จันทร์ 10 ต.ค.2554--eFinanceThai.com :
สุขภาพบจ.แกร่งสวนวิกฤตศก.

       วงการ ตรวจสุขภาพบจ. หลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจโลกรุมเร้า ยังคงยืนยันประมาณการกำไร ปีนี้ที่ 7.18 แสนลบ. ขณะที่ครึ่งปีแรก ทำกำไรได้ 3.82 แสนลบ. ส่วนตัวเลข Market EPS ปี54 อยู่ที่ 87.4 และปี 55 ที่ 95.0 ขณะที่ราคาหุ้นปัจจุบันที่ PER10 เท่า แนะลงทุนโดยเน้นหุ้นที่คาดว่าจะดีดตัวแรงหากตลาดฟื้นอย่าง IVL, PTTAR, SCC, PS และหุ้นที่ฟื้นตัวใกล้เคียงตลาด เช่น TCAP, BLA, SPALI และ SIRI
       ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส (ASP) ออกบทวิเคราะห์ ตรวจสุขภาพบริษัทจดทะเบียนปี 2554 โดยระบุว่า ยังไม่มีเหตุผลต้องปรับ EPS Growth ของตลาด แม้ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และอีกหลายหน่วยงานออกมาปรับลดประมาณการอัตราการเติบโตของGDP งวดปี 2254 ลง
       ทั้งนี้ภาพรวมผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในงวด ครึ่งแรกของปี54 มีฐานกำไรสุทธิรวม 3.82 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 53.12% ของประมาณการกำไรรวมทั้งปี 2554 และคิดเป็นอัตราการเติบโตสูงถึง 33.97% YoY และจากการที่เริ่มทยอยสำรวจแนวโน้มผลประกอบการในช่วงเวลาที่เหลือของปี 2554 และสมมุติฐานที่ใช้ในการจัดทำประมาณการ ยังมีความเชื่อว่าประมาณการฐานกำไรของบริษัทจดทะเบียนงวดปี 2554 ซึ่ง ฝ่ายวิจัย ASP ประมาณไว้ที่ 7.18 แสนล้านบาท ยังมีความเป็นไปได้
       โดยภาพรวมฝ่ายวิจัยยังมีความเชื่อมั่นในประมาณการกำไรของตลาดหุ้นไทย ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยประเมินกำไรต่อหุ้นของตลาดหุ้นไทย (Market EPS) ที่ระดับ 87.4 บาทในงวดปี 2554 และ 95.0 บาทในงวดปี 2555 และจากการศึกษาถึงระดับ PER ที่จะนำมาใช้ในการประเมินมูลค่าเป้าหมายของ SET Index โดยใช้ PER Bands พบว่า นับจากช่วงที่ตลาดหุ้นไทยกลับมามีผลกำไรหลังผ่านวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 2540 เป็นต้นมา ตลาดหุ้นไทยได้เผชิญกับปัจจัยลบมาหลายประการ ไม่ว่าจะเป็น DotCom Crisis, Hamburger Crisis, การปฎิวัติในประเทศ, เหตุรุนแรงทางการเมือง และ การทำ CapitalControl ของ ธนาคารแห่งประเทศไทย แต่พบว่าในทุกเหตุการณ์ที่ผ่านมา SET Index ไม่ได้แสดงให้เห็นว่ามีการปรับตัวลดลงมาต่ำกว่าค่า PER 10 เท่า แต่ในทางตรงข้าม เมื่อมีการปรับลดลงมาที่ PER 10 เท่ากลับมีการดีดตัวกลับขึ้นมาได้อย่างมีเสถียรภาพ
