พุธ 15 ก.ย.--eFinanceThai.com :
ธปท.งดใช้ยาแรงคุมบาท-อย่าตื่นทิ้งหุ้น

          โบรกเกอร์เตือนสตินักลงทุน อย่าตื่นตระหนกขายหุ้น ฉุดดัชนีดิ่งนรก!! หลังตลาดผันผวนหนัก เหตุผวาแบงก์ชาติใช้ยาแรงแก้บาทแข็ง ลืดสะพัดปลุกผีกันสำรอง 30% ออกมาหลอกหลอน นักวิเคราะห์คาดธปท.ทิ้งไม้แข็งเลือกใช้ไม้นวมรับมือค่าบาท เพื่อไม่ให้กระทบตลาดรุนแรง เช่น ชะลอขึ้นดอกเบี้ยอาร์พี-มาตรการทางภาษี-กำหนดอัตรากลางแลกเปลี่ยน แนะฉวยจังหวะซื้อหุ้นพื้นฐานดีเมื่อราคาดิ่งแรง ในกลุ่มรับเหมาฯ-พลังงาน-แบงก์พาณิชย์ เพราะต่างชาติยังสนใจ

          หลังจากที่เงินบาทแข็งค่าอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องรวมกว่า 8% ส่งผลให้นักลงทุนออกมาคาดการณ์ว่าอีกไม่นานธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะออกมาตรการต่างๆเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินบาท และเกิดกระแสข่าวลือมากมายว่า ธปท.อาจจะออกมาตรการควบคุมเงินทุนระยะสั้น 30% อีกครั้ง จนสร้างความตื่นตระหนกให้กับนักลงทุนเป็นอย่างมาก และขายหุ้นออกมาในช่วง 2 วันทำการหลังสุด กดดัชนีระหว่างวันร่วงแรง 2 วันรวมประมาณ 33 จุด เนื่องจากมาตรการดังกล่าวปิดกั้นการไหลเข้าของเงินทุน ตลอดจนเคยทำให้ดัชนีหุ้นไทยปรับตัวลดลงแรงมากกว่า 100 จุด ภายในวันเดียวมาแล้ว
          อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์หลายสำนักออกมาระบุตรงกันว่า ธปท.ไม่มีความจำเป็นที่จะออกมาตรการ 30% เพื่อป้องกันค่าบาทแข็ง เนื่องจากเป็นมาตรการที่รุนแรงเกินไป และมีผลเสียมากกว่า ขณะเดียวกันมาตรการที่จะออกมาเร็วๆนี้คงไม่บิดเบือนกลไกตลาดจนส่งผลกระทบหนักหน่วงต่อตลาดเงิน-ตลาดทุน โดยอาจจะเลือกใช้มาตรการทางภาษี การชะลอขึ้นอัตราดอกเบี้ย หรือกำหนดอัตรากลางเงินบาทแทน ซึ่งอาจจะมีผลกระทบต่อตลาดหุ้นไม่มากนัก
          ดังนั้น นักลงทุนจึงไม่ควรตื่นตระหนกขายหุ้นตามขกระแสข่าวลือ บางแห่งแนะนำให้ถือเพื่อรอดูสถานการณ์ ขณะที่บางแห่งแนะนำให้ฉวยจังหวะซื้อหุ้นที่ปรับตัวลดลงแรง ในกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง พลังงาน และธนาคารพาณิชย์ เพราะมองว่าปัจจัยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยยังดี นักลงทุนต่างชาติยังสนใจหุ้นบลูชิพ

