พุธ 23 พ.ย.2554--eFinanceThai.com :
หุ้นนิคมฯ ใกล้คืนชีพ

* ดีเดย์โค้งแรกปีหน้าฟื้นเต็มตัว
          25 พ.ย. ดีเดย์ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินเริ่มเดินเครื่องผลิตบางส่วน หลังหยุดดำเนินการหนีน้ำท่วมนานนับเดือน ต่อด้วยนิคมฯ โรจนะและไฮเทค ที่คาดจะเริ่มได้กลาง ธ.ค.นี้ ด้านกูรูชี้ ส่งผลดีต่อจิตวิทยาการลงทุนเท่านั้น เชื่อทุกอย่างจะกลับสู่ภาวะปกติในไตรมาส 1/55 และสมบูรณ์แบบในไตรมาส 2/55 ระยะสั้นแนะแค่เก็งกำไรรับข่าวดี ส่วน AMATA แนะซื้อ เหตุไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมโดยตรง ทั้งผลงานส่อแววโดดเด่นรับโรงงานจ่อใช้บริการในอนาคต
* นิคมฯ เดินหน้าเปิดโรงงาน ดีเดย์ 25 พ.ย.นี้
          นายแพทย์วรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยความคืบหน้าแผนการกอบกู้นิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมว่า ขณะนี้สถานการณ์นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ได้เริ่มคลี่คลาย หลังจากประสบกับปัญหาน้ำท่วม โดยคาดว่าภายในวันที่ 25 พ.ย.นี้ โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินจะสามารถเดินเครื่องผลิตได้บางส่วน และสถานการณ์ในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโรจนะและโฮเทคได้มีทิศทางที่ดีขึ้นหลังจากระดับน้ำได้ลดลงจนแห้งเกือบ 100% ทำให้คาดว่าในวันที่ 30 พ.ย.นี้ จะมีการจัดทำความสะอาดครั้งใหญ่และจะสามารถเดินเครื่องผลิตได้บางส่วนช่วงกลางเดือนธ.ค.นี้
          อย่างไรก็ดี สำหรับสถานการณ์ในพื้นที่นิคมนวนครเมื่อวานนี้สามารถเริ่มสูบน้ำออกจากนิคมได้แล้ว ส่วนพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมสหรัตนนคร ทางกองทัพภาคที่ 1 เริ่มดำเนินการแผนกอบกู้นิคม โดยได้เริ่มขุดซ่อมถนนบริเวณทางทิศเหนือของนิคม และเจาะรูระบายน้ำทางทิศใต้ของนิคม ซึ่งคาดว่าจะใช้ระยะเวลา 15 วันในการดำเนินการ และหลังจากนั้นก็จะเริ่มสูบน้ำออกจากพื้นที่นิคมดังกล่าวได้
          ขณะที่นิคมอุตสาหกรรมบางกะดี คาดว่าในวันที่ 25 พ.ย.นี้ จะสามารถเริ่มสูบน้ำออกจากพื้นที่นิคมได้เช่นเดียวกัน ส่วนทางด้านนิคมอุตสาหกรรมแฟคตอรี่แลนด์ ขณะนี้ได้มีโรงงานอุตสาหกรรมเปิดเดินเครื่องการผลิตแล้วประมาณ 29 โรง และคาดว่าในช่วงสิ้นเดือนธ.ค. ถึงต้นเดือนม.ค.2555 โรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่นิคมดังกล่าวจะสามารถเปิดเดินเครื่องการผลิตได้เต็ม 100%
          รมว.อุตสาหกรรม กล่าวต่อว่า ได้รับรายงานในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังและบางชัน ขณะนี้สถานการณ์ได้เริ่มคลี่คลายลงตามลำดับ และได้ประกาศยกเลิกการเตือนภัยในพื้นที่นิคมดังกล่าว หลังจากได้มีการตรวจสอบระดับน้ำในคลองแสนแสบได้ปรับตัวลดลงประมาณ 86 เซ็นติเมตร ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยแล้ว โดยโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ได้เดินเครื่องการผลิตตามปกติแล้ว
