อังคาร 11 ต.ค.2554--eFinanceThai.com :
เปิดโผหุ้นเด่น-หุ้นดับรับน้ำท่วม

        เปิดโผหุ้นเด่น - หุ้นดับ จากวิกฤตน้ำท่วมประเทศ นิคมอุตสาหกรรมอ่วม โดยเฉพาะ ROJNA หนักสุดหุ้นทรุดกว่า 13% ลามไปถึงอิเล็กทรอนิก - ยานยนต์ โดนผลกระทบต่อเป็นลูกโซ่ ทั้ง SPPT, AH, MCS และ HANA กอดคอกันร่วงยกแถบ ด้านNEP รับผลประโยชน์เต็มๆ เพราะความต้องการกระสอบทรายพุ่ง ส่วน TASCO-NEP สุดเด่น รับงานทำถนน-ยอดกระสอบทรายพุ่ง ขณะที่หุ้นอาหาร - ค้าปลีกมั่นใจความต้องการสินค้าเพียบ
        อุทกภัยบริเวณลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยาของไทยยังวิกฤตหนัก เพราะยังควบคุมสถานการณ์ไม่ได้ โดยเฉพาะบริเวณนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ทั้งในจังหวัด ลพบุรี สิงห์บุรี รวมถึงในพระนครศรีอยุธยา ที่มีโรงงานสำคัญของประเทศตั้งอยู่ โดยมีนิคมอุตสาหกรรม และเขตอุตสาหกรรมรวม 5 แห่งซึ่งปิดดำเนินการไปแล้ว 2แห่งคือ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ และนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนส่วนอีก 3 แห่ง ที่ยังไม่ปิดดำเนินการ คือ นิคมอุตสาหกรรมไฮเทค(บางหว้า),นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และเขตนิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์
        โดยล่าสุดทาง ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธปท. คาดว่าในเบื้องต้น สถานการณ์น้ำท่วมใหญ่ในประเทศไทยไทยขณะนี้จะมีมูลค่าความเสียหายประมาณ 6 หมื่นล้านบาท หรือจะกระทบต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ราว 0.60% ขณะที่ เป็นความเสียหายในส่วนของนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ประมาณ 2.5-3.0 หมื่นล้านบาท นอกจากนี้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) ได้ประเมินความเสียหายเบื้องต้น ไว้ประมาณ 8-9 หมื่นล้านบาท หรือ อาจกระทบต่อจีดีพีประมาณ 0.90%
        ด้านนายแพทย์วรรรณรัตน์ ชาญนุกูล รมว.กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากการประเมินมูลค่าความเสียหายเบื้องต้น จากกรณีน้ำท่วมรุนแรง ในจ.พระนครศรีอยุธยา พบว่าจะมีมูลค่าประมาณ 2.5 หมื่นล้านบาท ในขณะที่นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) คาดว่า ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ แต่เบื้องต้นคาดว่าจะมีมูลค่าความเสียหายเป็นหมื่นล้านบาท
*** โบรกฯ แนะโยกไปลุย โรงกลั่น ปิโตรเคมี
        ด้าน บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า ผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมในภาคกลาง และกำลังเข้ามาสู่กรุงเทพมหานครในอีกไม่กี่วันข้างหน้า น่าจะกดดันต่อเศรษฐกิจของประเทศในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ และน่าจะกดดันความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)