***** FSSแนะเก็บหุ้นดิ่งแรง มั่นใจธปท.ไม่บิดเบือนกลไกตลาด

          บทวิเคราะห์ บล.ฟินันเซียไซรัส(FSS) ระบุว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ก่อให้เกิดความวิตกกังวลต่อกลุ่มส่งออกที่มีสัดส่วนต่อ GDP สูงถึงกว่า 60% อันนำมาสู่เสียงเรียกร้องให้ทางการออกมาตรการสกัดการแข็งค่าของเงินบาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าในไม่ช้าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลังคงจะออกมาตรการอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายประการ แต่ผลลัพธ์คงจะเพียงแค่สามารถชะลอความเร็วของการแข็งค่าของเงินบาท และความผันผวนในระยะสั้นเท่านั้น
          ทั้งนี้ คาดว่า ธปท. จะออกหลายมาตรการมาพร้อมกันเพื่อไม่ให้การบิดเบือนกลไกตลาดเกิดขึ้นอย่างรุนแรงเฉพาะตลาดใดตลาดหนึ่งมากเกินไป และเชื่อว่ามาตรการกันสำรองแต่ด้วยอัตราต่ำกว่า 30% เป็นไปได้ แต่น่าจะเป็นมาตรการท้ายๆ โดยมองว่ามีมาตรการอื่นพอจะนำมาใช้ร่วมกันได้คือ
          1.การเข้ากำหนดอัตรากลางของเงินบาทต่อดอลลาร์และสกุลเงินอื่นผ่านธนาคารพาณิชย์ โดยให้มีขอบเขตผันผวนได้จำกัด ขณะเดียวกันก็ยังคงมาตรการเข้าแทรกแซงตลาด
อัตราแลกเปลี่ยนด้วยการซื้อขายเงินสกุลต่างๆ 2.เนื่องด้วยคราวนี้เม็ดเงินส่วนใหญ่ไหลเข้าไปลงทุนในตลาดพันธบัตรจึงอาจใช้วิธีการเช่นเดียวกับของทางการอินเดีย กล่าวคือการกำหนดวงเงินขั้นสูง จำกัดการลงทุนในพันธบัตรไทยลง รวมกึงการกำหนดให้การถือครองพันธบัตรต้องถือครองจนหมดอายุพันธบัตร
          3.การเก็บภาษีดอกเบี้ยพันธบัตร รวมถึงเงินฝากของผู้มีถิ่นฐานนอกราชอาณาจักร และภาษีกำไรจากการลงทุนในพันธบัตร (Capital gain tax) 4. ช่วยเหลือผู้ส่งออกด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ การยกเว้นภาษีบางรายการให้เป็นการชั่วคราวเพื่อบรรเทาผลกระทบเรื่องค่าเงิน 5.ชะลอการขึ้นอัตราดอกเบี้ยออกไป
          ทั้งนี้ หากมาตรการของทางการเป็นไปอย่างที่คาดข้างต้น ผลกระทบในเชิงลบต่อตลาดการเงินน่าจะมีเพียงจำกัด และหากตลาดหุ้นปรับตัวลงมากเกินเหตุน่าจะเป็นโอกาสของการเข้าซื้อหุ้นพื้นฐานดีเพื่อการลงทุนในระยะยาว เพราะปัจจัยพื้นฐานของไทยยังคงจะแข็งแกร่งอยู่ต่อไป

***** CNSชี้บลูชิพกดดันดัชนี หากมาตรการคุมบาทแข็งไม่ชัดเจน

          บทวิเคราะห์ บล.พัฒนสิน(CNS) ระบุว่า หุ้นบูลชิพ กลุ่มแบงก์ พลังงาน รับเหมาก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ โดยเฉพาะหุ้นที่อยู่ใน MSCI Thailand อาทิเช่น BBL, KBANK KTB, PTT ,TOP, PTTAR และ IRPC เป็นต้น คาดว่าจะเป็นกลุ่มที่กดดันให้ตลาดลดลง หากประเด็นการควบคุมค่าเงินบาทยังคงคลุมเครือ หรือถ้ารัฐฯยังไม่ออกมาสยบข่าวลือ
          ทั้งนี้ พัฒนสินคาดว่า ธปท. อาจจะมีมาตรการสกัดการแข็งค่าของเงินบาท แต่จะไม่ใช้ยาแรง ดังนั้นราคาหุ้นในกลุ่มข้างต้น คาดว่าจะรีบาวด์ หากมาตรการไม่ได้รุนแรงตาม
คาด แต่ถ้ารัฐฯยังไม่แสดงทิศทางที่ชัดเจนต่อค่าเงินบาท หรือไม่ออกมาปฏิเสธข่าวลือ คาดว่าหุ้นบูลชิพในกลุ่มดังกล่าว จะซึมลง และฉุดดัชนีต่อไป
          โดยคาดว่ากลุ่มบันเทิง, ค้าปลีก หุ้น Defensive และหุ้นขนาดกลางที่มีประเด็นบวกหนุน ที่ไม่อยู่ในMSCI Thailand หรือไม่ใช่เป้าหมายแรกที่ฝรั่งจะขาย คาดจะ Outperform ตลาดชั่วคราวจนกว่ามาตรการคุมบาทจะชัดเจน หรือ ผ่านช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อการชุมนุมเสื้อแดง ได้แก่ MAJOR, BIGC, MAKRO, DCC, TVO, BLA, CK, BH, BGH, KH, MINT

