อังคาร 25 ต.ค.2554--eFinanceThai.com :
เศรษฐกิจจมน้ำ  *ส่งออก-เชื่อมั่นทรุด-บจ.เจ็บหนัก

        ทุกภาคส่วน ประเมินเศรษฐกิจไทยปลายปีนี้ทรุดหนัก เพราะพิษน้ำท่วม แบงก์ชาติ - รัฐบาล - หอการค้า เห็นตรงกัน ประเมิน จีดีพีไหลลงตามน้ำชัวร์ ด้านธนาคารโลกมองมูลค่าความเสียหายครั้งนี้ ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท แถมฉุตตัวเลขส่งออกไทย Q4/54 - ความเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือน ก.ย.ลงต่ำสุดในรอบ 26 เดือน โบรกฯ ชี้ ธุรกิจยานยนต์ อสังหาฯ และ อิเล็กทรอนิกส์ โดนเต็มๆ
*** แบงก์ชาติ - รัฐบาล - หอการค้า เห็นพ้อง จีดีพีไหลลงตามน้ำชัวร์
        นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จาก ปัญหาอุทกภัย ทำให้ประเมินว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือจีดีพี ของไทยในปีนี้เฉลี่ยทั้งปีจะเติบโตต่ำกว่า 3% ซึ่งลดลงจากเดิมที่คาดการณ์ว่าจีดีพีปี 2554 จะขยายตัวมากกว่า 4.1% ซึ่งทำให้โดยรวมการประมาณการจีดีพีของไทยโดยธปท.ใน 2 สัปดาห์หน้าอาจมีการปรับประมาณการลดลงมากกว่า 1% เมื่อเทียบกับการประเมินครั้งก่อน นอกจากนี้ ประเมินว่าจีดีพีในไตรมาส 4/54 มีความเป็นไปได้ที่จะชะลอตัวติดลบ เนื่องจากภาวะในขณะนี้กระทบต่อจีดีพีในไตรมาสนี้โดยตรง
        ทั้งนี้จากข้อมูลพบว่าการผลิตสำคัญในพื้นที่จังหวัดอยุธยาและปทุมธานีมีสัดส่วนการผลิตที่ 17% ของการผลิตทั้งประเทศ ดังนั้นหากสามารถจำกัดความเสียหายและชี้แจงแก่นักลงทุนได้ว่ายังมีพื้นที่การผลิตอื่นๆ ของประเทศที่ไม่ได้รับผลกระทบและเผชิญกับภาวะน้ำท่วม ซึ่งนักลงทุนอาจขยายฐานการผลิตหรือไปตั้งโรงงานในพื้นที่ดังกล่าวได้ เนื่องจากปัจจัยพื้นฐานของไทยยังคงอยู่ในระดับที่ดี
        สอดคล้องกับ นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ได้เปิดเผย ว่า จากปัญหาผลกระทบภาวะน้ำท่วม จะกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในเบื้องต้น ว่าจะกระทบประมาณ 1-1.7% ของการเติบโตเศรษฐกิจโดยรวมหรือ จีดีพีในปีนี้ โดยตัวเลขผลกระทบดังกล่าวสูงขึ้นจากเดิมที่ได้ประมาณการไว้ แต่ยังไม่สามารถประเมินตัวเลขความเสียหายจากผลกระทบปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้ได้ ทั้งหมด เพราะระดับน้ำยังไม่นิ่งและต้องติดตามต่อไปว่าปัญหาน้ำท่วมจะลุกลามไปมากน้อยเพียงใด
        เช่นเดียวกับ นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ได้ประเมินความเสียหายของอุทกภัยครั้งนี้ จะกระทบจีดีพีมากกว่า 0.6-0.9%ซึ่งเป็นระดับเดิมที่เคยประเมินไว้ในช่วงแรกที่เกิดอุทกภัย
        ส่วน ผศ.ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปีนี้อาจจะชะลอตัว โดยเฉพาะในไตรมาสที่ 4 เนื่องจากได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาน้ำท่วม คาดว่าการเติบโตของจีดีพีในปีนี้จะมีโอกาสเติบโตเหลือ 3-3.5% จากเดิมคาดว่าจะเติบโต 4.4% โดยประเมินว่าปัญหาน้ำท่วมที่เกิดขึ้นจะกระทบต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ 1.3-1.5% สร้างความเสียหายต่อจีพีดีมูลค่า 156,719 ล้านบาท ทั้งนี้จะส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นในช่วงเดือนต.ค.ปรับตัวลดลงค่อนข้างมาก เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อน
