พฤหัสฯ 24 พ.ย.2554--eFinanceThai.com :
หุ้นแบงก์ภูมิคุ้มกันสูง

        หุ้นแบงก์ภูมิคุ้มกันสูง หลังมูดี้ส์ คงแนวโน้มระบบแบงก์ไทยไวัในระดับ เสถียรภาพ แม้ต้องเผชิญกับวิกฤตน้ำท่วม ระบุเป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราว สอดรับกับ ผู้ว่าธปท. ระบุไม่ห่วงหนี้เสียในอนาคต แม้ยอดสินเชื่อคงค้างช่วงน้ำท่วมหนักพุ่งแตะ 4แสนกว่าลบ. ด้าน บิ๊ก BBL คาดสินเชื่อปีนี้มีโอกาสโตเกินเป้าที่ 6-8% ระบุตั้งสำรองตามปกติปีละ 6-7 พันลบ.แม้มีเหตุน้ำท่วม ขณะที่โบรกฯเชียร์ BBL-KBANK เป็น Top pick ระบุมีงบดุลแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับการเพิ่มขึ้นของ NPL โดยไม่ต้องตั้งสำรองค่าเผื่อฯ
        หลังเกิดอุทกภัยใหญ่ขยายวงกว้างไล่ตั้งแต่ภาคเหนือมาหนักสุดในภาคกลางและยังคงส่งผลกระทบในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ในขณะนี้ ส่งผลให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือ สภาพัฒน์ ประกาศปรับลดตัวเลขเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีปีนี้ เหลือขยายตัวแค่ 1.5% จากเดิมที่คาดว่าจะเติบโต 3.5-4.0% เหตุน้ำท่วมกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้จีดีพีใน Q4/54 ติดลบ3.7% เบื้องต้นประเมินความเสียหายประมาณ 2-3 แสนล้านบาท
        ล่าสุดทาง ธนาคารแห่งประเทศไทยหรือธปท.เป็นอีก 1 หน่วยงานที่ออกมาประกาศเตรียมปรับลดเป้าหมายตัวเลขการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้เช่นกัน โดยระบุว่าจะเป็นการปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากเดิม 2.6% ส่วนปี55 เชื่อว่าจีดีพีโตมากกว่า4.1%
        แต่สถาบันจัดอันดับความน่าเชื่อถือ อย่าง Moody’s Investor Services กลับประกาศคงแนวโน้มระบบ ธ.พ.ของไทยไว้ในระดับ “เสถียรภาพ” โดยมีเหตุผลสนับสนุนคือผลกระทบจากวิกฤตน้ำท่วมนั้น เป็นเพียงเหตุการณ์ชั่วคราว ประกอบกับพื้นฐานของ ธ.พ. ไทยยังแข็งแกร่งมาก ทำให้สามารถรับมือกับช่วงเวลาที่ยากลำบากนี้ได้ อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสให้ ธ.พ. ไทยสามารถทำกำไรได้มากขึ้นในระยะ 12-18 เดือนข้างหน้าจากนโยบายการใช้จ่ายของภาครัฐ ดังนั้นเมื่อประเมินจากทั้ง 3 ปัจจัยควบคู่กัน จึงเห็นควรให้คงมุมมอง “เสถียรภาพ” เช่นเดิม
***ASP มอง มูดี้ส์คงอันดับความน่าเชื่อถือแบงก์ไทย เป็นปัจจัยบวก เชียร์ BBL เป็นหุ้นเด่น เหตุมีกองทุนแข็งแกร่ง***
        ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส ประเมินว่า ประเด็นดังกล่าวถือเป็นปัจจัยบวกต่อกลุ่ม ธ.พ. ที่ Moody’s ยังคงอันดับความน่าเชื่อถือไว้เท่าเดิม เนื่องจากการคาดการณ์ของตลาดในช่วงที่ผ่านมาว่า กลุ่ม ธ.พ. อาจจะถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อทางการเงินลง โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องของคุณภาพสินทรัพย์ที่คาดว่าจะเห็นการเพิ่มขึ้นของ NPL ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า โดยเฉพาะในภาคการเกษตรรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า
