จันทร์ 3 ต.ค.2554--eFinanceThai.com :
ต.ค. SET ยังเสี่ยง

        โบรกฯ ฟันธงหนี้ยุโรป ยังกดดันหุ้นไทยเดือน ต.ค.ผันผวนสูง คาดดัชนีฯแกว่งตัวในกรอบ 870 – 990 จุด แนะเก็งกำไรดักงบQ3 ด้านกิมเอ็ง ปรับลดน้ำหนักลงทุน ลงสู่ "Neutral-to-Negative" จาก NEUTRAL ส่วนเคจีไอ ยังลุ้นแรงซื้อต่างชาติไหลเข้า ชี้ หากดัชนีฯ ยืนเหนือ 970 จุดไม่ได้ มีแววได้เห็นที่ 845 จุด
         หลังผลของรัฐสภาเยอรมันมีมติเมื่อวันที่ 29ก.ย.ที่ผ่านมา ให้ความเห็นชอบขยายเงินทุนและประสิทธิภาพของกองทุนรักษาเสถียรภาพการเงินยุโรป (EFSF) ด้วยคะแนนเสียง 523-85 ขณะที่ 3 รายงดออกเสียง ทั้งนี้กองทุน EFSF มีมูลค่า 4.40 แสนล้านยูโร (5.99 แสนล้านดอลลาร์) ซึ่งผู้นำของยุโรปได้บรรลุข้อตกลงร่วมกันในการประชุมสุดยอดเมื่อเดือนก.ค.54 ที่ผ่านมา และกฎหมายใหม่นี้จะทำให้วงเงินรับประกันของเยอรมนีเพิ่มขึ้นจากระดับ 1.23 แสนล้านยูโร เป็น 2.11 แสนล้านยูโร ถือเป็นจำนวนสูงที่สุดในบรรดาประเทศยูโรโซน และจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้กับการดำเนินงานของกองทุน EFSF ดูเหมือนตลาดหุ้นทั่วโลกรวมถึงไทยจะตอบรับในเชิงบวก แต่จะยังไว้ใจได้หรือไม่ และภาวะตลาดหุ้นไทยในเดือน ต.ค. นี้ จะเป็นอย่างไร
* โนมูระพัฒนสิน ชี้ ปัญหาหนี้ยุโรปยังกดดัน หุ้นไทยเดือน ต.ค.ผันผวนสูง เหตุปัญหาหนี้ยุโรปยังต้องใช้เวลาปรับโครงสร้าง
         บทวิเคราะห์ บล.โนมูระพัฒนสิน ระบุว่า มีมุมมองด้านลบต่อตลาดหุ้นระยะกลาง และมองโอกาส50% อาจเกิดวิกฤตยุโรป นำไปสู่ปัญหาแบงก์ล้มและเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความเสี่ยงขาลงดัชนีฯอาจลงไปถึง 634-905 จุด อิง PER7-9 เท่า เหมือน Hamburger Case สำหรับทางเทคนิคระยะ 3-6 เดือน ดัชนีฯฟอร์มเป็นรูปแบบขาลง แนวรับหลัก 871.848 จุด แนวต้าน 950-972 จุด แนวโน้มเดือน ต.ค. คาดดัชนีฯผันผวนสูงตามข่าวแนวทางแก้ปัญหาหนี้ยุโรป ซึ่งระยะกลาง-ยาว คาดว่าตลาดฯยังมีความเสี่ยง เพราะปัญหาหนี้ยุโรปยังต้องใช้เวลาในการปรับโครงสร้าง ผ่านการเพิ่มทุนของแบงก์ที่ถือตราสารหนี้ยุโรปจากการขาดทุนเงินลงทุนตราสารหนี้ยุโรป ดังนั้น ข่าวดีต่อมาตรการแก้ปัญหาหนี้ยุโรปในเดือนนี้ คาดเป็นเพียงปัจจัยหนุนการรีบาวน์ของดัชนีฯระยะสั้น กลยุทธ์รายเดือน แนะนำ Short term tarding โดยเน้นหุ้นที่มี Earning cushion ปันผลสูง