*** ธนาคารโลกชี้น้ำท่วมไทยทำเศรษฐกิจไตรมาส 4 ติดลบ
        นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ธนาคารโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารโลกได้ประเมินความเสียหายของเศรษฐกิจไทยจากปัญหาอุทกภัยครั้งใหญ่ในปีนี้เอาไว้ไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาท และจะส่งผลให้การเติบโตทางเศรษฐกิจในไตรมาสสุดท้ายอยู่ในระดับติดลบ เนื่องจากความเสียหายได้ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่การผลิตของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ อย่างไรก็ตาม มองว่าการลงทุนเพื่อฟื้นฟูความเสียหายจะส่งผลให้เศรษฐกิจในปีหน้าเติบโตได้สูงกว่าระดับร้อยละ 4.4 ซึ่งเป็นระดับที่ธนาคารโลกได้คาดการณ์ไว้ล่วงหน้า
*** พาณิชย์ เผยน้ำท่วมฉุดส่งออก Q4/54
        นางมาลี โชคล้ำเลิศ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการส่งออก กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ตัวเลขการส่งออกในช่วงไตรมาส 4/2554 มีโอกาสที่จะหดตัว 13% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากอุตสาหกรรมหลักที่ทำธุรกิจส่งออกได้รับผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วมที่ไหลเข้าสู่ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมแต่ละแห่ง โดยในเบื้องต้นยังไม่สามารถประเมินความเสียหายได้ทั้งหมด แต่เชื่อว่าการเติบโตของตัวเลขการส่งออกปีนี้จะเป็นไปตามเป้าที่ 15%
        อย่างไรก็ตาม ในไตรมาส 1 ปีหน้าจะเห็นภาพชัดว่าผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมจะเป็นอย่างไร ซึ่งเชื่อว่าจะมีผลต่อการส่งออกของไทยอย่างแน่นอน แต่ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายได้ในขณะนี้
*** คปภ.ประเมิน นิคม 7 แห่งเสียหายเบื้องต้น 2 หมื่น ลบ.
        นางจันทรา บูรณฤกษ์ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงาน คปภ.ได้สำรวจข้อมูลการทำประกันภัยของนิคมอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัยและพื้นที่เสี่ยงภัย คือ นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร นิคมอุตสาหกรรมโรจนะ, นิคมอุตสาหกรรม Hi-Tech, นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน, นิคมอุตสาหกรรมบางกระดี และนิคมอุตสาหกรรม นวนคร พบว่านิคมอุตสาหกรรมทั้ง 7 แห่ง มีจำนวนเงินเอาประกันภัยรวมทั้งสิ้น 410,177 ล้านบาท คิดเป็นมูลค่าเพียงร้อยละ 2.66 ของจำนวนเงินเอาประกันภัยการประกันภัยทรัพย์สินของทั้งธุรกิจ เบื้องต้นคาดว่าความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมด ประมาณ 20,000 ล้านบาท แต่คงต้องขึ้นอยู่กับระยะเวลาในการท่วมขังของน้ำ และจะมีการประเมินความเสียหายอีกครั้งเพื่อเตรียมชดใช้ภายหลังน้ำลด อย่างไรก็ตาม คปภ.ได้ติดตามการประเมินความเสียหายและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนของบริษัทประกันภัย รวมถึงเร่งรัดให้การช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการเป็นไปอย่างรวดเร็ว
*** ดัชนี ความเชื่อมั่นภาคอุตฯ เดือน ก.ย.ต่ำสุดในรอบ 26 เดือน
        นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงการสำรวจความเชื่อมั่นของภาคอุตสาหกรรมไทยในเดือนก.ย.2554 จำนวน 708 ราย ครอบคลุม 40 อุตสาหกรรม พบว่า ค่าดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนนี้อยู่ที่ระดับ 90.7 ปรับลดลงจากเดือนส.ค.2554 ที่อยู่ 102.5 ซึ่งเป็นการปรับลดลงต่ำสุดในรอบ 26 เดือน
