อังคาร 10 ม.ค.2555--eFinanceThai.com :
แบงก์สะดุ้ง ธปท.เล็งเก็บค่าฟี B/E กระทบกำไร 5-27%

หุ้นแบงก์สะเทือน หลังรัฐเล็งเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตั๋ว B/E ที่ 0.35% โบรกฯ คาดส่งผลกระทบกำไรของกลุ่มราว 5-27% และกระทบราคาเป้าหมายให้ลดลง 5-20% ระบุ ปัจจัยลบยังไม่หมดเท่านี้ ชี้กำไรสุทธิ 4Q11 ส่อแววน่าผิดหวัง แนะหลีกเลี่ยงลงทุนแล้วโยกเข้ากลุ่มอาหาร ค้าปลีก และหุ้นปันผลสูง
          โบรกเกอร์แนะนำหลีกเลี่ยงลงทุนหุ้นกลุ่มแบงก์ หลังธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า อยู่ระหว่างศึกษาแนวทางการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการออกตั๋ว B/E กับ ธ.พ. ในอัตรา 0.35% ของยอดคงค้างปัจจุบันที่มีอยู่ราว 2 ล้านล้านบาท คิดเป็นมูลค่าราว 7 พันล้านบาท ซึ่งเมื่อรวมกับเงินได้ที่ ธปท. จะขอให้ ธ.พ. นำรายได้จากสิทธิประโยชน์ทางภาษีนิติบุคคลที่ภาครัฐจะปรับลดให้จากเดิม 30% เหลือ 23% เพื่อส่งให้กับ FIDF รวมมูลค่ากว่า 9 พันล้านบาท
          ทั้งนี้เมื่อรวมกับค่าธรรมเนียมจากการออก B/E ดังกล่าวข้างต้น ผนวกกับค่าธรรมเนียมเงินฝากที่ปัจจุบัน ธ.พ. นำส่งเงินสมทบให้กับ DPA (สถาบันคุ้มครองเงินฝาก) ในอัตรา 0.35% มูลค่ากว่า 3 หมื่นล้านบาท (ยอดนำส่งทั้งหมดคือ 0.40% แต่จะโอนไปให้ ธปท. เท่ากับ 0.35%) จะคิดเป็นยอดรวมทั้งสิ้นราว 4.5-4.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะครอบคลุมกับดอกเบี้ยจ่ายที่จะคลังฯ ต้องจ่ายให้กับ FIDF ในแต่ละปี ทั้งนี้ ธปท. จะนำประเด็นดังกล่าวหารือกับสถาบันการเงินในวันที่ 12 ม.ค.54 นี้
* ธปท. เล็งเก็บค่าธรรมเนียมตั๋ว B/E 0.35%
          ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส เปิดเผยว่า กรณีที่ ธปท.กำลังพิจารณาเรียกเก็บค่าธรรมเนียมตั๋ว B/E 0.35% จากยอดคงค้าง ซึ่งคาดว่าจะได้เงิน 7 พันล้านบาท/ปี รวมกับเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝาก 0.35% ซึ่งจะได้เงิน 3 หมื่นล้านบาท และผลประโยชน์จากการปรับลดอัตราภาษีอีก 9 พันล้านบาท รวมเป็น 4.5-4.6 หมื่นล้านบาท/ปี เพื่อให้ครอบคลุมดอกเบี้ยจ่ายของหนี้กองทุนฟื้นฟูฯในแต่ละปีคาดว่าจะส่งผลกระทบกำไรกลุ่มธนาคารราว 5-27% (TISCO, TCAP, KK กระทบ 3-7%) และกระทบราคาเป้าหมายให้ลดลง 5-20%
          ปัจจัยลบยังไม่หมดเท่านี้ เราคาดว่ากำไรสุทธิ 4Q11 จะน่าผิดหวัง -29% Q-Q, -3%Y-Y และเป็นกำไรรายไตรมาสที่น้อยที่สุดตั้งแต่ 2Q10 เรายังคงเห็นว่ายังไม่ใช่จังหวะลงทุนในแบงก์ขนาดใหญ่รวมถึง TISCO ที่เคยแนะนำไปก่อนหน้านี้เพราะเงินฝากเป็น B/E ค่อนข้างสูง แนะนำหลีกเลี่ยงกลุ่มแบงก์ switch เข้ากลุ่ม Defensive และ High yield เช่นกลุ่มอาหาร ค้าปลีก หุ้นปันผลสูงเช่น KGI, AP, AIT, ADVANC
* กระทบประมาณกำไรสุทธิปี 55 ลดลงเหลือราว 7% จากที่ประเมินไว้ 15.2%
