อังคาร 27 ก.ย.--eFinanceThai.com :
วินาศสันตะโร !3 วันร่วง125 จุด

**วงการให้แนวรับใหม่ 860 จุด
          ตลาดหุ้นไทยวานนี้(26 ก.ย.) ดัชนีรูดหนัก90 จุดหรือร่วงกว่า 9.42% นำตลาดอื่นในภูมิภาค จากแรงเทขายของต่างชาติ ที่กังวลปัญหาวิกฤตศก.โลก - แถมบางส่วนยังถูกบังคังขาย Forced sell จนตลาดป่วน ระบบซื้อขายหยุดชะงัก ท่ามกลางข่าวลือสะพัด ตลท.งัดมาตรการ เซอร์กิต เบรกเกอร์ แต่สุดท้าย ตลท.ปฎิเสธ ใช้เซอร์กิตฯ แค่ระบบซื้อขายขัดข้อง ทำให้ระบบหยุดซื้อขายชั่วคราว ขณะที่ 3วันทำการดัชนีหุ้นไทยร่วงกว่า 125 จุด วงการ ให้แนวรับใหม่ที่ 860 จุด ด้านส.นักวิเคราะห์ เล็งปรับเป้าดัชนีฯ ปีนี้ลงอีกครั้ง ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า หลังปัญหายุโรปแรงเกินคาด
          ตลาดหุ้นไทยวานนี้(26 ก.ย. 54)เรียกได้ว่าวินาศสันตะโร เพราะดัชนีหุ้นไทยรูดลงถึง 90 จุดมาอยู่ที่ 867.86 จุดหรือ 9.42% จ่อเข้าเกณฑ์ต้องงัดมาตรการเซอร์กิตเบรกเกอร์ ที่จะหยุดการซื้อขายเป็นเวลา 30 นาที
          ทั้งนี้ดัชนีตลาดหุ้นไทยเปิดซื้อขายช่วงเช้าดัชนีปรับตัวลดลงทันที 10.63 จุดมาอยู่ที่ 947.53 จุด(จากปิดตลาดวันศุกร์ อยู่ที่ 958.16จุด) ก่อนที่ดัชนีจะไหลลงอย่างต่อเนื่อง จากแรงเทขายของนักลงทุนที่กังวลปัญหาเศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอย เนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐและปัญหาหนี้ของกรีซและกลุ่มยุโรป ยังไม่คลี่คลาย แถมบางส่วนถูกบังคับขาย โดยดัชนีปรับตัวลดลง ระหว่างการซื้อขายช่วงเช้า ถึง 80 จุดหรือลดลง 8.46% ก่อนจะรีบาวน์เล็กน้อยมาปิดตลาดช่วงเช้าที่ระดับ 883.23 จุด ลดลง 74.93 จุด หรือ 7.82% มูลค่าการซื้อขาย 24,813.25 ลบ.
          ขณะเดียวกันหลายฝ่ายจับตาว่าการซื้อขายช่วงบ่าย ดัชนีฯจะรูด10% จนตลาดหลักทรัพย์จะต้องประกาศบังคับใช้มาตรการ เซอร์กิต เบรกเกอร์หรือไม่ กระทั่งเปิดตลาดช่วงบ่าย ดัชนีหุ้นไทยยังรูดลงอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งเวลาประมาณ 14.44 น. ดัชนีร่วงลงมาแตะระดับต่ำสุดที่ 867.86 จุด ลดลง 90จุดหรือลดลง 9.42% หลังจากนั้นดัชนีหยุดชะงัก ท่ามกลางข่าวลือสะพัดว่าตลาดหลักทรัพย์มีการบังคับใช้มาตรการ เซอร์กิตเบรกเกอร์
          แต่สุดท้ายทางตลาดหลักทรัพย์ออกมาระบุว่าไม่มีการใช้มาตรการเซอร์กิต เบรกเกอร์ แต่เนื่องจากการซื้อขายขัดข้อง ทำให้หยุดการซื้อขายชั่วคราว หลังจากนั้นดัชนีรีบาวน์ขึ้นมาได้
          ก่อนจะปิดตลาดวานนี้ ที่ระดับ 904.06จุด ต่ำสุดในรอบ 1 ปี ลดลง 54.10จุดหรือ 5.65% มูลค่าการซื้อขาย 47,630.63ล้านบาท
          ทั้งนี้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงนำตลาดหุ้นในภูมิภาค อาทิ ดัชนี สเตรทไทม์: ตลาดหุ้นสิงคโปร์ ปิดตลาดที่ระดับ 2,654.31 จุด ลดลง 44.49 จุด หรือ -1.65 % ดัชนี คอมโพสิต: ตลาดหุ้นอินโดนีเซีย ปิดตลาดที่ระดับ 3,316.14 จุด ลดลง 110.21 จุด หรือ -3.22 % ดัชนี ฮั่งเส็ง: ตลาดหุ้นฮ่องกง ปิดตลาดที่ระดับ 17,407.80 จุด ลดลง 261.03 จุด หรือ -1.48 %ดัชนี SHI: ตลาดหุ้นจีน ปิดตลาดที่ระดับ 2,393.18 จุด ลดลง 39.98 จุด หรือ -1.64 % ดัชนี นิกเกอิ: ตลาดหุ้นญี่ปุ่น ปิดตลาดที่ระดับ 8,374.13 จุด ลดลง 186.13 จุด หรือ -2.17 %
*** 3วันทำการดัชนีหุ้นรูดกว่า 125 จุด - ปี 54 ต่างชาติขายสุทธิ 3.77หมื่นลบ. ***
          อย่างไรก็ตามในช่วง 3 วันทำการ(21 - 26 ก.ย. 54 )พบว่าดัชนีปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้วันที่21 ก.ย. 54 ดัชนีปิดที่ระดับ 1029.59 จุดหากเทียบดัชนีต่ำสุดวานนี้(26 ก.ย.)ที่ 867.86 จุด พบว่าดัชนีหุ้นไทยลดลง 161.73 จุด หรือลดลง 15.70% แต่หากเทียบกับจุดปิดตลาดวานนี้ ที่ 904. 06จุด ดัชนี3วันทำการ ปรับตัวลดลง 125.53จุด หรือ12.19%