        ทั้งนี้ดัชนีที่ปรับลดลงเกิดจากองค์ประกอบทางด้านยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการ และผลประกอบการ ซึ่งปัจจัยหลักที่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นคือเหตุอุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหลือ และภาคกลาง โดยกระทบต่อภาคเกษตร ภาคอุตสาหกรรม และได้สร้างความเสียหายแก่เขตเศรษฐกิจสำคัญและนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง ประกอบกับถนนหลายสายมีน้ำท่วมในระดับสูงจึงเป็นอุปสรรคต่อการคมนาคมขนส่งสินค้า ในขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ที่มีผลกระทบความเชื่อมั่นผู้ประกอบการได้แก่ ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น ความกังวลต่อผลกระทบจากนโยบายรัฐ และแนวทางการฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่เสียหายหลังภาวะน้ำท่วมคลี่คลาย
        สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าอยู่ที่ระดับ 94.0 ลดลงจาก 110.0 ในเดือนส.ค.2554 เนื่องจากผู้ประกอบการคาดว่ายอดคำสั่งซื้อโดยรวม ยอดขายโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุนประกอบการและผลประกอบการปรับลดลง
        ด้านความเสียหายจากน้ำท่วม ทางประธานสภาอุตฯ ยังไม่สามารถประเมินมูลค่าความเสียหายต่อพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย เนื่องจากปริมาณน้ำยังอยู่ในระดับสูง ซึ่งหากระดับลดลงหรือเข้าสู่ภาวะปกติ ทางสภาอุตฯ จะเข้าไปสำรวจความเสียหายอีกครั้ง
*** ส.อ.ท คาดน้ำท่วมฉุดยอดผลิตรถยนต์ปีนี้หาย 1 แสนคัน
        นายสุรพงษ์ ไพศิฐพัฒนพงษ์ โฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า หากสถานการณ์น้ำท่วมยืดเยื้อและจำเป็นที่ต้องหยุดการผลิตที่เลวร้ายยาวนานถึง 2 เดือน จะส่งผลต่อการผลิตรถยนต์โดยรวมในปีนี้จะลดลงอยู่ที่ 1.65 ล้านคัน ซึ่งใกล้เคียงกับปีก่อนทั้งปีที่ยอดการผลิตรถยนต์จำนวน 1.645 ล้านคัน
        ขณะที่หากการผลิตรถยนต์หยุดผลิตในระยะเวลา 1 เดือน คาดว่าจำนวนการผลิตรถยนต์จะอยู่ที่ 1.7 ล้านคัน โดยในช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามียอดการผลิตอยู่ที่ 1.28 ล้านคัน ซึ่งโดยปกติการผลิตรถยนต์ต่อเดือนจะอยู่ที่ประมาณ 1.5 แสนคัน ดังนั้นการประเมินดังกล่าวจึงลดลงจากเป้าหมายการผลิตทั้งปีที่ประมาณการเดิมไว้ 1.8 ล้านคัน
        อย่างไรก็ตาม ขณะนี้พบว่าผู้ประกอบการอุตสาหกรรมรถยนต์หลายแห่งได้ทยอยนำแม่พิมพ์และ เครื่องจักรออกจากนิคมอุตสาหกรรมที่น้ำท่วมขังเพื่อย้ายไปทำการผลิตที่อื่น บางส่วน
        ทั้งนี้ขณะนี้ผู้ประกอบการและทาง ส.อ.ทยังไม่ทราบแผนการของรัฐบาลในการเร่งดันน้ำให้ออกจากนิคมอุตสาหกรรม ดังนั้นจึงขอให้รัฐบาลช่วยทำการชี้แจงแนวความคิดดังกล่าวเพื่อที่ผู้ประกอบ การจะได้ประเมินและวางแผนการฟื้นฟูและการทำงานในระยะต่อไป
*** น้ำท่วมกระทบงบ บจ.ใน Q1-Q2/55
        นายชนินท์ ว่องกุศลกิจ นายกสมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย กล่าวว่า คาดว่ากำไรของบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ในปีนี้จะลดลงเล็กน้อยจากปีก่อน แม้ว่าในช่วงไตรมาส 4/2554 จะต้องเผชิญกับภาวะน้ำท่วม แต่เชื่อว่าผลกระทบดังกล่าวจะไปสะท้อนผลประกอบการไตรมาส 1 และ 2 ปีหน้ามากกว่า
        โดยล่าสุดมีบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ประมาณ 100-150 แห่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำท่วม ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมรถยนต์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ บางบริษัทคลังสินค้าได้รับผลกระทบ อย่างไรก็ตามโดยส่วนใหญ่แล้วบริษัทเหล่านี้มีการทำประกันที่ครอบคลุมความเสียหายทั้งหมดอยู่แล้ว ส่วนตัวเลขความเสียหายที่ชัดเจนยังไม่ได้มีการประเมิน
