อังคาร 4 ต.ค.2554--eFinanceThai.com :
หนี้กรีซ ฉุดSETทิ้งดิ่ง

        เซียนหุ้น ฟันธง SETวันนี้ยังขาลง เหตุปัญหาหนี้กรีซกดดันสั่งเกาะติดการชำระหนี้ใกล้ชิด มองแนวรับสัปดาห์นี้อยู่ที่ 850 จุด แนะWait&See ฟากโบรกฯ ชี้ หากศก.ยุโรปวิกฤต ดัชนีเสี่ยงขาลงถึง 634 จุด เหมือนช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ เผยตลาดฯระยะกลาง-ยาวยังเสี่ยงสูง "ขุนคลัง" ระบุหุ้นไทยร่วงตามตลาดหุ้นทั่วโลก เชื่อเป็นแค่ระยะสั้น ด้าน"จรัมพร"เตือน ระมัดระวังการลงทุน
        ความกังวลต่อปัญหาหนี้สินของกรีซที่ยังไม่ชัดเจน จนส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลงในการซื้อขายเมื่อวันที่ 3 ต.ค. 54 โดยเฉพาะตลาดหุ้นไทยปิดตลาดดัชนีฯลงแรงเกือบ 50 จุด โดยปิดที่ 869.31 จุด ลดลง 46.90 จุด หรือ 5.12% ทั้งนี้ ยังต้องลุ้นว่ากรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือรอบต่อไปในกลางเดือนต.ค.นี้จาก EU และ IMF มูลค่า 8.8 พันล้านยูโรหรือไม่ และหากได้รับการช่วยเหลือรอบนี้แล้ว กรีซจะผ่านพ้นการผิดนัดชำระหนี้ไปได้จริงหรือไม่ นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าภาคการผลิตของจีนและยอดค้าปลีกของเยอรมนีหดตัวลง และยังได้รับแรงกดดันจากข้อมูลเศรษฐกิจที่อ่อนแอของสหรัฐกดดันอีกทาง
*เซียนหุ้น ชี้ SET วันนี้ยังขาลง ชี้ปัญหาหนี้กรีซกดดัน สั่งเกาะติดการชำระหนี้ใกล้ชิด ส่วนแนวรับสัปดาห์นี้ ประเมินอยู่ที่ที่ 850 จุด แนะWait&See
        นางสาวธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทย(3 ต.ค.54)ปรับตัวลดลงแรงกว่าที่หลายฝ่ายได้คาดการณ์ไว้ เนื่องจากได้รับปัจจัยกดดันจากต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาหนี้สินในยุโรปกับการชำระหนี้ของประเทศกรีซที่จะมีขึ้นในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ ซึ่งหากกรีซผิดนัดชำระหนี้ก็อาจจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในประเทศแถบในยุโรปให้มีปัญหาเกิดขึ้นตามไปด้วย ซึ่งคงต้องติดตามต่อไปว่าจะสามารถชำระหนี้ได้ตามนัดหรือไม่ โดยตลาดหุ้นไทยได้เกิดแรงขายจากการตื่นตระหนกของนักลงทุน (Panic Sell) ทำให้นักลงทุนต่างชาติยังคงเทขายในหุ้นกลุ่มหลัก ทั้งกลุ่มธนาคารและกลุ่มพลังงาน ซึ่งเป็นหุ้นกลุ่มที่ชี้นำดัชนีตลาดหุ้นไทย
        สำหรับแนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ไทยในวันนี้ คาดว่าจะยังเป็นขาลง เพราะปัญหาหนี้สินในประเทศแถบยุโรปยังไม่มีความชัดเจน โดยเฉพาะการชำระหนี้ของประเทศกรีซ ซึ่งยังต้องติดตามความคืบหน้าต่อไปว่าจะชำระหนี้ได้ตามนัดหรือไม่ รวมไปถึงการนัดหารือของผู้นำประเทศในแถบยุโรปว่าจะมีมาตรการเพิ่มเติมเพื่อ เข้ามาช่วยเหลือในการแก้ไขปัญหาหนี้สินในแถบประเทศยุโรปได้อย่างไร ซึ่งเชื่อว่าหากมีความคืบหน้าในทิศทางเชิงบวกก็อาจจะส่งผลให้ตลาดหุ้นรี บาวน์ได้ในระยะสั้น แต่ยังมีกรอบที่จำกัด เพราะปัญหาหนี้สินในประเทศยุโรปยังไม่มีแนวทางแก้ไขที่ชัดเจนและเห็นสัญญาณ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
        กลยุทธ์การลงทุน แนะนำ Wait&See เพราะมองว่าตลาดฯยังอยู่ในทิศทางขาลง แต่หากดัชนีฯดีดตัวกลับก็ควรให้ขายหุ้นออกไปก่อน โดยประเมินแนวรับไว้ที่ 860-850 จุด ประเมินแนวต้าน 880-890 จุด
        นางสาวธีรดา กล่าวเพิ่มเติมว่า หากประเมินดัชนีตลาดหุ้นไทยตลอดทั้งสัปดาห์นี้ยังคงมีแนวโน้มที่จะเคลื่อนไหวอยู่ในทิศทางขาลง เพราะปัญหาหนี้สินในยุโรปยังไม่มีความชัดเจนในเชิงบวก แต่หากประเทศกรีซสามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดก็อาจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ตลาดหุ้นไทยฟื้นตัวได้ในระยะสั้น โดยมีโอกาสขึ้นไปทดสอบแนวต้านที่ 950 จุด แต่หากประเทศกรีซผิดชำระหนี้ก็จะส่งผลให้ตลาดหุ้นทั่วโลกปรับตัวลดลงได้ แต่ในเบื้องต้นได้ประเมินแนวรับระยะสั้นในสัปดาห์นี้ไว้ที่ 850 จุด
        อย่างไรก็ดีในช่วงสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนตุลาคมนี้ก็จะมีการทยอยประกาศผลประกอบการไตรมาส 3 ของบริษัทจดทะเบียนในตลาหลักทรัพย์ฯ ซึ่งก็เชื่อว่าจะมีการเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นเพิ่มขึ้นตลอดไปจนถึงปลายเดือนตุลาคมนี้ แต่ในภาพรวมตลาดฯยังคงขึ้นอยู่กับปัจจัยในต่างประเทศ ทำให้ภาพรวมยังเป็นขาลง จากภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะปัญหานี้สินในยุโรปยังคงมีปัญหาอยู่
        ด้านกลยุทธ์การลงทุน แนะนำถือเงินสดให้มากที่สุด แต่หากนักลงทุนสนใจในหุ้นควรเก็งกำไรในสัดส่วน 25% ของพอร์ต โดยเน้นเก็งกำไรในหุ้นที่มีข่าวหรือรับประโยชน์จากนโยบายภาครัฐและมีพื้นฐานดี โดยต้องเป็นหุ้น Defensive ประเมินแนวรับ 850 จุด แนวต้าน 890 จุด
*โนมูระ ชี้ หากศก.ยุโรปวิกฤต เสี่ยงดัชนีขาลงถึง 634 จุด เหมือนช่วงวิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ มองตลาดฯช่วงกลาง-ยาวยังเสี่ยงสูงจากปัญหายุโรป