          ทั้งนี้ มี 3 หลักทรัพย์ที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยวานนี้อยู่ในแดนลบ คือ PTT ปิดที่ระดับ 267.00 ลดลง 23.00 บาท ราคาหุ้นที่ปรับลดลงมีผลต่อตลาด –8.1631จุด, PTTEP ปิดที่ระดับ 145.00 บาท ลดลง 6.00 บาท ราคาหุ้นที่ปรับลดลงมีผลต่อตลาด –2.4769 จุด และ BANPU ปิดที่ระดับ 526.00 บาท ลดลง 60.00 บาท ราคาหุ้นที่ปรับลดลง มีผลต่อตลาด - 2.0574จุด
          อย่างไรก็ตามพบว่าเมื่อวานนี้ นักลงทุนต่างชาติ มียอดขายสุทธิ 3069.59 ล้านบาท ส่งผลให้ในปี 2554นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยกว่า 37,761.20 ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิเฉพาะในเดือน ก.ย. กว่า 18,915.55 ล้านบาท อย่างไรก็ตามพบว่า Fund Flow ขาออกรอบนี้ทั้งหมด (นับตั้งแต่ 5 ส.ค. – 23 ก.ย. 2554) พบว่านักลงทุนต่างชาติขายสุทธิในตลาดหุ้นไทยออกมาแล้วถึง 66,331 ล้านบาท มากกว่า Fund Flow ขาเข้ารอบล่าสุด (29 มิ.ย. – 4 ส.ค. 2554) มียอดซื้อสุทธิ 50,599 ล้านบาท
*** บล.ฟิลลิป คาดหุ้นไทย มีโอกาสลงถึง 860 จุดหากสถานการณ์ยุโรปเกิดวิกฤต***
          บทวิเคราะห์บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) มองว่าดูเหมือนปัญหาหนี้สินของยุโรปโดยเฉพาะประเด็นการผิดนัดชำระหนี้ของกรีซ และภาวะเศรษฐกิจที่ถดถอยทางเศรษฐกิจของสหรัฐจะยังคงปัจจัยหลักที่ครอบงำการ ลงทุนในตลาดหุ้นรวมถึงสินค้าโภคภัณฑ์ให้อยู่ทางลงต่อไป SETI จึงยังคงภาพความ ผันผวนในกรอบแนวโน้มขาลง ซึ่งความเสี่ยงทางลงอาจลงได้ถึง 860 ทีเดียวหากสถาน การณ์ทางยุโรปเกิดวิกฤตที่ร้ายแรง แต่คงต้องใช้เวลาจับตาดูพัฒนาการของปัญหา อย่างใกล้ชิดไปก่อน อย่างไรก็ดี ปัจจัยระยะสั้นในกรอบสัปดาห์อาจมีลุ้นการดีดตัว ระหว่างทางจากการทำราคาปิดบัญชีสิ้นไตรมาส 3 แม้จากสถิติในอดีตเกิดขึ้นไม่มาก เพียง 45-50% เท่านั้น แต่การดิ่งหนักของตลาดในช่วงหลังอาจทำให้มีโอกาสเกิดมากขึ้น และอีกส่วนหนึ่งคาดจะมีแรงหนุนการซื้อ LTF/RMF ปลายปีช่วยประคองตลาดด้วย แต่มอง Upside อย่างมากไปได้แค่ 970-1000 จุด เท่านั้น
          กลยุทธ์การลงทุน ระยะสั้นยัง Wait&See ต่อ เน้นถือเงินสดให้มาก
***บล. เกียรตินาคิน แนะ Wait&See เหตุตลาดยังไม่นิ่งให้แนวรับแรกที่ 890-880 จุด ขณะที่ บล.กสิกรไทย แนะเก็งกำไร หุ้นที่ได้รับประโยชน์นโยบายรัฐ***
          ด้าน นายอภิสิทธิ์ ลิมป์ธำรงกุล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เกียตรินาคิน กล่าวว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยวานนี้ปรับตัวลดลงแรง หลังจากนักลงทุนเกรงว่าปัญหาเศรษฐกิจโลกจะบานปลาย โดยในช่วงต่อไปก็คงจะอยู่ในลักษณะของการแกว่งตัว เพราะไม่มีปัจจัยเข้ามากระตุ้นบรรยากาศการลงทุน แต่การปรับตัวลดลงของดัชนีฯจะชะลอลงจากวันนี้ ซึ่งประเมินแนวรับแรกที่ 890-880 จุด และหากหลุดระดับดังกล่าวก็มีสิทธิ์ที่จะลงไปแตะที่ 870 จุด และ 850 จุดได้ตามลำดับ ทั้งนี้ กลยุทธ์การลงทุนในช่วงนี้ยังแนะนำ Wait&See เพราะตลาดฯยังไม่นิ่ง โดยประเมินแนวต้านที่ 920 จุด
          "มีความเป็นไปได้ที่ดัชนีฯจะลงไปที่ 870 จุดอีก แต่คงไม่ใช่ตอนนี้ และหากตลาดฯขาลงอีกก็มีแนวรับถัดไปที่ 850 จุด หลังจากวันนี้ตลาดฯลงแรงมากตามต่างประเทศ โดยช่วงนี้คงรอดูสถานการณ์ไปก่อนอย่าเพิ่งทำอะไร" นายอภิสิทธิ์ กล่าว