        โดยพื้นที่น้ำท่วมหนักเริ่มตั้งแต่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนคร ซึ่งอยู่ทางตอนเหนือของ จ.อยุธยา ส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการสนับสนุน ชิ้นส่วนยานยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และตามมาคือ สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยา มีพื้นที่ทั้งหมด 1 หมื่นไร่ โรงงานกว่า 200 แห่ง แต่ที่ท่วมเป็น Phase 1 พื้นที่ 3.6 พันไร่ 20 โรงงาน (อีก 2 Phase ยังอยู่ในภาวะวิกฤต) ซึ่งพื้นที่น้ำท่วมส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วนยนต์ (ฮอนด้า) ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และอุปโภคบริโภค เป็นต้น
        ทั้งนี้ทำให้โรงงานเหล่านี้ต้องหยุดผลิตชั่วคราว ซึ่งน่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ของอุตสาหกรรมรถยนต์ และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และในที่สุดกระทบต่อกำลังซื้อของประชาชน รวมถึงการตัดสินใจซื้อหรือลงทุนของผู้บริโภค หรือผู้ลงทุนต้องล่าออกไป จึงคาดว่าอุตสาหกรรมที่พึ่งพาเศรษฐกิจในประเทศจะถูกกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำให้วันนี้นักวิเคราะห์ของ ASP ปรับลดน้ำหนักการลงทุนในกลุ่ม ธ.พ. (เหลือเท่ากับตลาด จากเดิมมากกว่าตลาด) รถยนต์ (มากกว่าตลาด เหลือเท่ากับตลาด) พัฒนาบ้านขาย ธ.พ. (เหลือเท่ากับตลาด จากเดิมมากกว่าตลาด) และ นิคมอุตสาหกรรม (เหลือน้อยกว่าตลาด จากเดิมเท่ากับตลาด) สถานการณ์ปัจจุบันจึงเริ่มให้ลดน้ำหนักหุ้น Domestic Plays โดยหันไปเพิ่มหุ้น Global Plays มากขึ้นโดยเฉพาะหุ้นที่ผลิตโรงกลั่นและปิโตรเคมีครบวงจร ซึ่งประกอบด้วย PTTCH, PTTAR, TOP
*** ROJNA ทรุดกว่า 13%
        ผู้สื่อข่าวรายงานความเคลื่อนไหวราคาหุ้น บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA พบว่าราคาหุ้นปรับตัวลดลงตั้งแต่เปิดการซื้อขายช่วงเช้า ต่ำสุดที่ระดับ 5.95 บาท หลัง ROJNA ระบุว่าไม่สามารถควบคุมสถานการณ์น้ำท่วมไว้ ส่งผลให้น้ำท่วมเข้านิคมฯ และยังมีความเสี่ยงอยู่มาก หากมีการระบายน้ำจำนวนมากจากเขื่อนต่าง ๆ อีกระลอก กอปรกับปริมาณน้ำฝนซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณสูงในอีก 1-2 สัปดาห์ ข้างหน้า และปริมาณน้ำทะเลที่จะหนุนสูงในช่วงกลางเดือนนี้ ในขณะนี้บริษัทฯ ยังไม่สามารถประเมินความเสียหายที่จะเกิดขึ้นทั้งหมดได้ ปัจจุบันกิจการทั้งหมดในนิคมสวนอุตสาหกรรมโรจนะได้หยุดดำเนินการส่งผลกระทบต่อรายได้ด้านบริการและสาธารณูปโภค เมื่อสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายและบริษัทฯ สามารถประเมินความเสียหายได้ชัดเจน ซึ่งจะได้รายงานให้ทราบเป็นระยะๆ ต่อไป
        ราคาหุ้น ROJNA ปิดที่ 6.10 บาทลดลง 0.95 บาทหรือ 13.48% มูลค่าการซื้อขาย 22.14 ล้านบาท
