2.6% จากเดิมคาดโต 4.1% ด้าน กสิกรไทย ประเมิน น้ำท่วมศก.พินาศ 2.4 แสนล้าน กรณีเลวร้ายสุดอาจสูงถึง 3.3 แสนล้าน กดดันจีดีพีโตแค่ 0.9% จากเดิมคาด 3.8%
        น้ำท่วมที่กำลังเกิดขึ้นต่อประเทศไทย ณ เวลานี้ ได้สร้างความเสียหายให้เกิดต่อทรัพย์สินและจิตใจคนไทยเกือบทั้งประเทศ ผลกระทบได้เชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่ไปยังทุกภาคส่วนอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้น จึงเป็นที่แน่นอนเหลือเกินว่า ในภาพรวมเศรษฐกิจและการลงทุนของประเทศไทย ย่อมได้รับความเสียหายตามไปด้วย
        ตามที่สถานการณ์น้ำท่วมได้ส่งกระทบรุนแรงไปในทุกภาคส่วนโดยเฉพาะภาคเศรษฐกิจอุตสาหกรรมและการลงทุน หลายฝ่ายต่างร่วมใจฮึดสู้เพื่อป้องกัน แต่ดูเหมือนจะสุดแรงต้านทานกระแสน้ำล่าสุด เมืองหลวงศูนย์กลางเศษฐกิจประเทศอยู่ในภาวะโกลาหล นักท่องเที่ยวต่างชาติขวัญผวาที่จะเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทย นักลงทุนต่างชาติในส่วนที่โดนผลกระทบไปแล้ว ต้องจำใจยอมรับสภาพ ส่วนที่กำลังจะตัดสินใจเข้ามาลงทุนก็ต้องคิดหนัก ฟากรัฐบาลเองก็ต้องเร่งสร้างความเชื่อมั่นพร้อมๆกับการเดินหน้าฟื้นฟูประเทศ
        เหตุการณ์ภัยพิบัติครั้งนี้ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการลงทุนในตลาดหุ้นไทยแน่นอน ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในภาพรวมมีปัญหาชัวร์ เพราะมีหลายบริษัทที่อยู่ในหลายนิคมที่ได้รับผลกระทบ อาทิ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ นิคมอุตสาหกรรม ไฮเทค นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน เขตประกอบอุตสาหกรรมแฟคตอร์รี่แลนด์ นิคมอุตสาหกรรมนวนคร และนิคมอุตสาหกรรมบางกระดี ยังไม่รวมบริษัทจดทะเบียนที่ได้รับผลกระทบทางอ้อมอีกด้วย
* ทิสโก้ คาดเป้าหมาย SET Index ปีนี้ไม่เกิน 1,000 จุด หลังน้ำท่วมกระทบ-IPO เลื่อนเข้าตลาดฯ
        นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ทิสโก้ เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่าภาพรวมตลาดหุ้นในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะเคลื่อนไหวในลักษณะผันผวนค่อนข้างหนัก เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่ดีขึ้น เช่น จีน ยุโรปและสหรัฐฯ ดังนั้นจึงคาดว่าเป้าหมาย SET Index ในปีนี้น่าจะไม่เกิน 1,000 จุด เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมและภาวะเศรษฐกิจส่งผลให้ไม่เอื้ออำนวยต่อบรรยากาศการลงทุนมากนัก ประกอบกับต้องเลื่อนการนำหุ้นไอพีโอเข้าซื้อขายในตลาดหุ้นออกไปก่อน โดยคาดว่าจะเริ่มกลับมาพิจารณาใหม่อีกครั้งในปี 2555 อย่างไรก็ตามยังเชื่อว่านักวิเคราะห์จากหลายสำนักคงอยู่ระหว่างปรับประมาณการดัชนีฯ ในปีนี้ด้วยเช่นกัน
        สำหรับสัดส่วนภาพรวมของผลประกอบการในไตรมาส 4/2554 ด้วยมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในเดือนตุลาคม 2554 ที่ประมาณ 2-2.5 หมื่นล้านบาทต่อวัน แม้ว่าจะไม่มากเท่ากับช่วงครึ่งปีแรกที่ 3 หมื่นล้านบาทต่อวัน แต่ถือว่าเป็นตัวเลขที่ไม่ต่ำจนเกินไป ซึ่งถือเป็นปกติของตลาดฯ ซึ่งอยู่ในภาวะที่นักลงทุนไม่มีอารมณ์ที่จะซื้อขายหุ้น เนื่องจากเหตุการณ์น้ำท่วมทำให้มูลค่าการซื้อขายไม่สูงมากนัก ดังนั้นก็จะกระทบผลประกอบการไตรมาส 4/2554 เพียงเล็กน้อย
* KEST หวั่น บรรยากาศการลงทุน Q4/54 หงอย ชี้ ดัชนีตลาดหุ้นในสิ้นปีนี้ ยังประเมินยาก สั่งเกาะติดปัจจัยทั้งภายในและนอกใกล้ชิด
        นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า ช่วงไตรมาส 4/2554 บรรยากาศการซื้อขายโดยรวมค่อนข้างเงียบเหงา เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมทำให้บรรยากาศโดยรวมยังคงมีความกังวลและมีความสับสนอยู่มากจากข่าวที่เกิดขึ้นรายวัน ขณะที่ปัจจัยจากต่างประเทศก็ยังมีความไม่แน่นอนจากวิกฤตทางการเงิน ทำให้มูลค่าการซื้อขายต่อวันเบาบาง ดังนั้นปลายปีจึงต้องรอดูข่าวที่ชัดเจนอีกครั้งหนึ่งจากต่างประเทศว่าสถานการณ์ต่างๆ จะมีแนวโน้มดีขึ้นหรือไม่
        นายมนตรี กล่าวต่อว่า ดัชนีตลาดหุ้นในสิ้นปีนี้ยังประเมินได้ค่อนข้างยาก อย่างไรก็ดีดัชนีฯ นั้นได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วที่บริเวณ 1,140 จุด ดังนั้น จากนี้ไปจึงต้องเฝ้าติดตามปัจจัยทั้งภายในและนอกประเทศอย่างใกล้ชิด เพื่อที่จะหาจังหวะกลับเข้าไปลงทุนอีกครั้งหนึ่ง ส่วนดัชนีฯปีหน้าจะอยู่ที่ระดับใด ขณะนี้อยู่ระหว่างการประเมิน
        สำหรับ การเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์น้ำท่วมในส่วนของบริษัทฯ นั้น นายมนตรี กล่าวว่า ได้ให้พนักงานที่มีหน้าที่ดูแลระบบคอมพิวเตอร์มาค้างคืนที่บริษัทฯ เพื่อดูแลระบบซื้อขาย ส่วนสถานที่ตั้งของบริษัทฯ เชื่อมติดกับสถานีให้บริการรถไฟฟ้า BTS จึงทำให้การเดินทางเป็นไปด้วยความสะดวก อย่างไรก็ตามหากเกิดกรณีเลวร้ายบริษัทฯ พนักงานก็สามารถมาทำงานได้ เนื่องจากมีพนักงานเช่าที่พักอยู่ตามแนวรถไฟฟ้า ดังนั้นหากน้ำท่วมจริงระบบโทรคมนาคมและระบบไฟฟ้ายังสามารถให้บริการได้ตามปกติ บริษัทฯ ก็ยังคงให้บริการซื้อขายได้ตามปกติเช่นเดียวกัน
*กูรู ชี้ ไตรสมาสสุดท้ายของปี ดัชนีฯขยับในกรอบ 933-1,020 จุด ส่วนปีหน้า คาดเคลื่อนไหวในกรอบ 815-1,100 จุด
        นายกวี ชูกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ได้ประเมินเป้าหมายดัชนีตลาดหุ้นไทยในช่วงสิ้นปีที่ไว้ที่ระดับ 1,020 จุด โดยได้ปรับลดลงจากเป้าหมายเดิมที่ประเมินไว้ตั้งแต่ต้นปีที่ 1,200 จุด เนื่องจากได้นำปัจจัยจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกเข้ามาประกอบการพิจารณาเป็นหลักมากกว่าปัจจัยภายในประเทศ โดยเฉพาะปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศยุโรปและสหรัฐฯ ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมอย่างหนัก แต่มีปัจจัยบวกจากความคืบหน้าประชุมผู้นำยุโรปก็ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวบวกได้ตามทิศทางเดียวกันกับตลาดหุ้นในแถบประเทศเอเชีย ที่มีเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ ได้คาดการณ์ว่าเม็ดเงินลงทุนจากต่างชาติจะสนับสนุนให้หุ้นไทยปรับบวกแตะเป้าหมายที่กำหนดไว้ที่ 1,020 จุดได้ไปจนถึงสิ้นปีนี้
        "มองว่า FUND FLOW จากต่างชาติยังสนับสนุนหุ้นไทยได้จนถึงปลายปีทำให้เรายังกำหนดเป้าหมายดัชนีฯสิ้นปีที่ 1,020 จุดและมีโอกาสที่จะเป็นไปได้ แม้ว่ามีปัญหาน้ำท่วมในช่วงนี้แต่หุ้นไทยก็ปรับเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภายนอกประเทศที่มีสัญญาณเป็นบวก โดยคิดว่าหากยุโรปผ่อนคลายปัญหาลง ก็จะทำให้เงินดอลลาร์อ่อนลงจึงเป็นปัจจัยให้สินทรัพย์เสี่ยงมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในหุ้น และเงินจากไหลเข้าในเอเชียมากขึ้นสะท้อนได้จากสกุลเงินในแถบเอเชียแข็งค่าไปในทางเดียวกัน" นายกวี กล่าว