        ซึ่งฝ่ายวิจัยมีมุมมองในทิศทางที่สอดคล้องกับ Moody’s โดยเชื่อว่าผลกระทบจากเหตุการณ์น้ำทว่ มนั้นเกิดขึ้นเพียงในระยะสั้น แม้จะทำให้ความต้องการสินเชื่อและศักยภาพการทำกำไรลดลง (จากสินเชื่อใหม่ๆ ที่ให้ผลตอบแทนสูงที่คาดว่าจะลดลง และแนวโน้มการตั้งสำรองหนี้ฯ ที่คาดว่าจะสูงขึ้นจากนโยบายระมัดระวังของกลุ่ม ธ.พ.) ในช่วง Q4/54 ต่อเนื่องถึง Q1/55 แต่ภายหลังจากนั้น คาดว่าแนวโน้มการเติบโตของสินเชื่อน่าจะฟื้นตัวกลับคืนมาได้อย่างรวดเร็ว เมื่อภาครัฐเริ่มประกาศแผนการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่โดยเฉพาะโครงการสาธารณูปโภคสำหรับการบูรณาการเรื่องน้ำ รวมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของผู้ประกอบการที่อยู่ใน Supply chain ของภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่แม้บางแห่งจะไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากภาวะน้ำท่วม แต่กลับได้รับผลกระทบทางอ้อมทำให้ไม่สามารถดำเนินการผลิตได้เต็มที่จากการหยุดชะงักไปของผู้ประกอบการอื่นๆ ในSupply chain ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วม จึงทำให้ความต้องการสินเชื่อโดยรวมแล้วชะลอตัวลงจากภาวะปกติโดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 4 ซึ่งเป็นช่วงฤดูกาลของสินเชื่อ
        ทั้งนี้ ฝ่ายวิจัยประเมินว่าการเติบโตของสินเชื่อใหม่ๆ จากโครงการที่เกี่ยวเนื่องกับการลงทุนอย่างแท้จริงของภาครัฐ จะเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนเป็นปกติมากขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับสินเชื่อที่มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือแก่ลูกหนี้ หรือโครงการที่ประสบภัยน้ำท่วมซึ่งเป็นสินเชื่อที่ให้ผลตอบแทนค่อนข้างต่ำ มาก และไม่คุ้มค่ากับความเสี่ยง(โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้ SME และรายย่อย) สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในหุ้นกลุ่ม ธ.พ. ฝ่ายวิจัยยังให้น้ำหนักลงทุนเท่ากับตลาด โดยยังเลือก BBL (ซื้อ: Fair value 220.94 บาท)เป็นหุ้น Top pick ของก ลุ่ม ฯ เ พ ร า ะ ป ร ะ เ มิน ว่า จ ะ ไ ด้รับผลกระทบค่อนข้างต่ำจากเหตุการณ์น้ำท่วม อีกทั้งมีฐานะเงินกองทุนแข็งแกร่งเพียงพอรองรับโครงการลงทุนระยะยาวของภาครัฐ
***KEST ให้น้ำหนักกลุ่มแบงก์เท่าตลาด มอง ปัจจัยราคาหุ้นค่อนข้างถูก - พื้นฐานระยะยาวแข็งแกร่ง***
        ด้านบทวิเคราะห์บล.กิมเอ็ง(ประเทศไทย) (KEST)มองว่าปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ของไทยยังคงมีความแข็งแกร่งด้านฐานเงินทุนและมีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (CAR) อยู่ในระดับสูงถึง 14.7% เทียบกับเกณฑ์ขั้นต่ำของธปท.ที่ 8.5% ดังนั้นเชื่อว่าการชะลอตัวของเศรษฐกิจจะไม่เกิดเป็นปัญหาใหญ่จนส่งผลกระทบให้ต้องมีการปิดสถาบันการเงิน อย่างไรก็ตามผลกระทบจากน้ำท่วมน่าจะส่งผลให้ธนาคารบางแห่งอาจจำเป็นที่ต้องตั้งสำรองเพิ่มขึ้น แต่ประเมินว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานมากนัก เนื่องจากปัจจุบันธนาคารพาณิชย์ไทยมีสัดส่วนการตั้งสำรองหนี้ส่วนเกินไว้ในระดับที่สูงพอสมควร