          ด้านฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส ประเมินว่าแม้จะยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นการเรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมเพิ่มจากการออกตั๋ว B/E ของ ธ.พ. ในอัตรา 0.35% ของยอดคงค้าง แต่จากความเป็นไปได้ในช่วงที่ผ่านมาเกี่ยวกับแนวโน้มการเรียกเก็บเงินจาก ธ.พ. เพิ่มเติมอีกราว 0.14% จากเดิมที่นำส่งให้กับ DPA ในอัตรา 0.4%
          ทั้งนี้ หากออกมาเป็นหลักเกณฑ์แล้ว คาดว่า ธ.พ. ต้องปฎิบัติตามอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และจะกระทบต่อกำไรกลุ่มฯ ปี 2555 ให้ลดลงจากประมาณการปัจจุบันที่ฝ่ายวิจัยคาดดังนี้ 1) ค่าธรรมเนียมเพิ่มจากการออกตั๋ว B/E ของ ธ.พ. 10 แห่งที่ศึกษาจะคิดเป็นค่าใช้จ่ายรวม 3.39 พันล้านบาท หรือคิดเป็น 2% ของประมาณการกำไรสุทธิปี 2555 ที่ฝ่ายวิจัยคาด
          และ 2) เงินนำส่งเพิ่มเติมให้กับ ธปท. ซึ่งหากอิงกับฐานภาษีของ ธ.พ. แต่ละแห่งสามารถประหยัดได้ จะคิดเป็นมูลค่ารวม 9 พันล้านบาท คิดเป็น 5.5% ของประมาณการกำไรสุทธิปี 2555 ที่ฝ่ายวิจัยคาด ซึ่งเมื่อรวมผลกระทบทั้ง 2 กรณี จะส่งผลกระทบทำให้ต้นทุนของ ธ.พ.เพิ่มขึ้นราว 0.2% ของยอดเงินฝากคงค้างรวม และส่งผลกระทบต่อประมาณการกำไรสุทธิปี 2555 ลดลงทั้งสิ้นราว 7.6% จากเดิม
          โดยรวมแล้ว จึงคาดว่าผลกระทบสุทธิต่อประมาณกำไรสุทธิปี 2555 จะลดลงเหลือราว 7% yoy จากเดิมที่ประเมินไว้ถึง 15.2% yoy ทั้งนี้ ธ.พ.ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเรียงตามลำดับคือ TCAP, LHBANK, TISCO และ TMB เนื่องจากมีการพึ่งพาฐานเงินทุนจากการออกตั๋ว B/E ในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่ม ส่วน TMB ส่วนใหญ่เป็นผลกระทบจากการที่ไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีแต่เดิมอยู่แล้ว ขณะที่ ธ.พ. ที่เหลืออื่นๆ จะได้รับผลกระทบขั้นต่ำราว 5-10% ของประมาณการกำไรสุทธิปี 2555 เดิมที่คาด
          ฝ่ายวิจัยฯ ยังคงน้ำหนักเท่ากับตลาดในหุ้นกลุ่ม ธ.พ. เพื่อสะท้อนแนวโน้มการเติบโตของกำไรสุทธิของกลุ่มในปี 2555 ในระดับที่ใกล้เคียง EPS growth ของตลาดฯ โดยฝ่ายวิจัยอยู่ระหว่างการรอความชัดเจนของข้อมูลเพื่อทำการปรับลดประมาณการกำไรสุทธิปี 2555 ในภายหลัง โดยกลยุทธ์การลงทุนในขณะนี้ ยังเน้นให้รอซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว หรือเลือกลงทุนในหุ้นที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างน้อยจากประเด็นข่าวนี้ อาทิ BBL, SCB และ KBANK
* KBANK คาดกำหนดมูลค่าขั้นต่ำ B/E ส่งผลให้ตลาดทรงตัว - แบงก์หันออกผลิตภัณฑ์อื่นแทน