        พร้อมกันนี้ ได้คาดการณ์ดัชนีหุ้นไทยในช่วงไตรมาส4/54ที่ได้รับผลกระทบน้ำท่วมจะเคลื่อน ไหวในกรอบ 933-1,020 จุด เพราะในเบื้องต้นเห็นว่าสถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้ถือว่าเป็นเพียงผลกระทบใน ระยะสั้นเท่านั้นไม่น่าจะส่งผลเชิงลบต่อตลาดหุ้นไทยเป็นระยะเวลานาน โดยหากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้งก็จะทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจ กลับมาเติบโตได้ดีในอนาคต โดยคาดว่าปัญหาน้ำท่วมจะสามารถฟื้นฟูได้แล้วเสร็จภายในไตรมาส1/55
        ด้านกลยุทธ์การลงทุนในปีนี้หุ้นที่มีความน่าสนใจมากที่สุด ได้แก่หุ้นกลุ่มพลังงานและธนาคาร เพราะเป็นหุ้นที่ได้รับความสนใจจากนักลงทุนต่างชาติเป็นพิเศษ โดยลักษณะการลงทุนหากดัชนีฯขึ้นทะลุ 1,000 จุดให้ขายหุ้นทำกำไร หรือรอซื้อเมื่อดัชนีฯอ่อนตัวลงมาประมาณระดับ 950 จุด
        ส่วนเดัชนีหุ้นไทยปีหน้า(2555) คาดว่าจะเคลื่อนไหวในกรอบ 815-1,100 จุด โดยมีสมติฐานภายใต้เศรษฐกิจโลกทั้งสหรัฐฯและยุโรปชะลอตัวแต่ไม่ถึงขั้นหดตัว และการเติบโตของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนจะเติบโตเฉลี่ย 12-13% เทียบกับปีนี้ที่โตเฉลี่ย 10% เพราะได้รับการสนับสนุนจากมาตรการลดภาษีนิติบุคคลเหลือ 23% จากปัจจุบันอยู่ที่ 30% และปี56จะเหลือ 20%
* กูรู แนะช่วงที่เหลือของปีนี้ ลงทุนหุ้นกลุ่มพลังงาน เนื่องจากราคายังอยู่ในระดับต่ำ
        นางสาวจิตรา อมธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด ( มหาชน) หรือ FSS เปิดเผยว่า ได้ประเมินเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยในสิ้นปีนี้จะอยู่ที่1,050 จุด โดยได้รวมผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมในประเทศแล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่ออัตราการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนตั้งแต่ไตรมาส4/54จนถึงไตรมาส1/55 ขณะเดียวกันยังได้รวบรวมปัจจัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความเสี่ยงอยู่ทั้งวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศในแถบยุโรปและสหรัฐฯ
        ทั้งนี้ เม็ดเงินส่วนใหญ่ที่ไหลเข้าสู่ตลาดหุ้นไทยและผลักดันให้ดัชนีฯถึงเป้าหมายที่ 1,050จุดได้มาจากเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติ(FUND FLOW) แม้ว่าเบื้องต้นประเมินว่า FUND FLOW จะชะลอตัวลงในช่วงเทศกาลคริสต์มาส แต่ในช่วงปลายปีก็มีจะมีเม็ดเงินลงทุนจากกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF เป็นแรงผลักดันดัชนีหุ้นไทยให้ถึงเป้าหมาย
        อย่างไรก็ดี ในช่วงที่เหลือของปีนี้หุ้นที่น่าลงทุนคงเป็นหุ้นกลุ่มพลังงาน เนื่องจากราคายังอยู่ในระดับต่ำหลังจากก่อนหน้านี้ได้ถูกเทขายทำให้ราคาปรับ ตัวลงไปพอสมควรและเป็นหุ้นที่มีพื้นฐานดีที่ไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤต น้ำท่วม ทั้งนี้ ส่วนเป้าหมายดัชนีฯปีหน้า(55) คาดว่าจะอยู่ที่ 1,180 จุด
* "จรัมพร" ชี้ น้ำท่วมฉุดผลงาน บจ.ในQ4/54 วูบ เผย หุ้นกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์- นิคมฯ อ่วมสุด
        นายจรัมพร โชติกเสถียร ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า เหตุการณ์น้ำท่วมจะส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในช่วงไตรมาส 4/2554 ลดลง ซึ่งโบรกเกอร์ต่างๆ จะต้องมีการปรับทบทวนประมาณการรายได้และกำไรของบริษัทใหม่ โดยกลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ได้แก่ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ และกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม แต่อย่างไรก็ตาม ถือว่ามีผลกระทบต่อภาพรวมของตลาดหุ้นไทยไม่มาก เนื่องจากมีมาร์เก็ตแคปที่ต่ำ