        บทวิเคราะห์หลักทรัพย์จาก บล.โนมูะ พัฒนสิน ระบุว่า แนวโน้มตลาดหุ้นเดือนตุลาคม เรามีมุมมองด้านลบต่อตลาดหุ้นระยะกลาง และมองโอกาส 50% อาจเกิดวิกฤตยุโรปนำไปสู่ปัญหาแบงก์ล้มและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความเสี่ยงขาลงดัชนีฯอาจลงไปถึง 634-905 จุด อิง PER 7-9 เท่า เหมือน Hamberger Case สำหรับทางเทคนิคระยะ 3-6 เดือน ดัชนีฯฟอร์มเป็นรูปแบบขาลง แนวรับหลัก 871/848 แนวต้าน 950/972 จุด
        ส่วนแนวโน้มเดือนตุลาคม คาดดัชนีฯผันผวนสูงตามข่าว แนวทางแก้ปัญหาหนี้ยุโรป ซึ่งระยะกลาง-ยาว คาดว่าตลาดยังมีความเสี่ยง เพราะปัญหาหนี้ยุโรปยังต้องใช้เวลาในการปรับโครงสร้าง ผ่านการเพิ่มทุนของแบงก์ที่ถือตราสารหนี้ยุโรปจากการขาดทุนเงินลงทุนตรสารหนี้ยุโรป
        ดังนั้นข่าวดีต่อมาตรการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปในเดือนนี้ เราคาดเป็นเพียงปัจจัยหนุนการรีบาวน์ของดัชนีฯระยะสั้น
        กลยุทธ์รายเดือน แนะนำ Short term trading โดยเน้นหุ้นที่มี Earning cushion ปันผลสูง
Investment theme :
        (+) คาดกำไรดีขึ้น (3Q1F) แบงก์ (รับปันผลวายุภักดิ์ KTB SCB BAY) ยานยนต์ (Supply chain กลับมาผลิตได้ตามปกติ),Special event drive earning THCOM (พลิกมีกำไร),MINT,THAI (FX Gain และกลับรายการสำรองค่าใช้จ่ายคดี Anti trust) RATCH (รับรู้รายได้ TSI fund)
        (-) กำไรมีแนวโน้มแย่กว่าตลาดคาด กลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ โรงกลั่น (ขาดทุนสต็อกน้ำมัน) TVO STA,AOT FX Loss,BLA และกลุ่มหลักทรัพย์ อาจมีผลขาดทุนจากพอร์ตลงทุน
        (+) ปันผลดี DTAC INTUCH DCC LHBANK
        (+) Special events driven LHBANK
* ทิสโก้ ชี้ หากดัชนีฯ หลุด 865 จุดจะเป็นสัญญาณลงต่อเนื่อง 4 สัปดาห์เดือนนี้ สู่แนวรับ 760 จุด
        บทวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ระบุว่า แนวโน้มเดือน ต.ค. ; คาด SET แกว่งตัว (Sideways) กรอบ 870 – 950 จุด SET เปิด GAP ขาลง กว้าง 17 จุด ที่ 972 – 990 จุด กลายเป็นแนวต้านที่ 990 จุด เดือน ต.ค. 54 – เก็งกำไรผลประกอบการไตรมาส 3 บวก SET ลงแรงมา 2 เดือนแล้ว แนวโน้ม 2 สัปดาห์นี้ ; คาด SET แกว่งตัว ( Sideways ) กรอบ 900 – 950 จุด รอ Break Out หาก SET ขึ้นทะลุ 955 จุด จะเกิด Buy Signal ไป 990 จุด ( ขึ้นปิด GAP แล้วลง ) ในกรณีแย่กว่าคาด หาก SET ลงต่ำกว่า 900 จุด จะเป็นสัญญาณลบ SET จะซึมลงทดสอบแนวรับ 870 จุด ( หลุด 865 จุดจะเป็นสัญญาณลงต่อเนื่อง 4 สัปดาห์สู่แนวรับ 760 จุด
*รมว.คลังเผยหุ้นไทยร่วงตามตลาดหุ้นทั่วโลกเชื่อเป็นแค่ระยะสั้น
        นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ดัชนีตลาดหุ้นไทยที่ร่วงแรงในขณะนี้ เป็นการตอบรับระยะสั้นจากตลาดหุ้นทั่วโลก หลังนักลงทุนต่างชาติต้องเร่งขายหุ้นในเอเชีย เพื่อนำเงินไปคืนผู้ถือหน่วยลงทุนที่วิตกต่อปัญหาเศรษฐกิจโลก ไม่ได้เกิดจากปัญหาบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือปัญหาที่เกิดขึ้นในบ้านเราเอง ซึ่งเชื่อว่าจะเป็นการตอบรับระยะสั้นจากตลาดหุ้นทั่วโลกเท่านั้น นักลงทุนในตลาดหุ้นไม่ควรตื่นตามการขายของนักลงทุนต่างประเทศ แต่ควรลงทุนระมัดระวังและทำใจเรื่องการลงทุนไว้หน่อย
        "นักลงทุนต่างชาติถูกบังคับขายจากการถอนหน่วยลงทุนของผู้ลงทุน จึงต้องการสภาพคล่องซึ่งต่างชาติลงทุนในตลาดเอเชียมาก ดังนั้นจึงต้องการเงินเพื่อไปคืนผู้ถือหน่วย "รมว.คลังกล่าว
        อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจากปัจจัยพื้นฐานของไทยที่แข็งแกร่ง ในช่วงต่อไปนักลงทุนต่างชาติจะกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นเอเชีย เนื่องจากยังเป็นตลาดที่มีศักยภาพ ซึ่งยังบอกไม่ได้ว่านักลงทุนจะขายอีกนานเท่าไหร่และจะกลับมาลงทุนเมื่อไร
        "จรัมพร" ชี้เหตุหุ้นไทยร่วงแรงเพราะความไม่ชัดเจนปัญหาหนี้ยุโรป แนะ นลท. ระมัดระวังการลงทุนให้มาก แถมยันระบบเทรดไม่มีปัญหาเพราะวอลุ่มไม่เยอะ
        นายจรัมพร โชติกเสถียร กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวถึง สถานการณ์ตลาดหุ้นไทยในช่วงเช้าวันนี้ที่ปรับตัวลดลงเกือบ 5% ว่า เกิดจากความกังวลของนักลงทุนต่อความไม่ชัดเจนของสถานการณ์ในสหรัฐฯ ซึ่งยังมีข้อขัดแย้งและทำให้ภาคการฟื้นตัวของยุโรปดูลำบากมากขึ้น ซึ่งนักลงทุนยังคงต้องติดตามการแก้ไขปัญหาจากในยุโรปอย่างต่อเนื่อง ตราบใดที่ยังไม่สามารถทราบมาตรการในการแก้ไขปัญหา รวมถึงความเสียหายที่ชัดเจนก็อาจทำให้นักลงทุนกังวลต่อปัจจัยข่าวต่างๆ
        อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ตลาดหลักทรัพย์ยังไม่ได้รับการติดต่อจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งในการดำเนินงานตามปกตินั้นจะมีขั้นตอน โดยหากดัชนีปรับตัวลดลงถึงระดับ 5% จะต้องทำการรายงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และหากปรับตัวลดลงถึง 10% จะดำเนินการเซอร์กิต เบรกเกอร์ ตามลำดับ อย่างไรก็ตามยังคงยืนยันว่าระบบการทำงานของตลาดหุ้นยังมีความสมบูรณ์และไม่มีปัญหาเชิงเทคนิค เนื่องจากปริมาณการซื้อขายในวันนี้ไม่มาก จึงทำให้มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาเช่นเดียวกับเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา
        สำหรับแนวทางที่จะให้บริษัทจดทะเบียนมาซื้อหุ้นคืนเพื่อพยุงราคาหุ้นในตลาดหลักทรัพย์นั้น ยอมรับว่ามีแนวคิดดังกล่าว แต่ขณะนี้ยังไม่มีความรุนแรงถึงจุดที่จะต้องดำเนินการดังกล่าว