          ขณะที่ นายกวี ชูกิจเกษม กรรมการผู้จัดการ บล.กสิกรไทย คาดว่าวันนี้ มีโอกาสที่ตลาดหุ้นจะรีบาวน์ขึ้นได้ เพราะ 3 วันทำการที่ผ่านมาลงต่อเนื่องวันละ 40-50 จุด จึงคาดว่าดัชนีฯ พร้อมจะรีบาวน์ได้ทุกเมื่อ ทั้งนี้หลังดัชนียืนเหนือ 900 จุด แสดงว่าแนวโน้มเริ่มจะขึ้นแล้ว จึงประเมินแนวรับที่ 900-870 จุด ส่วนแนวต้าน 914-933 จุด
          “แต่ต้องดูปัจจัยต่างประเทศใกล้ชิด และเชื่อว่าวันนี้น่าจะรีบาวน์ได้บ้าง” นายกวี กล่าว
          ส่วนกลยุทธ์การลงทุน แนะซื้อเก็งกำไร โดยเลือกหุ้นที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของรัฐบาล เช่น ADVANC CPF BGH
          ทั้งนี้เมื่อวานนี้ ตลาดหุ้นปรับลดลงเพราะความกังวลเศรษฐกิจยุโรป ทำให้นักลงทุนทั่วโลกเทขายหุ้นเพื่อเอาเงินสดกลับคืน และมองว่าตลาดหุ้นไทยน่าจะได้ผลตอบแทนดีที่สุด เพราะเมื่อย้อนหลังดู 5 ปีที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นถึง 260% ในขณะที่ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับขึ้นเพียง 18% ดังนั้น จึงไม่แปลกที่หุ้นไทยจะร่วงแรง แต่ในส่วนของปัจจัยพื้นฐานยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
          “ต่างชาติอยากลดความเสี่ยง จึงต้องขายเอาเงินสดออมา และเป็นความโชคร้ายของไทยแลนด์ เพราะ 5 ปีย้อนหลังหุ้นขึ้นมาต่อเนื่อง 260% เขาจึงเลือกที่จะขายหุ้นไทย ซึ่งไม่ได้ขึ้นกับว่าพื้นฐานเป็นไง แต่ดูว่าขายตรงไหนที่ได้กำไรดี เพราเขาซื้อมาตั้งแต่หลังวิกฤตซัพไพรม์ ” นายกวี กล่าว
*** FSS แนะหุ้นราคาถูก PE ตลาดหุ้นไทยปัจจุบันต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 10 ปี คาด SET หา bottom เจอในเดือน ต.ค. และปรับขึ้นในช่วงปลายปี ***
          ด้าน ฝ่ายวิจัย บล.ฟินันเซียไซรัส ประเมินว่า เพียงแค่ 2 วันสุดท้ายของสัปดาห์ที่ผ่านมา SET Index ปรับลงไปแล้ว 71 จุด หรือ 6.9% ทำให้ในเดือน ก.ย. ลงไปแล้ว 10.4%MTD ใกล้เคียงกับประเทศในกลุ่ม TIPs (อินโดนีเซีย -11.4%MTD ฟิลิปปินส์ -11.0%MTD) และทำให้ SET Index ซื้อขายที่ PE 10.8 เท่าสิ้นปีนี้ ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาที่ 11.0 เท่า และ ‘ถูก’ กว่าในช่วงที่มีเหตุการณ์การเมืองรุนแรงในปีที่ผ่านมาที่ 11.3 เท่า (= 998 จุด) หากใช้ PE ที่ค่าเฉลี่ย 11 เท่า SET Index จะอยู่ที่ 978 จุด แต่ถ้าย้อนกลับไปดูในช่วงวิกฤตแต่ละครั้งเพื่อจะหา Downside ของตลาด พบว่ามีตั้งแต่ 530 จุด (ช่วงวิกฤต Subprime) หรือ 706 จุด (ธปท.กำหนดกันสำรอง 30%) หรือ 930 จุด (ช่วง Dotcom crisis) หรือ 856 จุด (วิกฤตการเงินในเอเชียปี 1997) แต่ไม่มีปีใดที่กำไรของ บจ.ในตลาดจะเติบโตแข็งแกร่งเท่าปีนี้ (กำไร H1/11 เพิ่มขึ้น 30% จากทั้งยอดขายและอัตรากำไรขั้นต้นที่ดีขึ้น หนี้สินต่อทุนลดลง ROE เพิ่มขึ้น และประมาณ 30% ของบริษัทที่ศึกษามีกำไรดีกว่าคาด ทั้งนี้คาดกำไรทั้งปี 2011 เติบโต 17.2%) แม้ว่าเศรษฐกิจโลกจะชะลอลง แต่การส่งออก 2 เดือนแรกของ Q3/11 ก็ยังขยายตัวดีกว่าคาด (+34.6% Y-Y) โดยเฉพาะเดือน ส.ค. ที่มีน้ำท่วมและทั่วโลกกำลังวิตกเรื่องหนี้ของสหรัฐและยุโรป และรายงานสินเชื่อของธนาคารในเดือน ส.ค. ก็ปรากฏว่าขยายตัวในทุกธนาคาร (+1.6% M-M) และกระจายในทุกเซ็กเมนต์ทั้ง Coporate, SMEs, Retails
