พฤหัสฯ 6 ต.ค.2554--eFinanceThai.com :
ถึงเวลาช้อปหุ้นแบงก์แสนถูก

        วงการมองถึงเวลาช้อปหุ้นแบงก์ ระบุราคาถูก เท่ากับช่วง Subprime อาทิ BBL, KTB,KK ขณะที่โดยรวมฐานะการเงินยังแกร่ง คุณภาพสินทรัพย์- สินเชื่อยังดี คาดผลงาน Q3/54 ที่จะทยอยประกาศกลางเดือนนี้ยังแจ่ม แถมได้รับผลกระทบจากวิกฤตหนี้กรีซ วงจำกัด
        จากประเด็นความเสี่ยงของวิกฤตหนี้ในยุโรปที่ยังไม่สะเด็ดน้ำ โดยเฉพาะกระแสข่าวว่า กรีซอาจผิดนัดชำระหนี้ ทำให้หลายฝ่ายกังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อภาคการเงินทั่วโลก ฉุดตลาดหุ้นทั่วโลก รูดกระหน่ำทำลายสถิติเป็นว่าเล่นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา รวมทั้งตลาดหุ้นไทย โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งวงการมองว่าเวลานี้ราคาหุ้นบางตัวถูกเท่ากับตอนSubprime
        ล่าสุด นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ธนาคารพาณิชย์ของไทยถือครองพันธบัตรในยุโรปน้อยมากจึงเชื่อว่าจะไม่ถูกกระทบจากปัญหาหนี้ในยุโรป ประกอบกับมีทุนสำรอง เพียงพอดูแลทุนไหลออก
        นอกจากนั้นกลุ่มแบงก์จะทยอยประกาศงบ Q3/54 กลางเดือนเป็นต้นไป คาดกลุ่มแบงก์จะรายงานกำไร เติบโต 3% เมื่อเทียบกับ ไตรมาส/ไตรมาส และเติบโต 23% เมื่อเทียบปีต่อปี โดยแบงก์ที่คาดกำไรโตเด่นสุดคือ KTB SCB (รายได้วายุภักดิ์) ส่วนแบงก์ที่คาดว่ารายงานกำไรลดลง Q-Q ปีต่อปี คือ TCAP ส่งผลให้หุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์วานนี้ ปิดในแดนบวก อาทิ
        ** ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)(BBL) ปิดที่ 128.50บาท เพิ่มขึ้น1.50 บาทหรือ 1.18% มูลค่าการซื้อขาย 922.98ล้านบาท
        ** ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน(SCB)ปิดที่ 97.25บาท เพิ่มขึ้น0.50 บาทหรือ0.52 % มูลค่าการซื้อขาย 1070.58ล้านบาท
        ** ธนาคาร กสิกรไทย จำกัด(มหาชน)(KBANK)ปิดที่ 105.50บาท เพิ่มขึ้น1.00 บาทหรือ 0.96% มูลค่าการซื้อขาย1145.37 ล้านบาท
        ** ธนาคารเกียรตินาคินจำกัด(มหาชน)(KK)ปิดที่ 26.25บาท เพิ่มขึ้น0.50 บาทหรือ 1.94% มูลค่าการซื้อขาย 32.01ล้านบาท
        ** ส่วน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)(KTB) ปิดที่ 13.30 บาท ไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าการซื้อขาย 1339.63ล้านบาท
        ** และธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)(BAY) ปิดที่ 18.50บาท ไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าการซื้อขาย212.45 ล้านบาท
        ** บริษัท ทุนธนชาต จำกัด (มหาชน) (TCAP)ปิดที่ 25.25บาท ไม่เปลี่ยนแปลง มูลค่าการซื้อขาย 77.55ล้านบาท
        ** ขณะที่ ธนาคาร ทหารไทย จำกัด(มหาชน)(TMB)ปิดที่ 1.24บาท ลดลง0.01 บาทหรือ 0.80% มูลค่าการซื้อขาย 164.48ล้านบาท
        ** บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ( TISCO)ปิดที่30.75 บาท ลดลง 1.75บาทหรือ5.38 % มูลค่าการซื้อขาย177.95 ล้านบาท
       ขณะที่ SET Index ปิดที่ 862.65 จุด เพิ่มขึ้น 7.20 จุดหรือ 0.84% มูลค่าการซื้อขาย 21,914.48ล้านบาท
***FSS เชียร์หุ้นแบงก์ราคาถูก เท่ากับช่วง Subprime อาทิ BBL, KTB,KK***
       บทวิเคราะห์ บล.ฟินันเซียไซรัส ระบุว่า หลายแบงก์ในบ้านเราถูกเท่ากับตอน Subprime หุ้นกลุ่มแบงก์ทั่วโลกร่วงหนักเพราะกังวลกรีซผิดนัดชำระหนี้ ทำให้กลุ่มแบงก์
       วันนี้(4 ต.ค.) -4.7% ขณะที่ SET -1.6% จนหลายแบงก์มีราคาต่ำกว่า Book value ทั้งที่แบงก์เคยซื้อขายต่ำกว่า Bookvalue เพียงครั้งเดียวคือช่วง Subprime ขณะที่ฐานะการเงิน คุณภาพ
       สินทรัพย์ หนี้เสีย ตั้งสำรอง การโตของสินเชื่อ ดีขึ้นมากจากในอดีต ปัจจุบันกลุ่มแบงก์ซื้อขายที่ -1SD ของค่าเฉลี่ย PBV ต่ำเท่ากับในช่วง Subprime โดยแบงก์ที่มีค่า -1SD PBV ได้แก่ BBL, KTB,KK
       ทั้งนี้จากตรวจสอบข้อมูล ของ eFinancethai พบว่า ณ วันที่ 30 พ.ค. 54 มูลค่าทางบัญชีของ BBL อยู่ที่ 124.06บาท ,KTB อยู่ที่ 10.96 บาท และ KK อยู่ที่ 35.60บาท
       ขณะเดียวกันคาดว่ากำไรในไตรมาส 3/2554 ของทุกธนาคาร (ยกเว้น TCAP ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายพิเศษเข้ามามากใน Q3/54) จะเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยฯเมื่อเทียบ Y-Y (คาดเพิ่มเฉลี่ยราว 25%Y-Y) ซึ่งคาดว่า KBANK น่าจะมีอัตราการเติบโตที่น่าสนใจที่สุดราว 40%Y-Y ขณะที่ KTB น่าจะเป็นธนาคารที่มีกำไรเพิ่มขึ้นสูงสุดเมื่อเทียบ Q-Q (เทียบกับกลุ่มที่คาดว่าน่าจะทรงตัว-บวกเล็กน้อย) ส่วน SCB คาดว่าอาจจะมีเซอร์ไพรส์จากการปรับมูลค่าเงินลงทุนหุ้น SICCO ราว 300 ลบ. (~3.75% ของกำไรประจำไตรมาส) คงคำแนะนำ Overweight และคงแนะนำ KBANK, SCB เป็น Top Pick
*** มองผลกระทบวิกฤตศก.โลกต่อกลุ่มแบงก์ในวงจำกัด คาด สินเชื่อปีนี้-ปีหน้ายังโต ***
       อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ บล.ฟินันเซียไซรัส ได้ประเมินประเด็นความเสี่ยงจากวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐและยุโรปที่ปะทุขึ้น โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มธนาคารจำกัด โดยแยกผลกระทบเป็น 2 กรณี
       1. ผลกระทบต่อการเติบโตของสินเชื่อ :
       ยังคงคาดว่าสินเชื่อในปีนี้และปีหน้าจะขยายตัวในระดับสูงที่ราว 12% และ 9% ตามลำดับ ซึ่งเทียบเท่ากับ 3 เท่า และ 2 เท่าของประมาณการการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่นักเศรษฐศาสตร์คาดไว้ โดยมีสมมติฐานสำคัญว่าการลงทุนระยะยาวจะเป็นสิ่งที่ดำเนินต่อไป (เพื่อขยายกำลังการผลิต และการลงทุนใหม่) และมาตรการภาครัฐที่ต้องกระตุ้นการใช้จ่ายและมีโครงการก่อสร้างรออยู่อีกมาก