        นายจรัมพร เปิดเผยด้วยว่า ได้รับแจ้งจากนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ให้ชะลอแผนการแปรรูปตลาดทุนไทยอย่างไม่มีกำหนด โดยมีเหตุผลว่าตลาดทุนไทยยังสามารถแข่งขันได้แม้ไม่มีการแปรรูปดังกล่าว ทั้งนี้จะส่งผลทำให้แผนการเปิดเสรีตลาดทุนไทยชะลอออกไปเช่นกัน ดังนั้นจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการสภาตลาดทุน ซึ่งคาดว่าจะสามารถจัดตั้งได้ในเร็วๆ นี้ เพื่อหารือในเชิงนโยบาย
        อย่างไรก็ตาม ในส่วนการดำเนินงานของตลาดยังคงดำเนินงานตามปกติตามแผนการเดิม เนื่องจากได้มีการลงทุนในหลายส่วนแล้ว ทั้งด้านไอที การขยายฐานนักลงทุน และแผนลงทุนในตลาดต่างประเทศ รวมทั้งระดับอาเซียน ซึ่งถือว่าเป็นไปตามแผนยกระดับตลาดทุนไทยที่ได้วางแผนไว้ก่อนหน้านี้
        ทั้งนี้ยอมรับว่าอาจส่งผลต่อความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนต่างชาติที่จะมองถึงความไม่ชัดเจนในการดำเนินงานของนโยบายของไทย แต่โดยส่วนตัวเชื่อว่าเป็นมุมมองที่ผิด เนื่องจากมั่นใจว่าตลาดทุนไทยมีศักยภาพในการเติบโตได้ดี อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่ดีจากความสามารถ ส่วนนักลงทุนในไทยทั่วไปเชื่อว่ามีผลกระทบต่อความเชื่อมั่น เนื่องจากเรื่องดังกล่าวไม่ได้เป็นผลกระทบโดยตรงต่อตัวนักลงทุน
        นอกจากนี้ ยังประเมินว่าการชะลอแผนแปรรูปดังกล่าวอาจส่งผลทำให้ตลาดทุนมีความตื่นตัวในอัตราที่ช้าลง จากเดิมที่เมื่อมีแผนการจะทำให้ตลาดมีความตื่นตัวเพื่อรองรับการแข่งขันในอนาคต
        'ตอนนี้แผนแปรรูปชะลอแล้ว ท่านรองนายกฯ ได้แจ้งผ่านวาจาและสื่อ โดยท่านยืนยันว่าสามารถแข่งขันได้โดยไม่ต้องแปรรูป ซึ่งตอนนี้ยังไม่มีกำหนดว่าจะชะลอไปถึงเมื่อไหร่ แต่งานต่างๆ ก็ยังทำอยู่ตามปกติเพราะเรามีการลงทุนไปแล้วหลายๆ ด้าน ซึ่งเป็นไปตามแผนยกระดับตลาดทุนไทยด้วย จากนี้จะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสภาตลาดทุนในการประชุมรอบหน้า เพื่อคุยกันในเชิงนโยบาย' นายจรัมพร กล่าว
*เลขาฯ สมาคมนักวิเคราะห์ เผย ระยะสั้นทุนนอกยังไหลออกจากตลาดฯ ได้อีก แต่ชี้ พื้นฐานศก.ไทยยังดี แนะเก็บหุ้นปันผลแจ่ม
        นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการสมาคมนักวิเคราะห์ กล่าวว่า ระยะสั้นตลาดหุ้นไทยยังมีโอกาสเงินไหลออกอีก สาเหตุมาจากนักลงทุนยังวิตกกังวลกับปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปที่ยังเสี่ยงอยู่มาก แต่พื้นฐานเศรษฐกิจของไทยยังดีอยู่ นักลงทุนควรรอช่วงเก็บหุ้น
