พฤหัสฯ 12 ม.ค.2555--eFinanceThai.com :
CPF-GFPT ตีปีกยูโรปลดล็อคไก่สดไทย

โบรกฯ ฟันธง CPF-GFPT รับอานิสงส์อย่างแรงหาก EU นำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย แนะซื้อทั้งคู่ ด้านบิ๊ก CPF เชื่อหนุนอุตสาหกรรมอาหารคึก ฟาก GFPT ตั้งเป้ารายได้รวมปี55 โต 10% จากปีก่อนที่ ด้าน ก.พาณิชย์ เผย หากไก่สดไทยส่งออกไปยุโรปได้อีกครั้ง จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกอีกปีละกว่า 1หมื่นลบ.
        สหภาพยุโรป (EU) มีแนวโน้มสูงที่จะนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย ภายหลังจากที่หน่วยงานของสหภาพยุโรปได้เดินทางมาตรวจประเมินในช่วงปี 2554 และมีความพอใจต่อระบบควบคุมการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก รวมถึงการดำเนินการปรับปรุงมาตรฐานห้องปฏิบัติการของไทย ซึ่งถือว่ามีความชัดเจนมากขึ้นที่ EU จะนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย หลังไม่สามารถส่งออกได้นับตั้งแต่เกิดปัญหาการระบาดของโรคไข้หวัดนกในปี 2547และประเด็นดังกล่าวส่งผลบวกอย่างมากต่อCPFและ GFPT
* โบรกฯ ชี้ GFPT-CPF รับอานิสงส์อย่างแรง หาก EU อนุญาตนำเข้าไก่สดแช่แข็งจากไทย
        บทวิเคราะห์ บล.เอเซีย พลัส ระบุว่า หากพิจารณาถึงช่วงก่อนเกิดโรคระบาดไข้หวัดนกในปี 2536-2546 พบว่าประเทศไทยเคยส่งออกไก่สดไปยังต่างประเทศเฉลี่ยสูงถึง 2 แสนตัน/ปี ซึ่งหากรวมกับโควต้าการส่งออกไก่ปรุงสุกไปยังสหภาพยุโรปในปัจจุบันที่ระดับ 1.6 แสนตัน/ปี จะทำให้ผู้ประกอบการทั้งหมดของไทยสามารถส่งออกปริมาณไก่ทั้งหมดไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปได้สูงถึง 3.6 แสนตัน/ปี ซึ่งฝ่ายวิจัยเชื่อว่าประเด็นดังกล่าวจะส่งผลบวกอย่างมากต่อผู้ประกอบการในธุรกิจส่งออกไก่สดแช่แข็งของไทย ได้แก่บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน) หรือ GFPT (FV @ 13.79 บาท) มากที่สุดเนื่องจากมีรายได้จากการส่งออกไก่ทั้งหมดไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป คิดเป็นสัดส่วนราว 8% ของรายได้รวม รองลงมา คือบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF (FV @ 46.65 บาท) ซึ่งมีรายได้จากการส่งออกไก่ทั้งหมดไปยังประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรป คิดเป็นสัดส่วนรวม 4% ของรายได้รวม
*บล.ทรีนีตี้ ชี้ CPF ปี 55 ข่าวดีรุมเพียบ แนะซื้อ ราคาเป้าหมาย 42 บาท
        บทวิเคราะห์ บล.ทรีนีตี้ ระบุว่า ปี 2555 มีปัจจัยบวกหนุนแนวโน้มผลการดำเนินงานของ CPF คือ การเข้าซื้อกิจการC.P. Phokpand ที่ฮ่องและแนวโน้มการบริโภคกุ้งในประเทศและส่งออกที่คาดว่าจะขยายตัวราว 10-20% YoY โดยเฉพาะตลาดใหม่อย่างจีน ส่วนการกลับมานำเข้าไก่สดจากไทยอีกครั้งของสหภาพยุโรป คาดว่าจะเป็นบวกมากในปี 2556 จึงยืนยันซื้อ CPF
        จับตาผลการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้น ในวันที่ 18 ม.ค. 55 เพื่ออนุมัติการเข้าซื้อกิจการC.P. Phokpand ที่ฮ่องกงรวมมูลค่า 2.17 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 6.63 หมื่นล้านบาท ซึ่งการเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะทำให้ CPF สามารถสร้างการเติบโตทางลัดใน 2 ประเทศ คือ จีนและเวียดนาม โดยธุรกิจหลักของ C.P. Phokpand ในจีนคืออาหารสัตว์บก ซึ่งครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 ภายใต้ยี่ห้อสินค้า Chia Tai (เจียไต๋) ที่ดำเนินกิจการมานานกว่า 30 ปี ส่วนธุรกิจในเวียดนาม (ดำเนินการโดย C.P. Vietnam) เป็นผู้ผลิตอาหารสัตว์ฟาร์มเลี้ยงและแปรรูปอาหารครบวงจร โดยครองส่วนแบ่งตลาดอันดับ 1 ในธุรกิจอาหารสัตว์บกและสัตว์น้ำ และยังเป็นผู้ดำเนินฟาร์มเลี้ยงสัตว์ขนาดใหญ่อันดับ 1 ในประเทศด้วยการเข้าลงทุนใน 2 ประเทศดังกล่าวจะทำให้ CPF สามารถเข้าไปต่อยอดธุรกิจฟาร์มเลี้ยงและแปรรูปอาหารได้อีกในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า ทั้งนี้หากเปรียบเทียบมูลค่าสิ่งตอบแทนที่จ่ายซื้อกิจการเทียบกับ EBITDA ของผู้ถือซื้อในอดีต จะพบว่าการเข้าซื้อกิจการ C.P.Phokpand ฮ่องกงคิดเป็น 5.97 เท่าของ EBITDA ซึ่งถูกมากเมื่อเทียบกับตอนที่ TUF จ่ายซื้อ MW Brands ที่คิดเป็น 8.1 เท่าของ EBITDA ทั้งนี้การเข้าซื้อกิจการดังกล่าวจะส่งผลให้รายได้รวมในปี 2555 ปรับตัวสูงขึ้นราว 53% YoY จากฐานรายได้ของทั้ง C.P. Phokpand Hong Kong และ C.P. Vietnam นอกจากนี้เราคาดว่า EBITDA ปี 2555 ของ CPF จะปรับตัวสูงขึ้นถึง 50% YoY เช่นกัน
        แนวโน้มการส่งออกกุ้งของไทยปี 55 ยังสดใส : นายกสมาคมกุ้งไทยเปิดเผยว่า ตลาดกุ้งปี 2555 มีแนวโน้มที่ดีทั้งตลาดในประเทศและส่งออกอาจเติบโตได้ 10-20% YoY โดยเฉพาะการส่งออกที่ความต้องการในตลาดโลกเพิ่มขึ้นจากจีน สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป แม้ว่าจะเกิดปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจ แต่ราคากุ้งในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ผู้บริโภครับได้ ส่วนตลาดจีนมีแนวโน้มนำเข้ากุ้งจากไทยเพิ่มขึ้น เพราะสภาพอากาศที่แปรปรวนในประเทศ ทำให้ผลผลิตของจีนลดลง และผู้บริโภคในจีนหันมาเน้นคุณภาพสินค้ามากขึ้น เราประเมินว่าเป็นบวกต่อ CPF เนื่องจากมีรายได้จากธุรกิจกุ้งราว 20% ของรายได้รวม โดยราคากุ้งขาวเฉลี่ยตั้งแต่ต้นปี 2555 ถึงปัจจุบันเท่ากับ 147 บาท/กก. ปรับตัวสูงขึ้นถึง 7.1% จากราคาเฉลี่ยในปี 2554 แสดงถึงความต้องการบริโภคกุ้งที่มีมากขึ้น สวนทางกับปริมาณ Supply ในตลาด โดย CPF เป็นผู้นำในธุรกิจกุ้งครบวงจรตั้งแต่ผลิตอาหารกุ้ง ฟาร์มเลี้ยงและแปรรูปกุ้งเป็นอาหารพร้อมรับประทาน ส่วนความกังวลเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในสหภาพยุโรปที่อาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย เราประเมินว่าสินค้ากุ้งปรุงสุกและกุ้งแช่แข็งเป็นสินค้าหมวดอาหารซึ่งสิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานในการดำรงชีพ และเป็นสินค้าที่ผู้บริโภคซื้อเพื่อนำไปปรุงอาหารทางเองที่บ้าน ดังนั้นในช่วงที่เศรษฐกิจไม่ดี สินค้าเหล่านี้กลับได้รับผลบวกจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนมาทานอาหารในบ้านมากขึ้น