        "บริษัทที่ได้รับผลกระทบก็จะแจ้งความเสียหายมาที่ตลาดฯ แต่จะไม่แจ้งมูลค่าความเสียหาย เพราะเกรงว่าอาจกระทบต่อจิตวิทยาของนักลงทุน" นายจรัมพรกล่าว
        นายจรัมพร กล่าวว่า จากการที่ตลาดหลักทรัพย์ได้มีการประชุมกับ 3 สมาคม ทั้ง สมาคมบจ. สมาคมบลจ. และสมาคมบล. เพื่อจัดตั้งกองทุนเยียวยาผู้ประสบภัยน้ำท่วม โดยเบื้องต้นตลท. จะใส่เงินลงทุนในกองทุนดังกล่าว 250 ล้านบาท จากเม็ดเงินทั้งกองทุนรวมทั้งสิ้น 500 ล้านบาท ซึ่งเงินในส่วนที่เหลือทั้ง 3 สมาคมจะพิจารณาตัดสินใจจัดสรรเงินเข้าในกองทุนเอง
*ธปท.หั่นจีดีพี ปี 54 เหลือโต 2.6% จากเดิมคาดโต 4.1% ขณะที่จีดีพี ปี 55 โต 4.1% จากเดิมคาดโต 4.2%
        นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ธปท.ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศ (จีดีพี) ในปีนี้มาอยู่ที่ 2.6% จากประมาณการครั้งก่อนที่คาดว่าจะขยายตัวอยู่ที่ 4.1% ขณะที่จีดีพีปี 2555 ปรับลดลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 4.1% จากเดิมที่คาดโต 4.2% ทั้งนี้เป็นผลจากสถานการณ์น้ำท่วมที่ขยายวงกว้างมากขึ้น ทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม รวมทั้งนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งได้รับความเสียหาย ซึ่งผลกระทบส่วนใหญ่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปีนี้ สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจปี 2555 น่าจะฟื้นตัวขึ้นได้ โดยเกิดจากการบริโภคในประเทศ และการฟื้นฟูหลังน้ำท่วม เป็นสำคัญ
        'ในปีหน้าภายหลังที่มีการฟื้นฟู คาดว่าจะมีแรงส่งจากการบริโภคในประเทศ และมาตรการของรัฐได้' นายไพบูลย์ กล่าว
        ทั้งนี้ จากการประเมินสถานการณ์ล่าสุดของภาวะน้ำท่วม คาดว่าจะกระทบต่อจีดีพีในปีนี้มากกว่าที่คาดการณ์เดิมว่า จะกระทบประมาณ 1.1% ดังนั้น ในการประชุม กนง.ปลายเดือนหน้า(30 พ.ย.) ธปท.อาจพิจารณาปรับประมาณการเศรษฐกิจรอบพิเศษอีกครั้ง อย่างไรก็ตาม กนง.จะติดตามสถานการณ์น้ำท่วมอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งหากมีความจำเป็นก็จะเรียกประชุมนัดพิเศษ เพื่อดำเนินมาตรการต่างๆ ที่เหมาะสมได้สำหรับ จีดีพีในไตรมาส 4/54 คาดว่าจะติดลบประมาณ 1.9% จากไตรมาส3/54 แต่จะยังคงเป็นบวก 0.8% จากช่วงเดียวกันปีก่อน
        นอกจากนี้ ธปท.ปรับประมาณการอัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2554 ลดลงมาที่ 3.8% จากประมาณการเดิมอยู่ที่ 3.9% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2555 เพิ่มขึ้นมาที่ 3.5% จากประมาณการเดิมอยู่ที่ 3.2% สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ปี 54 ไม่เปลี่ยนแปลงประมาณการจากครั้งก่อนที่อยู่ 2.4 % ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ปี 55 เพิ่มขึ้นมาที่ 2.5% จากเดิมที่คาดอยู่ที่ 2.3%อย่างไรก็ตาม ด้านแรงกดดันนั้นพบว่า อัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้นจากการดำเนินมาตรการของภาครัฐ ซึ่งจะเป็นปัจจัยกดดันในระยะต่อไป นอกจากนี้ ได้ปรับลดประมาณการส่งออกของไทยในปีนี้อยู่ที่ 20.1% จากเดิมคาดที่ 22.4% รวมทั้งปรับลดประมาณการส่งออกของไทยในปี 55 เช่นกัน มาอยู่ที่ 7.9% จากเดิมคาดที่ 10.4%
