ศุกร์ 14 ต.ค.2554--eFinanceThai.com :
กูรู! สั่งถอย

*กอดเงินสด 80% หนีน้ำท่วม
           โบรกเกอร์สั่งถอยหนีน้ำท่วม ลดพอร์ตลงทุน ถือเงินสด 80% ขณะที่กลุ่มชิ้นส่วนยานยนต์- อิเล็กฯ สำลักน้ำอ่วมมากสุด หลังขาด Supply Chain เหตุทุกบริษัทมี Supplier อยู่ใน จ.อยุธยา พร้อมปรับลดกำไร KCE ปีนี้ลง 4% ฟากผู้บริหาร AH "เย็บ ซู ชวน" ไม่หวั่นน้ำท่วม ระบุขอลุยป้องกันเต็มสูบ แต่ KCE สั่งปิดบริษัทย่อย "เคซีอี เทคโนโลยี" ในนิคมฯ ไฮเทค แล้ว
***บล.กิมเอ็ง หวั่นวิกฤตน้ำท่วม ฉุด นลท.ทิ้งหุ้น
           บล.กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าปัจจัยพื้นฐานของการลงทุนในตลาดหุ้นไทยยังคงเปราะบางในมุมมองของฝ่ายวิเคราะห์ ทั้งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมจากวิกฤตน้ำท่วมฉับพลัน ซึ่งอาจไหลเข้ากรุงเทพฯ ชั้นในได้ทุกเมื่อ กลายเป็นจุดเสี่ยงต่อเศรษฐกิจทั้งระยะสั้นและยาว รวมถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 3/2554-4/2554 ในกลุ่มหลักอย่างกลุ่มธนาคารพาณิชย์ กลุ่มพลังงาน และปิโตรเคมี ซึ่งคิดเป็นน้ำหนักกว่า 50% ของ Market Cap รวมตลาดหุ้นไทย เสี่ยงต่อการปรับประมาณการลงทุน
           นอกจากนี้นักลงทุนยังต้องติดตามวิกฤตน้ำท่วมฉับพลันอย่างต่อเนื่อง ส่วนล่าสุดมี 61 จังหวัดได้ประสบปัญหาน้ำท่วมแล้ว จากจำนวนทั้งหมด 77 จังหวัดทั้งประเทศ 2.44 ล้านครัวเรือน และ 8.25 ล้านคน หากน้ำได้ไหลเข้าสู่กรุงเทพฯ ชั้นกลางและชั้นใน จะกลายเป็นจุดเสี่ยงต่อเศรษฐกิจและอาจทำให้เกิดแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงในไทยอย่างตลาดหุ้นได้เช่นกัน ในขณะที่กลยุทธ์การลงทุนแนะนำให้ถือเงินสด 80% ของพอร์ตและ พอร์ตหุ้นอีก 20% เพราะปัจจัยพื้นฐานจากเศรษฐกิจที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากกรณีวิกฤตน้ำท่วมมากขึ้นเป็นลำดับ ประกอบกับความไม่ชัดเจนในยุโรป อย่างไรก็ตามหากประเมินบรรยากาศการลงทุนช่วงสั้นจะพบว่าเป็นบวก ด้วยแรงเก็งกำไรในเชิงเทคนิคมีน้ำหนักมากขึ้น ระหว่าง 930-970 จุด แต่นักลงทุนควรระมัดระวังต่อการลงทุนค่อนข้างมาก เพราะความผันผวนของการลงทุนทั่วโลกยังอยู่ในระดับสูง
***บล.ฟินันเซีย ไซรัส แนะเลี่ยงลุยหุ้นอิเล็กทรอนิกส์-ยานยนต์
           บล.ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยว่า เหตุการณ์น้ำท่วมเป็นปัจจัยลบอย่างหนักกับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ โดยปัจจุบันมีบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA และบริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมแล้ว ส่วนบริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI ซึ่งมีโรงงานตั้งอยู่ในพื้นที่ ที่มีความเสี่ยงสูง ขณะที่บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA และบริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CCET ยังไม่กระทบ สำหรับโรงงานที่ถูกน้ำท่วมทั้งหมดคาดว่าต้องใช้เวลาอย่างน้อย 6 เดือนขึ้นไปหลังน้ำลดแล้วในการก่อสร้างและซ่อมแซม เพื่อกลับมาผลิตได้อีกครั้ง
           นอกจากนี้แม้ว่าทุกบริษัทจะมีประกันแบบ All risks แต่มีปัญหาหนักคือการขาด Supply Chain เพราะทุกบริษัทมี Supplier อยู่ในอยุธยาเป็นส่วนใหญ่ ทั้งในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ที่ถูกน้ำท่วมแล้ว ในขณะที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งถูกน้ำท่วมแล้วเช่นกัน แต่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค น้ำกำลังจะท่วม ส่วนนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน น้ำยังไม่ท่วม แม้มีบางส่วนนำเข้าจากต่างประเทศ แต่ก็จะกระทบสายการผลิต ไม่สามารถผลิตสินค้าให้ลูกค้าได้ ซึ่งเป็นผลลบอย่างหนักต่อการแข่งขัน โดยผลกระทบไม่ได้อยู่แค่ในไตรมาส 4/2554 ปีนี้เท่านั้น ฉะนั้นฝ่ายวิเคราะห์จึงกำลังทบทวนประมาณการ จึงแนะนำหลีกเลี่ยงหรือขายหุ้นในกลุ่มดังกล่าว