        สำหรับผลประกอบการ Q4/54 คาดว่ากำไรสุทธิน่าจะหดตัวลดลงระดับ 5-10% จากค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าปกติ รวมถึงผลกระทบจากน้ำท่วมที่กดดันรายได้ดอกเบี้ย, รายได้ค่าธรรมเนียม และการตั้งสำรองที่สูงขึ้น ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ปัจจุบันถือว่าค่อนข้างถูกและมีพื้นฐานระยะยาวที่แข็งแกร่ง แต่ในระยะสั้นยังคงมองว่ามีปัจจัยเสี่ยงที่กดดันราคาหุ้น จึงยังคงน้ำหนักเพียงการลงทุนเพียง "เท่ากับตลาด" และแนะนำรอเข้าสะสมหุ้นเมื่อราคาอ่อนตัว โดยเลือก TISCO (ราคาเป้าหมาย 41.5 บาท) และ TCAP (ราคาเป้าหมาย 34.0 บาท) เป็นหุ้น Top pick ของกลุ่ม
***CNS เชียร์ TISCO เป็นหุ้นเน้นสินเชื่อเช่าซื้อ และ BBL มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่ง***
        บล.โนมูระ พัฒนสิน ธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง (ขาด KTB) รายงานสินเชื่อเดือนต.ค. 2554 เติบโตเล็กน้อย 0.7% เมื่อเทียบกันเดือนต่อเดือน ตามคาด โดยสินเชื่อเดือน ต.ค. 54 ถือว่ายังไม่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมอย่างมีนัยสำคัญ โดย SCB เป็นธนาคารที่รายงานสินเชื่อเดือน ต.ค. 54 โดดเด่นที่สุดในกลุ่มฯ โดยเติบโตถึง 2.9% เดือนต่อเดือน
        รองลงมาได้แก่ TISCO หลักๆผลักดันจากสินเชื่อรายใหญ่ที่มีการเบิกใช้สินเชื่อ ขณะที่สินเชื่อของกลุ่ม (ไม่รวม KTB ) งวด 10 เดือน เติบโตไปแล้วถึง 12.2%
        ทำให้เชื่อว่าแนวโน้มสินเชื่อของกลุ่มสำหรับทั้งปี 54 น่าจะเติบโตได้ใกล้เคียงประมาณการ ที่ 13% ขณะที่ภาพรวมของกลุ่มธนาคารพาณิชย์ในระยะสั้น น่าจะยังคงถูกกดดันจากประเด็นลบจากผลกระทบของภาวะน้ำท่วมที่น่าจะทำให้แนวโน้มกำไรสุทธิในงวด Q4/54 ปรับตัวลดลงไตรมาส/ไตรมาส ดังนั้นในระยะสั้น เน้น ลงทุนในหุ้น 2 กลุ่มหลัก คือ 1. กลุ่มธนาคารกลุ่มที่เน้นธุรกิจสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์(โดยเฉพาะTISCO) ที่จะได้รับผลบวกจากประเด็นการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย และ 2. กลุ่มที่ม่ค่า P/BV ต่ำ (โดยเฉพาะ BBL ที่มีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งสนับสนุน) โดยคาดว่าราคาหุ้นของธนาคารใน 2กลุ่มดังกล่าวน่าจะปรับตัวดีกว่า (outperform) กลุ่มธนาคารฯในระยะสั้น
***DBSV ระบุ BBL-KBANK เป็นหุ้น Top Picks เหตุมีงบดุลแข็งแกร่งรับการเพิ่มขึ้นของ NPL ได้***
        บทวิเคราะห์บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส ประเมินว่า สินเชื่อเดือนต.ค.เติบโต 0.8%MoM (+18.2%YoY) หนุนโดยสินเชื่อระยะยาวของกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ ทั้งนี้สินเชื่อของ SCB และ BBL ขยายตัวดีกว่าคาด โดยมาจากสินเชื่อระยะยาวเพื่อการลงทุนตามแผนของลูกค้ารายใหญ่ ส่วนสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนเติบโตในอัตราที่น้อยลงเพราะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม สำหรับสินเชื่อของ KBANK และ BAY หดตัว เนื่องจากการชำระคืนหนี้เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียน ด้านสินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก คือ KK, TCAP และ TISCO เติบโตน้อยลง เพราะยอดขายรถยนต์ในประเทศเดือนต.