        ทั้งนี้มองว่าระยะสั้นโอกาสทำกำไรยังลำบาก แต่ระยะยาวแนะนำให้ซื้อหุ้นปันผล และทยอยสะสม LTF ซึ่งการที่เศรษฐกิจไทยพื้นฐานยังดี จึงเป็นโอกาสของนักลงทุนจะซื้อหุ้นปันผล และได้ผลกำไรจนถึงปี 2556
 * กิมเอ็ง ปรับลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นไทย ในเดือน ต.ค.นี้ สู่ "Neutral-to-Negative" จาก NEUTRAL เหตุปัจจัยนอกเสี่ยงสุดๆ
        บทวิเคราะห์ บล.กิงเอ็ง ระบุว่า การลงทุนตลอดเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศโดยเฉพาะฐานะการคลังในกรีซ หลังการประชุมระหว่าง กรีซ – IMF – EU วันที่ 2 ก.ย. เลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 3 ต.ค. ระหว่างนั้น สภาพคล่องทางการเงินของระบบสถาบันการเงินในอียูเริ่มตึงตัว การรายงานจาก ECB พบว่าเงินฝากในสถาบันการเงินของยุโรปเริ่มลดลง ECB ต้องขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารกลาง 4 ประเทศในการรับสินเชื่อสกุลเงินดอลลาร์ เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้แก่ธนาคารในยุโรปอีกทอดหนึ่ง รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการประชุมเฟดออกมาส่งสัญญาณเตือนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างมีนัยยะสำคัญ IMF ออกมาปรับลดเศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้าลง กลายเป็นเหตุให้เกิด Unwind US Dollar Carry Trade ทั่วโลก กดดันให้ SET INDEX หลุด 1,000 จุด วันที่ 22 ก.ย. มาปิด ณ วันที่ 23 ก.ย.ที่ 958.16 จุด ลดลง 111.89 จุด จาก ณ สิ้นเดือนส.ค.
        มุมมองต่อการลงทุนในเดือนต.ค. KimEng ลดน้ำหนักการลงทุนเป็นเดือนที่ 3 สู่ "Neutral-to-Negative" จาก NEUTRAL เดือนก.ย. ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญต่อการกำหนด Downside Risk ของตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยคงหนีไม่พ้น
        1. กรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือรอบที่ 6 หรือไม่ : ตามตารางเวลาจะมีการประชุมระดับผู้นำของกรีซ - IMF -EU วันที่ 3 ต.ค. คาดว่าจะพิจารณาอนุมัติเงินช่วยเหลือ 6 พันล้านยูโรในกลางเดือนต.ค. แต่ประเด็น ที่ตามมาคือ เงื่อนไขเพิ่มเติมในการรับเงินช่วยเหลือรอบที่ 2 แต่หากไม่ผ่านภายในสิ้นเดือนต.ค. อาจทำให้รัฐบาลกรีซไม่มีเงินมาชำระหนี้และค่าใช้จ่ายได้
        2. การครบกำหนดของพันธบัตรอิตาลี และสเปน : วงเงิน 1.35 หมื่นล้านยูโรของอิตาลี ณ สิ้นเดือนก.ย. และ 1.41 หมื่นล้านยูโรของสเปน ณ สิ้นเดือนต.ค.