          ทั้งนี้มองว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะชะลอไปอีกหลายปี ขณะที่หนี้ของยุโรปก็ยังจะเป็นปัญหาอีกนาน เชื่อว่า Flow ของต่างชาติจะยังไม่กลับมาอย่างน้อยจนถึงสิ้นปีนี้ แต่ตลาดหุ้นไทยจะปรับขึ้นได้ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายด้วยแรงซื้อจากกองทุนในประเทศ (RMF, LTF) และรายย่อย ณ ระดับ SET Index 958.16 จุด พบว่ามีหุ้นหลายตัวที่ถูกกว่าในช่วงวิกฤตการเงินโลกที่ผ่านมา และได้เพิ่มสมมติฐานว่าถ้าการส่งออกไม่เติบโต ค่าแรงเพิ่มขึ้นตามมาตรการของรัฐบาล เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นจาก 4.3% เป็น 5.0% ดอกเบี้ยเพิ่มจากประมาณการเดิมอีก 0.50% พบว่าหุ้นเหล่านี้ยังสามารถเติบโตได้ หุ้นเหล่านี้ได้แก่ ADVANC, BANPU, GFPT, GLOW, HEMRAJ, KBANK, SAT, SCB, SCC, SPALI, TK
          อย่างไรก็ตามยังคงมุมมอง Bullish view ในระยะยาว และคงเป้าหมาย SET target 1,200 จุดสิ้นปีนี้ อย่างไรก็ตาม ระยะนี้ตลาดหุ้นทั่วโลกยังไม่พ้นภาวะ ‘หมี’ ไม่เว้นแม้แต่ตลาดเอเชียโดยเฉพาะอินโดนีเซียที่ในปีนี้ยอดต่างชาติยังเป็น ‘ซื้อสุทธิ’ สำหรับ SET ก็เช่นกัน ดูจากการ short Futures ของต่างชาติด้วยปริมาณที่สูงเกือบ 1 พันสัญญาเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา การหาแนวรับด้วย Technical น่าจะเหมาะกว่า มองแนวรับที่ 937 จุด +/- และเชื่อว่า SET จะหา bottom เจอในเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นช่วงที่กรีซควรได้รับคำตอบว่าจะได้รับเงินช่วยเหลือ 8 พันล้านยูโรหรือจะล้มละลาย รวมทั้งคาดว่า SET จะปรับขึ้นได้ในช่วง 2 เดือนสุดท้ายจากแรงซื้อของกองทุนในประเทศ (LTF, RMF) และรายย่อย
***สภาธุรกิจตลาดทุนไทย มองตลาดหุ้นผันผวนจนกว่าปัญหายุโรปเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้จะชัดเจน***
          นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทยกล่าวถึงสำหรับสาเหตุที่หุ้นไทยปรับลดลงแรงเมื่อวานนี้ว่า เกิดจากนักลงทุนตกใจกับทิศทางเศรษฐกิจโลก จึงทำให้มีแรงเทขายหุ้นออกมามาก แต่เมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ที่ปรับลงมากกว่าไทย เช่น บางประเทศในเอเชียลงถึง 25% ส่วนตลาดหุ้นยุโรปปรับลง 30% ในขณะที่ไทย ปรับลงมาประมาณ 7% ฉะนั้น จึงเชื่อว่าตลาดหุ้นจะผันผวนต่อไปจนกว่าปัญหาของยุโรปเกี่ยวกับการแก้ไขหนี้จะชัดเจน
          อย่างไรก็ตาม ยังเชื่อว่าตลาดหุ้นไทยมีแข็งแกร่งมากพอที่จะรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจโลกหรือแม้จะเกิดวิกฤตรอบสองก็ตาม เพราะภาครัฐและเอกชนยังมีการขาดดุลในระดับที่ไม่อันตรายมากนัก
          นายไพบูลย์กล่าวต่อไปว่านโยบายที่อยากให้รัฐบาลเร่งทำในตอนนี้คือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเป็นการสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของรัฐบาลว่าต้องการที่จะอยู่ในระยะยาว แม้การลงทุนนั้นจะส่งผลดีในระยะยาวก็ตาม แต่ขณะนี้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการกระตุ้นการใช้จ่ายในประเทศ ทั้งที่เศรษฐกิจก็ไม่ได้อ่อนแอมาก ซึ่งหากไม่เร่งทำโครงการดังกล่าวอาจทำให้รัฐบาลถูกมองว่าทำแต่ประชานิยมเพียงอย่างเดียว
*** KEST ระบุดัชนีฯ ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วที่ระดับ 1,149 จุด พร้อมคาดหุ้นร่วงแรง! หลังกองทุนต่างประเทศเทขาย ***
          นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ KEST กล่าวกับ eFinanceThai.com ว่าสาเหตุที่ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงแรงวานนี้ เกิดจากแรงขายของกองทุนต่างประเทศบางแห่ง ที่มีการกู้เงินในรูปของดอลลาร์สหรัฐมาซื้อหุ้นหรือดอลลาร์แครี่เทรด เพราะเมื่อถึงคราวปิดสถานะก็เกิดแรงขายขึ้นมามากกว่าที่จะเกิดจากประเด็นการ Forced Sell