*** SPPT ปิดโรงงานชั่วคราว
        บริษัท ซิงเกิ้ล พอยท์ พาร์ท (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (SPPT) ซึ่งมีโรงงานและสำนักงานตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่กำลังประสบกับปัญหาน้ำท่วมหนักในขณะนี้ สถานการณ์น้ำท่วมในขณะนี้น้ำได้ท่วมบริเวณรอบนอก และขยายเป็นวงกว้างและได้เข้าท่วมภายในบริเวณนิคมและภาคราชการได้ขอความร่วม มือให้หยุดการผลิตและเคลื่อนย้ายพนักงานออกจากพื้นที่เพื่อความปลอดภัยของ พนักงาน กอรปกับคู่ค้าสำคัญของบริษัทที่อยู่ในนิคมเดียวกันได้หยุดทำการผลิตแล้ว บริษัทฯ จึงได้หยุดทำการผลิตเป็นการชั่วคราวและได้สร้างแนวป้องกันน้ำท่วมรอบบริเวณ โรงงานเพื่อลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น
        สถานการณ์น้ำท่วมยังคงรุนแรง ทางนิคมได้สั่งปิดเป็นการชั่วคราว บริษัทฯ จึงได้ถอนกำลังคนออกจากโรงงาน ส่วนความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นยังไม่สามารถจะประเมินได้ในขณะนี้ จนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายในทางที่ดีขึ้นสำหรับโรงงานที่นิคมอุตสาหกรรมอินทรา จังหวัดสิงห์บุรี ซึ่งผลิตชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ ซึ่งมีสัดส่วนรายได้ประมาณ 50% ในปัจจุบันยังคงดำเนินการผลิตอยู่เพื่อเป็นการบรรเทาความเดือดร้อนของพนักงานที่ถูกน้ำท่วมในขณะนี้ บริษัทฯ ได้จัดตั้งศูนย์บรรเทาสาธารณภัยขึ้นเป็นการชั่วคราวสำหรับพนักงานของบริษัทฯ และครอบครัวที่อาคารเช่าโรงงานวิคไทย อำเภอวังน้อย ตามนโยบายธรรมมาภิบาลของบริษัทฯ
        ราคาหุ้น SPPT ปิดที่ 2.30 บาทลดลง 0.14 บาทหรือ -5.74% มูลค่าการซื้อขาย 0.05 ล้านบาท
*** AH, MCS และ HANA กอดคอกันร่วง
        ราคาหุ้น บริษัท อาปิโก ไฮเทค จำกัด (มหาชน) หรือ AH,บริษัท เอ็ม.ซี.เอส.สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MCS และบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA เมื่อวานนี้เปิดตลาดภาคเช้าปรากฎว่าราคาหุ้นดังกล่าวปรับลดลงทันที หลังจากที่เกิดปัญหาน้ำท่วมหนัก ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ซึ่งส่งผลกระทบต่อโรงงานของบริษัทต่างๆ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว
        ราคาหุ้น AH ปิดที่ 9.65 บาท ลดลง 0.35 บาท หรือ -3.5% มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 4.24 ล้านบาท
        MCS ปิดที่ 8.15 บาท ลดลง 0.05 บาท หรือ -0.61% มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 9.04 ล้านบาท
        HANA ปิดที่ 16.50 บาท ลดลง 0.30 บาท หรือ -1.79% มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 12.73 ล้านบาท
*** NEP ชนซิลลิ่ง รับอุปสงค์กระสอบทรายพุ่ง
        บมจ.เอ็นอีพี อสังหาริมทรัพย์และ อุตสาหกรรม (NEP) วานนี้ราคาปรับตัวขึ้นมาอย่างโดดเด่น ก่อนที่จะปิดการซื้อขายที่ระดับสูงสุดของวัน หลังสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่รุนแรงและกำลังขยายวงกว้าง ส่งผลให้ประชาชนแห่ซื้อทรายมาป้องกัน ขณะที่ก่อนหน้านี้ นายเสกสิทธิ์ เจริญเศรษฐศิลป์ กรรมการผู้จัดการ NEP เผยกระแสน้ำท่วมดันยอดขายกระสอบใส่ทรายกั้นน้ำทะยาน หนุนกำไรโต ส่วน Q3/54 การันตีโตต่อเนื่อง และไต่ระดับสูงสุดใน Q4/54 ปีนี้จนถึงต้นปีหน้า หลังเริ่มเปิดกำลังผลิตจากโรงงานแห่งใหม่ผลิตสินค้ามาร์จิ้นสูง