        ทั้งนี้ล่าสุดสมาคมฯ ได้ขอความร่วมมือกับบจ. ในการระดมเงินทุน 200 ล้านบาท เพื่อนำไปสมทบเข้ากองทุนภาคเอกชน เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย โดยแต่ละบริษัทก็สมทบมากน้อยขึ้นอยู่กับความสามารถในการทำกำไรของแต่ละบริษัท คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 เ ดือนก็จะเห็นผลชัดเจนถึงจำนวนเงินที่ต้องการระดมทุน โดยบริษัทที่เป็นสมาชิกสมาคมฯ ทั้งหมด 460 บริษัท รวมทั้งบริษัทใน SET และ mai
*** โบรกฯ มอง อุตฯ ยานยนต์ไทยยังทรุดไปอีก 6 เดือน
        บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่าจากกรณีที่ โตโยต้าเผยยอดขายรถยนต์เดือนก.ย.2554 มีปริมาณการขายรวม 87,012 คันเพิ่ม 27.5% YoY ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 40,685 คัน เพิ่มขึ้น 29.6% YoY รถกระบะขนาด 1 ตัน จำนวน 40,087 คัน เพิ่มขึ้น 28.2% YoY อย่างไรก็ตามทางบริษัทดังกล่าวคาดการณ์ตลาดรถยนต์ในเดือนต.ค.2554 ว่าอาจจะลดลงโดยผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมทำให้ค่ายรถยนต์หลายแห่งต้องหยุดการผลิตไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วน ทำให้บริษัทรถยนต์ไม่สามารถส่งมอบรถยนต์ได้ตามกำหนด
        ทั้งนี้ฝ่ายวิเคราะห์คาดว่าผลการดำเนินงานของหุ้นในกลุ่มยานยนต์จะเติบโตโดดเด่นในไตรมาส 3/2554 แต่จะลดลงอย่างมีนัยสำคัญในไตรมาสถัดไปจากปัญหาน้ำท่วมทำให้ค่ายรถยนต์ต่างๆ ต้องหยุดการผลิต เนื่องจากขาดแคลนชิ้นส่วนฯ ในรายงานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์วันนี้ จึงปรับลดน้ำหนักการลงทุนในกลุ่มยานยนต์ลงเป็นน้อยกว่าตลาด เนื่องจากประเมินว่าสถานการณ์ขาดแคลนชิ้นส่วนฯ และโรงงานผู้ผลิตรถยนต์ที่ถูกน้ำท่วมจะเป็นปัจจัยลบกดดันอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยไปอีกอย่างน้อย 6 เดือน จึงจะสามารถกลับสู่สถานการณ์ปกติได้
        ด้านบล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่า แม้ภาพรวมตลาดรถยนต์เดือน ก.ย. ที่ผ่านมา ยังเติบโตได้ดี โดยมีปัจจัยหลักมาจากการเพิ่มกำลังการผลิตของค่ายรถยนต์ทุกค่าย เพื่อเร่งส่งมอบรถที่ค้างจองให้เร็วขึ้น ประกอบกับความนิยมอย่างต่อเนื่องของผู้บริโภคที่มีต่อรถยนต์รุ่นใหม่ ๆ รวมถึงกำลังซื้อที่อยู่ในเกณฑ์ดีมาช่วยผลักดันยอดขายทุกตลาด
        แต่อย่างไรก็ตามคาดแนวโน้มตลาดรถยนต์นับตั้งแต่เดือน ต.ค. 2554 จะลดลง อันเป็นผลมาจากวิกฤตน้ำท่วมครั้งใหญ่ในหลายจังหวัดทั่วประเทศ โดยเฉพาะในนิคมจังหวัดอยุธยา ส่งผลให้โรงงานผลิตรถยนต์Honda และโรงงานผลิตชิ้นส่วนรถยนต์หลายแห่งได้รับผลกระทบ จนค่ายรถยนต์หลายแห่งต้องหยุดการผลิตไปอย่างไม่มีกำหนด เนื่องจากปัญหาขาดแคลนชิ้นส่วน ทำให้บริษัทรถยนต์ไม่สามารถส่งมอบได้ตามกำหนด
        ประกอบกับความเสียหายทางทรัพย์สินจากเหตุน้ำท่วมครั้งใหญ่ ย่อมส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภคชะลอตัวลง ซึ่งถือเป็นปัจจัยหลักที่จะกดดันยอดขายรถยนต์ในประเทศช่วงไตรมาส 4/2554 และทำให้ทั้งปี 2554 คาดมียอดขายประมาณ 8.5 แสนคัน ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่คาดจะสร้างยอดขายเกิน 9 แสนคัน ทั้งนี้จาก Sentiment เชิงลบของกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และการดำเนินงานของกลุ่มชิ้นส่วนฯ ที่จะชะลอตัวลงแรงในงวดไตรมาส 4/2554 จึงแนะนำชะลอการลงทุนหุ้นในกลุ่มยานยนต์