          ส่วนบริษัทฯ จากการตรวจสอบพบว่า ไม่มีการ Forced Sell เกิดขึ้น ซึ่งที่ผ่านมาบัญชีมาร์จิ้นของบริษัทฯ มีเพียง 4,000 ล้านบาท ซึ่งลดลงมาอย่างต่อเนื่อง แต่แรงขายมีบ้างที่เกิดจากบัญชีเทรดฟิวเจอร์ส แต่บริษัทฯ ได้สอบถามไปยังลูกค้าก่อนว่าจะให้บริษัทขายหุ้นให้ หรือเติมเงินเข้ามาเพิ่ม ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ก็เลือกที่จะเติมเงินสดเข้ามาในบัญชี
          สำหรับแนวโน้มตลาดหุ้นจากนี้ไปคาดว่ายังคงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพราะปัญหาหนี้ยุโรปยังเป็นเรื่องที่นักลงทุนกังวลว่าจะมีทางออกแบบใด ดังนั้นนักลงทุนควรจะรอดูทิศทางตลาดหุ้นก่อน ยังไม่ต้องรีบร้อน ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯก็ได้แนะนำให้ลูกค้าทยอยขายเป็นระยะ ส่วนเป้าหมายดัชนีฯ ในปีนี้ยังคาดได้ลำบาก เพราะปัจจัยพื้นฐานเปลี่ยน แต่เชื่อว่าจุดสูงสุดของตลาดหุ้นได้ผ่านพ้นไปแล้วตั้งแต่ที่ดัชนีฯ แตะระดับ 1,149 จุด
          อย่างไรก็ตามส่วนแบ่งทางการตลาดฯ (มาร์เก็ตแชร์) ปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 12% จากปีที่แล้วซึ่งอยู่ที่ 12.7% ลดลงเล็กน้อยตามภาพรวมการซื้อขายที่ไม่ค่อยดีนัก และบริษัทฯ ก็ไม่ได้แนะนำให้ลูกค้าซื้อหุ้นในช่วงนี้ เนื่องจากภาวะตลาดยังผันผวน
*** ส.นักวิเคราะห์ เล็งปรับเป้าดัชนีฯ ปีนี้ลงอีกครั้ง ภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้า หลังปัญหายุโรปแรงเกินคาด  ***
          นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ เปิดเผยว่าภายใน 2 สัปดาห์ข้างหน้าสมาคมฯ จะทบทวนเป้าหมายดัชนีฯ ในปีนี้ลงอีกครั้ง หลังพบว่าวิกฤตหนี้ยุโรปแรงกว่าที่คาด ส่วนจะปรับลดลงเป็นเท่าใดนั้นขอเวลาสรุปข้อมูลอีก 2 สัปดาห์ นอกจากนี้ ยังแนะนำให้นักลงทุนระยะยาวทยอยซื้อหุ้น เพราะขณะนี้หุ้นหลายตัวมีราคาต่ำกว่าพื้นฐาน โดยเฉพาะหุ้นใน SET50 มีราคาต่ำกว่าปัจจัยพื้นฐานประมาณ20-30%
***บล.โกลเบล็ก ยอมรับมีนลท.ถูก Forced Sell ใน SET50 Futures และ Gold Futures แต่แค่ส่วนน้อย เพราะฝ่ายวิเคราะห์แนะให้ลุยขาลงมานานแล้ว ***
          นายสัญญา หาญพัฒนกิจพานิช ผู้อำนวยการทีมพัฒนาธุรกิจตลาดอนุพันธ์ บริษัทหลักทรัพย์ โกลเบล็ก จำกัด เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า มีนักลงทุนบางส่วนที่เข้ามาซื้อขายสินค้าอนุพันธ์กับบริษัท ถูกบังคับขาย (Forced Sell) สัญญา SET50 Futures และ Gold Futures แต่เป็นเพียงนักลงทุนรายย่อยส่วนน้อยเท่านั้น เนื่องจากที่ผ่านมาทางบล.โกลเบล็ก ได้แนะนำให้นักลงทุนหันมาลงทุนทางฝั่งขายมากขึ้น หลังจากที่ตลาดหุ้นหลุดระดับ 1,000 จุดลงมา ซึ่งนักลงทุนส่วนใหญ่ได้ให้ความเห็นไปในทิศทางเดียวกับบริษัท แต่ก็จะมีบางส่วนที่ยังมั่นใจว่าตลาดยังเป็นทิศทางขาขึ้น จึงต้องถูกเรียกวางเงินประกันเพิ่ม หรือ ถูก Forced Sell ดังกล่าวออกไป
          ทั้งนี้ประเมินถึงแนวโน้มตลาดทุนในช่วงนี้ว่ายังไม่มีสัญญาณฟื้นตัว ซึ่งประเด็นสำคัญที่ยังต้องติดตามคือการประชุมของกลุ่มผู้นำในประเทศมหาอำนาจต่างๆ ว่าจะให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างไร
          ส่วนทิศทางราคาทองคำในช่วงนี้ประเมินว่า จะลงสู่แนวรับ 1,480 ดอลลาร์/ออนซ์ในช่วงเดือนตุลาคม ซึ่งระหว่างทางอาจจะมีการรีบาวน์ขึ้นได้ไปสู่แนวต้าน 1,630 ดอลลาร์/ออนซ์ตามลำดับ ซึ่งกลยุทธ์สำหรับนักลงทุนที่ซื้อขายทองแท่งในขณะนี้ ควรชะลอการสะสม หรือหาจังหวะขายทองคำเพื่อทำกำไร