***มองเลวร้ายสุดกำไรหดบจ.11.8%
       ทั้งนี้ ทางบล.เอเซียพลัส ได้ประเมินทิศทางเศรษฐกิจโลกแบบเลวร้าย ว่าหากเกิดวิกฤตโลกในปี 2555 จนทำให้ระบบสถาบันการเงินล้มละลาย และ กระทบการค้าโลกหดตัวรุนแรง จนทำให้ GDP Growth โลกติดลบหลายไตรมาสสิ่งที่จะเกิดขึ้นก็คือ ราคาน้ำมันดิบโลกตกต่ำอย่างรวดเร็ว รวมถึงความต้องการใช้ปิโตรเคมีลดลง ซึ่งจะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ประมาณการกำไรตลาดในปีหน้าไม่เป็นไปตามคาด คล้ายที่เกิดขึ้นในปี 2551 ดังนั้นเพื่อสะท้อนความเสี่ยงดังกล่าว จึงได้ทำการศึกษาผลกระทบต่อการปรับลดลง ราคาน้ำมันดิบระยะยาวลดลงจากกรณีฐานทุก ๆ 10 เหรียญฯต่อบาร์เรล จาก 90 เหรียญฯ เหลือ 60 เหรียญฯ และการปรับลดลง spread ปิโตรเคมี (olefin/aromatic) ลดลงจากกรณีฐาน ทุก ๆ 100 เหรียญฯ ต่อตัน จาก 560/450 เหรียญฯต่อตัน เหลือ 260/150 เหรียญฯ ต่อตัน ได้ 3 กรณี ได้ข้อสรุปดังนี้คือ
       กรณีที่ 1 (ดี) ราคาน้ำมันลดลงเหลือ 80 เหรียญฯ และ spread 460/350 กำไรตลาดจะลดลงจากประมาณการเดิม 4.6%
       กรณีที่ 2 (ปานกลาง) ลดลงเหลือ 70 เหรียญฯ และ 450/250 เหรียญฯ เรียงตามลำดับ กำไรตลาดจะลดลงจากประมาณการเดิม 8.1%
       กรณี 3 (เลวร้าย) ลดลงเหลือ 60 เหรียญฯ และ 250/150 เหรียญฯ เรียงตามลำดับ กำไรตลาดหดลง 11.8%
       ดังนั้นหากกำหนดเงื่อนไขในกรณีเลวร้าย คาดว่ากำไรตลาดปี 2555 ลดลงเหลือ 6.81 แสนล้านบาท คิดเป็น EPS ตลาดราว 83.85 บาท ดังนั้นหากกำหนดดัชนีเป้าหมายที่ Expected PER ปี 2555 ที่ 10 เท่า จะอยู่ที่ 838.5 จุด ซึ่งน่าจะเป็นระดับแนวรับที่มีนัยสำคัญ นั้นหมายความว่าดัชนีตลาดปัจจุบันสะท้อนความคาดหวังว่ากำไรตลาดในปีหน้าจะหดตัวที่ 11% หรือ สะท้อนราคาน้ำมันดิบโลกที่ 60 เหรียญฯ ต่อบาร์เรลแล้วดังนั้นแม้ว่าความเสี่ยงขาลงจะยังมีอยู่ แต่เชื่อว่าได้สะท้อนในราคาหุ้นแล้ว เชื่อว่า ณ จุดนี้เป็นโอกาสให้นักลงทุนระยะกลางและระยะยาว
*** แนะเล่นหุ้นกลุ่มฟื้นตัวแรง-ฟื้นตัวใกล้เคียงตลาด
       ตั้งแต่ช่วงวันที่ 1 ส.ค. – 4 ต.ค.2554 SET Index ปรับตัวลดลงมา 26% ซึ่งหากพิจารณาเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนแปลงของราคาหุ้นรายตัว ที่ฝ่ายวิจัยเห็นว่ามีปัจจัยพื้นฐานดี และมี Upside จาก Fair Valueค่อนข้างมาก ก็สามารถที่จะคัดกรองหุ้นออกมาได้เป็น 3 กลุ่มหลักได้แก่ กลุ่มที่คาดว่าจะฟื้นตัวเร็วกว่าตลาด ,กลุ่มที่คาดว่าจะฟื้นตัวใกล้เคียงตลาด และกลุ่มที่มีความปลอดภัยสูงสำหรับการลงทุนในภาวะวิกฤต ทั้งนี้ พอสรุปหุ้นที่มีความโดดเด่นของแต่ละกลุ่มได้ดังนี้
       • กลุ่มที่คาดว่าจะฟื้นตัวเร็วกว่าตลาด: ได้แก่กลุ่มที่มีการปรับตัวลงมาแรงกว่าตลาดมากในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นหุ้นในกลุ่มที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าโภคภัณฑ์ และอสังหาริมทรัพย์ซึ่งหุ้นเด่นในกลุ่มประกอบดัวย IVL, PTTAR, SCC, PTT และ PS
       • กลุ่มที่คาดว่าจะฟื้นตัวใกล้เคียงตลาด : ได้แก่กลุ่มที่ราคาหุ้นมีการปรับตัวลดลง 18 – 38% ซึ่งที่โดดเด่นในเชิงปัจจัยพื้นฐานด้วยได้แก่ TCAP, BLA, SPALI และ SIRI
       • กลุ่มที่ปลอดภัยในระยะกลาง – ยาว : เลือกตัวที่ให้ Dividend Yield สูงเช่น INTUCH, DTAC,ADVANC และ TTW นอกจากนี้ยังมี Growth Stock อย่างเช่น CPALL