***** ASPเชื่อแบงก์ชาติไม่ออกกันสำรอง30% คาดชะลอขึ้นอาร์พีแทน

          บทวิเคราะห์บล.เอเซีย พลัส(ASP) ระบุว่า ความกังวลต่อการออกมาตรการ 30%(Capital Control 30%)ไม่เป็นผลดีต่อตลาดหุ้น เพราะการแข็งค่าของเงินบาท น่าจะเกิดขึ้นในระยะสั้น ๆ เนื่องจากปัญหาหลักอยู่ที่ประเทศคู่ค้าสำคัญๆของไทย ไม่ว่าจะเป็นยุโรป หรือสหรัฐ ต่างประสบปัญหาการเงินในประเทศ ขณะที่ประเทศไทยและประเทศอื่นๆในภูมิภาคเอเซีย ล้วนได้ดุลการค้ากับประเทศพัฒนาแล้วเกือบทุกแห่งอย่างไรก็ตาม คาดว่าการเกินดุลการค้าของไทยก็จะค่อยๆลดน้อยถอยลงในไตรมาสสุดท้ายของปี ตามผลของฤดูกาล การออกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าจึงไม่มีความจำเป็น
          โดยฝ่ายวิจัยยังเชื่อว่าการออกมาตรการควบคุมเงินทุนไหลเข้าที่รุนแรงไม่น่าจะเกิดขึ้น เพราะหากพิจารณาเงินทุนไหลเข้าที่ส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่ากว่า 90% เป็นเงินที่ไหลเข้าในตลาดตราสารหนี้(พันธบัตรรัฐบาล)ขณะที่เงินที่เข้ามาในตลาดหุ้นคิดเป็นสัดส่วนเพียง 10% เท่านั้น มีความเป็นไปได้ว่าการออกมาตรการที่จะชะลอการแข็งค่าของค่าเงินบาท น่าจะมุ่งไปยังตลาดตราสารหนี้เป็นหลัก รวมถึงการส่งสัญญาณหยุดขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม 2 ครั้งถัดไปของปีนี้ (20 ต.ค. และ 1 ธ.ค. 2553) หลังจากที่ได้ขึ้นดอกเบี้ยมาแล้ว 2
ครั้ง รวม 0.5% มาอยู่ที่ 1.75% น่าจะเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่า อย่างไรก็ตาม ธปท. อาจจะต้องถ่วงน้ำหนักความสำคัญระหว่างความกังวลต่อเงินเฟ้อ หรือภาคส่งออก ที่ได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่แข็งค่ารวดเร็ว

***** นักวิเคราะห์ชี้อย่ารีบขายหุ้นรอดูสถานการณ์ก่อน

          นายเจริญ เอี่ยมพัฒนธรรม รองกรรมการผู้จัดการ บล.เคที ซีมิโก้ กล่าวถึง การที่มีกระแสข่าวว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)อาจจะออกมาตรการบางอย่างมาดูแลค่าเงินบาทว่า ยังประเมินได้ยากว่าจะออกมาในทิศทางใด ดังนั้น ระหว่างรอความชัดเจนจาก ธปท.นักลงทุนควรจะรอดูสถานการณ์ก่อนโดยควรจะถือหุ้นไว้ในมือยังไม่ต้องรีบขาย
          นายวีระชัย ครองสามสี ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์การลงทุน บล.ฟาร์อีสท์ กล่าวว่า เชื่อว่าในระยะเวลาอันใกล้นี้จะยังไม่เห็น ธปท.ออกมาตรการใหม่ๆ เข้ามาดูแลค่าเงินบาท แม้ว่าจะแข็งค่าอย่างต่อเนื่องก็ตาม เพราะการแข็งค่าของเงินบาทยังเป็นไปในทิศทางเดียวกับการเคลื่อนไหวของเงินใน สกุลภูมิภาค ซึ่งสาเหตุมาจากการที่เงินทุนจากต่างชาติไหลเข้ามาลงทุนในตลาดเงินและตลาด ทุนไทยประกอบกับช่วงที่ผ่านมาการออกมาตรการดูแลค่าเงินบาท(กันสำรอง 30%)ได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นอย่างรุนแรง ธปท.จึงไม่น่าจะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมในช่วงนี้
          อย่างไรก็ตาม ในระยะ 3 เดือนไปจนถึงสิ้นปีนี้ มองว่าหากจะมีมาตรการออกมาน่าจะเป็นมาตรการทางภาษี เพราะเป็นมาตรการที่ไม่รุนแรงมากนัก และมองว่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นยังไม่ใช่เรื่องที่น่ากังวล และจะส่งผลดีต่อบริษัทที่มีการนำเข้าสินค้า เช่น กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ถ่านหิน พลังงาน ปิโตรเคมีเครื่องจักร รวมไปถึงกลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งนักลงทุนสามารถหาจังหวะเข้าซื้อเก็บหุ้นกลุ่มนี้ไว้ได้