*** โบรกฯ ฟังธง! น้ำท่วมกระทบภาคอสังหาฯ โดยตรง
        บล.เอเซีย พลัส เปิดเผยว่าเหตุการณ์น้ำท่วมได้ลุกลามเข้าสู่พื้นที่กรุงเทพฯ โดยเฉพาะฝั่งตะวันตกย่านชัยพฤกษ์ ราชพฤกษ์ แจ้งวัฒนะ และบางใหญ่ ซึ่งเป็นที่ตั้งของหมู่บ้านจัดสรรจำนวนมาก โดยทางบริษัทแลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ LH ระบุว่ามีจำนวน 2 โครงการที่ถูกน้ำท่วม และอยู่ในพื้นที่เสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอีก 3-4 โครงการ
        นอกจากนี้แผนการเปิดโครงการใหม่ในไตรมาส 4/2554 หากอยู่ในพื้นที่ที่ถูกผลกระทบจะเลื่อนออกไปก่อน ส่วนทางบริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) หรือ SIRI มีหมู่บ้านที่ถูกน้ำท่วม 3 โครงการ และอยู่ระหว่างทบทวนการเปิดโครงการใหม่ช่วงไตรมาส 4/2554 ขณะที่บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท จำกัด (มหาชน) หรือ PS ได้รับผลกระทบ 6 โครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา อาทิ ย่านรังสิต พุทธมณฑล มูลค่า 3-4 พันล้านบาท และทางบริษัทได้ตัดสินใจเลื่อนแผนการเปิดบางโครงการใหม่ในงวดไตรมาส 4/2554 จากแผนเดิม 10-20 โครงการ ด้าน PF มี 1 โครงการที่ถูกน้ำท่วมแล้ว คือมณีรินทร์ ติวานนท์ และที่ต้องเผ้าระวังคือ เดอะวิลล่า บางบัวทอง กับเพอร์เฟคพาร์ค
        สำหรับบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC ยังไม่มีโครงการที่ถูกน้ำท่วม แต่มีอยู่ในเขตพื้นที่เสี่ยงย่านราชพฤกษ์ 6-7 โครงการ ซึ่งอยู่ระหว่างการขาย 5-6 โครงการ มูลค่า 4-5 พันล้านบาท
        ทั้งนี้ประเมินว่าเหตุการณ์น้ำท่วมส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการโดยตรง ทั้งในด้านยอด Presale ในงวดไตรมาส 4/2554 ที่มีทิศทางชะลอตัว ซึ่งเกิดจากการชะลอการตัดสินใจซื้อของลูกค้าการเข้าเยี่ยมชมโครงการเป็นไปได้ลำบากในบางทำเล และการเลื่อนเปิดโครงการใหม่ออกไปของผู้ประกอบการ
        ขณะที่ยอดโอนฯพร้อมบันทึกรายได้มีแนวโน้มลดลงเช่นกัน ซึ่งเกิดจากลูกค้าเลื่อนโอนฯในส่วนของบ้านสร้างเสร็จก่อนขาย และการก่อสร้างที่ล่าช้าจากการขนส่งวัสดุก่อสร้างเป็นไปอย่างยากลำบาก นอกจากนั้นคาดว่าจะมีการบันทึกค่าใช้จ่ายสำหรับการป้องกันน้ำท่วม การซ่อมแซมบ้านและสาธารณูปโภคส่วนกลางเข้ามาในช่วงไตรมาส 4/2554 อีกด้วย
        ทั้งนี้ยอด Backlog ณ สิ้นไตรมาส 2/2554 ของ14 บริษัทจดทะเบียนที่ฝ่ายวิจัย Cover ที่ระดับ1.66 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นแนวราบกว่า 4 หมื่นล้านบาท อาจจะต้องเลื่อนไปโอนฯในปี 2555 บางส่วน เมื่อพิจารณาเป็นรายบริษัทพบว่าผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ PS ซึ่งเป็นเจ้าตลาดแนวราบในเขตชานเมืองกทม.และปริมณฑล
        ส่วนผู้พัฒนาบ้านระดับกลาง-บนอย่าง LH, บริษัท ควอลิตี้เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) หรือ QH และ SIRI ได้รับผลกระทบในบางทำเลที่มีความเสี่ยง ส่วนผู้ที่ได้รับผลกระทบน้อยคือผู้พัฒนาคอนโดมิเนียมอย่างบริษัท แอล.พี.เอ็น.ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ LPN,บริษัท โนเบิล ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOBLE และบริษัท ไรมอน แลนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ RAIMON
*** กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ให้น้ำหนักการลงทุนน้อยกว่าตลาด
        บล.ธนชาต เปิดเผยว่ากลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ให้น้ำหนักการลงทุนน้อยกว่าตลาด โดยหุ้นพื้นฐานที่ฝ่ายวิเคราะห์ Cover คือบริษัท ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส จำกัด (มหาชน) หรือ HANA,บริษัท สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SMT และบริษัท แคล-คอมพ์ อีเล็คโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CCET ซึ่งได้รับผลกระทบเชิงลบจากเหตุการณ์อุทกภัยครั้งนี้
        โดยคาดว่า SMT จะได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากโรงงานของ SMT มีเพียงที่เดียวที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน และลูกค้ารายใหญ่ของบริษัท คือ บริษัท Western Digital (WD) ซึ่งมีสัดส่วนรายได้จาก WD คิดเป็นประมาณ 80% ของรายได้ SMT ประกอบกับโรงงานตั้งอยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน SMT ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน
        แม้ว่า CCET จะมี WD เป็นลูกค้ารายใหญ่เช่นกัน แต่กลับมีสถานะที่ดีกว่าหากเทียบกับ SMT เพราะ CCET มีโรงงานทั้งในมาเลเซีย มหาชัย และสมุทรปราการ ซึ่งน้ำยังไม่สามารถเข้าถึงได้และยังปลอดภัยดี ซึ่ง ณ ปัจจุบัน โรงงานเหล่านี้เดินสายการผลิตเต็มกำลัง
*** โบรกฯ มองยังพอมีกลุ่ม วัสดุฯ - รับเหมา -กำจัดขยะ และ อาหารที่ได้รับประโยชน์ 
        นายสมชาย เอนกทวีผล ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟินันเซียไซรัส กล่าวว่า ผลกระทบจากน้ำท่วมที่เกิดขึ้นยังไม่แน่ใจว่าจะเป็นเพียงผลกระทบระยะสั้นหรือไม่ เพราะขณะนี้ระดับน้ำยังไม่ลดลง และแม้ว่าหลังน้ำลดลงก็ต้องใช้เวลาฟื้นฟูอีกหลายเดือน ดังนั้น ผลกระทบที่จะตามมาจึงมีอีกมาก ไม่ใช่แค่ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งเท่าที่เห็นภาพชัดเจนที่สุด คือกลุ่มนิคมอุตสาหกรรม และโรงงานต่างๆ ที่อยู่ในนิคม ต้องปิดทำการไป ซึ่งโรงงานส่วนใหญ่เป็นบริษัทผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้น จะมีปัญหาตามมาอีกมาก รวมถึงธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับผลกระทบในแง่ของการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
        ทั้งนี้ หากเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจโลก ถือว่าวิกฤติน้ำท่วมนั้นรุนแรงกว่า เพราะที่ผ่านมา แม้เศรษฐกิจโลกมีปัญหา แต่ก็เป็นทางอ้อม สะท้อนจากผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนยังออกมาดี แต่น้ำท่วมนั้นกระทบโดยตรงต่อเศรษฐกิจไทย
        "ยังประเมินได้ลำบากว่าจะกระทบต่อผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนเท่าไหร่ อย่างไร เพราะยังไม่แน่ใจว่าน้ำจะลดช่วงไหน " นายสมชาย กล่าว
        นางสาวธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป กล่าวว่า ผลกระทบเชิงลบต่อบริษัทจดทะเบียนที่เห็นได้ชัดในขณะนี้ คือ 1.กลุ่มนิคมอุตสาหกรรม 6-7 แห่ง ที่ถูกน้ำท่วม 2. กลุ่มยานยนต์ 3.กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ 4.กลุ่มท่องเที่ยว 5.กลุ่มสื่อ เพราะเม็ดเงินโฆษณาจะน้อยลงในช่วงที่คนไม่มีความมั่นใจ