       นอกจากนี้ทาง บล.ยังได้พูดถึงภาพรวมของหุ้นรายกลุ่มที่สำคัญของไทย ถึงภาพรวมในครึ่งปีแรกที่ผ่านมา และแนวโน้มในครึ่งปีหลัง และปี 2555 ที่จะต้องเผชิญ โดยมีหุ้นกลุ่มสำคัญ อย่าง กลุ่มพลังงาน ธนาคารพาณิชย์ ปิโตรเคมี สื่อสาร วัสดุก่อสร้าง และอสังหาริมทรัพย์ดังนี้
*** พลังงานยังแจ่ม หลังราคาน้ำมันสูงกว่าประมาณการ
       มาดูกันที่กลุ่มพลังงานที่มีสัดส่วนกำไรมากที่สุดถึง 30% ทาง บล.เอเซียพลัสชี้ว่า งวด 1H54 ทำกำไรสุทธิได้ 1.47 แสนล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนที่มากถึง 61% ของประมาณการกำไรทั้งปี 2554 ทั้งนี้หากประเมินจากสมมติฐานหลักที่ใช้ในการจัดทำประมาณการแล้ว ฝ่ายวิจัย ASP เชื่อว่ายังมีความสอดคล้องเมื่อเทียบกับสถานการณ์จริง กล่าวคือ ในด้านราคาน้ำมันกำหนดสมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบ 100 เหรียญฯ/บาร์เรลในปี 2554 และ 90 เหรียญฯ/บาร์เรล ในปี 2555 ทั้งนี้ค่าเฉลี่ยจากต้นปี 2554 จนถึงปัจจุบับพบว่าอยู่ที่ 105.71 เหรียญฯ/บาร์เรล ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าสมมติฐานในประมาณการยังมีความเป็นได้ ซึ่งสถานการณ์ของอุตสาหกรรมถ่านหินก็ยังสอดคล้องไปในทิศทางเดียวกันกล่าวคือราคาเฉลี่ยจากต้นปีถึงปัจจุบันยังสูงกว่าสมมุติฐาน
       ในส่วนของธุรกิจการกลั่น พบว่าค่าเฉลี่ยค่าการกลั่นจากต้นปี 2554 ถึงปัจจุบันอยู่ที่ 8.45 เหรียญฯ/บาร์เรล ซึ่งโดยปกติ Product Mixed ของโรงกลั่นในประเทศไทย จะให้ค่าการกลั่นต่ำกว่าค่าเฉลี่ยดังกล่าวประมาณ 2 เหรียญฯ ซึ่งเมื่อเทียบกับสมมุติฐานที่ 5 เหรียญฯ/บาร์เรล ที่ใช้ในการจัดทำประมาณการแล้ว ก็ยังเห็นว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ Conservative อย่างไรก็ตามหากมองในแง่ของความเสี่ยงของประมาณการแล้ว อาจมีอยู่ที่ประเด็นเรื่องของ โอกาสที่จะเกิด Stock Loss หากราคาน้ำมันปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงมากเหมือนปี 2551 ซึ่งจากการประเมินสถานการณ์เชื่อว่ามีโอกาสไม่มากนัก
*** กลุ่มแบงก์ แม้ Loan Growth จะลด แต่ได้แผนลดภาษีเงินได้นิติบุคคลหนุน
       โดยกลุ่มธนาคารพาณิชย์เป็นกลุ่มที่มีฐานกำไรใหญ่เป็นอันดับ 2 ของตลาดฯ โดยในงวด 1H54 ทำกำไรสุทธิได้ที่ระดับ 7.38 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 53% ของประมาณการกำไรทั้งปี 2554 ซึ่งเมื่อตรวจสอบสมมุติฐานหลักในการจัดทำประมาณการพบว่า โดยภาพรวมยังมีความสอดคล้องแต่หลังประกาศผลประกอบการ 3Q54 อาจมีการปรับลดประมาณการบ้างในธนาคารพาณิชย์บางแห่ง แต่ก็ไม่น่าจะส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อฐานกำไรรวมของกลุ่ม และตลาดรวม
