พุธ 12 ต.ค.2554--eFinanceThai.com :
ประกันภัยสะเทือน

         โบรกฯ ประเมินธุรกิจประกันภัยสะเทือน หลังต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนกรณีน้ำท่วมสูงสุดในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ระบุ จะทบทวนประมาณการและคำแนะนำลงทุนใหม่ จากปัจจุบันแนะนำซื้อ THRE และ BKI ด้าน ม.หอการค้าไทย คาดกระทบจีดีพีปีนี้ 0.52% แต่หากน้ำท่วมทั้ง 4 นิคมฯ ในอยุธยา จะกระทบ 0.88%
          นอกจากสถานการณ์น้ำท่วมในประเทศไทย ที่ขยายวงกว้างอย่างต่อเนื่อง และส่งผลกระทบต่อจีดีพีไทยปีนี้แล้ว ยังได้ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทประกันภัยหลายราย เนื่องจากต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทน จากก่อนหน้านี้แทบไม่มีเหตุการณ์น้ำท่วมเกิดขึ้นในประเทศไทยแต่อย่างใด
* โบรกฯ คาดบริษัทประกันภัยจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุดในรอบ 50 ปี
          ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เอเซีย พลัส ประเมินว่า จากกรณีที่ สมาคมประกันวินาศภัย ได้มีการเรียกประชุมบริษัทสมาชิกทุกแห่งเมื่อวันที่ 10 ต.ค.2554 ที่ผ่านมา โดยได้ปรับเพิ่มน้ำหนัก ภัยธรรมชาติ ขึ้นมาเป็นปัจจัยสำคัญในการพิจารณารับประกันภัยทรัพย์สินจากนี้เป็นต้นไป จากเดิมที่ไม่ได้ให้น้ำหนักกับเรื่องนี้ เพราะถือว่าประเทศไทยไม่ได้อยู่ในเขตภัยธรรมชาติเหมือนประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ
          ขณะที่บริษัทประกันภัยต่อต่างประเทศ จะมีการปรับมุมมองเกี่ยวกับภัยธรรมชาติในประเทศไทยใหม่ในการรับประกันภัยครั้งต่อไป ทั้งเรื่องการปรับเพิ่มเบี้ยประกันภัยน้ำท่วมและการปรับเงื่อนไขในการรับประกันภัยต่อจากประเทศไทย ที่มีแนวโน้มว่าจะลดวงเงินความคุ้มครองต่อรายต่อเหตุการณ์ลงวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นและครอบคลุมกว่า 45 จังหวัดทั่วประเทศ (เทียบกับปี 2553 ที่สถานการณ์น้ำท่วมหนักเกิดขึ้นครอบคลุมกว่า 20 จังหวัดทั่วประเทศ) และสร้างความเสียหายต่อธุรกิจ สถานที่ประกอบการ เครื่องจักรอุปกรณ์ และสินค้าคงคลังของผู้ประกอบการที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจต่างๆ
          โดยมีการประเมินว่าบริษัทประกันภัยวินาศภัยจะต้องรับภาระการจ่ายค่าสินไหมทดแทนสูงสุดในรอบ 50 ปีที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อแนวโน้มผลการดำเนินงานของบริษัทประกันวินาศภัยในช่วงไตรมาส 4/2554 ที่ฝ่ายวิจัยศึกษาทั้งบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) หรือ BKI โดยให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 310 บาทต่อหุ้น
          ส่วนบริษัท ไทยรับประกันภัยต่อ จำกัด (มหาชน) หรือ THRE แนะนำซื้อ ให้ราคาเป้าหมายไว้ที่ 7.19 บาทต่อหุ้น อย่างค่อนข้างมีนัยสำคัญ จากการตั้งสำรองความเสียหายในส่วนของค่าสินไหมทดแทนบางส่วน (มูลค่าความเสียหายรวมที่เกิดขึ้นยังไม่ได้มีการเปิดเผยในขณะนี้) ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างการสอบถามผลกระทบไปยังบริษัทต่างๆ และจะทำการทบทวนประมาณการและคำแนะนำลงทุนและจะนำเสนอต่อไปในภายหลัง
* TICON ระบุทำประกันภัย ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะ จ.อยุธยา แล้ว
          นางสาวลลิตพันธุ์ พิริยะพันธุ์ เลขานุการ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้ชี้แจงเมื่อวันนี้ 10 ต.ค.54 ว่าโรงงานของบริษัทจำนวน 15 โรงงาน ซึ่งตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะเฟส 1 ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วม นั้น
          บริษัทฯ ขอชี้แจงว่า โรงงานของบริษัทอีกจำนวน 17 โรงงาน พื้นที่รวม 38,425 ตารางเมตร และคลังสินค้าจำนวน 3 หลัง พื้นที่รวม 18,324 ตารางเมตร ซึ่งตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะเฟส 2 ได้รับความความเสียหายจากเหตุการณ์น้ำท่วมในครั้งนี้ด้วย