        3. การขยายวงเงิน EFSF : ตลาดเชื่อว่าสภาฯ เยอรมันจะอนุมัติผ่านร่างดังกล่าวและจะทำให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่มอียู อนุมัติตามมา ทำให้เงินกองทุนดังกล่าวจะถูกขยายได้เต็มจำนวนที่ 4.4 แสนล้านยูโร ภายในกลางเดือน ต.ค. แต่ประเด็นอยู่ที่ วงเงินดังกล่าวอาจไม่เพียงพอต่อการรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินในกลุ่มยุโรปได้เช่นกัน ณ ปัจจุบันมีการคาดไว้สูงถึง 9.0-10.0 แสนล้านยูโร
        4. ความคืบหน้าของแผนกระตุ้นการจ้างงานและภาษีของสหรัฐฯ : คาดว่าตลอดเดือน ต.ค. จะมีการหารือ และการโต้แย้งจากพรรคฝ่ายค้าน Republican อย่างแน่นอน อาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ระยะกลางถึงยาว
        5. งบ 3Q54 ธนาคารในสหรัฐฯ : อาจเริ่มส่งสัญญาณเสี่ยงต่อการตัดเงินลงทุน/ตั้งสำรองจากพันธบัตรรัฐบาลกรีซ / อิตาลี ที่ราคาปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในเดือนก.ย. นี้ แม้ว่าจะไม่มาก แต่กลายเป็นจุดเสี่ยง
        ด้านปัจจัยในประเทศ ดูเหมือนว่ากลุ่มธนาคารจะเสี่ยงมากขึ้น ทั้งในแง่ของสินเชื่อเดือนก.ย. ที่น่าจะออกมาแย่กว่าคาด เพราะปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัด รวมถึงโอกาสเห็นความผิดหวังจากผลการดำเนินงาน 3Q54 ของกลุ่มธนาคารมีมากขึ้น เพราะหากย้อนกลับไปในช่วงที่งบ 2Q54 ของกลุ่มนี้ออกมาดีกว่าคาด กลายเป็นจุดที่ตลาดปรับประมาณการปีนี้และปีหน้าขึ้นอย่างโดดเด่นนั้นย่อมเท่ากับว่าตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อผลการดำเนินงานใน 2H54 และปีหน้าไปมากแล้ว โอกาสเกิด Positive Surprise เหมือนกับ 2Q54 เป็นไปได้ยาก แต่ในทางตรงกันข้าม หากออกมาแย่กว่าคาด บวกกับภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่เสี่ยงต่อการเติบโตในระดับต่ำ กลายเป็นจุดที่จะมีการปรับประมาณการลงได้เช่นกัน
        เมื่อภาพการลงทุนในเดือนต.ค. เต็มไปด้วยประเด็นเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ เงินทุนต่างชาติที่คาดว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก.ย. KimEng ปรับช่วงด้านล่างและด้านบนลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันสู่ (820) 850-950 (980) จุด จากเดือนก่อนหน้า (1,000) 1,020-1,080 (1,100) จุด
        ภาวการณ์ลงทุนในเดือนต.ค.ผ่านมุมมองของ KimEng มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภายนอก ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงาน 3Q54 ของกลุ่มธนาคารอาจไม่โดดเด่น กลายเป็น Downside Risk ที่เปิดมากขึ้น ดังนั้นการเลือกหุ้นในเดือนต.ค. จึงควรเป็นหุ้นกึ่ง Defensive พร้อมปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งอย่าง HMPRO , PYLON , RATCH และ TCAP
        กระแสเงินเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นเอเชียหนาแน่นในเดือนก.ย. นำโดยตลาดหุ้นไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ (ยกเว้นตลาดอินเดียที่กลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อย US$232.5 ล้าน) คิดเป็นมูลค่าขายสุทธิรวม US$5.5 พันล้าน จากความกังวลต่อปัญหาหนี้สินยุโรปทวีความรุนแรงมากขึ้นและอาจกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของยุโรป กอปรกับความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง หลังแถลงการณ์ของประธานเฟดระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้กระแสเงินทุนไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกอย่างหนักเพื่อลดความเสี่ยง หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกระลอก
        สำหรับภาพรวม SET INDEX เดือนก.ย. ปรับฐานลงแรงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากแรงกดดันประเด็นภายนอกประเทศ เป็นหลักจากความกังวลต่อปัญหาหนี้สินยุโรป และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กดดันให้ SET INDEX ปรับฐานลงแรง 10.5% MTD แต่ยัง Outperform ดัชนี MSCI Asia Pacific ex Japan ที่ปรับตัวลงถึง 15.2% MTD ทำให้ล่าสุดผลตอบแทน YTD ของ SET INDEX อยู่ที่ -7.2% เทียบกับ MSCI Asia Pacific ex Japan ที่ -22.4% YTD คิดเป็น Premium สูงถึง 15.1% เพิ่มขึ้นจาก 11.9% ในเดือน ส.ค. (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.ย.)