        ทั้งนี้ มองว่าการขยายตัวเศรษฐกิจไทยยังมีปัจจัยเสี่ยงสำคัญ ทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ ได้แก่ ผลกระทบจากน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหาย ทั้งภาคการเกษตรและภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะกลุ่มยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงการท่องเที่ยวที่จะเห็นผลชัดเจนต่อเศรษฐกิจในไตรมาส 4/54 ซึ่งอาจต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูมากกว่าที่ประเมินไว้ ขณะเดียวกันเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทยอาจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้ จากปัญหาหนี้สาธารณะยุโรปและการชะลอตัวของเศรษฐกิจสหรัฐ
        ขณะที่ความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศที่เกิดจากความไม่สมดุลของการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ ที่อาจนำไปสู่ความไม่แน่นอนของระบบเศรษฐกิจและความผันผวนในตลาดการเงินโลก อีกทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกสูงกว่าที่ประเมินไว้
* สศค.คาดน้ำท่วมหนักฉุดจีดีพีปีนี้โตเหลือ2% รับภาวะน้ำท่วมยังไม่นิ่งอยู่ระหว่างประเมินมูลค่าความเสียหาย
        นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง เปิดเผยกับ eFinanceThai.comว่า เบื้องต้นได้ประเมินผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยในขณะนี้จะส่งผลกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ทั้งปีให้เติบโตเหลือเพียง 2% ลดลงจากเดือนกันยายนที่ได้ประมาณการไว้ว่าจะขยายตัวในอัตรา 4% โดยมีช่วงคาดการณ์ที่ 3.8-4.3% เนื่องจากปัญหาน้ำท่วมได้กระทบต่อภาคอุตสาหกรรม การเกษตรและภาคบริการ โดยเศรษฐกิจไทยในช่วงไตรมาส4/54จะได้รับผลกระทบมากพอสมควร
        อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่นิ่งทำให้ยังอยู่ระหว่างการประเมินมูลค่าความเสียหายที่เกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีในปีงบประมาณ 2555ลดลง แต่เนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายและมาตรการช่วยเหลือซึ่งจะกระตุ้นการบริโภค รวมถึงการที่ภาคเอกชนจะต้องซ่อมแซมหรือจัดซื้อเครื่องจักรเพื่อฟื้นฟูหลังภาวะน้ำท่วม ทำให้การบริโภคเพิ่มขึ้นหากเศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัวอีกครั้ง ดังนั้น จึงเชื่อว่าอัตราการขยายตัวจีดีพีในปี55คาดว่าจะเติบโตได้ดีเพราะในปีนี้จีดีพีจะมีฐานที่ต่ำ
        'ตอนนี้ยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับตัวเลขเศรษฐกิจมากนัก เพราะเกรงว่าจะตื่นตระหนกมากไปกว่านี้หลังจากปัญหาน้ำท่วมขยายวงกว้างและยังไม่นิ่ง โดยระหว่างนี้ก็ประเมินผลกระทบอยู่เรื่อยๆ'นายสมชัยกล่าว
* กสิกรไทย คาด น้ำท่วมเศรษฐกิจเสียหาย 2.4 แสนล้าน กรณีเลวร้ายสุดอาจสูงถึง 3.3 แสนล้าน กดดันจีดีพีโตแค่ 0.9% จากเดิมคาด 3.8%
        บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด รายงานว่า มหันตภัยครั้งนี้อาจสร้างความสูญเสียต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นมูลค่าสุทธิ 242,200 ล้านบาทในกรณีพื้นฐาน แต่ในกรณีเลวร้ายความสูญเสียทางเศรษฐกิจโดยสุทธิอาจสูงถึง 330,800 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 2.3-3.1 ของจีดีพี โดยภาคอุตสาหกรรมได้รับความเสียหายหนักที่สุดมีมูลค่าประมาณ 171,900-234,900 ล้านบาท (หรือคิดเป็นกว่าร้อยละ 70 ของความเสียหายทั้งหมด) ซึ่งอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบสูงสุด ได้แก่ อุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และอุตสาหกรรมยานยนต์ นอกจากนี้ยังมีความเสียหายในภาคการเกษตร มูลค่า 37,100-46,000 ล้านบาท และภาคบริการและอื่นๆ รวม 33,200-49,900 ล้านบาท