ค.หดตัว 40%YoY เทียบกับเดือนส.ค.ที่ขยายตัว 27%YoY เราคาดว่าน้ำท่วมจะกดดันต่อสินเชื่อเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนของลูกค้ารายใหญ่และ SME โดยเฉพาะในกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกและเพื่อการบริโภคในประเทศที่ผ่านธุรกิจบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล & เช่าซื้อใน 4Q54 ดังนั้นเราจึงประมาณการว่าสินเชื่อทั้งปี 54 จะเติบโต 12.5% (10M54 ขยายตัว 18.2%)
        แม้ฝ่ายวิจัยฯ DBSV จะให้สมมติฐานสินเชื่อปี 55 เติบโต 8.2% แต่คาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มจะขยายตัวดี 14% ทั้งนี้คาดว่า NIM ปี 55 จะลดลง 0.10%, ตั้งสำรองค่าเผื่อฯเพิ่มขึ้นเพราะกังวลกับ NPL ที่สูงขึ้น, รายได้ค่าธรรมเนียมขยายตัว 10.6% และอัตราภาษีจ่ายลดลงเป็น 23% อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของ NPL เพราะปัญหาน้ำท่วมไม่ได้กระทบกับความแข็งแรงของกลุ่มธนาคารพาณิชย์มากนัก เพราะมีสำรองค่าเผื่อฯส่วนเกินจากที่ธปท.กำหนดถึง 81 พันล้านบาท (หรือ 141% ของสำรองขั้นต่ำที่ธปท.กำหนดไว้) ซึ่งเพียงพอที่จะรองรับความเสี่ยงดังกล่าว
        ให้ BBL และ KBANK เป็น Top Picks ชอบหุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ เพราะมีงบดุลแข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับการเพิ่มขึ้นของ NPL โดยไม่ต้องตั้งสำรองค่าเผื่อฯ เพิ่มขึ้นจากปกติ สำหรับ BBL เป็นผู้นำในกลุ่มลูกค้ารายใหญ่ และมีงบดุลแข็งแรงมาก รวมถึงมีสำรองสะสมต่อ NPL สูงที่สุดในกลุ่ม ด้าน KBANK เป็นผู้นำในกลุ่มลูกค้า SME โดยมีคุณภาพสินทรัพย์ดีมาก NPL Ratio ต่ำที่สุดในกลุ่ม และรายได้ค่าธรรมเนียมเติบโตสูงที่สุดในกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ด้าน KTB จะได้ประโยชน์จากการใช้จ่ายภาครัฐ นอกจากนั้นยังแนะนำซื้อ BAY, SCB, TCAP และ TISCO ด้วย
*** บล.เคที ซีมิโก้ เชียร์ TISCO ถูกกดดันน้อยสุด และ BBL เป็นหุ้นปลอดภัย ***
        บล.เคทีซีมิโก้ ประเมินว่าการรายงาน ธ.พ. เดือน ต.ค. สะท้อนถึงการดำเนินงาน Q4/54 ของกลุ่มธนาคารที่อ่อนแอลง เพราะอาจไม่เกินช่วง high season ของความต้องการสินเชื่อในไตรมาสนี้ และอัตรากำไรที่ลดตามกิจกรรมเศรษฐกิจที่ชะลอตัว นอกจากนี้อัตราเติบโตสินเชื่อที่ทรงตัวในเดือน ต.ค. มีนัยถึงอัตราเติบโตที่ลดลงในเดือนพ.ย. ดังนั้นการลงทุนในกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะต้องเพิ่มความระมัดระวังและเลือกสรร ชอบ TISCO เพราะถูกกดดันน้อยสุดจากเรื่องนี้ ขณะที่ BBL เป็นหุ้นปลอดภัยภายใต้เศรษฐกิจผันผวนและราคาหุ้นยังถูกในเชิงประเมินมูลค่า