          นายปกรณ์ พรรธนะแพทย์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)(KBANK) กล่าวถึง กรณีที่ ก.ล.ต.มีแนวคิดในการกำหนดวงเงินขั้นต่ำการซื้อตั๋ว B/E ที่ 10 ล้านบาทเพื่อดูแลกลุ่มนักลงทุนรายย่อย ว่า หากมีการกำหนดขั้นต่ำจริงอาจทำให้ตลาดของตั๋ว B/E เปลี่ยนพฤติกรรมเป็นนักลงทุนที่มีขนาดใหญ่ขึ้น และทำให้ทั้งตลาดการเงินมีการเปลี่ยนแปลงในการเพิ่มผลิตภัณฑ์สำหรับการระดมเงินของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งประเมินว่าในปีนี้การระดมเงินฝากต่างๆ จะยังมีความรุนแรงมากขึ้น
          อย่างไรก็ตาม ในส่วนของธนาคารกสิกรไทยอาจไม่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมากนัก เนื่องจากพอร์ตของการระดมเงินผ่านตั๋ว B/E นั้นยังมีขนาดเล็กอยู่เพียง 5 พันล้านบาท หรือคิดเป็นต่ำกว่า 1% ของพอร์ตเงินฝากทั้งธนาคาร ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นในปีนี้เป็น 1 หมื่นล้านบาท แต่จะยังต่ำกว่า 2% ของพอร์ตเงินฝากของธนาคาร ซึ่งลูกค้าส่วนใหญ่ของธนาคารยังคงให้ความไว้ใจในการฝากเงินแก่ธนาคารเป็นหลัก ดังนั้น B/E จึงยังไม่ใช่ช่องทางในการระดมทุนหลักของธนาคาร
          ทั้งนี้จากการทำวิจัยของธนาคารพบว่า สาเหตุที่มีการตัดสินใจฝากเงินจะขึ้นอยู่กับความมั่นคงของธนาคารและความสะดวกสบายในการใช้บริการเป็นอันดับ 1 ส่วนผลตอบแทนของการฝากเงินจะเป็นลำดับต่อๆ ไป ดังนั้นที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่าเมื่อธนาคารออกแคมเปญเงินฝากรูปแบบใหม่จะได้รับความสนใจจากลูกค้าจำนวนมาก
* บล.เกียรตินาคิน ให้น้ำหนักการลงทุน Overweight
          ด้านฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เกียรตินาคิน ประเมินหุ้นกลุ่มแบงก์ว่า ผลจากภาวะน้ำท่วมเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เราคาดว่าผลประกอบการ Q4/54 ของกลุ่มธนาคารจะลดลง 31% QoQ และ 7% YoY ส่วนเรื่องการโอนหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูอาจจะลดความกังวลลงได้บ้าง จากการที่ ธปท. อาจจะไม่เก็บเงินสมทบเข้าสถาบันคุ้มครองเงินฝากเพิ่มแต่จะเก็บเพิ่มจากเงินที่ได้ลดภาษีนิติบุคคลแทน โดยเรายังคงต้องติดตามประเด็นนี้อย่างใกล้ชิด
          ทั้งนี้ เรามองว่า ธนาคารพาณิชย์ยังสามารถคาดหวังการเติบโตได้ในปี 2555 จากธุรกิจขนาดใหญ่ที่ยังคงมีความต้องการสินเชื่ออยู่เป็นจำนวนมาก จึงยังคงให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มธนาคาร “มากกว่าตลาด” และเลือก KTB และ TISCO เป็นหุ้น Top pick
* กิตติรัตน์ เผย รัฐปรับ พรก.โอนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านลบ. ให้กองทุนฯ ดูแล ให้ ธปท.บริหารจัดการ
          นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวในระหว่างแถลงข่าวร่วมกับนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เกี่ยวกับมติคณะรัฐมนตรีที่อนุมัติร่างพระราชกำหนด (พรก.) ทั้ง 4 ฉบับ ว่า ที่ประชุม ครม.ได้อนุมัติร่างพระราชกำหนด 4 ฉบับ เพื่อเป็นการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศในระยะยาว แบ่งเป็น ร่าง พรก.