        ผลดังกล่าวคาดว่าจะฉุดให้เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4/2554 หดตัวลงถึงร้อยละ 3.3 ในกรณีพื้นฐาน แต่กรณีเลวร้ายอาจหดตัวถึงร้อยละ 6.3 หรือหายไปถึงร้อยละ 8.2-11.2 จากเดิมที่เคยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.9
        ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จึงปรับประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2554 ลงมาเหลือเพียงร้อยละ 1.7 ในกรณีพื้นฐาน และร้อยละ 0.9 ในกรณีเลวร้าย จากเดิมที่เคยคาดว่าอาจขยายตัวร้อยละ 3.8
        สำหรับแนวโน้มในปี 2555 ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าเศรษฐกิจไทยอาจขยายตัวประมาณร้อยละ 4.3 โดยผลกระทบในภาคอุตสาหกรรม ที่บางส่วนยังคงต้องใช้เวลาในการฟื้นฟูหลายเดือน ทำให้การผลิตและการส่งออกของไทยมีแนวโน้มที่จะหดตัวต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 1/2555 ขณะที่แรงงานจำนวนมากที่ต้องเผชิญการว่างงานอาจเป็นปัจจัยกดดันการบริโภค ซึ่งอาจส่งผลให้จีดีพีในไตรมาสที่ 1/2555 มีโอกาสบันทึกตัวเลขติดลบ ก่อนที่จะกลับมาขยายตัวเป็นบวกได้ประมาณช่วงไตรมาสที่ 2/2555
        อย่างไรก็ตาม แรงกระตุ้นจากการใช้จ่ายของรัฐในการเยียวยาผู้ประสบภัย และการใช้จ่ายลงทุนเพื่อบูรณะอาคาร สิ่งปลูกสร้าง และสาธารณูปโภค รวมถึงการเสริมการป้องกันปัญหาน้ำท่วมสำหรับช่วงฤดูกาลหน้า ทั้งให้ส่วนของภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน ประกอบกับฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ น่าจะเป็นแรงหนุนที่เข้ามาชดเชยกันได้ในระดับหนึ่ง
* หอการค้าไทย ประเมินน้ำท่วมกรุงเทพฯ คาดใช้เวลาฟื้นฟูธุรกิจราว 3 เดือนกระทบ จีดีพี เสียหาย2.5 แสนล้านบาท
        นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าวว่า หากน้ำเข้าท่วมในเขตกรุงเทพมหานคร จะต้องใช้เวลาฟื้นฟูธุรกิจราว 3 เดือน และคาดว่าจะส่งผลกระทบทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(จีดีพี) เสียหาย มูลค่าราว 2.5 แสนล้านบาท โดยปัจจุบันกรุงเทพฯ มีจีดีพีคิดเป็น 1 ล้านล้านบาทต่อปี จึงถือได้ว่าเป็นความเสียหายที่ค่อนข้างมหาศาล
        'ต้องการให้รัฐบาลเข้ามาช่วยเหลือ โดยเงินทุนบางส่วนอาจจะกู้ยืมเงินมาจากต่างประเทศ หรือขอความร่วมมือจากธนาคาร เพื่อให้ธุรกิจสามารถกู้ได้ในอัตรา 0%รวมถึงขอให้รัฐบาลเป็นผู้ค้ำประกันให้แก่ธุรกิจต่างๆ ตั้งแต่ขนาดใหญ่ไปจนถึงเอสเอ็มอี เพราะต้องยอมรับว่า ปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นนี้ ทำให้ทรัพย์สินที่จะนำมาค้ำประกัน เกิดความเสียหายไปแล้ว ' นายพรศิลป์ กล่าว
        นายพรศิลป์ กล่าวด้วยว่า รัฐบาลต้องสร้างความมั่นใจให้กับธุรกิจ ว่า จะไม่เกิดเหตุการณ์น้ำท่วมแบบนี้อีก เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนที่จะเข้ามาใช้ไทยเป็นฐานการผลิต เพราะธุรกิจต่างประเทศเหล่านี้ จำเป็นต้องนำชิ้นส่วน หรือผลิตภัณฑ์ต่างๆในไทย ไปส่งออกยังทั่วโลกอีกทอดหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ จากปัญหาดังกล่าวทำให้เกิดภาวะสะดุดกับผู้ใช้ไทยเป็นฐานการผลิตบ้างแล้ว