       ทั้งนี้ในส่วนของสมมุติฐานเรื่องการเติบโตของสินเชื่อกำหนดทั้งปี 2554 ที่ 14.9% ขณะที่ งวด 8M54เติบโตขึ้นมาแล้ว 8% ซึ่งในช่วงเวลาที่เหลือสินเชื่อผู้ประกอบการรายใหญ่ และภาครัฐที่เข้ามาน่าจะช่วยเติมเต็มเป้าหมาย อย่างไรก็ตามมี ธนาคารพาณิชย์บางแห่ง เช่น KTB และ KBANK มีโอกาสถูกปรับลดเป้าหมายการเติบโตสินเชื่อลงจาก 15% มาอยู่ที่ 10% ทั้งนี้ประเมินว่า Loan Growth ที่ปรับลดลง 1% จะส่งผลกระทบต่อกำไรให้ลดลง 0.5-.07% ทำให้ผลกระทบอยู่ในกรอบที่จำกัด ส่วนเรื่อง NIM งวด 1H54 ทำได้ 3.04% ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานในประมาณการ จึงไม่น่าจะต้องมีการปรับเปลี่ยนในส่วนนี้
       สำหรับงวดปี 2555 คาดว่าจะไม่มีการปรับเปลี่ยนประมาณการอย่างมีนัยสำคัญ เพราะถึงแม้ Loan Growth จะลดลงเล็กน้อย แต่เมื่อชดเชยกับผลประโยชน์สุทธิที่ได้รับจากการปรับลดอัตราภาษีเงินได้ นิติบุคคลลงตามนโยบายรัฐบาลจะทำให้ผลประโยชน์เป็นไปตามคาด
*** ปิโตรเคมี ครึ่งปีหลังเป็นขาขึ้น
       ด้านกลุ่มปิโตรเคมี งวด 1H54 ทำกำไรได้อย่างน่าพอใจ โดยที่มีกำไรสุทธิ 2.97 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 54% ของประมาณการทั้งปี 2554 ทั้งนี้หากประเมินจาก Spread ของสินค้าในสาย Olefins พบว่าในช่วงต้นปี 2554 จนถึงปัจจุบันอยู่ที่ระดับประมาณ 480 เหรียญฯ/ตัน ซึ่งใกล้เคียงกับสมมุติฐานในการจัดทำประมาณการกำไรซึ่งกำหนดที่ 490 เหรียญฯ/ตัน
       สำหรับในช่วงเวลาที่เหลือของปี ผลประกอบการของกลุ่มปิโตรเคมีจะได้รับแรงสนับสนุนจาก 2 ส่วนคือ ปริมาณการขายที่เพิ่มขึ้นหลังกำลังการผลิตส่วนเพิ่มสามารถสร้างรายได้เต็มที่ และการที่ Spread จะสูงขึ้น การที่เริ่มเข้าสู่ช่วงวัฎจักรขาขึ้นของปิโตรเคมี ทั้งนี้ในปี 2555 ฝ่ายวิจัยกำหนดสมมติฐาน Spread ของสินค้ากลุ่ม Olefins ที่ระดับ 550 เหรียญฯ/ตัน แต่อย่างไรก็ตามหากวิกฤตหนี้สินยุโรป และสหรัฐฯบานปลายและกระทบต่อความต้องการสินค้าปิโตรฯ เคมีก็อาจมีการปรับลดสมมติฐานเรื่อง Spread ของ Olefins ลงแต่ก็คงจะไม่ลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ยสมมติฐานในปี 2554
*** ICT ยังต้องรอลุ้น 3G ช่วง 2H56
       กลุ่ม ICT เนื่องจากการประมูล 3G ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของอุตสาหกรรม ยังจะไม่เกิดขึ้นโดยจะเริ่มกระบวนการในช่วงกลางปี 2555 และ เริ่มส่งผลกระทบต่อผลประกอบการตั้งแต่ 2H56เป็นต้นไป ทำให้ในช่วงปี 2554 และ 2555 ไม่น่าจะเห็นการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญต่อผลประกอบการของกลุ่มอุตสาหกรรม