          ทั้งนี้ ค่าเช่าของโรงงานและคลังสินค้าทั้ง 20 หลัง มีจำนวนรวมประมาณ 9.51 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งทำให้ค่าเช่าของโรงงานและคลังสินค้าทั้งหมดของบริษัทที่ได้รับความเสียหายในสวนอุตสาหกรรมโรจนะคิดเป็นจำนวนรวมประมาณ 19.11 ล้านบาทต่อเดือน (คิดเป็นประมาณร้อยละ 24 ของค่าเช่ารวมต่อเดือนของบริษัท) โดยบริษัทฯ ได้มีการทำประกันภัยความเสียหายของทรัพย์สินดังกล่าวไว้แล้วทั้งหมด
* TFUND ยอมรับ น้ำท่วมอยุธยา อาจกระทบกับรายได้ แต่ได้ทำประกันคุ้มครองความเสียหายแล้ว
          รายงานข่าวจากบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด ในฐานะบริษัทจัดการของกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ไทคอน (TFUND) ขอเรียนว่า ตามที่เกิดสภาวะน้ำท่วมขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศโดยเฉพาะจังหวัดพระนครศรี อยุธยาซึ่งได้ทวีความรุนแรงขึ้นตามลำดับนั้นเป็นเหตุให้โรงงานที่เป็น ทรัพย์สินของกองทุนซึ่งตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมโรจนะได้รับความเสียหาย จำนวน 46 โรงงาน (พื้นที่โดยประมาณ 111,007 ตร.ม.) จากจำนวนโรงงานและคลังสินค้าทั้งหมดของกองทุน 209 โรงงาน (พื้นที่โดยประมาณ 483,360 ตร.ม.)
          โดยทรัพย์สินส่วนนี้สร้างรายได้ให้กับกองทุนเดือนละประมาณ 19.6ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 23.7 ของรายได้รวมทั้งหมด บริษัทจึงคาดว่าจะเกิดผลกระทบกับรายได้ของกองทุนบ้าง แต่เนื่องจากในขณะนี้สถานการณ์น้ำท่วมยังไม่คลี่คลาย บริษัทฯ จึงยังไม่สามารถประเมินความเสียหายในทรัพย์สินและผลกระทบที่เกิดขึ้นกับรายได้ของกองทุนทั้งหมดเมื่อสถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายลงและสามารถประเมินความเสียหายได้ชัดเจน บริษัทฯ จะได้รายงานให้ผู้ถือหน่วยลงทุนได้รับทราบต่อไป
* รมช.คลัง ห่วงผู้ประสบภัยผ่านประกันภัย สั่ง คปภ.การติดตามการช่วยเหลือใกล้ชิด
          นายวิรุฬ เตชะไพบูลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า มีความห่วงใยประชาชนที่ประสบภัยจากน้ำท่วม จึงได้มอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ติดตามอย่างใกล้ชิด เรื่องการชดใช้ความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนจากอุทกภัย และการเตรียมการเยียวยาผู้ประสบภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเร่งรัดให้บริษัทประกันภัยมีการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างรวดเร็ว เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
          สรุปความเสียหายจากสถานการณ์น้ำท่วม ณ วันที่ 4 ตุลาคม 2554 พบว่า ยอดผู้เสียชีวิตจำนวน 237 ราย ได้มีการทำประกันภัยชีวิตจำนวน 19 ราย ในมูลค่า 3.77 ล้านบาท ส่วนความเสียหายรถยนต์จำนวน 639 คัน ร้อยละ 90 ของรถยนต์ที่เสียหาย บริษัทประกันภัยได้นำเข้าซ่อมแซมที่อู่แล้ว สำหรับความเสียหายต่อทรัพย์สิน พบว่า มีจำนวน 1,600 ราย คิดเป็นมูลค่าความเสียหายประมาณ 268.05 ล้านบาท และประเภทความเสียหายทุกชนิด 69.89 ล้านบาท ทั้งนี้ บริษัทประกันภัยได้เข้าไปสำรวจภัยและเจรจาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ประชาชนผู้เอาประกันภัยแล้ว
          "ขอเตือนผู้เอาประกันภัยที่ประสบภัยได้โปรดแจ้งความเสียหายต่อบริษัทที่ได้ทำประกันภัยไว้ หรือติดต่อสำนักงาน คปภ. ในจังหวัดของท่าน หรือโทรสายด่วนประกันภัย 1186' นายวิรุฬ กล่าว
* ม.หอการค้าไทย คาดกระทบจีดีพีปีนี้ 0.52% แต่หากน้ำท่วมทั้ง 4 นิคมฯ กระทบ 0.88%
          ผศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า สถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดอยุธยา โดยเฉพาะในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตน์นครและนิคมฯโรจนะ คาดว่าจะกระทบจีดีพีในปีนี้ที่ 0.52% ขณะที่หากรวมผลกระทบกรณีน้ำท่วมเข้านิคมอุตสาหกรรมบางปะอินและนิคมอุตสาหกรรมไฮเทค จะทำให้ผลกระทบเพิ่มขึ้นเป็น 0.88% อย่างไรก็ตาม ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ และปัญหาด้านการเงินในยุโรปมีน้ำหนักต่อผลกระทบสูงกว่าปัญหาน้ำท่วมในประเทศ
          ด้านภาพรวมการส่งออกปี 2554 คาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกที่ 240,794-243,712 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีการขยายตัวที่ 23.3-24.8% ซึ่งชะลอตัวลงจากที่ขยายตัว 28.1% ในปี 2553
          ทั้งนี้จากสถานการณ์น้ำท่วมในนิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนครและนิคมโรจนะ จะกระทบภาคการส่งออกทั้งปีที่ประมาณ 0.4% โดยยังไม่รวมความเสียหายต่อสินทรัพย์ถาวร เครื่องจักร และทรัพย์สินอื่นๆ รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน
          โดยการส่งออกไทยในไตรมาส 4/54 คาดว่าจะยังขยายตัวได้ดี แต่มีทิศทางที่ชะลอลง โดยคาดว่าจะมีมูลค่าการส่งออกที่ 60,548-63,467 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมีอัตราการขยายตัวในช่วง 17-21.6% หรือคิดเป็นค่าเฉลี่ยที่ 19.2% ทั้งนี้หากพิจารณาความเสียหายจากผลกระทบอุทกภัยในพื้นที่นิคมสหรัตน์นครและนิคมโรจนะในจังหวัดอยุธยา คาดว่าจะกระทบการส่งออก 1.4% คิดเป็นมูลค่า 25,784 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้การส่งออกในไตรมาส 4/54 อาจจะชะลอลงมาที่ 17.8% อย่างไรก็ตามประเมินความเสียหายดังกล่าวยังไม่รวมความเสียหายจากสินทรัพย์ถาวร เครื่องจักร และทรัพย์สินอื่นๆ รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน
          สำหรับการประเมินความเสียหายเบื้องต้นของมูลค่าการผลิตภาคอุตสาหกรรมของจังหวัดอยุธยาในส่วนพื้นที่นิคมฯสหรัตนนครและนิคมฯโรจนะ คาดว่ามีมูลค่ารวม 51,568 ล้านบาท และหากพื้นที่น้ำท่วมลุกลามไปยังนิคมฯบางปะอินและนิคฯไฮเทคซึ่งขณะนี้ยังไม่ท่วม จะทำให้มูลค่าความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็น 79,812 ล้านบาท ซึ่งยังไม่รวมความเสียหายจากสินทรัพย์ถาวร เครื่องจักร และทรัพย์สินอื่นๆ รวมถึงความเชื่อมั่นของนักลงทุน
          ขณะที่ภาพรวมผลกระทบจากสถานการณ์น้ำท่วมทั้งประเทศนั้น ยังไม่มีข้อสรุปและการประเมินความเสียหายโดยรวม แต่คาดว่าอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกในไตรมาส 1/55 ให้ชะลอลงได้ รวมถึงผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจในยุโรป ซึ่งทั้ง 2 ปัจจัยอาจกระทบต่อคำสั่งซื้อและด้านการผลิต
          นอกจากนี้ ดัชนีชี้นำการส่งออกเดือนส.ค. 2554 อยู่ที่ระดับ 100.5 ซึ่งปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ 116 ทั้งนี้เป็นการส่งสัญญาณชะลอตัวจากปัจจัยต่างประเทศเป็นปัจจัยหลัก
          ขณะที่ปัจจัยในประเทศส่งสัญญาณดี โดยดัชนีชี้นำวัฏจักรธุรกิจระยะสั้นและอัตราการใช้กำลังการผลิตส่งสัญญาณการขยายตัวและดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมฟื้นตัวต่อเนื่อง อย่างไรก็ตามในส่วนของดัชนีตลาดหลักทรัพย์หดตัวลดลงจนส่งสัญญาณชะลอตัวในเดือน ส.ค.
          ผศ.ดร.อัทธ์ กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในหลายพื้นที่ทำให้ส่วนตัวมีแนวคิดที่จะเสนอรัฐบาลในการจัดทำนโยบาย 1 ตำบล 1 แก้มลิง และบูรณาการการจัดการน้ำระหว่างจังหวัดอย่างมีประสิทธิภาพ
          นอกจากนี้ เสนอให้รัฐจัดเก็บภาษีน้ำท่วมเฉพาะประชาชนในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยมองว่าจังหวัดอื่นๆ มีภาระในการรับน้ำโดยตรง ซึ่งทำให้น้ำไม่ท่วมทะลักมายังพื้นที่กรุงเทพฯ ซึ่งการจัดตั้งการจัดเก็บภาษีดังกล่าวอาจมีลักษณะคล้ายการจัดเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน โดยเงินจากการจัดเก็บภาษีส่วนหนึ่งจะนำไว้เป็นกองทุนในการฟื้นฟูภายหลังน้ำลด