พฤหัสฯ 30 ส.ค.2555--eFinanceThai.com :
ผู้ว่า ธปท.ฟันธงส่งออกปีนี้หืดจับ

* อุตฯ ชิ้นส่วนอิเล็กฯ หั่นเป้ารับสภาพ
ผู้ว่าแบงก์ชาติ ฟังธง ปีนี้ส่งออกหืดจับแน่ อาจโตต่ำกว่า 7% ขณะที่ กระทรวงพาณิชย์ รับความจริง ยอมหั่นเป้าส่งออกทั้งปี ก.ย.นี้ จากเดิมคาดโต 15% หลังพิษ ศก.-หนี้ยูโรกดดัน ล่าสุดเดือน ก.ค. ส่งออกติดลบอีก 4.46% เพิ่มขึ้นจาก มิ.ย. ที่ติดลบ 2.5% ขณะที่งวด 7 เดือนติดลบ 0.40% ระบุตลาดส่งออกหลักลดลงถ้วนหน้า ยุโรปหดกว่า 20% ด้านผู้ประกอบกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กฯ อ่วม หั่นเป้ายอดขายลดลง หลังเศรษฐกิจยุโรปยังป่วนไม่เลิก
* ผู้ว่า ธปท. มองส่งออกทั้งปีมีแววหลุด 7%
          นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ธปท.ยังคงประเมินการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ไว้ที่ 5.7% ขณะที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2555 น่าจะเห็นการขยายตัวที่สูงขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจากปีที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทำให้การส่งออกในช่วงเวลาดังกล่าวชะงักลง
          สำหรับในส่วนภาคการส่งออกที่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้จะมีการขยายตัว 7% นั้น มองว่าทุกฝ่ายอาจต้องทำงานอย่างหนัก เพื่อผลักดันให้การส่งออกแต่ละเดือนสูงถึง 2.2 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งในอดีตยังไม่สามารถทำได้ และยอดการส่งออกในเดือน ก.ค. ทำให้เพียง 1.9 หมื่นล้านเหรียญ ดังนั้นจึงอาจส่งผลให้การส่งออกทั้งปีอาจต่ำกว่า 7% ได้
          'การเติบโตของเศรษฐกิจเห็นตั้งแต่ต้นปีครึ่งปีหลังถ้าเทียบช่วงเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะในไตรมาส 4 คงเห็นตัวเลขสูงขึ้น เพราะปีก่อนน้ำท่วม ทำให้สินค้าส่งออกเราหยุดไป แต่ทั้งปีคงประมาณ 7% หรือหย่อนกว่า แต่เศรษฐกิจไทยน้ำหนักเน้นในประเทศเยอะ จึงยังทำให้เห็นการเติบโตที่ต่อเนื่อง ส่วนส่งออก 7% ทั้งปีคงต้องทำงานหนัก แต่ละเดือนจะต้องทำได้ 2.2 หมื่นล้านเหรียญ ที่อดีตยังไม่เคยทำได้เลย' นายประสาร กล่าว
          อย่างไรก็ดี มองว่าผลกระทบด้านการส่งออกไปยังยุโรปยังไม่มากนัก เนื่องจากสัดส่วนส่งออกไปยุโรปโดยตรงไม่มาก
* ชี้ หากศก.ชะงักงันพร้อมลดดอกเบี้ยอุ้มศก.