       โดยหากประเมินจากสมมติฐานหลักในการจัดทำประมาณการปี2554 และ 2555 ฝ่ายวิจัยกำหนดให้ ARPU เฉลี่ยของผู้ประกอบการ 3 ราย (ADVANC, DTAC,TRUE) ไว้ที่ระดับ 193.4 บาท/เลขหมาย/เดือน ในปี 2554 และ 192.1 บาท ในปี 2555 โดยที่ในงวด 1H54 ทำได้ที่ 197.7 บาท ซึ่งดีกว่าสมมติฐานในการจัดทำประมาณการ ในด้านของจำนวนเลขหมายที่เพิ่มขึ้น กำหนดสมมติฐานในปี 2554 และ 2555 ที่ 6.5 ล้านเลขหมาย และ 6 ล้านเลขหมายตามลำดับ ทั้งนี้ในงวด 1H54 พบว่ายอดรวมการเพิ่มขึ้นของจำนวนเลขหมายอยู่ที่ 3.21 ล้านเลขหมาย เห็นว่าได้ว่าสมมติฐานที่ฝ่ายวิจัยใช้จัดทำประมาณการเมื่อเทียบกับ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงแล้วยังมีความ Conservative อยู่ ทำให้ประมาณการมีความเสี่ยงลดลงไม่มาก
*** กลุ่มวัสดุฯ สดใส รับงบ SCC เติบโต
       ส่วนวัสดุก่อสร้าง ประเมินว่าภาคการก่อสร้างที่เติบโตขึ้น สนับสนุนให้ผลประกอบการงวด 1H54 สร้างกำไรได้สูงถึง2.39 หมื่นล้านบาท คิดเป็น 52% ของประมาณการทั้งปี 2554 โดยกำไรมากกว่า 77% ของกลุ่มฯ มาจาก SCC ซึ่งคาดว่าผลประกอบการในช่วง 2H54 ยังคงโดดเด่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง SCC จะมีการบันทึกกำไรพิเศษจากการขายหุ้น PTTCH และบริษัทสยามยูไนเต็ดสตีล รวมกันไม่ต่ำกว่า 1.5พันล้านบาท
       สำหรับปี 2555 ประเมินการเติบโตของกำไรที่ 5.4%YoY จากแนวโน้มผลประกอบการของ SCC ที่จะเติบโตขึ้น หลังโครงการลงทุนขนาดกำลังการผลิตในธุรกิจปิโตรเคมีเริ่มมีการรับรู้รายได้อย่างเต็มที่ อีกทั้งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ยังส่งผลบวกต่อภาคการก่อสร้างในประเทศ และทำให้บริษัทในกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ซึ่งพึ่งพิงตลาดในประเทศเป็นหลัก ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่
*** อสังหาฯ มีมาตรการภาครัฐฯ - Backlog หนุน แต่ยังเสี่ยงเรื่องค่าแรงสูง
       ปิดท้ายด้วยกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทำผลงานได้ไม่ดีนักในงวด 1H54 โดยมีกำไรรวมของกลุ่มที่ 1.48 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 37% ของประมาณการทั้งปี เนื่องจากธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัย อยู่ในช่วงของการชะลอโอนฯ เฉพาะอย่างยิ่งในงวด 1Q54 ก่อนที่จะเริ่มฟื้นตัวใน 2Q54 และคาดว่า2H54 จะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นมาก ทั้งนี้พิจารณาจากความชัดเจนของมาตรการจากภาครัฐและBacklog ที่ 14 บริษัทใน Coverage ยังมีมูลค่าสูงถึง 1.66 แสนล้านบาท โดยที่ 4 หมื่นล้านบาทเป็นโครงการบ้านเดี่ยว-ทาวเฮ้าส์ที่พร้อมโอนฯ ส่วนรับเหมาก่อสร้างงวด 1H54 ได้รับผลกระทบจากการปรับปรุงต้นทุนงานก่อสร้างทำให้ Gross Margin ต่ำกว่าปกติ ส่วนในงวด 2H54 น่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นหลังที่ Backlog ที่มีกว่า 3.3 แสนล้านบาท ถูกบันทึกรายได้มากขึ้นซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังประสิทธิภาพการทำกำไรทีดีขึ้นตาม สำหรับความเสี่ยงของกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ อยู่ที่เรื่องของการบริหารจัดการต้นทุน หลังการปรับเปลี่ยนนโยบายค่าจ้างแรงงานของรัฐบาลในปี 2555