* บิ๊ก CPF ยิ้มรับ อียูเล็งนำเข้าไก่สดแช่แข็งไทยอีกครั้ง เชื่อหนุนอุตสาหกรรมอาหารคึกคัก
        นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า จากกรณีที่อียูพอใจการประเมินการผลิตและมาตรฐานห้องปฏิบัติการไก่สดในไทย นอกจากนี้ยังมีโอกาสสูงที่ไทยจะกลับมาส่งออกไก่สดแช่แข็งไปอียูรอบใหม่ หลังถูกยกเลิกมาตั้งแต่เกิดไข้หวัดนกระบาดในปี 2547 ซึ่งจะส่งผลให้มูลค่าส่งออกเพิ่มกว่าหมื่นล้านบาทต่อปีนั้น
        ทั้งนี้บริษัทฯ ประเมินว่าจะส่งผลบวกต่ออุตสาหกรรมอาหารไทยให้คึกคักมากขึ้นและถือว่าเป็นประเด็นที่ส่งผลบวกอย่างมาก นอกจากนี้ยังจะส่งผลให้สามารถส่งไก่แช่แข็งไปจำหน่ายยังประเทศญี่ปุ่นได้อีกด้วย ส่วนกำลังการผลิตของบริษัทฯ เพียงพอสำหรับรองรับการปลดล็อคไก่สดแช่แข็งจากอียูอย่างแน่นอน
        'เรื่องนี้ส่งผลดีต่อบริษัทฯ เป็นอย่างมาก เพราะไทยไม่ได้ส่งไก่แช่แข็งตั้งแต่ปี 2547 หลายปีแล้ว ซึ่งหากอียูปลดล็อคก็เป็นเรื่องดี ส่งผลให้อุตสาหกรรมคึกคัก ซึ่งบริษัทฯ ก็พร้อม กำลังการผลิตก็เพียงพอรองรับกำลังซื้อที่จะเพิ่มขึ้นอยู่แล้ว' นายอดิเรก กล่าว
        นอกจากนี้หากการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นในวันที่ 18 มกราคม 2555 ผู้ถือหุ้นลงมติให้ซื้อหุ้นของ บริษัท ซี.พี.โภคภัณฑ์ จำกัด หรือ CPP จาก CPG บริษัทฯ คาดว่าจะทำให้รายได้ในปี 2555 ขยายตัวมากกว่า 50% จากปี 2554 ที่คาดว่าจะทำได้ 210,000 ล้านบาท เพราะจะช่วยสนับสนุนให้ผลประกอบการของบริษัทฯ เติบโตในทิศทางที่ดี แต่หากผู้ถือหุ้นไม่อนุมัติให้ซื้อหุ้นดังกล่าวคาดว่ารายได้ในปี 2555 จะเติบโตเพียง 10-15% เท่านั้น
        'ปี 2554 ยังไม่ปิดงวดปี แต่คาดว่ารายได้จะอยู่ที่ 210,000 ล้านบาท ส่วนปี 2555 หากผู้ถือหุ้นอนุมัติให้ซื้อหุ้น CPP ก็คาดว่ารายได้จะเติบโตมากกว่า 50% แต่ถ้าไม่อนุมัติคงโตประมาณ 10-15%' นายอดิเรก กล่าว
*ดีบีเอสวิคเคอร์ส เผย ราคาไก่ในประเทศฟื้นตัว แนวโน้มปี 55 กำไรโตก้าวกระโดด17% แนะซื้อ GFPT
        บทวิเคราะห์ บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส ระบุว่า ราคาไก่ในประเทศเริ่มปรับเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 40-41 บาทต่อกก. หลังจากร่วงลงไปในเดือนต.ค.54 ที่ 39.50 บาทต่อกก.เพราะในช่วงน้ำท่วมเกษตรกรมีการระบายไก่ออกจำหน่ายเร็วกว่ากำหนด เนื่องจากมีปัญหาเรื่องพื้นที่ฟาร์ม การขนส่งวัตถุดิบอาหารสัตว์ล่าช้า และขาดแคลนแรงงานด้วย ในด้านกำลังซื้อก็อ่อนลงเพราะมีภาระค่าใช้จ่ายด้านอื่นที่สูงขึ้น ประกอบกับผู้บริโภคหันไปบริโภคอาหารจากแหล่งน้ำธรรมชาติมากขึ้นด้วย แต่เมื่อน้ำลดราคาไก่ก็เริ่มขยับขึ้นเนื่องจากอุปทานตึงตัวโดยคาดว่าราคาไก่จะขยับขึ้นต่อเนื่องในเดือนธ.ค.54 ถึงม.ค.55 และหลังจากนั้นจะเข้าสู่ภาวะปกติ อย่างไรก็ดี แม้ว่าราคาไก่เดือนต.ค.54 จะลดลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า แต่ก็ยังสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 14%YoY