          ทั้งนี้ที่ประชุมครม.ยังได้อนุมัติการยกเว้นภาษีอากรนำเข้าชิ้นส่วนการประกอบรถยนต์ไฮบริดหลายสิบรายการ เนื่องจากการผลิตรถยนต์ไฮบริดแต่ละยี่ห้อใช้ชิ้นส่วนแตกต่างกัน ซึ่งเป็นอะไหล่ที่ไม่สามารถผลิตได้ในไทย
* TTW พร้อมเดินหน้าผลิตน้ำประปาและบำบัดน้ำเสียป้อนกว่า 90 รง.ในบางปะอิน
          นายสมโพธิ ศรีภูมิ กรรมการผู้จัดการ บริษัท น้ำประปาไทย จำกัด (มหาชน) หรือ “TTW” เปิดเผยว่า “นับแต่ 15 ต.ค.54 ที่ผ่านมา เป็นเวลากว่า 1 เดือนที่นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินต้องประสบภาวะอุทกภัย และวันที่ 21 พ.ย.54 ได้ถือฤกษ์งามยามดีร่วมกับโรงงานต่างๆ กว่า 90 โรงงานภายในนิคมฯ ทำความสะอาดครั้งใหญ่ (big cleaning day)”
          “นิคมอุตสาหกรรมบางปะอินถือเป็นนิคมอุตสาหกรรมแห่งแรกที่น้ำแห้ง และ TTW ก็ได้ทำการจ่ายน้ำประปาและบำบัดน้ำเสียให้แก่โรงงานต่างๆ ภายในนิคมฯ นับแต่วันที่ 17 พ.ย.54 ที่ผ่านมาแล้ว ทั้งนี้ โรงงานต่างๆ จะเริ่มทยอยเปิดดำเนินการผลิตตั้งแต่ต้นเดือนธันวาคมนี้เป็นต้นไป ขณะเดียวกัน ในพื้นที่ปทุมธานี นครปฐม และสมุทรสาครก็ยังคงดำเนินการผลิตได้เป็นปกติ แม้จะมีน้ำท่วมขังกว่า 1 เดือนแล้วก็ตาม” นายสมโพธิ กล่าว
* ROJNA พร้อมเร่งฟื้นฟูโรงงานอย่างเต็มระบบ
          นางสาวอมรา เจริญกิจวัฒนกุล กรรมการ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า ปัจจุบันบริษัทฯ ได้ระบายน้ำออกจากนิคมอุตสาหกรรมเรียบร้อยและมีพื้นที่บางส่วนเริ่มที่จะกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติแล้ว
          'นิคมฯ มีการใช้เครื่องสูบน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อให้ระบายออกนอกพื้นที่ และได้เก็บกวาดขยะ เพื่อให้พื้นที่ในนิคมฯ กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ซึ่งปัจจุบันมีบางพื้นที่ในนิคมฯ สามารถกลับมาทำงานได้ตามปกติแล้ว' นางสาวอมรา กล่าว
          สำหรับการฟื้นฟูนิคมฯ ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานนั้น บริษัทฯ คงต้องสำรวจความเสียหายก่อน ขณะที่ระบบน้ำที่ใช้ในอุตสาหกรรมดำเนินการให้พร้อมใช้งาน เพื่อรับรองลูกค้าที่กลับมาดำเนินการผลิตได้แล้ว ส่วนระบบไฟ้ฟ้าซ่อมแซมแล้ว ดังนั้นภายในปลายปีนี้คาคว่านิคมอุตสาหกรรมน่าจะกลับมาดำเนินงานได้
          อย่างไรก็ตาม จากเหตุการณ์น้ำท่วมที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมานั้น บริษัทฯ ไม่ได้เร่งรัดลูกค้าที่อยู่ระหว่างการซื้อที่ดิน แต่ยอมรับว่าปัญหาที่เกิดขึ้นอาจทำให้กระทบต่อลูกค้าที่ต้องการลงทุนในประเทศไทย ให้ต้องรอดูการจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบรวมถึงการป้องกันปัญหาในอนาคตก่อนตัดสินซื้อ
          'ยอมรับว่ามีผลกระทบอยู่แล้ว เนื่องจากโรงงานได้หยุดชะงักในการผลิต แต่ยังไม่ได้ประเมินความเสียหายต่อธุรกิจว่ามีมากน้อยเพียงใด ส่วนปีหน้ายังไม่มีแผน โดยตอนนี้ต้องเรียกความเชื่อมั้นของนักลงทุนกลับมาให้ได้ก่อน โดยจะเร่งเรียกความเชื่อมั่นกลับมาให้ได้โดยเร็วที่สุด' นางสาวอมรา กล่าว
* AMATA ยอมรับยอดรับรู้รายได้ปีนี้ต่ำกว่า 2 พันลบ.