* ก.ล.ต. เตรียมมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ หลังจากนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม
        ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัด รวมถึงหลายนิคมอุตสาหกรรม ในขณะนี้ ส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยในวงกว้าง แต่ยังไม่มีผลมากนัก ซึ่งในส่วนภาคการผลิตอุตสาหกรรมค่อนข้างได้รับความเสียหายพอสมควร โดยการสรุปรายงานเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมในครั้งนี้ มีส่วนที่เสียหายหนักอยู่ประมาณร้อยละ 1 และที่ต้องระมัดระวังอีกประมาณร้อยละ 2.65 ซึ่งทำให้ผลประกอบการในไตรมาสที่ 4 ลดลง คาดว่าไม่เกินไตรมาส 2 ปี 2555
        ดร.วรพล กล่าวว่า มั่นใจจะสามารถฟื้นตัวเศรษฐกิจได้โดยเร็ว โดยทาง ก.ล.ต. ได้เตรียมมาตรการช่วยเหลืออย่างเต็มที่ โดยการนำผู้เชี่ยวชาญต่างประเทศมาทำการแก้ปัญหาเครื่องจักรที่ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วม รวมถึงธุรกิจประกันภัย ที่จะต้องเข้ามาดูแล ชดเชยความเสียหายให้แก่ผู้ประกอบการโดยเร็ว ขณะเดียวกันต้องยกระดับคุณภาพผู้ลงทุน ผู้ประกอบการ สร้างความรู้ความเข้าใจกฎเกณฑ์ในการจดทะเบียนหลักทรัพย์ รวมทั้งให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์กับผู้ลงทุนในการประกอบการตัดสินใจลงทุน และยกระดับสู่สากล เพื่อสามารถแข่งขันกับอาเซียนได้ในอนาคต
* 'กิตติรัตน์'เผยรัฐบาลญี่ปุ่นยังหนุนลงทุนในไทย พร้อมมีสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะยาวให้รัฐบาลไทยกู้
        นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวภายหลังการหารือร่วมกับทูตพาณิชย์ของญี่ปุ่น และผู้ช่วยรัฐมนตรีกระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของญี่ปุ่น ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นยืนยันที่จะสนับสนุนการลงทุนของภาคเอกชนญี่ปุ่นในไทย โดยเห็นความตั้งใจในการแก้ปัญหาน้ำท่วม รวมทั้งพร้อมสนับสนุนรัฐบาลไทยในรูปแบบต่างๆ ซึ่งรวมทั้งการให้สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะยาว
        นายกิตติรัตน์กล่าวว่า ทูตพาณิชย์ของญี่ปุ่น แจ้งด้วยว่า จะมีข้อสรุปเรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำระยะยาว ที่รัฐบาลไทยจะกู้ยืมจากรัฐบาลญี่ปุ่นได้ในเร็วๆ นี้รวมถึงจะมีการส่งทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญในการวางแผนป้องกันอุทกภัย ร่วมทำงานกับทีมวิศวกรของไทยในเร็วๆนี้ด้วย นอกจากนี้ ผู้ช่วยรัฐมนตรีรัฐบาลญี่ปุ่น ยังยืนยันว่ารัฐบาลญี่ปุ่นยังต้องการทำงานกับรัฐบาลไทยอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากเห็นว่าไทยเป็นมิตรประเทศที่ดี และยังยืนยันที่จะให้ไทยยังเป็นฐานการผลิต หรือซัพพลาย เชน ของอุตสาหกรรมในญี่ปุ่น
        'ในส่วนไทย ได้มีการชี้แจงให้กับตัวแทนของญี่ปุ่น ให้มีความมั่นใจว่า รัฐบาลไทยจะต้องลงทุนขนาดใหญ่ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้ปัญหาอุทกภัยเกิดซ้ำอีกในอนาคต โดยโครงการลงทุนขนาดใหญ่ดังกล่าว จะมีความชัดเจนภายหลังมีการพิจารณาพ.ร.บ.งบประมาณ ในวาระแรกไปแล้ว เนื่องจากเงินลงทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดังกล่าว จะใช้กฎหมายอื่น ที่ไม่ใช่งบประมาณ' นายกิตติรัตน์ กล่าว
* กิมเอ็ง แนะระวังการลงทุนต่อในสัปดาห์นี้ เหตุน้ำท่วมกดดัน แต่หากรับความเสี่ยงได้ ให้ซื้อเก็งกำไร 10% หรือถือเงินสด 65% และพอร์ตหุ้น 35% เน้นหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์