          นายประสาร กล่าวยืนยันด้วยว่า ธปท. มีเครื่องมือในการดูแลเศรษฐกิจที่มีความหลากหลายและยืดหยุ่นและเหมาะสมต่อสถานการณ์ เช่น ด้านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ธปท.พยายามดูแลให้ดอกเบี้ยในตลาดเงินอยู่ในระดับที่ 3% เนื่องจาก เห็นว่ายังเหมาะสมกับความยืดหยุ่น แต่หากมีความจำเป็นกรณีเศรษฐกิจโลกชะงักก็พร้อมที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ สหรัฐฯ และยุโรปที่อยู่ในระดับต่ำใกล้เคียง 0% จะเห็นว่าแทบจะไม่มีเครื่องมือในการดูแลตลาดเงิน
          'การใช้เครื่องมือดูแลเศรษฐกิจต้องหลากหลายและยืดหยุ่น ในส่วนของแบงก์ชาติเราพยายามเตรียมให้พร้อม เช่นดอกเบี้ยเราก็ดูแลในตลาดเงินให้อยู่ในระดับที่เรามีพื้นที่ใช้พอให้เป็นประโยชน์ ซึ่งดอกเบี้ยนโยบายที่ 3% ก็จะเห็นว่าถ้าสถานการณ์จำเป็นให้เราปรับลดกรณีที่เศรษฐกิจโลกชะงัก เราก็พอทำได้ แต่อังกฤษ สหรัฐฯ และยุโรป ที่เขาอยู่ 0% ก็จะไม่มีเครื่องมือเพียงพอ' นายประสาร กล่าว
          ทั้งนี้ มองว่าภาพรวมการเคลื่อนไหวของอัตราแลกเปลี่ยนของไทย ถือว่าผันผวนไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการเคลื่อนไหวของเงินสกุลอื่นๆ โดยค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับที่เชื่อว่าภาคธุรกิจสามารถรับได้ ทั้งนี้ยืนยันว่าการใช้นโยบายทางการเงินที่มีความยืดหยุ่นด้านอัตราแลกเปลี่ยนภาคธุรกิจจะมีความเข้าใจในการดูแลแบบไม่ฝืนธรรมชาติของการเคลื่อนไหวมากนัก ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหายได้
          สำหรับการเคลื่อนไหวเข้า-ออก ของเงินทุนขณะนี้ พบว่า ธปท.ยังมีพื้นที่ในการบริหารจัดการในกรณีที่มีเงินทุนไหลเข้า ขณะเดียวกันทางด้านระดับเงินสำรองมีมากพอสมควร หากนักลงทุนต้องการที่จะนำเงินออกไปลงทุนยังต่างประเทศ ทั้งนี้เห็นได้ว่าเงินสำรองระหว่างประเทศในช่วงปีที่ผ่านมาค่อนข้างทรงตัว สะท้อนว่าการไหลเข้าออกของเงินทุนยังคงมีความสมดุล
          'เครื่องมือระดับเงินสำรองของเราตอนนี้มีพอสมควร เช่น ถ้าเกิดสถานการณ์เงินไหลออก เราก็มีเงินสำรองเพียงพอที่จะให้เขา ส่วนไหลเข้ายังมีพื้นที่อยู่ ซึ่งเราจะดูแลความสมดุลในการไหลเข้าออกมากขึ้น เห็นได้จากว่าเงินสำรองในช่วงที่ผ่านมาทรงตัว' นายประสาร กล่าว
* ก.ย.นี้ พาณิชย์ เล็งหั่นเป้าส่งออกจากเดิมคาดโต 15%
          นายภูมิ สาระผล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการรวบรวมข้อมูล เพื่อปรับประมาณการตัวเลขการส่งออกในปีนี้ใหม่ โดยจะนัดหารือกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมหลักทั้ง 7 กลุ่มในวันที่ 3 ก.ย. และจะรวบรวมข้อมูลจากหน่วยงานที่ดูแลการค้าระหว่างประเทศ เพื่อหาข้อมูลเพิ่มเติมในหลายๆ ส่วนในการพิจารณาปรับประมาณการในครั้งนี้ ซึ่งแนวโน้มมีโอกาสที่จะปรับลงจากเป้าหมายเดิมที่คาดว่าจะโต 15% แต่ต้องมาพิจารณาอย่างละเอียดว่าจะมีการปรับหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังคงยืนยันเป้าตัวเลขการส่งออกในปีนี้จะเติบโต 15% หรือใกล้เคียงให้ได้มากที่สุด โดยคาดว่าการทบทวนเป้าหมายการส่งออกในปีนี้ใหม่จะมีความชัดเจนในช่วงกลางเดือน ก.ย.นี้ ว่าจะมีทิศทางอย่างไร