        การส่งออกยังไปได้ดีคาดว่าจะเติบโตได้ 10%YoY แต่ลดลงเมื่อเทียบ QoQ ซึ่งเป็นไปตามปัจจัยฤดูกาล เพราะตามปกติไตรมาส 4 จะมีปริมาณส่งออกลดลง เนื่องจากเดือนธ.ค.มีวันหยุดยาวในเทศกาลคริสมาสต์และปีใหม่ ประกอบกับราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ดลลงทำให้มีการต่อรองราคา ซึ่งคาดว่าราคาส่งออก 4Q54 จะลดลงราว 10%QoQ เป็น 4,300 เหรียญสหรัฐต่อตัน
        ธุรกิจอาหารสัตว์มีแนวโน้มดีต่อเนื่องในปี 55 แม้ว่าธุรกิจอาหารสัตว์บกจะสะดุดไปบ้างในช่วงน้ำท่วม แต่อาหารสัตว์น้ำยังไปได้ดีมาก และคาดว่าในปี 55 ธุรกิจอาหารสัตว์จะเติบโตดีจากการที่ปริมาณการผลิตของธุรกิจฟาร์มสูงขึ้นรองรับการสั่งซื้อเพิ่มของ GFN และธุรกิจสัตว์น้ำมีแนวโน้มดีต่อเนื่อง เราคาดว่าโรงงานอาหารสัตว์แห่งที่ 2 จะใช้กำลังการผลิตเพิ่มเป็น 80-90% จาก 70-75% ในปีนี้ ส่วนโรงงานอาหารสัตว์แห่งที่ 1 ใช้กำลังการผลิตเต็มที่ดังเดิม ขณะที่การบริหารต้นทุนวัตถุดิบยังทำได้ดี ทำให้คาดว่ามาร์จิ้นของธุรกิจอาหารสัตว์จะยังอยู่ในเกณฑ์สูง
        ปี 55 มีส่วนแบ่งกำไรจาก GFN เข้ามา 50-70 ล้านบาท จากที่เป็นส่วนแบ่งผลขาดทุนประมาณ 130-150 ล้านบาทในปี 54 ดังนั้นเฉพาะส่วนแบ่งกำไรของ GFN จะเป็นบวกกลับเข้ามาในกำไรสุทธิของ GFPT ประมาณ 200 ล้านบาทในปีหน้า ทั้งนี้ในปี 54 GFN มีอัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำที่ 50-60% เพราะเพิ่งเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ แต่ในปี 55 จะใช้กำลังการผลิตเต็มที่ทำให้ต้นทุนคงที่ต่อหน่วยลดลง ความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น
        คาดการณ์กำไรสุทธิปี 55 เติบโตก้าวกระโดด 17% เป็น 1.52 พันล้านบาท ต่อเนื่องจากปี 54 ที่ขยายตัว 12% เป็น 1.30 พันล้านบาท ฐานะการเงินดีขึ้น โดยคาดว่า Net gearing จะลดลงเป็น 0.4 เท่าในสิ้นปี 54 จาก 0.5 เท่าในสิ้นปี 53
        แนะนำซื้อ โดยให้ราคาพื้นฐาน 12.13 บาท โดยให้ P/E เป้าหมายปี 55 เท่ากับ 10 เท่า (เพิ่มจากราคาพื้นฐานเดิมที่ 10.30 บาท ซึ่งอิงกับ P/E ปี 55 ที่ 8.5 เท่า) เนื่องจากบริษัทได้ผ่านพ้นการอ่อนตัวของราคาขายในประเทศมาแล้วและจะดีขึ้นเป็นลำดับ ผลประกอบการของบริษัทร่วม GFN มีแนวโน้มขาดทุนลดลงและจะพลิกเป็นกำไรในปี 55 ประกอบกับการเติบโตของกำไรสุทธิในปี 55-56 เฉลี่ยปีละ 13% สามารถรองรับ P/E เป้าหมายในแบนด์ที่สูงขึ้นเป็น 10 เท่าได้ ด้าน ROA และ ROE ปี 55 ของบริษัทอยู่ในเกณฑ์สูงที่ 15.0% และ 22.2% ตามลำดับ สำหรับเงินปันผล คาดการณ์ Dividend Yield ปี 54-55 ไว้ที่ 3.0% และ 3.5% ตามลำดับ