       อย่างไรก็ตามหากผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจโลกที่เป็นความเสี่ยงสำคัญและอาจหนักกว่าที่คาดไว้ ซึ่งอาจกีดขวางกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกี่ยวกับภาคส่งออก และทำให้สินเชื่อลดลงได้ จากผลการศึกษาจากวิกฤตสหรัฐ 2 ครั้ง (DotCom และ SubPrime) พบว่าสินเชื่อลดลงราว 3% ในช่วง DotCom และขยายตัวได้เล็กน้อยในช่วง Sub Prime เนื่องจากธนาคารมีลูกค้าหลักที่พึงพิงตลาดอื่นมากขึ้น ดังนั้นจึงคาดว่าวิกฤตครั้งนี้แม้จะชะลอความต้องการสินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกแต่จะถูกชดเชยได้จากสินเชื่อส่วนอื่น และขั้นต่ำของการขยายตัวของสินเชื่อปี 2012 น่าจะอยู่ที่ราว 1 เท่าของ Real GDP คือราว 4-4.5%
       2. ผลกระทบจากเงินลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ:
       จากการศึกษาธนาคารขนาดหลักมีเงินลงทุนในตราสารหนี้ต่างประเทศ แต่ส่วนใหญ่เป็นเงินลงทุนในตราสารหนี้ในประเทศในภูมิภาคเอเชีย มีเพียง BBL ซึ่งมีเงินลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐอยู่บ้าง แต่น้อยกว่า 1% ของเงินลงทุนทั้งหมด หรือประมาณ 2-3 พันลบ.กรณีที่เลวร้ายที่สุดจนอาจส่งผลให้ BBL ต้องตัดด้อยค่าเงินลงทุนในตราสารหนี้สหรัฐฯไปทั้งหมดจะส่งผลต่อ BVS เพียง 1 บาทและส่งผลต่อราคาเหมาะสมลงราว 2 บาท ซึ่งเล็กน้อยมากและมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากด้วย
***บล.กรุงศรีฯแนะนำ“หาจังหวะซื้ออ่อนตัว” KBANK BBL SCB KTB TISCO TCAP และ “เก็งกำไร” TMB KK***
       ด้านฝ่ายวิจัย บล.กรุงศรีอยุธยา (23 ก.ย. 54)วิเคราะห์ว่า กลุ่มธนาคารไทยมีงบดุลแข็งแกร่ง เช่น เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงเฉลี่ย 16.2% สามารถรองรับความเสี่ยงทางเศรษฐกิจและสนับสนุนการเติบโต, คุณภาพสินเชื่อปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง และ Coverage ratio สูงเฉลี่ย 97% ขณะที่รายได้ส่วนใหญ่ของกลุ่มฯ มาจากการบริโภคและการลงทุนในประเทศ นอกจากนี้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลอย่างโครงการรถยนต์คันแรก และบ้านหลังจะช่วยกระตุ้นการเติบโตของสินเชื่อ อย่างไรก็ดีปัจจัยเสี่ยงการลงทุนธนาคารกลับเป็นปัจจัยจากต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินของประเทศยุโรปและการฟื้นตัวอย่างอ่อนแอของเศรษฐกิจสหรัฐ ทำให้ราคาหุ้นธนาคารปรับลดลงมากกว่าตลาด
       ทั้งนี้ยังคงน้ำหนักการลงทุนกลุ่มฯ “มากกว่าตลาด” จากมุมมองบวกต่อพื้นฐานแข็งแกร่ง แต่ปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจยุโรปและสหรัฐฯ ยังน่าเป็นห่วง ซึ่งอาจกดดันราคาหุ้นธนาคารผันผวนสูง แนะนำ“หาจังหวะซื้ออ่อนตัว” KBANK BBL SCB KTB TISCO TCAP และ “เก็งกำไร” TMB KK