          'ยืนยันว่าตัวเลขที่กระทรวงพาณิชย์นำมาแถลงต่อสาธารณชนเป็นตัวเลขที่เป็นจริง ไม่ได้แต่งเติมขึ้นมา แต่ต้องยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจเป็นอย่างนี้ ต้องทำงานอย่างไรให้เกิดผล ส่วนเป้าหมายตัวเลขการส่งออกทั้งปีคงต้องมาทบทวนใหม่ แต่ต้องขอหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องก่อน รวมไปถึง รมว.พาณิชย์ ซึ่งคาดว่าจะมีความชัดเจนในกลางเดือน ก.ย.นี้' รมช.พาณิชย์ กล่าว
* ก.ค.ส่งออกลดลง 4.46%
          สำหรับการส่งออกในเดือน ก.ค.2555 มีมูลค่า 19,544.4 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือลดลง 4.46% โดยเพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย.ที่ติดลบ 2.50% โดยในรูปเงินบาทมีมูลค่า 610,940.4 ล้านบาท ลดลง 1.44%
          "ปัจจัยที่ส่งผลต่อการส่งออกในเดือน ก.ค.2555 ลดลง เนื่องมาจากเศรษฐกิจยุโรปและการลุกลามของปัญหา ส่งผลกระทบต่อเนื่องและสร้างความกังวลต่อการผลิตและจำหน่ายสินค้าในภาคเศรษฐกิจจริงในหลายประเทศ ทำให้มีการนำเข้าสินค้าซึ่งเป็นวัตถุดิบจากการผลิตของไทยลดลง เช่น ยางพารา ผลิตภัณฑ์ยาง แผงวงจรไฟฟ้า เม็ดพลาสติก และเคมีภัณฑ์' รมช. พาณิชย์ กล่าว
          ทั้งนี้ การส่งออกเป็นรายตลาดในเดือน ก.ค.2555 มีการขยายตัวลดลงทุกตลาด ยกเว้นตลาดศักยภาพระดับรอง โดยแบ่งเป็น ตลาดหลักลดลง 7.8% โดยญี่ปุ่นติดลบ 3.5% สหภาพยุโรป สมาชิกเดิม 15 ประเทศ ติดลบ 21.4% ในขณะที่สหรัฐฯขยายตัว 2.3% ส่วนตลาดศักยภาพสูงลดลง 3.1% โดยตลาดที่ลดลงได้แก่ อาเซียน (9) ติดลบ 2.6% อาเซียนเดิม (5) ติดลบ 11.9% จีนติดลบ 7.5% เอเชียใต้ (8) ติดลบ 9.9% อินเดียติดลบ 9.2% ไต้หวันติดลบ 15.7% ตลาดที่เพิ่มขึ้นได้แก่ ฮ่องกงขยายตัว 4.4% อินโดจีนและพม่าขยายตัว 24.5% เกาหลีใต้ขยายตัว 22.5%
          ขณะที่ตลาดศักยภาพระดับรองขยายตัว 2.9% ได้แก่ ตะวันออกกลางขยายตัว 18.2% ลาตินอเมริกาขยายตัว 18.4% รัสเซียและซีไอเอส ขยายตัว 2.1% และตลาดที่ลดลง ได้แก่ ทวีปออสเตรเลีย ติดลบ 0.3% ทวีปแอฟริกาติดลบ 14.4% สหภาพยุโรปสมาชิกใหม่ 2 ประเทศ ติดลบ 24.4% แคนาดาติดลบ 4% ขณะที่ตลาดอื่นๆ ลดลง 33.5% สวิสเซอร์แลนด์ติดลบ 41.5%
* นำเข้า ก.ค. โต 13.73% ขาดดุล 6.26 หมื่นล้านบาท
          ส่วนการนำเข้าในเดือน ก.ค.2555 มีมูลค่า 21,290.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 13.73% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือน มิ.ย.ที่ขยายตัว 4.41% โดยในรูปเงินบาทมีมูลค่า 673,541.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17.27%