*** บล.เกียริตนาคินเชียร์ซื้อ BBL- KBANK มองกำไรปี 54 เติบโต***
        ฝ่ายวิจัย บล.เกียรตินาคิน ระบุว่าเริ่มเห็นการชะลอตัวของสินเชื่อ และในเดือน พ.ย. น่าจะยิ่งชะลอตัว จากภาวะน้ำท่วมที่ส่งผลรุนแรงตั้งแต่ปลายเดือน ต.ค. เป็นต้นมา ทำให้เริ่มเห็นการชะลอตัวของสินเชื่อในช่วงเดือน ต.ค. และคาดว่าในช่วงเดือน พ.ย. สินเชื่อของกลุ่มธนาคารก็น่าจะยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับเดือน ต.ค. ทั้งนี้คาดว่าสินเชื่อกลับมาฟื้นตัวในเดือน ธ.ค. หลังจากที่สถานการณ์น้ำท่วมเริ่มคลี่คลาย ทำให้คาดว่าสินเชื่อของกลุ่มธนาคารจะกลับมาขยายตัวอีกครั้งได้ในเดือน ธ.ค. จากความต้องการสินเชื่อสำหรับการฟื้นฟูกิจการหลังน้ำท่วม หรือ ขยายการธุรกิจตามปกติ จึงยังคงคาดว่าประมาณการสินเชื่อปี 2554 ของ BBL และ KBANK ที่คาดไว้ที่ 13% ยังมีความเป็นไปได้ แต่สำหรับ TCAP ที่มีสินเชื่อส่วนใหญ่มาจากการเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมมากที่สุด ทำให้ TCAP ปล่อยสินเชื่อได้เพียง 5.1% ต่ำกว่าประมาณการที่ 7% จึงอาจจะมีการทบทวนประมาณการสินเชื่อของ TCAP อีกครั้งเร็ว ๆ นี้
        ยังคงประมาณการเดิม BBL KBANK แต่จะปรับประมาณการของ TCAP ลง ในเบื้องต้นยังคงประมาณการกำไรสุทธิของ BBL KBANK ไว้เหมือนเดิม โดยคาดว่า BBL จะมีกำไรสุทธิปี 2554 ที่ 27,717 ล้านบาท เพิ่ม 13% YoY คาดว่าจะมีการจ่ายเงินปันผล 5.50 บาท/หุ้น คิดเป็น Div. yield 3.99% แนะนำ “ซื้อ” (มูลค่าเหมาะสม 170 บาท) ส่วน KBANK คาดว่าจะมีกำไรสุทธิปี 2554 ที่ 27,959 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 40% YoY คาดว่าจะมีการจ่ายเงินปันผล 3.50 บาท/หุ้น คิดเป็น Div. yield 3.21% แนะนำ “ซื้อ” (ราคาเหมาะสม 146 บาท) ส่วน TCAP ซึ่งประมาณการกำไรสุทธิปี 2554 ไว้ที่ 5,242 ล้านบาท ลดลง 7% YoYคาดว่าจะมีการจ่ายเงินปันผล 1.25 บาท/หุ้น คิดเป็น Div. yield 5.10% ราคาเหมาะสม 41.30 บาท อย่างไรก็ดีจะทบทวนประมาณการกำไรสุทธิใหม่จากสินเชื่อที่ยังปล่อยได้ต่ำกว่าประมาณการ ซึ่งจะกระทบต่อกำไรสุทธิและมูลค่าเหมาะสม
**BBL คาดสินเชื่อปีนี้มีโอกาสโตเกินเป้าที่ 6-8%,หลัง 9 เดือนโตได้ดี ยังตั้งสำรองตามปกติปีละ 6-7 พันลบ.แม้มีเหตุน้ำท่วม ***
        นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ ประธานกรรมการ ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด(มหาชน) (BBL) กล่าวว่า คาดว่าสินเชื่อของธนาคารในปีนี้มีโอกาสเติบโตเกินเป้าหมายที่ 6-8% จากปีก่อน หลังช่วง 9 เดือนแรกสินเชื่อเติบโตได้ดี ขณะที่คาดว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(จีดีพี) ในปี 55 จะเติบโต 4-5%ขณะที่การปล่อยสินเชื่อของธนาคารในระดับปกติ จะเติบโตได้มากกว่าจีดีพีราว 2-3%
        ด้านนายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงเทพ กล่าวว่า ธนาคารยังคงตั้งสำรองตามปกติที่ปีละ 6-7 พันล้านบาท แม้จะมีเหตุน้ำท่วมก็ตาม โดยในช่วง 9 เดือนแรกปีนี้ตั้งสำรองแล้ว 5.5 พันล้านบาท ขณะที่ปีหน้าก็คาดว่าจะตั้งสำรองในระดับเดียวกันด้วย
        ส่วนมูลค่าหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) สิ้นปีนี้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากปีก่อนเป็น 45,800 ล้านบาท จาก 45,600 ล้านบาท