          'ตอนนี้ทิศทางของแนวรับของ SET50 Futures ยังบอกไม่ได้ เพราะยังไม่ได้คุยกับฝ่ายวิเคราะห์ แต่ทองคำจะมีแนวรับ 1,480 เหรียญ ในเดือนตุลาคม ส่วนนักลงทุนที่ถูก Forced Sell จากเราก็มีบ้าง แต่เป็นสวนเล็กน้อย เพราะเราแนะนำให้เป็นทิศทางขาลงตั้งแต่หุ้นหลุด 1,000 จุด ซึ่งส่วนใหญ่จะลงทุนตามและได้กำไร' นายสัญญากล่าว
*** จรัมพร ชี้หุ้นร่วงแรง เกิดจาก 4 กลุ่มบิ๊กแคปโดนทิ้ง ระบุไม่ใช่เกิดการ Forced Sellยันไม่ได้ใช้ Circuit Breaker ***
          นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่าสาเหตุที่หุ้นร่วงแรงวันนี้เกิดจาก 4 กลุ่มหลักทรัพย์ที่มีมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่ซึ่งประกอบกลุ่มพลังงาน,ธนาคาร,ก่อสร้างและสื่อสารทำให้เป็นตัวกดดัชนีฯ แต่ไม่ใช่เกิดจากประเด็นการบังคับขาย (Forced Sell) อย่างที่คาดกัน เพราะตลาดเข้มงวดมากกับการซื้อโดยใช้มาร์จิ้น มูลค่าของการซื้อขายแบบมาร์จิ้นมีเพียง 30,000 ล้านบาท ซึ่งตลาดคุมเข้มตั้งแต่ปีที่แล้วจึงไม่มีปัญหาแน่นอน ส่วน short Sell มีเพียง1%ของการซื้อขายในตลาดหุ้นเท่านั้นตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวลงแรงวานนี้ เนื่องจากนักลงทุน panic sell ขณะที่มองว่าปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจ และบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ยังแข็งแกร่ง
          'เป็นหุ้นใหญ่ๆ ทั้งนั้นที่ร่วงลงทั้งพลังงานร่วงลง 9% ธนาคาร 7% ก่อสร้าง 7% สื่อสาร ก็ร่วงซึ่งกลุ่มบิ๊กแคปมีน้ำหนักต่อตลาดหุ้นไทยมากแค่พลังงานก็มีน้ำหนักถึง27%' นายจรัมพร กล่าว
          ส่วนกรณีที่ระบบการซื้อขายหลักทรัพย์ช่วงบ่าย เกิดปัญหาขัดข้อง ส่งผลให้การซื้อขายหลักทรัพย์หยุดชั่วคราว ขณะหนึ่ง ทำให้เครื่องหมาย halt ขึ้นเอง นั้น ขอชี้แจงว่าเกิดจากปัญหาทางเทคนิค ซึ่งไม่ใช่เกิดจากความตั้งใจของตลาดฯ ที่จะหยุดพักการซื้อขายตามที่มีกระแสข่าวออกมาในช่วงบ่าย ' เป็นปัญหาทางเทคนิค ไม่สามารถเล่าในรายละเอียดได้ และหลังแก้ไขปัญหาแล้วระบบซื้อขายทำงานต่อก็น่าจะเกิดจากออเดอร์ที่ค้างอยู่ไม่น่าจะเป็นเรื่องที่ผิดปกติและยืนยันว่าตลาดฯ ไม่ได้แทรกแซงระบบการซื้อขายแต่อย่างใด 'นายจรัมพร กล่าว
          อนึ่ง ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยแจ้งว่าตามที่ระบบซื้อขายตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้แสดงสถานะหยุดซื้อขายชั่วคราว ในเวลาประมาณ 14.36 น.ตลาดหลักทรัพย์ฯ ขอชี้แจงว่าในช่วงเวลาดังกล่าวไม่ได้เป็นการหยุดการซื้อขายจากมาตรการ Circuit Breaker
          ส่วนกรณีที่ที่ระบบซื้อขายของตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ หยุดการซื้อขายชั่วคราวในช่วงเวลาดังกล่าว เป็นผลจากการที่ระบบซื้อขายมีการป้องกันความเสียหายจากการปรับลดลงของดัชนี ซึ่งเมื่อเวลา 14.36 น. ดังกล่าว ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ ได้ปรับลดลงมากกว่า 10% ส่งผลให้ระบบซื้อขายของทั้งตลาดหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอไอเปลี่ยนสถานะเป็นการหยุดซื้อขายชั่วคราว ซึ่งเมื่อตรวจสอบแล้วพบว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลงยังไม่ถึงระดับที่กำหนดที่จะต้องใช้มาตรการ Circuit Breaker ระบบจึงได้ปรับสถานะตลาดให้สามารถซื้อขายต่อเนื่อง