          ทั้งนี้ การนำเข้าในเดือน ก.ค.2555 เพิ่มขึ้นมาจากการปรับเพิ่มขึ้นในหมวดสินค้าทุน ขยายตัว 35.80% แบ่งเป็นประเภทเครื่องจักรและส่วนประกอบขยายตัว 39.82% เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบขยายตัว 105.75% หมวดวัตถุดิบ/กึ่งสำเร็จรูป ขยายตัว 2.70% ประเภทเคมีภัณฑ์ขยายตัว 10.37% เหล็กและเหล็กกล้า และผลิตภัณฑ์ ขยายตัว 30.30% หมวดสินค้าอุปโภคและบริโภคขยายตัว 13.13%
          ส่งผลดุลการค้าเดือนก.ค.2555 ขาดดุล 1,746.3 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในรูปเงินบาทมีมูลค่า 62,600.8 ล้านบาท ขณะที่ในช่วง 7 เดือน(เดือนม.ค.- ก.ค. ) ของปี 2555 ขาดดุลการค้ามูลค่า 12,086.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ในรูปเงินบาทขาดดุลการค้ามูลค่า 425,203 ล้านบาท
* ส่งออก 7 เดือนปีนี้ติดลบ 0.40%
          ด้านการส่งออก 7 เดือน (เดือนม.ค.-ก.ค.) ปี 2555 มีมูลค่า 131,809 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 0.40% ในรูปเงินบาทมีมูลค่า 4,076,876 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.21% แบ่งเป็นการส่งออกในหมวดสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ภาพรวมลดลง 8.9% โดยสินค้าส่งออกลดลง ได้แก่ ข้าวติดลบ 36.5% ยางพาราติดลบ 28% กุ้งแช่แข็งและแปรรูปติดลบ 10% สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังขยายตัว 2.3%อาหารทะเลแช่แข็งไม่รวมกุ้งขยายตัว 11.6% ผักและผลไม้ขยายตัว 7% ไก่สดแช่แข็งและแปรรูปขยายตัว 15.2% น้ำตาลขยายตัว 17.5%
          ส่วนหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ภาพรวมลดลง 0.9% โดยสินค้าส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ ติดลบ 4.1% เครื่องใช้ไฟฟ้าติดลบ 2.8% เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติกติดลบ 2.7% สิ่งทอติดลบ 15.4% อัญมณีและเครื่องประดับติดลบ 15.8% เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วนติดลบ 4.3% สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ยานยนต์และส่วนประกอบขยายตัว 18.2% วัสดุก่อสร้างขยายตัว 1.5% ผลิตภัณฑ์ยางขยายตัว 4.1% สิ่งพิมพ์ขยายตัว 7.6% เครื่องสำอาง สบู่ และผลิตภัณฑ์ ขยายตัว 11.8% และอาหารสัตว์เลี้ยงขยายตัว 22.1% และหมวดสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้น 10.8%
          นอกจากนี้ การนำเข้าในช่วง 7 เดือน (เดือนม.ค.-ก.ค.55) มีมูลค่า 143,895.7 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 10.50% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ในรูปเงินบาทมีมูลค่า 4,502,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 13.32%