        บทวิเคราะห์ บล.กิมเอ็ง ระบุว่า แน่นอนว่าปัจจัยภายในประเทศยังคงอยู่ที่ระดับน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ จะแผ่ในวงกว้างมากน้อยเพียงใด และแนวทางในการจัดการบริหารน้ำท่วมของศปภ.จะมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด หลังผ่านพ้นช่วงเวลาน้ำทะเลหนุนในวันที่ 31 ต.ค.นี้ไป เพราะจะส่งผลต่อความเชื่อมั่น และภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วง 3-6 เดือนข้างหน้า หากสถานการณ์ต่างๆ อยู่ในการควบคุมได้ ย่อมกลายเป็นจุดบวกอย่างโดดเด่นต่อตลาดหุ้นไทย โอกาสทะลุแนว 980 จุดมีความเป็นไปได้สูง แต่ในความเห็นของ KimEng ประเมินว่าโอกาสเกิดด้านบวกเป็นไปได้น้อยมาก เพราะมวลน้ำที่ทยอยลงมาจากจ.อยุธยาอย่างต่อเนื่อง จะเป็นสิ่งที่สร้างแรงกดดัน
        ขณะที่ปัจจัยต่างประเทศสัปดาห์นี้ KimEng ให้น้ำหนักกับการประชุม FOMC วันที่ 2 พ.ย. เพราะอาจหยิบประเด็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมเข้าหารือ แต่โอกาสอนุมัติ QE#3 ในการประชุมรอบนี้เป็นไปได้ยาก เพราะเฟดน่าจะต้องการรอดูผลของการใช้โครงการ Operation Twist ที่เพิ่งเริ่มต้นในเดือนต.ค.
        ปัจจัยสำคัญในสัปดาห์หน้าได้แก่
        1.ความคืบหน้ากรณีวิกฤตน้ำท่วมในเขตกรุงเทพฯ
        2.ตัวเลขเศรษฐกิจไทยเดือนก.ย. น่าจะเริ่มส่งสัญญาณลบจากผลกระทบของน้ำท่วมแล้ว ขณะที่อัตราเงินเฟ้อเดือนต.ค.คาดว่าจะต่ำกว่า 4% yoy เป็นเดือนที่ 2 แต่อาจใกล้เคียงกับเดือนก.ย.ที่ผ่านมา หลังราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกขยับขึ้น
        3.การประชุม FOMC คาดว่าจะยังไม่มีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่เกิดขึ้น แต่อาจส่งสัญญาณความพร้อมต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจ
        4.การประชุม G-20 วันที่ 3-4 พ.ย. แน่นอนว่า ความคืบหน้าจากการประชุมผู้นำอียูในวันที่ 26 ต.ค.นี้จะถูกหยิบยกเข้าหารือในการประชุมครั้งนี้ เพื่อให้ผู้ที่สนใจเข้าลงทุนใน EFSF ที่อียูเตรียมขยายวงเงินเป็น 1.0 ล้านล้านยูโร
        แม้ว่ามุมมองต่อการลงทุนในแง่ของปัจจัยพื้นฐาน KimEng ยังคง “ระมัดระวัง” ต่อการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพราะความเสียหายต่อเศรษฐกิจ จากวิกฤตน้ำท่วมร้ายแรงที่สุดในรอบ 50 ปีครั้งนี้ สร้างผลกระทบในวงกว้างมากกว่ากรณีสึนามิในภาคใต้ หรือการประท้วงของกลุ่มนปช.กลางปีที่ผ่านมา เพราะ ณ ปัจจุบัน รัฐบาล และศปภ. พยายามหาทางบริการจัดการปริมาณน้ำจำนวนมากที่ทยอยไหลจาก จ.อยุธยาเข้าสู่เขตกรุงเทพฯ แต่ยังไม่เห็นแนวทางที่ชัดเจน บวกกับความเสี่ยงของน้ำทะเลหนุนสูงในช่วง 3 วันนี้
        แต่ด้วยบรรยากาศการลงทุนที่เป็นบวกจากปัจจัยภายนอก ไม่ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาในยุโรป ถึงแม้ว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาเพียงส่วนเดียว ยังไม่เป็นทั้งระบบ แต่ก็ทำให้ความกังวลของนักลงทุนผ่อนคลายลงไปในระดับหนึ่ง บวกกับตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ออกมาดีกว่าคาด เงินทุนไหลเข้าเก็งกำไรในสินทรัพย์เสี่ยงต่อเนื่อง
        ดังนั้น KimEng เสนอให้นักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้สูง กลับมาซื้อเก็งกำไรราว 10% หรือเป็นการถือเงินสด 65% และพอร์ตหุ้น 35% เพิ่มขึ้นจากวันก่อนหน้า 75: 25 โดยเน้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์เป็นสำคัญ