*** กิตติรัตน์ ระบุยังไม่มีมาตรการพิเศษเพิ่มเติม หลังหุ้นไทยร่วงหนัก ชี้ ฝรั่งขายทำกำไร ติงนลท.ไทยอย่าตื่นตระหนก ระบุศก.ยังแข็งแกร่ง***
          ขณะที่นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวถึง กรณีที่ตลาดหลักทรัพย์ไทยปรับตัวลดลงอย่างรุนแรงว่า ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องออกมาตรการพิเศษที่จะดูแลในช่วงนี้ หรือขอให้นักลงทุนไทยอย่างตื่นตระหนก เนื่องจากเท่าที่สังเกตพบว่าการปรับตัวลดลงครั้งนี้เกิดจากการแรงขายชี้นำของนักลงทุนต่างชาติที่กังวลภาวะเศรษฐกิจ และปัญหาหนี้สินของสหรัฐฯและยุโรป ขณะเดียวกันพบว่าดัชนีเป็นการปรับตัวลดลงหลังจากที่ก่อนหน้านี้ตลาดหุ้นอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียปรับตัวลดลงแรงโดยหุ้นไทยมีความแข็งแกร่งมากกว่าจึงทำให้ไม่ปรับตัวลดลงมากนัก ประกอบกับมีความเชื่อมั่นจากความชัดเจนทางการเมืองทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่จึงมาแสวงหาผลตอบแทนในตลาดหุ้นไทย
          อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้พบว่าตลาดหุ้นไทยได้ปรับตัวลดลงเข้าสู่ระดับเดียวกันกับตลาดหุ้นในเอเชียแล้ว ดังนั้นจึงอาจเป็นจังหวะที่จะมีการลงทุนเพิ่มเติมได้ เนื่องจากเศรษฐกิจไทยยังมีความแข็งแกร่ง
          'ปลายสัปดาห์ที่ผ่านมาไม่ได้คิดว่าตลาดหุ้นจะลงเยอะขนาดนี้ ประเด็นที่เป็นปัญหาไม่ใช่เรื่องใหม่เป็นเรื่องที่ตลาดยุโรปและสหรัฐฯมีการกังวลกัน ยังไม่อยากให้นักลงทุนไทยกระต่ายตื่นตูม หน้าที่ของเรามีการเตรียมการเรื่องระบบเศรษฐกิจให้มีความแข็งแรง เงินตราต่างประเทศเราก็ยังมีมาก ดังนั้นการที่นักลงทุนต่างชาติตกใจและดึงเงินกลับก็เป็นเหตุผลของเขา' นายกิตติรัตน์ กล่าว
*** สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เสนอ 7 แนวทางต่อรัฐบาล เร่งสร้างภูมิคุ้มกันตลาดหุ้น หลังศก.โลกมีปัญหา***
          ด้านนายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย เปิดเผยว่าด้วยภาวะเศรษฐกิจโลกที่เผชิญกับความเสี่ยงขาลงครั้งใหญ่ และภาวะตลาดทุนโลกที่เป็นไปด้วยความผันผวนและแรงเทขาย สภาธุรกิจตลาดทุนไทย จึงมีความเป็นห่วงที่มีผลกระทบต่อประเทศไทย จึงขอนำเสนอ 7 ข้อ ต่อรัฐบาลไทย เพื่อช่วยเร่งสร้างภูมิคุ้มกันและสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยและตลาดทุนไทย สามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนและมีเสถียรภาพ หลังจากที่เศรษฐกิจโลกมีปัญหา ส่วนข้อเสนอมีดังนี้
          1. เสนอให้รัฐบาลทบทวนนโยบายต่าง ๆที่ได้ประกาศไปช่วงก่อนการเลือกตั้งและให้มีการปรับปรุงและเรียงลำดับความสำคัญใหม่ เพื่อให้รองรับการผลกระทบจากการชะลอของเศรษฐกิจโลกที่อาจกระทบมาถึงประเทศไทย โดยรัฐบาลอาจจำเป็นต้องเก็บงบประมาณบางส่วน เพื่อใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ หากเกิดวิกฤตรอบ 2
          2. รัฐบาลอาจต้องทบทวนนโยบายที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต เช่น นโยบายค่าแรงขั้นต่ำ เพราะการขึ้นค่าแรงในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัวอาจทำให้ผู้ประกอบการเลือกลดต้นทุนการผลิตด้วยการปลดคนงาน จึงเสนอให้การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป
          3. เสนอให้รัฐบาลเร่งรัดการดำเนินนโยบายการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน รวมทั้งเป็นการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนจากเอกชนด้วย
          4. สภาฯ สนับสนุนนโยบายลดภาษีนิติบุคคล จาก 30% เป็น 20% จึงขอเสนอให้รัฐบาลประกาศยืนยันนโยบายนี้อีกครั้งเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อภาคธุรกิจ