* 'กิตติรัตน์' ปรับเป้าส่งออกปีนี้เหลือโต 9% จากเดิม 15% หลัง ศก.โลก ชะลอ
          นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลได้ตั้งเป้าหมายตัวเลขการส่งออกในปีนี้ว่าจะเติบโตประมาณ 9% ซึ่งถือเป็นการปรับลดลงจากประมาณการเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 15% เพราะมีปัญหาการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะวิกฤตหนี้ยุโรป แม้ว่าจะเป็นเป้าหมายที่สูงกว่าตัวเลขการพยากรณ์ของสภาพัฒน์ที่คาดว่าการส่งออกปีนี้จะเติบโตได้ 7.3% แต่หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำงานได้เพียงแค่ตามเป้าหมายพยากรณ์จะไม่มีความเข้มข้นในการทำงานมากนัก ซึ่งตัวเลขการส่งออกเติบโต 9% การทำงานของภาครัฐจะมีความเข้มข้นมากขึ้น โดยการตั้งเป้าหมายที่สูงกว่าเป้าหมายการพยากรณ์ของสภาพัฒน์ไม่ได้เสียหายแต่อย่างใด
          'เป้าเดิมที่คาดว่าการส่งออกจะเติบโต 15% ขณะนี้คงไม่น่าจะถึง แต่ที่ผ่านมาหน้าที่ของ รมว.คลังสามารถพูดได้ในเรื่องที่ไม่จริงบางเรื่อง ถือเป็นการพูดที่ไม่จริง เพราะหากผมระบุไปตั้งแต่ต้นปีเกี่ยวกับเรื่องเป้าการส่งออกแล้วไม่รู้ว่าผลกระทบจะเป็นอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย ซึ่งเป้าการส่งออกปีนี้รัฐบาลได้ตั้งตัวเลขไว้ที่ 9% โดยการทำงานจะมีความเข้มข้นมากขึ้น ทั้งในแง่ของรัฐบาลและหน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างๆ' นายกิตติรัตน์ กล่าว
          อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าก่อนหน้านี้การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยมีความจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาภาคการส่งออกเป็นหลัก เพราะมีสัดส่วนที่สูงต่ออัตราการเติบโต แต่ปัจจุบันประเทศไทยได้ปรับเปลี่ยนมาพึ่งพาการบริโภคภายในประเทศและการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชนมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่ายินดีกับประเทศไทยในวันนี้
* ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คงเป้าจีดีพีปีนี้โต 5% รับส่งออกครึ่งปีหลังชะลอ
          นางวิวรรณ ธาราหิรัญโชติ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด เปิดเผยว่า ศูนย์วิจัยกสิกรไทยยังคงประมาณการอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย หรือจีดีพีในปีนี้เติบโตที่ 5% แม้แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังอาจชะลอตัวลงตามภาคการส่งออกที่จะชะลอตัวจากปัญหาวิกฤตหนี้ยุโรป ซึ่งทั้งปีนี้ศูนย์วิจัยฯได้ประเมินการส่งออกเติบโตที่ 10% แม้ว่าการคาดการณ์อาจอยู่ในระดับสูงและยังไม่แน่ใจว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายหรือไม่ แต่ยังคงไม่มีการปรับประมาณการแต่อย่างใด