        ส่วนกลุ่มที่ได้รับผลกระทบในเชิงบวก ได้แก่ 1.กลุ่มวัสดุก่อสร้าง เพราะดีมานด์จะมีมากขึ้น จากการซื้อวัสดุต่างๆ ไปซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนเพื่อป้องกันน้ำท่วม นอกจากนี้ดีมานด์หลังน้ำท่วมก็ยังมีต่อเนื่องจากการซื้อวัสดุเพื่อซ่อมแซมบ้านหลังน้ำลด 2.กลุ่มกำจัดขยะ รับเหมาก่อสร้าง 3.กลุ่มอาหาร เครื่องดื่มส่วนการปรับเป้าหมายรายได้ของบริษัทจดทะเบียน ขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ จนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลายลง ซึ่งก็ยังไม่ทราบว่าจะเป็นช่วงเวลาใด
        "ยังประเมินผลกระทบค่อนข้างยาก ข้อมูลทุกอย่างยังไม่ชัดเจน เร็วไปที่จะประเมิน เพราะบางบริษัทก็ยังไม่สามารถเข้าไปตรวจสอบความเสียหายได้ แต่เราคงต้องปรับประมาณการใหม่แน่นอน" นางสาวธีรดา กล่าว
*** บจ.ในนิคมฯ ยังจมน้ำต่อเนื่อง
        หลังจากน้ำท่วมขยายวงกว้างไปอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ที่มีฐานการผลิตอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมที่ประสบอุทกภัย หลายแห่งเริ่มทยอยออกมาแจ้งหยุดการดำเนินการต่อทางตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งพอจะรวบรวมรายชื่อได้ดังนี้
        บริษัทปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) (SCC) มีบริษัทย่อยของ ต้องหยุดผลิตเป็นการชั่วคราวดังนี้ โรงงานของบริษัทควอลิตี้คอนสตรัคชั่นโปรดัคส์ จำกัด (มหาชน) (Q-CON) ซึ่งผลิตคอนกรีตมวลเบา ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ได้หยุดผลิตตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2554 , โรงงานของบริษัทกลุ่มสยามบรรจุภัณฑ์ จำกัด ซึ่งผลิตกล่องกระดาษ ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนคร หยุดผลิตตั้งแต่วันที่ 18 ตุลาคม 2554 ,โรงงานของบริษัทกระเบื้องกระดาษไทย จำกัด และบริษัทผลิตภัณฑ์กระเบื้อง (ลำปาง) จำกัด ที่จังหวัดลำปาง หยุดสายการผลิตบางสายตั้งแต่วันที่12 ตุลาคม 2554 ,โรงงานของบริษัทปูนซิเมนต์ไทย (ท่าหลวง) จำกัด จังหวัดสระบุรี ได้หยุดผลิตตั้งแต่วันที่12 ตุลาคม 2554
        สำหรับโรงงานของบริษัทร่วมที่ตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมนวนครซึ่งได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโรงงานและต้องหยุดการผลิต ได้แก่ บริษัทสยามซานิทารีฟิตติ้งส์ จำกัด (ผลิตก๊อกน้ำและอุปกรณ์ประกอบสุขภัณฑ์)บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด โรงงานนวนคร (ผลิตเครื่องจักรกลการเกษตร) บริษัทผลิตภัณฑ์วิศวไทยจำกัด (ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์) และบริษัทมูซาชิออโต้พาร์ท จำกัด โรงงานนวนคร (ผลิตชิ้นส่วนจักรยานยนต์)
        บริษัท เกียรติธนาขนส่ง จำกัด (มหาชน) มีสำนักงานสาขาตั้งอยู่ที่ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน ประกาศหยุดการดำเนินงานเป็นการชั่วคราว และได้อพยพพนักงาน ขนย้ายสินค้า รวมถึงย้ายรถหัวลากทุกคันออกจากพื้นที่ประสบภัย ไปยังสำนักงานสาขาสระบุรี ตั้งแต่วันที่ 11 ตุลาคม 2554 ซึ่งส่งผลกระทบต่อบริษัทฯ ซึ่งมูลค่าปริมาณด้านการขนส่งลดลงประมาณ 30% เนื่องจากต้องมีการปรับเปลี่ยนเส้นทางการเดินรถ เพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ถูกน้ำท่วม และเกิดความล่าช้าในการส่งมอบสินค้าให้แก่ลูกค้า ทั้งนี้ลูกค้าทั้งหมดได้รับแจ้งถึงเหตุจำเป็นของวิกฤตการณ์ในครั้งนี้ รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในการส่งมอบสินค้าเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าสำนักงานสาขาบางปะอิน จะเปิดดำเนินการได้หลังจากสถาณการณ์น้ำท่วมคลี่คลายและกลับเข้าสู่ภาวะปกติ