*GFPT ตั้งเป้ารายได้รวมปี55 โต 10% จากปีก่อนที่โต15% ส่วนอียูเล็งนำเข้าไก่สดไทย มั่นใจมีสินค้าพร้อมรองรับ
        นางจุฑามาศ อิวโพธิ์ชัย ผู้จัดการฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท จีเอฟพีที จำกัด (มหาชน)หรือ GFPT เปิดเผยกับ eFinanceThai.com ว่า ตั้งเป้าหมายรายได้รวมของบริษัทในปี55 จะเติบโตประมาณ 10% จากปีก่อนที่โตประมาณ 15%รายได้รวมประมาณ 1.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งปัจจุบันรายได้หลักๆของบริษัทก็มาจากธุรกิจใน 3 ส่วน ส่วนแรกมาจากการขายเนื้อไก่ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่สร้างรายได้ให้กับบริษัทฯ ส่วนที่สองมาจากการธุรกิจผลิตอาหารสัตว์เพื่อจัดจำหน่าย และส่วนสุดท้ายมาจากการเลื้ยงลูกไก่เพื่อป้อนให้กับโรงเลี้ยงต่างๆในประเทศ
        นางจุฑามาศ กล่าวต่อถึงกรณีที่มีข่าวว่าอียูพอใจการประเมินการผลิตและมาตรฐานห้องปฏิบัติการไก่สดในไทย นอกจากนี้ยังมีโอกาสสูงที่ไทยจะกลับมาส่งออกไก่สดแช่แข็งไปอียูรอบใหม่ หลังถูกยกเลิกมาตั้งแต่เกิดไข้หวัดนกระบาดในปี 2547 ว่า หากอียูปลดล็อคก็เป็นเรื่องดี ส่งผลให้อุตสาหกรรมคึกคัก โดยบริษัทGFPT ได้เตรียมความพร้อมและมีปริมาณไก่สดรองรับไว้อยู่แล้ว ซึ่งหากอียูพร้อมยกเลิกมาตราการนำเข้าแก่สดแช่แข็งจากไทย บริษัทก็มีความสามารถในการป้อนเนื้อไก่ให้แก่ตลาดได้ ซึ่งปัจจุบันบริษัทส่งออกเนื้อไก่ปรุงสุกไปยังยุโรปประมาณ 10% ของรายได้รวมของบริษัท และอีก 10% ส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น ส่วนที่เหลือส่งขายภายในประเทศ
*พาณิชย์ เผย หากไก่สดไทยส่งออกไปยุโรปได้อีกครั้ง จะเพิ่มมูลค่าการส่งออกอีกกว่าปีละ 1หมื่นลบ.
        นายสุรศักดิ์ เรียงเครือ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ (คต.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า เดิมสหภาพยุโรป เป็นตลาดส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งที่สำคัญของไทย แต่ภายหลังการระบาดของไข้หวัดนก ทำให้ในปัจจุบันไทยส่งออกไปสหภาพฯ ได้เฉพาะเนื้อไก่แปรรูปเท่านั้น ซึ่งตั้งแต่ปี 2550 เป็นต้นมา ไทยส่งไก่แปรรูปไปสหภาพฯ เต็มโควตาที่ได้รับที่ 160,033 ตันมาตลอด อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีโควตาส่งออกไก่สดไปสหภาพฯ อีก 92,610 ตัน ซึ่งได้รับโควตามาตั้งแต่ปี 2550 แต่ไม่สามารถใช้โควตาได้ ซึ่งหากไทยสามารถส่งออกไก่สดไปยังสหภาพฯได้อีกครั้ง จะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกให้ได้อีกกว่าปีละ 10,000 ล้านบาท
        สำหรับปีโควตา 2554/55 (วันที่ 1 กรกฎาคม 2554 ถึง 5 มกราคม 2555) ผู้ส่งออกมีการยื่นขอหนังสือรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าเพื่อส่งสินค้าเนื้อไก่แปรรูปไปยังสหภาพฯ รวมทั้งสิ้น 97,084.41 ตัน คิดเป็นร้อยละ 60.67 ของปริมาณโควตาไก่แปรรูปที่ได้รับจากสหภาพฯทั้งหมด (ปริมาณ 160,033 ตัน)