          ทั้งนี้เชื่อว่าเศรษฐกิจไทยในครึ่งปีหลังจะยังคงมีแรงส่งจากปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก ทั้งการลงทุนและการใช้จ่ายของภาครัฐและเอกชนที่คาดว่าจะเร่งตัวขึ้นในช่วงปลายปีตามการขยายตัวของสินเชื่อที่เพิ่มมากขึ้น ขณะที่แนวโน้มเศรษฐกิจในปีหน้าอาจชะลอลงเล็กน้อยจากปีนี้ เนื่องจากจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งแตกต่างจากปีนี้ที่มีการเร่งตัวในหลายด้านของภาครัฐ
* ฮานาฯ คาดความต้องการในตลาดโลกยังชะลอ รับหากยอดขายเพิ่มขึ้น ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
          รายงานข่าวบนเว็บไซท์บลูมเบิร์กดอทคอมระบุว่า ฮานาไมโครอิเล็กทรอนิกส์ ผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์รายใหญ่ของอาเซียน คาดว่า ความต้องการในตลาดโลกยังคงชะลอลง ซึ่งหายอดสามารถผลักดันยอดขายให้เพิ่มขึ้นได้ถือว่าประสบความสำเร็จแล้ว
          "เราอาจเห็นการขยายตัว แต่คงไม่มาก หากยอดขายเราขยายตัวได้ ก็ถือว่า ประสบควมามสำเร็จแล้ว" นายริชาร์ด ฮันประธานเจ้าหน้าที่บริหารฮานา วัย 55 ปี กล่าว
          โดยนายฮันกล่าวว่า การผลิตของบริษัทกำลังกลับสู่ระดับปกติจากความเสียหายจากเหตุอุทกภัยครั้งร้ายแรงในไทยเมื่อปีที่ผ่านมา แต่ต้องเผชิญอุปสรรคจากผลกระทบวิกฤตหนี้ยุโรปที่ทำให้ความต้องการในต่างประเทศลดลง
          ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ภัทร คาดว่าแนวโน้มยอดส่งออกของไทยในครึ่งปีหลังอาจไม่ดีนัก เนื่องจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกมีอยู่สูง และมีความเป็นไปได้ที่จะชะลอลงอีก
* KCE ยอมรับวิกฤตยุโรปฉุดยอดขายลดลง แต่ไม่เกิน 10%
          นายพิธาน องค์โฆษิต รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE เปิดเผยว่า จากสถานการณ์วิกฤตยุโรปที่เกิดขึ้น ได้ส่งผลกระทบต่อยอดขายของบริษัทฯ ลดลง 10% เนื่องจากบริษัทฯ มีสัดส่วนการส่งออกไปยุโรปถึง 60% อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้เร่งหาออเดอร์จากลูกค้าใหม่ ซึ่งได้วางแผนมาตั้งแต่ 2-3 ปีก่อนหน้าแล้ว ทำให้บริษัทฯมีลูกค้ารายใหญ่เพิ่มมากขึ้นไม่ว่าจะเป็นญี่ปุ่นหรืออิตาลี ซึ่งจะเริ่มเห็นออเดอร์จากลูกค้าใหม่เข้ามาชดเชยยอดขายที่ลดลงตั้งแต่ไตรมาส 3 นี้เป็นต้นไป
          ดังนั้นโดยรวมจากการปรับตัวของบริษัทฯ ก็จะทำให้ยอดขายลดลงไม่เกิน 10% แม้ว่าจะมีวิกฤตในยุโรปก็ตาม และคาดว่ายอดขายในปีนี้จะอยู่ที่ 210 ล้านเหรียญสหรัฐ ต่ำกว่าปีก่อนที่อยู่ที่ 229 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งโอกาสที่จะทำได้มากกว่า 210 ล้านเหรียญสหรัฐมีน้อยมาก เนื่องจากครึ่งปีแรกยอดขายไม่ได้สูงมากนัก สาเหตุหลักมาจากโรงงาน เคซีอี เทคโนโลยี ของบริษัทฯ ที่อยุธยา ยังใช้กำลังการผลิตได้ไม่เต็ม 100% หลังเผชิญน้ำท่วมปลายปีก่อน ซึ่งล่าสุดกำลังการผลิตอยู่ที่ 65% เท่านั้น และคาดว่าช่วงไตรมาส 4 น่าจะดีมากกว่าขึ้นมาอยู่ที่ 70%