        บมจ. เอ็ม.ซี.เอส.สตีล (MCS) มีที่ตั้งอยู่ที่ตำบลช้างใหญ่ อำเภอบางไทร จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ตัดสินใจหยุดดำเนินการชั่วคราว เพื่อให้พนักงานบางส่วนเดินทางกลับบ้าน โดยจะหยุดดำเนินการชั่วคราวและจะเปิดดำเนินการในวันจันทร์ที่ 31 ตุลาคม 2554 เนื่องจากได้มีน้ำเอ่อล้นบริเวณถนนรอบโรงงานระดับที่ค่อนข้างสูง ทำให้เส้น ทางจราจรไม่สะดวก
        ด้าน บริษัท ริช เอเชีย สตีล จำกัด (มหาชน) หรือ RICH เปิดเผยว่า บริษัท ไทย เนชั่นแนล โปรดัคท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทย่อย ตั้งอยู่ที่ ตำบลไทรใหญ่ อำเภอไทรน้อย จังหวัดนนทบุรี ได้หยุดทำการจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพราะได้รับผลกระทบจากสภาวะน้ำท่วมในวงกว้างดังกล่าวในส่วนของการขนส่งวัตถุดิบที่จะนำมาผลิตเป็นสินค้าสำเร็จรูป และการขนส่งสินค้าสำเร็จรูปไปยังหน่วยงานก่อสร้างของลูกค้าอยู่
        ส่วนบริษัท ซี.ไอ.กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ได้หยุดการผลิตที่โรงงานในจังหวัดปทุมธานีเป็นการชั่วคราวเนื่องจากผลกระทบ จากเหตุอุทกภัยในจังหวัดปทุมธานี โดยน้ำได้เข้าท่วมบริเวณโดยรอบของโรงงานและได้ไหลซึมท่วมเข้ามาภายในโรงงาน บางส่วน เนื่องจากการที่แผงควบคุมไฟฟ้าบางส่วนอยู่ในระดับที่ต่ำ ทั้งนี้ทางบริษัทฯมีการทำประกันภัยความเสียหายของทรัพย์สินของบริษัทซึ่งรวม ไปถึงความเสียหายที่อาจเกิดจากเหตุอุทกภัยไว้เพียงพอแล้ว
        บริษัท ไทยพัฒนาโรงงานอุตสาหกรรม จำกัด (มหาชน) (TFD) ที่มีโรงงานอุตสาหกรรมสำเร็จรูป ขนาด 1,080 ตารางเมตร ตั้งอยู่ในเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมนวนครจังหวัดปทุมธานี ได้รับผลกระทบเช่นกันหลังจาก นิคมฯ ดังกล่าว และภาคราชการได้ขอความร่วมมือให้ผู้ประกอบการหยุดการผลิต และเคลื่อนย้ายพนักงานออกจากพื้นที่ เพื่อความปลอดภัยของพนักงานเพราะสถานการณ์น้ำท่วมยังคงรุนแรงและนิคมฯได้ สั่งปิดพื้นที่เป็นการชั่วคราว บริษัทฯ จึงได้แจ้งให้ผู้ประกอบการถอนกำลังคนออกจากโรงงานฯส่วนความเสียหายที่อาจ เกิดขึ้นยังไม่สามารถจะประเมินได้ในขณะนี้จนกว่าสถานการณ์น้ำท่วมจะคลี่คลาย ในทางที่ดีขึ้น
        บริษัท กุลธรเคอร์บี้ จำกัด (มหาชน) หรือ KKC ที่มีที่ตั้งในนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง ประกาศหยุดประกอบกิจการชั่วคราว เพื่อเตรียมรับมือกับภาวะน้ำท่วม เนื่องจาก มีความเป็นไปได้สูงมากที่น้ำจะไหลเข้าสู่พื้นที่เขตนิคมภายในเร็ววันนี้ จึงได้หยุดประกอบกิจการตั้งแต่วันที่ 20 ตุลาคม 2554 นี้และจะเปิดดำเนินกิจการก็ต่อเมื่อสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลาย
        บริษัท ดราโก้ พีซีบี จำกัด (มหาชน) หรือ DRACO มีสถานที่ตั้งอยู่ในสวนอุตสาหกรรมบางกะดี อำเภอเมืองปทุมธานีได้เกิดมีการรั่วซึมของน้ำในบางจุดที่คันดินกั้นน้ำของสวนอุตสาหกรรมฯ จึงมีความจำเป็นต้องหยุดสายการผลิตเป็นการชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 21 ต.ค. จนกว่าสถานการณ์จะกลับคืนสู่ภาวะปกติส่วนความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ยังไม่สามารถที่จะประเมินได้ อย่างไรก็ตาม บริษัทฯได้ทำประกันภัยที่ครอบคลุมความเสียหายต่อทรัพย์สินและการหยุดชะงักทางธุรกิจไว้แล้ว