          5. เนื่องจากมีแรงเทขายในตลาดหุ้นอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มูลค่าหุ้นส่วนใหญ่ในตลาดหลักทรัพย์ปรับลดลงต่ำกว่ามูลค่าพื้นฐานมาก จึงเสนอให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนในลักษณะเดียวกันกับกองทุนวายุภักษ์ เพื่อเข้าลงทุนในบริษัทที่มีพื้นฐานดี
          6. ขอเสนอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทบทวนนโยบายการเงิน และหากสามารถชะลอการขึ้นดอกเบี้ยออกไปก่อน ก็จะช่วยลดความผันผวนในตลาดทุนได้
          7. เสนอให้รัฐบาลรักษาวินัยทางการคลังอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันไม่ให้การขาดดุลทางการคลัง และหนี้สาธารณะเพิ่มมากหรือเร็วจนเกินไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่ารัฐบาลจะดำเนินนโยบายต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ โปร่งใสและตรวจสอบได้
***ก.ล.ต. ยืนยันระบบและฐานะของผู้ให้บริการในตลาดทุนมั่นคง ***
          สืบเนื่องจาก(26 กันยายน 2554) และสัปดาห์ที่ผ่านมา การซื้อขายหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าปรับตัวลดลงอย่างรุนแรง ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาดหลักทรัพย์ในต่างประเทศ รวมถึงราคาของทองคำและโลหะเงินลดลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
          นายชาลี จันทนยิ่งยง รองเลขาธิการ รักษาการเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า การปรับตัวลดลงของทั้งดัชนีหุ้นไทย ราคาทองคำและโลหะเงิน เป็นผลจากการปรับตัวและความผันผวนของราคาในตลาดโลก ซึ่ง ก.ล.ต. มีการติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและขอให้ความมั่นใจว่าระบบการซื้อขาย การชำระเงินและส่งมอบหลักทรัพย์และตราสารอนุพันธ์ ซึ่งรวมถึงฐานะความมั่นคงของผู้ให้บริการในตลาดทุน เช่น ศูนย์รับฝากหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์จัดการลงทุน และตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้ามีความมั่นคง
          ก.ล.ต. ระบุว่า การซื้อขายหลักทรัพย์และสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ผู้ลงทุนควรตัดสินใจด้วยความรอบคอบ อย่าตื่นตระหนก เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศมีทิศทางเติบโตและฐานะของบริษัทจดทะเบียนยังคงแข็งแกร่ง”
          ทั้งนี้ ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประสานงานและติดตามข้อมูลที่อาจเกิดผลกระทบกับ การลงทุนในตลาดหลักทรัพย์และตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอย่างใกล้ชิด เพื่อเปิดเผยให้สาธารณชนรับทราบสำหรับใช้ประกอบการตัดสินใจลงทุนต่อไป
***TFEX ประกาศหยุดทำการซื้อขาย Silver Futures เป็นการชั่วคราว***
          ตามที่ราคาซื้อขายของสัญญาซื้อขายล่วงหน้าโลหะเงิน (Silver Futures) ในวันที่ 26 กันยายน 2554 เวลา 9:45 เปลี่ยนแปลงลดลงจาก ราคาที่ใช้ชำระราคาและส่งมอบล่าสุด (Latest Settlement Price) คิดเป็น 10%
          ตลาดอนุพันธ์จึงหยุดทำการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า Silver Futures เป็นการชั่วคราว ในวันที่ 26 กันยายน 2554 ตั้งแต่เวลา 9:45 น. โดยจะเปิดทำการซื้อขายอีกครั้ง ในเวลา 10:15 น. และกำหนดให้เริ่มช่วงPre-open ตั้งแต่เวลา 10:05 น. ถึง 10:15 น. (10 นาทีก่อนเปิดการซื้อขาย)
          ทั้งนี้ ตลาดอนุพันธ์จะขยาย Daily Price Limit จาก +/- 10% เป็นไม่เกิน +/- 20% ของราคาที่ใช้ชำระราคาและส่งมอบล่าสุด (Latest Settlement Price)
อนึ่ง การหยุดการซื้อขายชั่วคราวดังกล่าวนั้น เป็นไปตามหลักเกณฑ์ของตลาดอนุพันธ์ซึ่งกำหนดไว้ใน contract specification ของ Silver Futures