          อย่างไรก็ตาม คาดว่าในปี 2556 มีโอกาสที่บริษัทฯ อาจจะทำยอดขายและกำไรได้สูงสุดเป็นประวัติการณ์ หลังจากที่โรงงาน เคซีอี เทคโนโลยีที่อยุธยา กลับมาใช้กำลังการผลิตได้เต็ม 100% ซึ่งจะทำให้ Net Margin ของโรงงานดังกล่าวมากกว่า 7-8% ซึ่งรายได้จากโรงงานคิดเป็นสัดส่วน 50% ของรายได้รวม
* UBIS มาแรงพร้อมปรับสัดส่วนส่งออก ตปท.เป็น 55% ใน 2-3 ปี
          ด้านนายณวรรธน์ ตริยพงศ์พัฒนา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ยูบิส (เอเชีย) หรือ UBIS ผู้นำตลาดยางยาแนวฝากระป๋องและ แลคเกอร์เคลือบกระป๋องครบวงจรของไทย เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า บริษัทฯ ยังคงตั้งเป้าหมายยอดขายปีนี้เติบโต 16% เมื่อเทียบกับปีก่อนมียอดขายประมาณ 700 ล้านบาท ขณะที่เป้าหมายกำไรปีนี้เติบโต 10% เมื่อเทียบกับปีก่อน โดยมีแผนรุกตลาดต่างประเทศให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้มีเครือข่ายและตัวแทนจำหน่ายทั้งในอาเซียนและยุโรปที่เป็นส่วนสนับสนุนให้ตลาดต่างประเทศเติบโตต่อเนื่องได้ในอนาคต
          โดยภายในต้นปีหน้า บริษัทฯ มีเผนเพิ่มสัดส่วนการส่งออกต่างประเทศ ให้เท่ากับสัดส่วนยอดขายในประเทศ และคาดว่าภายใน 2-3 ปีข้างหน้า สัดส่วนการส่งออกในต่างประเทศจะเพิ่มเป็น 55% และสัดส่วนยอดขายในประเทศจะเป็น 45% ได้ จากปัจจุบัน สัดส่วนยอดขายในประเทศอยู่ที่ 52 % ส่วนการส่งออกใปต่างประเทศอยู่ที่ 48 % ซึ่งสัดส่วนยอดขายการส่งออกต่างประเทศ 50% มาจากประเทศจีน เนื่องจากประเทศจีนมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูง จึงเป็นโอกาสในการส่งออกมากยิ่งขึ้น
* บล.ทิสโก้ มองแผนลดการส่งออกยางเพื่อกระตุ้นราคาจะดีต่อ STA
          ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ทิสโก้ ระบุว่า กรณีที่ผู้ส่งออกยาง 3 รายใหญ่ คือ ไทย, มาเลเซีย และอินโดนีเซีย จะปรับลดการส่งออกยางลง 3 แสนตัน เพื่อกระตุ้นให้ราคายางปรับตัวขึ้น โดยราคายางในตลาด TOCOM เพิ่มขึ้นกว่า 6.2% เป็น 2.78 US/kg ซึ่งสูงที่สุดภายใน 1 สัปดาห์ (เป็นผลบวกต่อ STA)
          สำหรับราคาสินค้าเกษตรภายในประเทศยังคงไม่เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า โดยราคากุ้งยังคงอยู่ที่ 155 บาท/kg (เพิ่มขึ้น 19.2% MoM) ในขณะที่ราคาหมูและไก่คงที่ 60.5 บาท/kg และ 38 บาท/kg ตามลำดับ (เป็นผลบวกต่อ CPF)
          ด้านราคาข้าวโพดภายในประเทศยังอยู่ในระดับที่สูง 10.5 บาท/kg โดยเพิ่มขึ้น 23.2% YoY (เป็นผลลบต่อ CPF)
          ส่วนราคาถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองในตลาดโลกยังคงซื้อขายที่ราคา +2.5 stdev จากค่าเฉลี่ย เนื่องจากความกังวลด้านภัยแล้งในสหรัฐฯ และการขาดแคลนอุปทานในอนาคต ส่งผลอุปสงค์ของถั่วเหลืองสูงขึ้น (เป็นบวกต่อ TVO)