* กูรู คาดช่วงต้นเดือน ต.ค.แรงขายกดดัน SET ร่วงแต่ไม่มากเท่าเดือนก่อน แนะลงทุนช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของเดือนดักงบ Q3/54
         นายชัย จิรเสวีนุประพันธ์ ผู้อำนวยฝ่ายกลยุทธ์ลงทุน บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) โนมูระ พัฒนสิน กล่าวว่า จากการวิเคราะห์ตลาดหุ้นไทยในเดือนต.ค.54 คาดว่าจะอยู่ในลักษณะ Downside เนื่องจากปริมาณการซื้อขาย 50% ในตลาดหุ้นไทยขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างประเทศ โดยเฉพาะปัญหาในประเทศแถบยุโรปที่ในช่วงกลางเดือน ต.ค.ประเทศกรีซจะครบนัดชำระหนี้ ดังนั้นต้องติดตามต่อไปว่าจะชำระหนี้ได้ตามกำหนดหรือไม่ ในเบื้องต้นเชื่อว่าในช่วงต้นเดือนจะมีแรงขายทำกำไรออกมาก่อนเพื่อลดความเสี่ยง ขณะเดียวกัน ยังมีสัญญาณของปัจจัยลบจากการเตรียมปรับลดประมาณการณ์เศรษฐกิจลงอีกในเดือนหน้า หลังจากเดือนนี้หน่วยงานต่างๆยังไม่ได้นำปัจจัยลบจากปัญหาน้ำท่วมและความเชื่อมั่นนักลงทุนเข้าไปร่วมประเมินด้วย ซึ่งคงจะออกมาในทิศทางเชิงลบ อย่างไรก็ดี ในช่วงกลางเดือน ต.ค.นี้ก็จะมีการทยอยประกาศผลประกอบการในไตรมาส3/54ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดฯ ซึ่งอาจจะเป็นปัจจัยสนับสนุนได้ในหุ้นรายตัว
         ทั้งนี้ หากประเมินจากช่วงก่อนตลาดฯจะปรับตัวลดลงในเดือนก่อนหน้านี้ดัชนีฯอยู่ที่ 1,070 จุด จากปัจจุบันดัชนีฯอยู่ประมาณ 916 จุด โดยติดลบประมาณ 150 จุด แต่ในเดือนหน้าคาดว่าตลาดฯคงจะลงแต่ไม่มากเท่ากับเดือนก่อนหน้านี้ แต่ก็มีโอกาสที่จะลงไปแตะที่แนวรับ 850-836 จุดได้ในช่วงการซื้อภายในเดือนต.ค.นี้
         สำหรับด้านกลยุทธ์การลงทุนนักลงทุนควรไปพิจารณาลงทุนในช่วงสัปดาห์ที่2และ3ของเดือนต.ค.54 เพราะต้องรอให้ผลการชำระหนี้ของประเทศกรีซผ่านพ้นไปก่อนเพื่อจับตาภาวะตลาดฯ โดยเชื่อว่าหากข้อสรุปในประเทศยุโรปออกมาเป็นที่น่าพอใจนักลงทุนจะเป็นส่วนสนับสนุนให้ดัชนีฯขึ้นไปแตะแนวต้านที่ 950-990 จุดได้เช่นกัน ทั้งนี้ ควรต้องพิจารณาลงทุนในหุ้นจากการประกาศผลประกอบการไตรมาส3/54เป็นหลักด้วย
*ทิสโก้ คาด SET ต.ค. แกว่งตัวในกรอบ 870 – 990 จุด แนะเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาส 3
         บทวิเคราะห์ บล.ทิสโก้ ระบุว่า แนวโน้มเดือน ต.ค. คาด SET แกว่งตัว 120 จุด (Sideways) กรอบ 870 – 990 จุด SET เปิด GAP ขาลงกว้าง 17 จุด ที่ 972 – 990 จุด กลายเป็นแนวต้านที่ 990 จุด เดือน ต.ค. 54 แนะเก็งกำไรผลประกอบการไตรมาส 3 บวก SET ลงแรงมา 2 เดือนแล้ว