        ด้านนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.คันทรี่ กรุ๊ป กล่าวว่า จากการตรวจสอบสัญญาณเทคนิคราคาหุ้น NEP พบว่ายังมีโอกาสฟื้นตัวได้ต่อแนะนำ เก็งกำไร แนวรับ 0.60 บาท ส่วนแนวต้าน 0.70 บาท
        โดยราคาหุ้น NEP ปิดที่ 0.75 บาท เพิ่มขึ้น 0.17บาทหรือ 29.31% มูลค่าการซื้อขาย 260.11ล้านบาท
*** TASCO ยิ้มรอรับงานหลังน้ำลด
        ด้าน บริษัท ทิปโก้แอสฟัลท์ จำกัด (มหาชน) หรือ TASCO วานนี้เปิดตลาดภาคเช้าปรากฎว่าราคาหุ้นดังกล่าวปรับขึ้นทันที หลังจากที่เกิดน้ำท่วมหนักในหลายพื้นที่ของประเทศไทยและถนนหลายสายถูกน้ำท่วมจนเสียหาย บางส่วนถูกน้ำตัดขาด ซึ่งธุรกิจของบริษัทได้ดำเนินการเกี่ยวกับอุตสาหกรรมยางมะตอย ใช้สำหรับทำถนน
        ด้าน บล.เกียรตินาคิน เปิดเผยว่า ตามสัญญาณทางเทคนิคการเคลื่อนไหวของราคาหุ้น TASCO มีแนวรับอยู่ที่ 45 บาท และแนวต้านอยู่ที่ 47 บาท ในขณะที่กลยุทธ์การลงทุนแนะนำขาย หลังจากที่หุ้นดังกล่าวเข้าเขตซื้อมากเกินไป (Overbought)
        ราคาหุ้น TASCO ปิดที่ 51.75 บาท เพิ่มขึ้น 11.50 บาท หรือ 28.57% มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 546.91 ล้านบาท
***TGCI รอรับคำสั่งซื้อหลังน้ำท่วม
        นายรณกฤต สารินวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล. คันทรี่ กรุ๊ป ประเมินว่า บริษัท ไทย-เยอรมัน เซรามิค อินดัสทรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ TGCI มีปัจจัยพื้นฐานที่โดดเด่น หลัง SCC เข้ามาถือหุ้นกว่า 61% ผ่านทางบริษัท เซรามิค ซีเมนต์ไทย ส่งผลให้ช่องทางการจัดจำหน่าย เงินทุน วัตถุดิบ ล้วนแล้วแต่ส่งผลดีต่อบริษัทเต็มที่ ล่าสุดเดินเครื่องเต็มพิกัด 100% รองรับคำสั่งซื้อหลังน้ำท่วม แถมนโยบายบ้านหลังแรกยิ่งทำให้กลุ่มอสังหาเร่งส่งมอบบ้านให้ภายในปี 55 ส่งผลให้มีการซื้อวัสดุก่อสร้าง เตรียมไว้ ปีหน้าของแพงแน่นอน ดังนั้นคาดว่า TGCI น่าจะได้รับอานิสงส์ ขณะที่สถานะของบริษัทกลับมาดีขึ้น หลังล้างขาดทุนสะสมเกลี้ยง และผลประกอบการ 6 เดือนกำไรอยู่ที่ 247 ล้านบาท คาดว่าจะจ่ายปันผลครั้งแรกในรอบ 10 ปี ขณะที่สัญญากราฟ ช่วงนี้ถือว่าราคาอยู่ระดับฐาน และยังแกว่งตัว แต่กราฟฟอร์มตัว W-Shape ชัดเจนมาก ต้องสะสมไว้ การดีดตัวขึ้นไปจะมีแนว 5.50 บาท ยืนยันสัญญาณซื้อ
        ราคาหุ้น TGCI ปิดที่ 4.74 บาท เพิ่มขึ้น 0.32 บาท หรือ 7.24% มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 90.91 ล้านบาท
***หุ้นอาหาร - ค้าปลีก รอรับความต้องการเพิ่ม
        นายธีรพงศ์ จันศิริ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น โปรดักส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TUF เปิดเผยว่าแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 3/2554 มีโอกาสทำ New high หลังจากที่เกิดสถานการณ์น้ำท่วมหลายพื้นในประเทศ ซึ่งส่งผลให้ความต้องการบริโภคสินค้าต่างๆ ของบริษัทเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