*** บล.ธนชาต ให้น้ำหนักการลงทุน กลุ่มแบงก์ “เท่าตลาด” และให้SCB และ BBL เป็น Top pick ของกลุ่ม***
       ด้านบทวิเคราะห์ บล.ธนชาต ประเมินว่าเป็นที่หลีกเลี่ยงมิได้ที่ธนาคารฯ จะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่อ่อนตัวถึงแม้เศรษฐกิจของประเทศไทจจะยังแข็งแกร่ง ซึ่งผลักดันโดยนโยบายประชานิยมเพื่อไม่ส่งผลบวกเต็มที่ต่อธุรกิจธนาคาร กลุ่มธนาคารจะประสบปัญหาอีกมากในปี2012 ปัญหาดังกล่าว รวมถึงการที่ ROE ขยายตัวช้าลงและการให้ซื้อขายที่ระดับเดียวกับธนาคารในภูมิภาคจึงปรับน้ำหนักการลงทุนของเราเป็น “เท่าตลาด”
       ปัญหาต่อเนื่องถึงปี 2012
       1) ภาคการส่งออกชะลอตัวลงจากปัจจัยเศรษฐกิจโลกอ่อนตัว การส่งออกมีสัดส่วนประมาณ 75% ของ GDP และ SME ซึ่งเป็นสัดส่วน 25% ของสินเชื่อรวม อาจได้รับความเสี่ยงจากการชะลอตัว
       2) การแข่งขันที่รุนแรงจากสถาบันการเงินทั้งที่เป็นส่วนของรัฐและ SFI เพื่อเตรียมสภาพคล่องสำหรับนโยบายประชานิยมของรัฐบาล
       3) กฎข้อบังคับที่มากขึ้นสำหรับการออกตั๋วแลกเงิน B/E
       4) Yield curveคงที่ซึ่งส่งผลให้ภาคธุรกิจระดมทุนผ่านตลาดตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้นแทน ที่การใช้สินเชื่อจากธนาคารเติบโตช้าลงถึงแม้ได้รับการคืนภาษีการเติบโตของ ผลประกอบการธนาคารต่างๆ ได้ผ่านจุดสูงสุดแล้ว และคาดการเติบโตจะอ่อนตัวลงจาก 32% ในปี 2011 เป็น 13% ในปี 2012 และ 12% ในปี2013 ด้วยปัจจัยอย่างการอ่อนตัวของ NIM, รายได้ค่าธรรมเนียมและการปล่อยสินเชื่อที่ลดลง รวมถึงการตั้งสำรองที่ปรับลดลง ปรับประมาณการกำไรลง 12-21% เพื่อสะท้อนถึงประมาณการเติบโตของสินเชื่อใหม่ รวมถึงการประมาณการ NIM และการตั้งสำรอง หากรวมการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลสุทธิ ปรับลดประมาณการลง 5% ในปี 2012, 7% ในปี 2013 และ 10% ในปี 2014.SCB และ BBL เป็น Top pick เนื่องจาก SCB มีแผนการปฏิบัติงานที่แข็งแกร่งรวมถึงเป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อเพื่อรายย่อย เพราะฉะนั้นปัจจัยดังกล่าวจะช่วยป้องกันธนาคารฯ จากปัญหาหากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง และยังช่วยให้รักษาอัตรา ROE ให้อยู่ในระดับสูงได้ ชอบ BBL เนื่องจากมีลักษณะค่อนข้าง defensive และน่าจะปรับตัวได้กับทุกปัญหาปัจจุบันซื้อขายค่อนข้างถูกที่ระดับ P/BV 0.9 เท่าของปี 2012 เราปรับลดน้ำหนักการลงทุนของ BAY เป็น “ถือ” จากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นในกลุ่มฯ และราคาปัจจุบันยังค่อนข้างสูง ถึงแม้ NIM และผลการดำเนินงานจะยังเติบโตอย่างแข็งแกร่งแต่ตลาดรับรู้เรื่องนี้แล้ว ส่วน KTB ยังขาดปัจจัยผลักดันราคาหุ้นแต่ให้ dividend yield 5% ปรับลดน้ำหนักการลงทุนลงเป็น “ถือ” จาก ซื้อ