         แนวโน้มสัปดาห์นี้ คาด SET แกว่งตัว ( Sideways ) กรอบ 910 – 950 จุด รอ Break Out หาก SET ขึ้นทะลุ 955 จุด จะเกิด Buy Signal ไป 990 จุด ( ขึ้นปิด GAP แล้วลง ) ในกรณีแย่กว่าคาด หาก SET ลงต่ำกว่า 900 จุด จะเป็นสัญญาณลบ SET จะซึมลงทดสอบแนวรับ 870 จุด
* กิมเอ็ง ปรับลดน้ำหนักการลงทุนหุ้นไทย ในเดือน ต.ค.นี้ สู่ "Neutral-to-Negative" จาก NEUTRAL เหตุปัจจัยนอกเสี่ยงสุดๆ
         บทวิเคราะห์ บล.กิงเอ็ง ระบุว่า การลงทุนตลอดเดือนก.ย.ที่ผ่านมา เต็มไปด้วยปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศโดยเฉพาะฐานะการคลังในกรีซ หลังการประชุมระหว่าง กรีซ – IMF – EU วันที่ 2 ก.ย. เลื่อนออกไปจนถึงวันที่ 3 ต.ค. ระหว่างนั้น สภาพคล่องทางการเงินของระบบสถาบันการเงินในอียูเริ่มตึงตัว การรายงานจาก ECB พบว่าเงินฝากในสถาบันการเงินของยุโรปเริ่มลดลง ECB ต้องขอรับความช่วยเหลือจากธนาคารกลาง 4 ประเทศในการรับสินเชื่อสกุลเงินดอลลาร์ เพื่อนำไปปล่อยสินเชื่อให้แก่ธนาคารในยุโรปอีกทอดหนึ่ง รวมถึงตัวเลขเศรษฐกิจในสหรัฐฯ ออกมาแย่กว่าที่ตลาดคาดการประชุมเฟดออกมาส่งสัญญาณเตือนเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอย่างมีนัยยะสำคัญ IMF ออกมาปรับลดเศรษฐกิจโลกปีนี้และปีหน้าลง กลายเป็นเหตุให้เกิด Unwind US Dollar Carry Trade ทั่วโลก กดดันให้ SET INDEX หลุด 1,000 จุด วันที่ 22 ก.ย. มาปิด ณ วันที่ 23 ก.ย.ที่ 958.16 จุด ลดลง 111.89 จุด จาก ณ สิ้นเดือนส.ค.
         มุมมองต่อการลงทุนในเดือนต.ค. KimEng ลดน้ำหนักการลงทุนเป็นเดือนที่ 3 สู่ "Neutral-to-Negative" จาก NEUTRAL เดือนก.ย. ทั้งนี้ปัจจัยสำคัญต่อการกำหนด Downside Risk ของตลาดหุ้นทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นไทยคงหนีไม่พ้น
         1. กรีซจะได้รับเงินช่วยเหลือรอบที่ 6 หรือไม่ : ตามตารางเวลาจะมีการประชุมระดับผู้นำของกรีซ - IMF -EU วันที่ 3 ต.ค. คาดว่าจะพิจารณาอนุมัติเงินช่วยเหลือ 6 พันล้านยูโรในกลางเดือนต.ค. แต่ประเด็น ที่ตามมาคือ เงื่อนไขเพิ่มเติมในการรับเงินช่วยเหลือรอบที่ 2 แต่หากไม่ผ่านภายในสิ้นเดือนต.ค. อาจทำให้รัฐบาลกรีซไม่มีเงินมาชำระหนี้และค่าใช้จ่ายได้
         2. การครบกำหนดของพันธบัตรอิตาลี และสเปน : วงเงิน 1.35 หมื่นล้านยูโรของอิตาลี ณ สิ้นเดือนก.ย. และ 1.41 หมื่นล้านยูโรของสเปน ณ สิ้นเดือนต.ค.