          นายวิบูลย์ กรมดิษฐ์ กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ บริษัท อมตะคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ AMATA กล่าวว่า คาดว่ายอดรับรู้รายได้ในปีนี้จะต่ำกว่า 2,000 ล้านบาท จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ 4,000 ล้านบาท เนื่องจากยังไม่สามารถโอนที่ดินได้ อย่างไรก็ตามในส่วนของยอดขายที่ดินปีนี้ เชื่อว่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่ 1,500 ไร่ แม้ว่ายอดขายไตรมาส 3 อ่อนตัวลง เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วม แต่การเซ็นสัญญาของลูกค้าทั้งหมดจะเลื่อนมาอยู่ในไตรมาส 4/2554 ประมาณ 200-300 ไร่
          ส่วนในปีหน้ายอดขายที่ดินของบริษัทฯ จะอยู่ที่ 1,800 ไร่ หรือเติบโต 20% จากปีนี้ เนื่องจากมีปัจจัยบวกสนับสนุนหลายอย่างทั้งความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่มั่นใจนิคมอมตะ และนิคมอื่นๆ ด้านภาคตะวันออก เนื่องจากไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมส่งผลให้ได้รับอานิสงส์จากประเด็นดังกล่าว
          นอกจากนี้ ธุรกิจยานยนต์เริ่มเดินเครื่องผลิตรถยนต์ หลังจากที่ชะลอไปเมื่อช่วงไตรมาส 3 หลังจากติดปัญหาขนส่งวัตถุดิบ ขณะเดียวกันแม้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ และยุโรปไม่สดใสแต่ทางตะวันออกและออสเตรเลียถือว่าเป็นฐานส่งออกรถปิคอัพที่สำคัญ ซึ่งผู้ผลิตต่างชาติเลือกไทยเป็นฐานผู้ผลิตรถปิกอัพ
          'วันนี้นักลงทุนเริ่มมองเห็นประเด็นที่เขามองคือ เหตุการณ์น้ำท่วมทำให้นิคมอมตะ และนิคมภาคตะวันออกรับอานิสงส์ ดังนั้น จึงต้องมาแข่งกันที่การดูแลนักลงทุนว่าใครทำได้ดีกว่ากัน ซึ่งสิ่งที่ อมตะทำนั้นไม่ได้ขายที่ดิน แต่วันนี้เราขายความเชื่อมั่น เมื่อคุณซื้อที่ดินจ่ายเงินแล้ว จากนั้นเราดูแลคุณตลอดชีวิต'นายวิบูลย์ กล่าว
          ล่าสุด บริษัทฯมี Backlog 3,300 ล้านบาท จะทยอยรับรู้ไตรมาส 4 ปีนี้ไปจนถึงต้นปีหน้า นอกจากนี้บริษัทฯ มีที่ดินเหลือ 13,000 ไร่ ซึ่งจะทยอยขายได้ 7 ปี ดังนั้นในปีหน้าบริษัทฯ อาจจะใช้เงินซื้อที่ดินไม่มากนัก แค่หลักพันล้านบาท
* กูรู มองส่งผลดีต่อจิตวิทยาการลงทุน
          นายปริญทร์ กิจจาทรพิทักษ์ ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟาร์อีสท์ กล่าวถึงหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งก็ขึ้นอยู่กับทำเลที่ตั้งของนิคมนั้นๆ แต่โดยสรุปทั้งหมดได้รับผลกระทบก็มีประมาณ 7 นิคมอุตสาหกรรม แต่ข่าวดีหลังจากนี้น่าจะเป็นเรื่องของการฟื้นฟูนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งอาจจะต้องเวลาใช้เวลา 3-7 เดือนในการฟื้นฟู แต่ก็ถือเป็นข่าวดีทางด้านจิตวิทยาเท่านั้น เพราะขณะนี้ยังไม่มีใครสามารถประเมินความเสียหายที่ชัดเจนได้ 100% จนกว่าน้ำจะลดลงจนแห้ง และแต่ละบริษัทมีการเข้าตรวจสอบความเสียหายและประเมินผลกระทบอีกครั้งหนึ่ง
          "ดังนั้นอย่างเร็วสถานการณ์ของกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมน่าจะกลับเข้ามาเป็นปกติได้ปลายไตรมาส 1 ปีหน้า แต่ถ้าจะกลับมาได้แบบชัดเจนจริงๆ น่าจะเป็นไตรมาส 2 จึงจะเริ่มกลับมาผลิตได้เหมือนเดิม ดังนั้นเรื่องของการฟื้นฟูจึงถือเป็นข่าวดีทางด้านจิตวิทยาเท่านั้น" นายปริญทร์ กล่าว