***** เกียรตินาคินหวั่นดัชนีหลุด900จุด ต่างชาติกังวลปิดกั้นเงินทุน

          นางวิริยา ลาภพรหมรัตน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ สายพัฒนาธุรกิจ บล.เกียรตินาคิน เปิดเผยว่า คาดว่าแนวโน้มดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วง 4 เดือนที่เหลือ หรือจนถึงช่วงสิ้นปี ดัชนีฯจะมีกรอบแนวรับอยู่ที่ 895 และ 875 จุด โดยในระยะ 1-2 สัปดาห์ก่อนที่ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนใหม่จะเข้ามารับตำแหน่ง ตลาดหุ้นมีความกังวลว่าหลังจากเข้ารับตำแหน่งจะมีมาตรการ Capital Controls เข้ามาดูแลอัตราแลกเปลี่ยนที่ค่าเงินบาทมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่องหรือไม่
          ทั้งนี้หากดัชนีฯมีการรีบาวน์ในช่วง 2 สัปดาห์นี้ไม่เกินระดับที่ 920 จุด โดยกลยุทธ์การลงทุนในระยะ 1 เดือน แนะนำซื้อเก็งกำไรในหุ้น Big Cap อาทิ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ พลังงาน อสังหาริมทรัพย์ ได้แก่ LH, AP, QH, PS, และไอซีทีบางตัว คือ ADVANC ซึ่งราคายังคง Laggard อยู่ และแนะนำให้ขายทำกำไรออกมาก่อน และค่อยทยอยซื้อสะสมในหุ้นที่มีอัตราการขึ้นน้อยกว่าตลาดฯ (Laggard) ที่บริเวณแนวรับที่ให้ในหุ้นกลุ่ม Big Cap ประกอบด้วยหุ้นกลุ่มพลังงาน ได้แก่ PTT, PTTCH, PTTEP, BANPU และ TTW และเก็งกำไร TOP PTTAR กลุ่มอสังหาริมทรัพย์และรับเหมาก่อสร้าง

***** ธปท.ปฏิเสธออกมาตรการควบคุมทุนไหลเข้า

          นางธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงกระแสข่าวลือที่ ธปท.จะออกมาตรการควบคุมการไหลเข้าของเงินทุนเพื่อป้องกันค่าเงินบาท ว่า ในแง่นโยบายการดูแลค่าเงินบาทจากการหารือกับที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา พบว่ายังไม่มีการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย และไม่ได้มีการวางเป้าหมายการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทว่าจะอยู่ในระดับใด ทั้งนี้จะอยู่บนพื้นฐานที่ไม่ให้ค่าเงินบาทมีความผันผวนเกินไป
'เข้าใจว่าสาเหตุข่าวลือมาจากที่เราประชุมกนง.ไปเมื่อวันศุกร์ จริงๆ เราประชุมเพื่ออัพเดทสถานการณ์ต่างๆ และบอร์ดเห็นด้วยกับแนวทางที่เราดำเนินการอยู่ ซึ่งไม่เปลี่ยนแปลงในก่อนหน้านี้ในแง่ดูแลนโยบายการเงินไม่เปลี่ยนแปลง เราไม่มีอัตราเงินบาทในใจว่าต้องอยู่ตรงนั้นตรงนี้ แค่ดูแลไม่ให้ผันผวนเกินไป และจะยังไม่มีแถลง เพียงแต่ข้อเท็จจริงเป็นแบบนี้ ขอให้ช่วยบอกต่อ'นางธาริษากล่าว