        ส่วนนายบัญญัติ คำนูณวัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) หรือ CPALL เปิดเผยว่าน้ำท่วม ยังไม่ได้ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการโดยรวมบริษัทฯ โดยมั่นใจว่ายอดขายจะเติบโตได้ตามเป้า 15% เมื่อเทียบกับปีก่อน แม้ว่ามีบางสาขาจะต้องทำการปิดไปช่วง 1-2 วันเพราะได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วมแต่ก็สามารถเปิดได้ในช่วงเวลาไม่นานนัก หลังจากได้มีประสบการณ์น้ำท่วมเมื่อ 2-3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะส่งผลในเชิงบวกกับบริษัทฯจากประชาชนที่ต้องออกมาจับจ่ายใช้สอยเป็นจำนวนมาก โดยทางร้านก็ได้มีการสต็อกสินค้าไว้เพื่อให้มีเพียงพอต่อความต้องการของประชาชน ทำให้ยอดขายมีปริมาณที่เพิ่มขึ้นและจะเป็นส่วนชดเชยรายได้ที่สูญเสียไปในช่วงที่ได้รับความเสียหายจากปัญหาน้ำท่วม
        โดยล่าสุดขณะนี้ ร้าน 7-11 ปิดสาขาแล้ว 70 แห่ง หลังได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโดยสาขาส่วนใหญ่ อยู่ในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา แต่ในเบื้องต้นคาดจะมีผลกระทบไม่มากและมั่นใจยอดขายทั้งปี ยังเป็นไปตามเป้า เนื่องจาก 70 แห่ง คิดเป็นเพียง 1% ของสาขาทั้งหมดทั่วประเทศ ที่มีถึง 6,200 สาขา
        ราคาหุ้น TUF ปิดที่ 51.00 บาท เพิ่มขึ้น 1.75 บาท หรือ 3.55% มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 163.07 ล้านบาท
        ราคาหุ้น CPALL ปิดที่ 47.25 บาท ลดลง 0.25 บาท หรือ 0.53% มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 180.31 ล้านบาท

***LPN ชี้เตรียมรับมือราคาวัสดุก่อสร้างพุ่ง
        นายโอภาส ศรีพยัคฆ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ (LPN) กล่าวว่า จากสถานการณ์น้ำท่วม ส่งผลให้คาดว่าราคาวัสดุก่อสร้างจะปรับตัวสูงขึ้นหลังน้ำลด เนื่องจากการขาดแคลนสินค้าทั้งอิฐ หิน ปูน ทราย แต่คาดว่าเหตุการณ์ดังกล่าวจะเป็นเพียงระยะสั้น หลังจากนั้นสถานการณ์จะกลับสู่ปกติ และยอมรับว่าการก่อสร้างโครงการของบริษัทบางโครงการ อาจมีการชะลอไปบ้างตามวัสดุก่อสร้าง รวมถึงเพื่อรอดูสถานการณ์น้ำท่วม นอกจากนี้ในไตรมาส 4 ภาคอสังหาริมทรัพย์จะกลับมาคึกคักในเดือน พ.ย. เนื่องจากคาดว่าปัญหาน้ำท่วมจะเริ่มลดลง และมีความชัดเจนของมาตรการบ้านหลังแรก
        ราคาหุ้น LPN ปิดที่ 10.30 บาท เพิ่มขึ้น 0.20 บาท หรือ 1.98% มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 20.93 ล้านบาท
*** รวมหุ้นรอด - แต่ยังเสี่ยง
        นายสมพงษ์ เมธาสถิตย์สุข กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท เอ็ม.ซี.เอส.สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ MCS เปิดเผยว่าเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทฯ ขอยืนยันว่า ณ ปัจจุบันสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ยังไม่มีผลกระทบใดๆต่อบริษัทฯ ทางบริษัทฯยังสามารถผลิตงานได้ตามปกติ