         3. การขยายวงเงิน EFSF : ตลาดเชื่อว่าสภาฯ เยอรมันจะอนุมัติผ่านร่างดังกล่าวและจะทำให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ในกลุ่มอียู อนุมัติตามมา ทำให้เงินกองทุนดังกล่าวจะถูกขยายได้เต็มจำนวนที่ 4.4 แสนล้านยูโร ภายในกลางเดือน ต.ค. แต่ประเด็นอยู่ที่ วงเงินดังกล่าวอาจไม่เพียงพอต่อการรักษาเสถียรภาพระบบสถาบันการเงินในกลุ่มยุโรปได้เช่นกัน ณ ปัจจุบันมีการคาดไว้สูงถึง 9.0-10.0 แสนล้านยูโร
         4. ความคืบหน้าของแผนกระตุ้นการจ้างงานและภาษีของสหรัฐฯ : คาดว่าตลอดเดือน ต.ค. จะมีการหารือ และการโต้แย้งจากพรรคฝ่ายค้าน Republican อย่างแน่นอน อาจกลายเป็นความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ ระยะกลางถึงยาว
         5. งบ 3Q54 ธนาคารในสหรัฐฯ : อาจเริ่มส่งสัญญาณเสี่ยงต่อการตัดเงินลงทุน/ตั้งสำรองจากพันธบัตรรัฐบาลกรีซ / อิตาลี ที่ราคาปรับตัวลงอย่างมีนัยสำคัญในเดือนก.ย. นี้ แม้ว่าจะไม่มาก แต่กลายเป็นจุดเสี่ยง
         ด้านปัจจัยในประเทศ ดูเหมือนว่ากลุ่มธนาคารจะเสี่ยงมากขึ้น ทั้งในแง่ของสินเชื่อเดือนก.ย. ที่น่าจะออกมาแย่กว่าคาด เพราะปัญหาน้ำท่วมในหลายจังหวัด รวมถึงโอกาสเห็นความผิดหวังจากผลการดำเนินงาน 3Q54 ของกลุ่มธนาคารมีมากขึ้น เพราะหากย้อนกลับไปในช่วงที่งบ 2Q54 ของกลุ่มนี้ออกมาดีกว่าคาด กลายเป็นจุดที่ตลาดปรับประมาณการปีนี้และปีหน้าขึ้นอย่างโดดเด่นนั้นย่อมเท่ากับว่าตลาดมีมุมมองเชิงบวกต่อผลการดำเนินงานใน 2H54 และปีหน้าไปมากแล้ว โอกาสเกิด Positive Surprise เหมือนกับ 2Q54 เป็นไปได้ยาก แต่ในทางตรงกันข้าม หากออกมาแย่กว่าคาด บวกกับภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่เสี่ยงต่อการเติบโตในระดับต่ำ กลายเป็นจุดที่จะมีการปรับประมาณการลงได้เช่นกัน
         เมื่อภาพการลงทุนในเดือนต.ค. เต็มไปด้วยประเด็นเสี่ยงทั้งในและต่างประเทศ เงินทุนต่างชาติที่คาดว่าจะชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก.ย. KimEng ปรับช่วงด้านล่างและด้านบนลงเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกันสู่ (820) 850-950 (980) จุด จากเดือนก่อนหน้า (1,000) 1,020-1,080 (1,100) จุด
         ภาวการณ์ลงทุนในเดือนต.ค.ผ่านมุมมองของ KimEng มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากปัจจัยภายนอก ขณะที่แนวโน้มผลการดำเนินงาน 3Q54 ของกลุ่มธนาคารอาจไม่โดดเด่น กลายเป็น Downside Risk ที่เปิดมากขึ้น ดังนั้นการเลือกหุ้นในเดือนต.ค. จึงควรเป็นหุ้นกึ่ง Defensive พร้อมปัจจัยพื้นฐานที่แข็งแกร่งอย่าง HMPRO , PYLON , RATCH และ TCAP
         กระแสเงินเงินทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดหุ้นเอเชียหนาแน่นในเดือนก.ย. นำโดยตลาดหุ้นไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย ไทย และฟิลิปปินส์ (ยกเว้นตลาดอินเดียที่กลับมาซื้อสุทธิเล็กน้อย US$232.5 ล้าน) คิดเป็นมูลค่าขายสุทธิรวม US$5.5 พันล้าน จากความกังวลต่อปัญหาหนี้สินยุโรปทวีความรุนแรงมากขึ้นและอาจกระทบต่อระบบสถาบันการเงินของยุโรป กอปรกับความกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจกลับเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง หลังแถลงการณ์ของประธานเฟดระบุว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ส่งผลให้กระแสเงินทุนไหลออกจากสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกอย่างหนักเพื่อลดความเสี่ยง หากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจอีกระลอก
         สำหรับภาพรวม SET INDEX เดือนก.ย. ปรับฐานลงแรงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 จากแรงกดดันประเด็นภายนอกประเทศ เป็นหลักจากความกังวลต่อปัญหาหนี้สินยุโรป และแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ กดดันให้ SET INDEX ปรับฐานลงแรง 10.5% MTD แต่ยัง Outperform ดัชนี MSCI Asia Pacific ex Japan ที่ปรับตัวลงถึง 15.2% MTD ทำให้ล่าสุดผลตอบแทน YTD ของ SET INDEX อยู่ที่ -7.2% เทียบกับ MSCI Asia Pacific ex Japan ที่ -22.4% YTD คิดเป็น Premium สูงถึง 15.1% เพิ่มขึ้นจาก 11.9% ในเดือน ส.ค. (ข้อมูล ณ วันที่ 23 ก.ย.)
* เคจีไอ หวังแรงซื้อต่างชาติกลับเข้าตลาดฯในเดือน ต.ค.นี้ ชี้ หากดัชนีฯ ยืนเหนือ 970 จุดไม่ได้ มีแววได้เห็นที่ 845 จุด
         บทวิเคราะห์ บล.เคจีไอ ระบุว่า ณ ดัชนี SET ที่ 904.06 จุด จะคิดเป็นค่าพีอีปัจจุบันคาดการณ์ได้ที่ 11.12 เท่า (904.06/81.25) เรามองว่าดัชนี SET ในเดือนตุลาคม 2554 มีความเสี่ยงทางลงที่ 10.40 เท่าพีอี จะมองความเสี่ยงทางลง SET ได้ที่845.00 (10.40x81.25) และมองว่ามีความเสี่ยงทางขึ้นได้ที่ 12.40 เท่าค่าพีอี หรือจักมีความเสี่ยงทางขึ้นได้ที่ 1,007.50 จุด (12.40x81.25)
         เชิงประเมินเส้นกราฟเดือนตุลาคม 2554 นั้น หากดัชนี SET สามารถดีดขึ้นยืนเหนือแนวต้านค่าเฉลี่ยสิบแปดเดือนที่ 970 จุดได้ จะสิ้นสุดแรงกดทางลง และสะสมกำลังผลักทางขึ้นเพื่อทดสอบแนวต้านค่าเฉลี่ยเก้าและสี่เดือนที่ระดับ 1,040 จุด นัยคือหากดัชนี SET ในเดือนตุลาคม 2554 นี้ไม่สามารถดีดตัวเองขึ้นยืนเหนือค่าเฉลี่ยสิบแปดเดือน 970 จุดได้ จะคงอยู่ในกรอบค่าเฉลี่ยสิบแปดและสามสิบเดือนที่ 970-845 จุด จะแสดงกำลังกดของดัชนี SET ว่าอาจยังคงรักษากำลังกดทางลงเพื่อทดสอบแนวรับค่าเฉลี่ยสามสิบเดือนที่ 845 จุด กลยุทธ์การลงทุนในเดือนตุลาคม 2554 นี้: แนะนำซื้อ