***บล. ธนชาต มอง BBL หุ้นปลอดภัยในภาวะตลาดผันผวน ให้ราคาเป้าหมายที่ 180 บาท พร้อมเชียร์ SCB ให้ราคาเป้าหมาย 125 บาท***
       บทวิเคราะห์ บล. ธนชาต ระบุว่า BBL มีฐานะการเงินที่แข็งแกร่งที่สุด ธนาคารมีอัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากที่ต่ำที่สุดเป็นอันดับสองของกลุ่มฯ และด้วยมีเครือข่ายสาขาที่แข็งแกร่ง BBL จึงเผชิญกับความยากลำบากในการระดมเงินทุนน้อยกว่าธนาคารอื่นดังนั้นต้นทุนในการระดมเงินทุน (funding cost) ของธนาคารจึงต่ำที่สุดที่1.06% เทียบกับระดับเฉลี่ยของกลุ่มฯ ที่ 1.14% นอกจากนี้ loan losscoverage ratio ที่สูงที่ 176% ของธนาคารยังการันตีได้ว่า ธนาคารไม่มีความจำเป็นต้องตั้งสำรองเพิ่มเติมอีกหากมีอะไรเกิดขึ้นเหนือความคาดหมาย ในขณะที่ธนาคารอื่นต้องเพิ่มระดับการตั้งสำรอง คาดว่าค่าใช้จ่ายตั้งสำรองของ BBL จะทรงตัว นอกจากนี้ BBL ยังเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีเงินกองทุนขั้นที่ 1 ที่แข็งแกร่งที่สุดที่ 13.6% อีกด้วย
       มองว่า BBL เป็นหุ้นที่ปลอดภัยในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ BBL ซื้อขายที่ระดับต่ำกว่า P/BV band เฉลี่ย และซื้อขายที่ PE ที่ต่ำที่ 7.3 เท่าในปี2012F และด้วยมี upside จากราคาเป้าหมายของเราที่ 180 บาท/หุ้น 42%และให้ dividend yield ที่ 4% เราจึงยังคงแนะนำ “ซื้อ”
       ส่วนกรณีของ SCB มองว่าการที่ธุรกิจของ SCB มีความหลากหลาย ซึ่งช่วยกระจายความเสี่ยง และแผนการปฏิบัติงานที่แข็งแกร่งจะช่วยให้ธนาคารฯ สามารถป้องกันตัวเองพร้อมก้าวผ่านช่วงเวลาที่เกิดวิกฤตได้ รวมถึงยังสามารถรักษาอัตรา ROEให้อยู่ในระดับสูงได้อีกเช่นกัน การจะได้รับประโยชน์จากนโยบายคืนภาษีรถยนต์คันแรกและบ้านหลังแรกของรัฐบาล สนับสนุนให้ SCB เป็น Toppick ของเราในกลุ่มธนาคาร
       เนื่องจากในปีนี้ธนาคารฯ สามารถสร้างผลกำไรได้อย่างงดงาม SCB จึงมีการตั้งสำรองค่อนข้างสูงเพื่อเป็นมาตรการป้องกันในอนาคต คาดการตั้งสำรองครั้งนี้จะช่วยเพิ่มอัตราส่วน LLR ให้เป็น 118% ในปี 2011 และเนื่องจาก SCB มีฐานลูกค้าที่มีความเสี่ยงต่ำ โดย 39% จากสินเชื่อรวมเป็นสินเชื่อเพื่อรายย่อย ในขณะที่ประมาณ 44% เป็นสินเชื่อภาคธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งมีความเป็นไปได้ต่ำที่จะเกิดเป็น NPL กว่าคู่แข่ง ยังไม่เห็นUpside ต่อการตั้งสำรองของ SCB
       ชอบ SCB มากที่สุดในกลุ่มธนาคารด้วยปัจจัยด้านการบริหารที่ยอดเยี่ยมและความเป็นผู้นำในตลาดสินเชื่อเพื่อการบริโภค ซึ่งป้องกันธนาคารฯ จากปัญหาต่างๆได้ในรอบธุรกิจรอบนี้ และสามารถรักษา ROE ให้อยู่ในระดับสูงได้ เพราะฉะนั้น SCB ควรซื้อขายที่มูลค่าสูงกว่าคู่แข่ง ราคาเป้าหมาย ประเมินมูลค่าโดยวิธี DDM โดยให้ cost of equityเท่ากับ 12% ซึ่งจะทำให้เทียบเท่ากับ P/BV 2.0 เท่าในปี 2012 ณ ราคาปัจจุบัน มี upside 29% คงคำแนะนำ “ซื้อ”