อังคาร 14 ก.ย.--eFinanceThai.com :
ครึ่งปีแรก บจ.ปันผลสูงสุดรอบ 5 ปี

         นักลงทุนยิ้มแก้มปริ 6 เดือนแรกปีนี้ บจ. จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลรวม 90,175 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.19% จากช่วงเดียวกันปีก่อน คิดเป็นอัตรา 47.50% สูงสุดในรอบ 5 ปี แม้ช่วง Q2/53 บจ. จะมีกำไรรวมแค่ 126.22 พันล้านบาท ลดลงจาก Q1/53 หลังกำไรกลุ่มทรัพยากรหด-ปัญหาการเมืองกระทบธุรกิจบริการ

          รายงานข่าวจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) แจ้งว่า ในช่วง 6 เดือนแรกของปี 2553 บริษัทจดทะเบียน (บจ.) 119 แห่ง ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลงวดครึ่งแรกปี 2553 รวม 90,175 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.19% จากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว คิดเป็นอัตราการจ่ายเงินปันผล (Payout Ratio) 47.50% สูงสุดในรอบ 5 ปี
          ทั้งนี้ จากข้อมูลที่บริษัทจดทะเบียนรายงานตลาดหลักทรัพย์ฯ ณ วันที่ 7 ก.ย. 2553 พบว่า บริษัทจดทะเบียนรวม 119 แห่ง (ไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์) ประกาศจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสำหรับงวดผลการดำเนินงานตั้งแต่เดือนมกราคม - มิถุนายน 2553 มูลค่าเงินปันผลรวม 90,175 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.19% เมื่อเทียบกับ 73,202 ล้านบาท ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2552

          ด้านนายชนิตร ชาญชัยณรงค์ ผู้ช่วยผู้จัดการ กลุ่มงานผู้ออกหลักทรัพย์และบริษัทจดทะเบียน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) เปิดเผยว่า ครึ่งแรกของปีนี้ บริษัทจดทะเบียน 119 แห่งประกาศจ่ายเงินปันผล ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8 แห่ง ในจำนวนนี้เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ 103 บริษัท และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 16 บริษัท ด้านอัตราการจ่ายเงินปันผล (Payout Ratio) ปีนี้เท่ากับ 47.50% เพิ่มขึ้น 2.91% จากระดับ 44.59% ในปีที่แล้ว และเป็นอัตราสูงสุดในรอบ 5 ปี ในขณะที่อัตราเงินปันผลตอบแทน (Dividend Yield) เท่ากับ 1.95%
          ทั้งนี้ การที่จำนวนบริษัทจดทะเบียนที่ประกาศจ่ายเงินปันผล รวมทั้งความสามารถในการจ่ายเงินปันผลมีเพิ่มขึ้น เกิดจากการที่บริษัทจดทะเบียนเติบโตและมีผลประกอบการดีขึ้น โดยกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนงวด 6 เดือนแรกของปีนี้ เติบโตถึง 34.03% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
          สำหรับบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ 5 อันดับแรก ที่จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสูงสุด ได้แก่ บมจ.ชิน คอร์ปอเรชั่น (SHIN) บมจ.ปตท. (PTT) บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) และ บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) โดยมูลค่าเงินปันผลคิดเป็น 56.03% ของมูลค่าเงินปันผลระหว่างกาลทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ฯ และบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ 5 อันดับแรกที่จ่ายเงินปันผลระหว่างกาลสูงสุด ได้แก่ บมจ.เกียรติธนาขนส่ง (KIAT) บมจ.เด็มโก้ (DEMCO) บมจ.ยูบิส (เอเชีย) (UBIS) บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น (NBC) และ บมจ.บิซิเนส ออนไลน์ (BOL) โดยมูลค่าเงินปันผลคิดเป็น 55.70% ของมูลค่าเงินปันผลระหว่างกาลทั้งหมดในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ
          ทั้งนี้ ยังมีบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลรอบครึ่งปีแรก ซึ่งจะทยอยประกาศให้ทราบเป็นระยะโดยผู้ลงทุนสามารถติดตามข้อมูลการจ่ายเงินปันผลได้จากเว็บไซต์ของตลาดหลักทรัพย์ฯ ที่ www.set.or.th หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ S-E-T Call Center โทร 0-2229-2222