         ณ วันที่ 26 กันยายน 2554 มูลค่าตลาดรวมของ SET อยู่ที่ 7.40 ล้านล้านบาทปรับลดลงจากปี 2553 ที่ 8.33 ล้านล้านบาทอยู่ -11.1% หรือคิดเป็น 0.43 เท่าของสินทรัพย์รวมที่ 17.17 ล้านล้านบาท ทั้งนี้ในปี 2553 นั้นตลาดรวม SET มีผลกำไรสุทธิรวมอยู่ที่ 6.26 แสนล้านบาท คิดเป็นอัตราผลกำไรสุทธิของตลาดรวมที่ 8.0% และคิดเป็นผลตอบแทนต่อส่วนทุนที่ 13.7%ประเมินแรงซื้อขายต่างชาติ
         ในกันยายน 2554 นั้น ต่างชาติมีการขายสุทธิที่ -1.89 หมื่นล้านบาท เป็นการขายสุทธิติดต่อกันเป็นเดือนที่สอง หากดูข้อมูลตั้งแต่ต้นปี พบว่าต่างชาติขายสุทธิต่อกันสองเดือนแล้ว จะกลับมาซื้อสุทธิ หากสถิตินี้เกิดขึ้นในเดือนตุลาคม 2554 นี้ ก็อาจคาดหวังแรงซื้อสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติได้
ปัจจัยและแนวโน้มดัชนี SET เดือนตุลาคม 2554ประเมิน 3 ปัจจัยในเดือนตุลาคม 2554 ที่มีผลต่อดัชนี SET
         1.แรงขายหุ้นทุน: แรงขายต่างชาติหากยังคงมีออกมาต่อเนื่องในเดือนตุลาคม2554 นี้ อาจกดดันให้ดัชนี SET ปรับลดลงสู่ระดับจุดต่ำสุดปีนี้ที่ 867.86 จุดหรืออาจลดลงสู่แนวรับ845 จุด แต่หากต่างชาติกลับมาซื้อสุทธิตามสถิติในปีนี้ อาจเห็นดัชนี SET ดีดขึ้นเหนือ 1,015 จุดได้
         2.ปัจจัยจากภายนอก: ปัจจัยความกลัวปัญหาหนี้ในเขตยุโรป ยังจะเป็นประเด็นที่ต้องจับตาว่าด้วยวิธีการแก้ไขหนี้ และจะเกิดมีประเทศมีปัญหาหนี้ตามมาอีกหรือไม่ หรือจะมีบทสรุปว่าด้วยวิธีการแก้ไขปัญหา ถือเป็นปัจจัยเสี่ยงจากภายนอกที่สำคัญต่อจิตวิทยาการซื้อหุ้น และการขายหุ้นออกมา
         3.ผู้ลงทุน: หากอิงอัตราเติบโตผลกำไรต่อหุ้นของดัชนี SET ประเมินปี 2555 ที่+12.2% เราประเมินว่าระดับค่าพีอีที่ต่ำกว่า 11.20 เท่า หรือระดับดัชนี SET ที่ต่ำกว่า 928 จุด (11.20x82.94) จะคาดหวังผู้ลงทุนเข้าซื้อ ป้องกันทางลงได้
         รายงานเศรษฐกิจเดือนตุลาคม 2554 ว่าด้วยความเสี่ยงของเศรษฐกิจไทย จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ทั้งนี้ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มีความกังวลเพิ่มขึ้นมากว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และของยุโรปจะชะลอตัวในปี 2555 และอาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในเอเชียได้ เนื่องจากสหรัฐฯ และยุโรป มีขนาดเศรษฐกิจถึงประมาณ 25% และ 15% ของเศรษฐกิจโลก ตามลำดับ ดังนั้นหากทั้งสองประเทศดังกล่าวชะลอตัวหรือเข้าสู่ภาวะถดถอย ย่อมส่งผลกระทบต่อภูมิภาคเอเชียเช่นกัน
         จากการพิจารณาตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจโลกล่าสุดของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ณ เดือนกันยายน รวมทั้งการพิจารณาถึงความแข็งแกร่งของปัจจัยเศรษฐกิจภายในประเทศ ฝ่ายวิจัยมองว่าความเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวต่อไทยยังไม่มากนัก เนื่องจากระดับการชะลอตัวที่อาจเกิดขึ้นไม่ได้รุนแรง และเศรษฐกิจของประเทศแถบเอเชียด้วยกัน ยังคงเติบโตได้ดี นอกจากนี้รัฐบาลใหม่ภายใต้การนำของพรรคเพื่อไทย ได้ทยอยประกาศนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจดังที่ได้หาเสียงไว้ ซึ่งน่าจะส่งผลให้ความมั่นใจของเศรษฐกิจในประเทศดี และลดทอนผลกระทบจากภายนอกได้ไม่มากก็น้อยดังนั้น แม้ตลาดสินทรัพย์เสี่ยงเช่นตลาดหุ้นและตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ได้รับผลกระทบรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา คาดว่าผลกระทบเชิงเศรษฐกิจจะอยู่ในระดับที่ต่ำกว่ามาก
         ฝ่ายวิจัยมองว่าภาพของเศรษฐกิจโลกในปี 2555นั้น ที่จริงแล้วยังคงมีการเติบโตปานกลางและไม่ได้มีแนวโน้มจะถดถอยแต่อย่างใด และหากเราอ้างอิงถึงความสัมพันธ์ในอดีตของเศรษฐกิจโลก และอัตราการเติบโตของการส่งออกของไทยนั้น ก็จะพบว่าการส่งออกของไทยทั้งในปี 2554 และ 2555 น่าจะเติบโตได้ดี และหากการส่งออกของไทยยังคงเติบโตได้เช่นนั้น เชื่อได้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยจะยังประคองตัวไปได้ในปีหน้า
ปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ต้องจับตามองในเดือน ต.ค. 2554ประเทศไทย :
         3 ต.ค. กระทรวงพาณิชย์รายงานเงินเฟ้อเดือน ก.ย. 2554
         13 ต.ค. ม. หอการค้ารายงานดัชนีเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือน ก.ย. 2554
         19 ต.ค. ธปท. ประชุมนโยบายการเงินครั้งที่ 7/2554
         20 ต.ค. (กำหนดการเบื้องต้น) ตัวเลขส่งออก/นำเข้าเดือน ก.ย. 2554
         31 ต.ค. ธปท. รายงานข้อมูลเศรษฐกิจเดือน ก.ย. 2554
สหรัฐอเมริกา :
         3 ต.ค. ดัชนีภาคการผลิต (ISM Manufacturing) เดือน ก.ย. 2554
         5 ต.ค. ดัชนีภาคบริการ (ISM Services) เดือน ก.ย. 2554
         7 ต.ค. ข้อมูลตลาดแรงงานและการว่างงาน เดือน ก.ย. 2554
         19 ต.ค. ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคเดือน ก.ย. 2554
         19 ต.ค. ยอดการขอเริ่มสร้างบ้าน เดือน ก.ย. 2554
         20 ต.ค. ยอดขายบ้านมือสอง เดือน ก.ย. 2554
         26 ต.ค. ยอดขายบ้านใหม่ เดือน ก.ย. 2554
         27 ต.ค. จีดีพีไตรมาส 3/2554 รายงานครั้งแรก (Advance GDP)
         31 ต.ค. ดัชนีสำรวจฝ่ายจัดซื้อ (Chicago PMI) เดือน ต.ค. 2554
กลุ่มประเทศยุโรป :
         6 ต.ค. ธ. กลางยุโรป (ECB) ประชุมนโยบายการเงิน ครั้งที่ 10/2554
ญี่ปุ่น :
         27 ต.ค. ธ. กลางญี่ปุ่น (BoJ) ประชุมนโยบายการเงิน ครั้งที่ 10/2554