        ส่วนบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA ระบุว่าบริษัท ฮานา เซมิคอนดักเตอร์ (อยุธยา) จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัทฯ และมีโรงงานตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรม ไฮเทค จ.อยุธยา ได้ปิดทำการผลิตชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 7 ต.ค. 2554 ไปจนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลาย แต่อย่างไรก็ตามโรงงานดังกล่าวยังไม่ได้รับความเสียหาย เพียงแต่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการถูกน้ำท่วมมากที่สุด ทำให้มีปัญหาเรื่องการขนส่งสินค้า รวมถึงการเดินทางมาปฏิบัติงานของพนักงาน จึงเป็นสาเหตุให้โรงงานจำเป็นต้องหยุดดำเนินการผลิตชั่วคราว โดยรายได้ที่มาจากโรงงานในนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จ.อยุธยา คิดเป็นสัดส่วนถึง 37% ของรายได้รวมของ HANA โดย บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า หากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จ.อยุธยายังคงยืดเยื้อ อาจมีผลกระทบเชิงลบอย่างมีนัยสำคัญต่อผลการดำเนินงานของ HANA ในงวดไตรมาส 4/2554 โดยรวมแล้ว แนะนำให้ชะลอการลงทุน
        นายสว่าง ประจักษ์ธรรม กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไทยออพติคอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน)(TOG) เปิดเผยถึงผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วมว่า บริษัทมีโรงงาน 2 แห่ง ตั้งอยู่บนถนนบางบัวทอง-สุพรรณบุรีตำบลละหาร อำเภอบางบัวทอง จังหวัดนนทบุรี บนเนื้อที่ประมาณ 20 ไร่ ปลอดภัยจากสถานการณ์น้ำท่วม ดังนั้น โรงงานจึงยังคงเดินเครื่องผลิตได้ตามปกติ ซึ่งบริษัทฯ ก็เตรียมพร้อมรับมือหากน้ำท่วมมาถึง
        ด้านนายถกล ถวิลเติมทรัพย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS เปิดเผยว่าปัญหาน้ำท่วมอย่างหนักในประเทศ เบื้องต้นไม่ได้กระทบการดำเนินงานบริษัทฯ เนื่องจากไร่อ้อยที่บริษัทฯได้ส่งเสริมอยู่ทั้งหมด 2 แสนไร่อยู่ในพื้นที่บริเวณที่ราบสูงอำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา อย่างไรก็ดี จากปริมาณน้ำที่มากขึ้นก็ยังส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตของอ้อยในพื้นที่ไร่ด้วยทั้งนี้ แนวโน้มรายได้ในปีนี้มั่นใจว่าจะเติบโต 25-30% ซึ่งสูงกว่าปีก่อนมาก จากราคาน้ำตาลที่สูงขึ้นเฉลี่ย 26-27 เซนต์/ปอนด์ และมีกำลังการผลิตที่ 2.3-2.4 หมื่นตันอ้อยต่อวันสูงกว่าปีก่อนที่ทำได้ 2.2 หมื่นตันอ้อยต่อวัน
        ราคาหุ้น MCS ปิดที่ 8.15 บาท ลดลง 0.05 บาท หรือ -0.61% มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 9.04 ล้านบาท
        ราคาหุ้น TOG ปิดที่ 2.72 บาท ลดลง 0.04 บาท หรือ -1.45% มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 27.03 ล้านบาท
        ราคาหุ้น KBS ปิดที่ 8.65บาท ลดลง 0.10 บาท หรือ -1.14% มีมูลค่าการซื้อขายรวมทั้งสิ้น 16.46 ล้านบาท