           ส่วนหุ้นในกลุ่มยานยนต์เจอปัญหาขาด Supply chain เช่นกัน โดยผู้ประกอบการรถยนต์ส่วนใหญ่ได้ระงับการผลิตรถยนต์บางส่วนในประเทศไทยไปแล้ว ซึ่งโรงงานฮอนด้าที่ จ.อยุธยาได้ระงับการผลิตตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม 2554 อย่างไม่มีกำหนด ทั้งนี้โรงงานดังกล่าวผลิตรถได้ 240,000 คัน/ปี ส่วนโตโยต้า, อีซูซุ, ซูซูกิ ระงับการผลิตไปแล้วบางส่วน แม้ตัวโรงงานไม่ได้รับความเสียหาย แต่เริ่มขาดแคลนวัตถุดิบในการผลิต ส่วนล่าสุดบริษัท ไทยสแตนเลย์การไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ STANLY ซึ่งมีโรงงานที่ จ.ปทุมธานี และบริษัท สมบูรณ์ แอ๊ดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด (มหาชน) หรือ SAT ซึ่งมีโรงงานที่ จ.สมุทรปราการ ยังไม่ถูกน้ำท่วม แต่เริ่มลดกำลังการผลิต ส่วนบริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH มีโรงงานใน 4 นิคมอุตสาหกรรม ซึ่งมีความเสี่ยงสูงมาก จึงแนะนำหลีกเลี่ยงและอยู่ระหว่างการทบทวนประมาณการ นอกจากนี้หุ้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์และยานยนต์ควรหลีกเลี่ยงการลงทุน หลังจากวันที่ 12 ตุลาคม 2554 หุ้นในกลุ่มดังกล่าวถูกกระทบจากน้ำท่วม ราคาหุ้นจึงปรับลงมากกว่าตลาดฯ โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มยานยนต์ ที่ลดลง 1.9% และอิเล็กทรอนิกส์ ปรับลดลง 2.0%
***บล.เอเซีย พลัส ปรับลดกำไร KCE ปี 54 ลง 4%
           บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า จากกรณีที่บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE ระบุถึงวิกฤตน้ำท่วมในพื้นที่ของจ.อยุธยา ส่งผลให้โรงงาน KCE Technology ซึ่งตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จ.อยุธยา จำเป็นต้องหยุดผลิตชั่วคราวและปิดโรงงานจนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทั้งนี้ประเมินว่าการรั่วซึมของน้ำในบางจุดที่คันดินกั้นน้ำของนิคมอุตสาหกรรมไฮเทคนั้น บริเวณดังกล่าวถือเป็นพื้นที่สุ่มเสี่ยงมากหากคันกั้นน้ำถูกทำลายหรือน้ำท่วมสูงกว่าคาด ส่วนรายได้ของ KCE ที่มาจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จ.อยุธยา คิดเป็นสัดส่วนถึง 45% ของรายได้รวม ดังนั้นฝ่ายวิจัยจึงเชื่อว่าหากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ จ.อยุธยายังคงยืดเยื้อต่อไป จะส่งผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญ ต่อผลการดำเนินงานของ KCE ในงวดไตรมาส 4/2554 ซึ่งในเบื้องต้นฝ่ายวิจัยประเมินว่าหากโรงงาน KCE Technology หยุดทำการผลิตเป็นเวลา 1 เดือน จะส่งผลให้ประมาณการกำไรสุทธิทั้งปี 2554 ลดลง 4% จากเดิม ที่ภายใต้สมมติฐานไม่มีประกันภัยครอบคลุม
           สำหรับกลยุทธ์การลงทุน แนะนำให้ชะลอการลงทุนไปก่อนสำหรับหุ้น KCE เนื่องจากผู้ประกอบการในกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยังคงได้รับปัจจัยลบจากสถานการณ์ในประเทศ อาทิ สถานการณ์น้ำท่วมและต้นทุนค่าแรงงานที่จะปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมถึงปัจจัยจากต่างประเทศ อาทิ ภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในประเทศสหรัฐฯ และยุโรป
***บล.ทิสโก้ ชี้ยานยนต์-อิเล็กทรอนิกส์ อ่วมรับน้ำท่วม
           นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ กล่าวว่าจากเหตุการณ์ปัญหาน้ำท่วมหนัก ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งส่งผลกระทบต่อโรงงานของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ต่างๆ ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค บางปะอิน นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ ซึ่งส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ เช่น AH, HANA, KCE และบริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SMT ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ส่วนหุ้นในกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากเหตุการณ์น้ำท่วม ประกอบด้วยหุ้นในกลุ่มก่อสร้างและค้าปลีก ซึ่งประกอบด้วยบริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด(มหาชน) หรือ SCC, บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) หรือ SUPER และ บริษัท ดีคอนโปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ DCON เนื่องจากต้องใช้วัสดุก่อสร้าง เช่น ทราย ปูน อิฐมวลเบาในการป้องกันน้ำท่วม ส่วนหุ้นในกลุ่มค้าปลีก ได้แก่บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF, บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BIGC และบริษัท ไทยยูเนียน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TUF ได้ประโยชน์ หลังจากที่ประชาชนเริ่มตุนสินค้า สำหรับหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากเหตุการณ์หลังน้ำท่วม คือบริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO เนื่องจากได้รับประโยชน์จากการซ่อมแซมถนน
***ผู้บริหาร AH "เย็บ ซู ชวน" ไม่หวั่นน้ำท่วม ระบุขอลุยป้องกันเต็มสูบ
           นายเย็บ ซู ชวน ประธานและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่าหลังจากที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยาและเริ่มเข้าท่วมภายในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค ซึ่งโรงงานของบริษัทฯ ตั้งอยู่ในบริเวณดังกล่าวนั้น ทางบริษัทฯ ขอยืนยันว่าในขณะนี้ได้พยายามป้องกันน้ำไม่ให้เข้ามาภายในพื้นที่โรงงานของบริษัทฯ และพยายามสู้กับเหตุการณ์ดังกล่าวอย่างเต็มความสามารถ
           ขณะเดียวกันทางนิคมอุตสาหกรรมได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการหยุดการผลิต และอพยพคนออกจากพื้นที่อีกทั้งทางนิคมอุตสาหกรรมได้หยุดจ่ายกระแสไฟฟ้า เพื่อการผลิตแล้ว ดังนั้นโรงงานของบริษัทฯ ที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จึงจำเป็นต้องหยุดการผลิตและปิดโรงงานชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะกลับสู่ภาวะ ปกติ แต่บริษัทฯ ยังต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและจะรายงานให้ทราบโดยทันทีหากมี เหตุการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ
***KCE สั่งปิดบริษัทย่อย "เคซีอี เทคโนโลยี" ในนิคมฯไฮเทค
           นางวรลักษณ์ องค์โฆษิต กรรมการบริหาร บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE เปิดเผยว่าตามที่บริษัทฯ ได้แจ้งสถานการณ์น้ำท่วมที่ส่งผลกระทบต่อ บจ.เคซีอี เทคโนโลยี ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ ที่ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จังหวัดพระนครศรีอยุธยาไปแล้วนั้น ขอรายงานให้ท่านทราบถึงสถานการณ์ล่าสุด ขณะนี้คันดินกั้นน้ำของนิคมอุตสาหกรรมดังกล่าวไม่สามารถต้านทานระดับน้ำที่มาจากแม่น้ำเจ้าพระยาได้ต่อไป แม้ว่าทางนิคมอุตสาหกรรมจะเร่งซ่อมแซมคันดินอย่างสุดความสามารถ ประกอบกับมีน้ำท่วมเข้ามาจากทางด้านถนนเอเซียอีกด้วย ซึ่งทำให้น้ำเริ่มเข้าท่วมภายในบริเวณนิคมอุตสาหกรรมด้านหน้าแล้ว และทางนิคมอุตสาหกรรมขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการเคลื่อนย้ายพนักงานทั้งหมดออกจากพื้นที่โดยเร่งด่วน
           สำหรับเคซีอี เทคโนโลยีได้หยุดผลิตเป็นการชั่วคราวและปิดโรงงานแล้วตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2554 ส่วนที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ซึ่งเป็นที่ตั้งของบริษัทฯ สถานการณ์โดยรวมยังคงทรงตัวเช่นเดิม แต่บริษัทฯได้เพิ่มการเฝ้าระวังและเตรียมแผนรับมือสถานการณ์สูงสุด ทั้งนี้บริษัทฯจะได้ติดตามเหตุการณ์ต่างๆ อย่างใกล้ชิด หากมีเหตุการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ บริษัทฯ จะรีบรายงานให้ทราบโดยเร็ว