          อนึ่ง ที่ผ่านมา ตลาดหลักทรัพย์ฯ รายงาน SET Note Quarterly Corporate Update ไตรมาส 2/2553 บริษัทจดทะเบียนมีกำไรสุทธิ 126.22 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับไตรมาส 2/2552 แต่ลดลงจากไตรมาส 1/2553 จากปัจจัยเฉพาะในกลุ่มทรัพยากรและปัญหาความไม่สงบทางการเมืองที่กระทบกับธุรกิจบริการเป็นสำคัญ
          อย่างไรก็ตาม รายได้ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน รวมทั้งจำนวนบริษัทจดทะเบียนที่มีกำไรสุทธิมีสัดส่วนสูงขึ้นและการลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ สะท้อนว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนยังมีทิศทางขยายตัวสอดคล้องกับการฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจโดยรวม
          โดยไตรมาส 2/2553 บริษัทจดทะเบียนมีรายได้รวมปรับสูงขึ้น สอดคล้องกับการขยายตัวของภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ โดยบริษัทจดทะเบียน (ไม่รวมกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์) มีกำไรสุทธิ 126.22 พันล้านบาท ใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากกลุ่มทรัพยากรมีกำไรสุทธิปรับลดลงมาก จากผลกระทบในการบริหารสต๊อกน้ำมันดิบและอัตราแลกเปลี่ยน ทั้งนี้ หากไม่รวมกำไรสุทธิของกลุ่มทรัพยากร ภาพรวมของบริษัทจดทะเบียนไทยยังมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 22.88% จากไตรมาส 2/2552
         นอกจากนี้ พบว่าผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนมีการฟื้นตัวในลักษณะที่กระจายตัวมากขึ้น สะท้อนจากจำนวนบริษัทจดทะเบียน 395 บริษัทที่มีผลกำไรสุทธิ คิดเป็น 78.53% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด เพิ่มขึ้นจาก 73% ในไตรมาส 2/2552

          สำหรับการเปรียบเทียบผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2553 กับไตรมาส 1/2553 (ไม่รวมกลุ่มการเงินและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์) มีกำไรสุทธิลดลง 25.66% จาก 102.77 พันล้านบาท เป็น 95.00 พันล้านบาท เป็นผลมาจากกลุ่มทรัพยากรและกลุ่มธุรกิจบริการมีกำไรสุทธิปรับลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากการบริหารสต๊อกน้ำมันดิบของกลุ่มทรัพยากร และกลุ่มธุรกิจบริการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาความไม่สงบทางการเมือง อย่างไรก็ตาม มีสัญญาณการฟื้นตัวของภาคธุรกิจ สะท้อนจากบริษัทจดทะเบียนมีรายได้เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
          ด้านดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียน (ไม่รวมกลุ่มการเงิน และกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์) ในไตรมาส 2/2553 มีระดับใกล้เคียงกับงวดเดียวกันของปีก่อน โดยมีอัตราผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (ROE) 3.26% และมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์รวม (ROA) อยู่ที่ 2.55% ขณะที่มีฐานะทางการเงินอยู่ในเกณฑ์มั่นคงและสามารถรองรับความผันผวนของเศรษฐกิจได้ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับช่วงเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงปี 2551-2552 ที่ผ่านมา

          ทั้งนี้ ในไตรมาส 2/2553 มีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) อยู่ที่ 1.14 เท่า ขณะที่อัตราส่วนความสามารถในการชำระดอกเบี้ย (Interest Coverage Ratio) อยู่ที่ 6.34 เท่า จาก 1.17 เท่า และ7.99 เท่าในช่วงเดียวกันของปีก่อนตามลำดับ

          ด้านการลงทุนของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 2/2553 (ไม่รวมกลุ่มการเงินและกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์) มีมูลค่า 88.82 พันล้านบาท ลดลง 7.27% จากไตรมาส 2/2552 เนื่องจากการลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ของกลุ่มอสังหาริมทรัพย์และก่อสร้าง และกลุ่มธุรกิจบริการที่เสร็จสิ้นลง อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนมีมูลค่าการลงทุนเพิ่มขึ้น 18.34% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2553 รวมถึงสัดส่วนของบริษัทจดทะเบียนที่มีการลงทุนเพิ่มในสินทรัพย์ถาวรปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 92.02% ของจำนวนบริษัทจดทะเบียนทั้งหมด จาก 90.51% ในไตรมาสก่อนหน้า
          สำหรับการระดมทุนของบริษัทจดทะเบียน การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและการปรับสูงขึ้นของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ในช่วงไตรมาส 1 และ 2 ของปี 2553 เป็นปัจจัยสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนมีการระดมทุนในรูปตราสารทุนเพิ่มขึ้น โดยในไตรมาส 2/2553 มีมูลค่าระดมทุนรวม 38.44 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 13 เท่า จากงวดเดียวกันของปีก่อน และเพิ่มขึ้น 3 เท่าจากไตรมาส 1/2553
          ทั้งนี้ แยกเป็นการระดมทุนจากบริษัทจดทะเบียนเข้าใหม่ 2 บริษัท และ 1 กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ มูลค่ารวม 2.12 พันล้านบาท ขณะที่มีการระดมทุนในตลาดรองของ SET และ mai มูลค่ารวม 36.32 พันล้านบาท