          ดังนั้นกลยุทธ์การลงทุนสำหรับหุ้นกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมน่าจะเล่นแนวเก็งกำไรมากกว่า เพราะโดยพื้นฐานของบริษัทฯแล้วน่าจะเริ่มกลับมาผลิตได้กลางปีหน้า โดยนักลงทุนอาจจะมาเล่นเก็งกำไร และเริ่มกลับมาฟื้นฟูหลังน้ำลดและเริ่มกลับมาฟื้นฟูโรจนะอุตสาหกรรม ส่วนบริษัทที่ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมนักลงทุนก็อาจจะเข้ามาเล่นเก็งกำไรเช่นเดียวกันจากการคาดการณ์ที่ว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอาจจะย้ายฐานการผลิตมายังนิคมที่ไม่โดนน้ำท่วม เช่น อมตะ และเหมราช
          "แต่โดยพื้นฐานจริงๆ แล้วบริษัทที่โดนผลกระทบจากน้ำท่วมจะต้องรอเวลาและประเมินความเสียหายจากบริษัทประกันอีกครั้งหนึ่ง ดังนั้นช่วงนี้จึงเล่นได้แค่เก็งกำไร" นายปริญทร์ กล่าว
* AMATA โดดเด่นในฐานะไม่ประสบอุทกภัย
          ด้านฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน แนะนำซื้อ AMATA เพราะคาดว่าแนวโน้มการเติบโตของ AMATA ในปี 2555 ยังมีความน่าสนใจจาก 1) การมี Backlog ในมือสะสม ณ ปัจจุบันค่อนข้างสูงที่ระดับ 3.3 พันล้านบาท 2) ไม่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมทำให้การเดินเครื่องของกลุ่มลูกค้าอุตสาหกรรมในนิคมฯ ค่อนข้างปกติ ทำให้รายได้สาธารณูปโภคพื้นฐานยังเติบได้ดี
          ในขณะที่กลุ่มลูกค้ายานยนต์ยังคงสนใจซื้อที่ดินของ AMATA ทำให้คาดว่าในปี 2554 จะทำยอดขายได้ราว 1.2 พันไร่ (ปัจจุบันขายได้ 954 ไร่ คิดเป็น 80% ของเป้าหมาย) ปรับประมาณการกำไรสุทธิปี 2554 ลงจากการโอนที่ล่าช้าแต่คาดจะมีการโอนได้ต่อเนื่องในปี 2555 แนะนำ “ซื้อ” มูลค่าเหมาะสม 16.40 บาท
          ส่วนฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส ประเมิน AMATA ว่า การที่ยอดขาย 9M54 เป็นจำนวน 954 ไร่ คิดเป็นสัดส่วนเพียง 64% จากเป้าขายปีนี้ของบริษัทที่ 1,500 ไร่ แต่เนื่องจากใกล้สิ้นปี 54 มากแล้ว ในสมมุติฐานยอดขายที่ดินปีนี้ และปี 55 เราจึงให้เป็น 1,145 ไร่ และ 1,200 ไร่ ตามลำดับ เทียบกับปี 53 ที่บริษัทขายได้ 1,295 ไร่ การเปลี่ยนวิธีรับรู้รายได้เป็นโอนกรรมสิทธิ์จากเดิมคือ ร้อยละของงานที่เสร็จ ทำให้การรับรู้รายทำได้ช้าลง เราจึงคาดว่ากำไรสุทธิต่อหุ้นปี 54 นี้จะลดลง 22% y-o-y
          แต่ทั้งนี้ ก็ไม่ถึงกับกังวลนัก เพราะตลาดฯ ก็รับรู้เรื่องนี้มาพอควรแล้ว แต่เมื่อบริษัทสามารถปรับตัวได้ขณะที่ยอดขายยังไปได้ดีอยู่ จึงคาดว่ากำไรสุทธิต่อหุ้นในปี 55 จะกลับมาเติบโตถึง 30% y-o-y กอปรกับผลกระทบทางลบต่ออุตสาหกรรมในเรื่องการปรับลดสิทธิประโยชน์บีโอไอก่อนหน้านี้มีแนวโน้มจะถูกเลื่อนออกไป หลังเกิดวิกฤตน้ำท่วม เราจึงคงคำแนะนำ ซื้อ AMATA ที่ราคาพื้นฐาน 16.00 บาท ซึ่งประเมินด้วยส่วนลด 20% จากมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (RNAV) จุดดีคือ การที่นิคมของบริษัทไม่ถูกน้ำท่วม จะทำให้ลูกค้าสนใจซื้อจาก AMATA มากขึ้น