*** ธปท. ไม่ห่วงหนี้เสีย แม้ยอดสินเชื่อคงค้างช่วงน้ำท่วมหนักพุ่งแตะ 4แสนกว่าลบ. คาดสินเชื่อทั้งระบบ Q4/54 หดตัว  ***
        นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) กล่าวว่า จากการหารือวิดีโอคอนเฟอร์เรนท์ครั้งที่ 12 เมื่อวันที่ 22 พ.ย.2554 ของธปท. ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ พบว่าขณะนี้ระบบสถาบันการเงินมีความเสี่ยงจากภาวะอุทกภัยลดลงและกลับเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แม้สถานการณ์น้ำท่วมจะยังไม่สิ้นสุด ขณะเดียวยังเชื่อมั่นว่าระบบสถาบันการเงินมีความเข้มแข็งในระดับสูงที่จะช่วยเหลือในด้านการฟื้นฟูประเทศ
        "ในด้านสินเชื่อพบว่าจากการติดตามพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างมีนัยสำคัญ 30 จังหวัด มียอดคงค้างทั้งหมดในสินเชื่อทุกประเภทประมาณ 4 แสนล้านบาท แต่ทั้งนี้ยังไม่กังวลต่อภาวะหนี้เสียในอนาคต ซึ่งเชื่อว่าจะไม่ใช่ทั้งหมดที่เป็นหนี้เสีย แม้ว่าขณะนี้ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะเกิดขึ้นมากน้อยเพียงใด แต่มั่นใจว่าจะสามารถรองรับได้อย่างไม่น่ากังวล" ผู้ว่า ธปท.กล่าว
        อย่างไรก็ตาม ในด้านการพิจารณาให้สินเชื่อภายหลังจากที่สถานการณ์น้ำคลี่คลายลง สถาบันการเงินแต่ละแห่งคงมีการพิจารณาความช่วยเหลือด้านการสนับสนุนสินเชื่อเป็นรายกรณี ซึ่งยอมรับว่าผู้ขอกู้บางรายอาจไม่สามารถได้รับสินเชื่อตามที่ต้องการได้ ซึ่งหากเกิดกรณีนั้นขึ้นสามารถเข้ามาร้องเรียนยังธปท.ซึ่งจะมีศูนย์กลางการเป็นผู้ไกล่เกลี่ยนต่อสถาบันการเงินได้ แต่อย่างไรก็ตามยังคงต้องยึดหลักในการรักษาวินัยทางการเงิน แม้จะมีความยืดหยุ่นเพื่อให้สถานการณ์ต่างๆ คลี่คลายและไม่กระทบต่อเศรษฐกิจโดยรวมนอกจากนี้ ยอมรับว่าหากเกิดสถานการณ์ที่ไม่สามารถปล่อยกู้ให้กับลูกหนี้บางรายได้ในกรณีใดๆ ก็ตามที่เกิดจากความเสี่ยงด้านเครดิตอาจก่อให้เกิดปัญหาการกู้นอกระบบที่จะตามมาในภายหลัง
        ทั้งนี้ภาพรวมการเติบโตของสินเชื่อทั้งระบบในไตรมาส 4/54 จะชะลอตัวลง โดยเป็นผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในส่วนของสินเชื่ออุปโภคบริโภคและสินเชื่อเช่าซื้อเนื่องจากบรรยากาศโดยรวมของประชาชนที่ไม่ดีนัก แต่อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่าการขยายตัวของสินเชื่อทั้งระบบในปีนี้จะยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยปัจจุบันสินเชื่อรวมทั้งระบบขยายตัวแล้วกว่า 17% ดังนั้น หากได้รับผลกระทบในไตรมาส 4 นี้เล็กน้อย ย่อมไม่เกิดปัญหา
        ขณะที่แนวโน้มในไตรมาส 1/55 คาดว่าสินเชื่อในกลุ่มเช่าซื้อรถยนต์จะกลับมาขยายตัวขึ้นอย่างสูงเพื่อรองรับความต้องการของประชาชน รวมถึงสินเชื่อประเภทอุปโภคบริโภคที่จะฟื้นตัวขึ้น ขณะที่สินเชื่อประเภทการลงทุนอาจฟื้นตัวกลับมาในไตรมาส 2/55 ซึ่งเป็นไปตามการฟื้นฟูของภาคอุตสาหกรรมที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัวตั้งแต่ไตรมาส 4/54 ถึงไตรมาส 1/55 และจะกลับสู่ภาวะปกติในไตรมาส 2/55 เป็นต้นไป