การแก้ไขหนี้ของกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน 1.14 ล้านล้านบาท 2. พรก.กู้เงินเพื่อลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศและบริหารจัดการน้ำในระยะยาว วงเงิน 3.5 แสนล้านบาท 3. ร่าง พรก.จัดตั้งกองทุนประกันภัยวงเงิน 5 หมื่นล้านบาท และ 4. พรก.การจัดสรรเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ โดยให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เป็นผู้ดำเนินการ วงเงิน 3 แสนล้านบาท
          ทั้งนี้ที่ประชุม ครม.ได้เห็นชอบให้มีการปรับเปลี่ยนในร่างของ พรก.ที่เกี่ยวกับการแก้ไขหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท จากเดิมร่าง พรก.ได้ระบุไว้ว่า ให้โอนหนี้สินทั้งหมด ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยของกองทุนฟื้นฟูฯ ให้ธปท.และกองทุนฟื้นฟูฯ เป็นผู้รับผิดชอบ เปลี่ยนเป็นหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ 1.14 ล้านล้านบาท ให้กองทุนฟื้นฟูฯเป็นผู้รับผิดชอบหนี้ทั้งหมด โดยให้ธปท.เป็นผู้กำกับดูแลบริหารจัดการหนี้ดังกล่าว
          โดยในที่ประชุม ครม.ได้ย้ำว่า แนวทางการบริหารจัดการหนี้ต้องไม่มีการพิมพ์ธนบัตรใหม่ และต้องไม่ปรับเปลี่ยนการลงบัญชีของทุนสำรองเงินตรา เพราะเกรงว่าอาจจะกระทบต่อความมั่นคงทางการเงินภายนอกของประเทศ และหนี้สินทั้ง 1.14 ล้านล้านบาทนั้น จะต้องไม่เป็นภาระต่องบประมาณภาครัฐ เพราะประเทศจำเป็นจะต้องกู้เงินเพื่อมาบริหารจัดการระบบน้ำในระยะยาว
          ด้านนายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ในปัจจุบันภาระการชำระดอกเบี้ยของกองทุนฟื้นฟูฯมาจากเงินงบประมาณภาครัฐ หรือภาษีของประชาชนที่เสียไปแต่ละปี ซึ่งรวมภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยเป็นเงิน 6.4 หมื่นล้านบาทต่อปี ดังนั้น จึงต้องมีการแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง โดยในเบื้องต้นจะให้กองทุนฟื้นฟูฯเป็นผู้รับผิดชอบหนี้สินทั้งหมด และให้ ธปท.เป็นผู้บริหารจัดการ
ซึ่งแหล่งเงินที่จะมาชำระหนี้แบ่งเป็น กำไรของธปท.ในสัดส่วน 90% 2.รายได้จากเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยทั้ง 2 ข้อถือเป็นกฎหมายเดิมที่ธปท.ต้องมาดำเนินการชำระหนี้อยู่แล้ว
          โดยร่าง พรก.นี้ได้เพิ่มแนวทางของแหล่งเงินโดยให้กองทุนฟื้นฟูฯ สามารถดึงเงินจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากที่ได้เก็บค่าธรรมเนียมจากธนาคารพาณิชย์ ที่ปัจจุบันเก็บอยู่ในอัตรา 0.40% แต่กฎหมายได้ระบุไว้ว่าสามารถจัดเก็บค่าธรรมเนียมเงินฝากได้ไม่เกิน 1% ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวจะต้องไม่เป็นภาระต่อสถาบันการเงินจนเกินไปและไม่เป็นภาระต่องบประมาณภาครัฐ โดยที่ผ่านมาได้หารือกับทางผู้ว่าธปท.แล้ว โดยแนวทางนี้ถือว่าเป็นการกระทำตามวินัยการเงินการคลังอย่างเคร่งครัด
          'ปัจจุบันกำไรของ ธปท. ยังหวังมากไม่ได้ เพราะยังมีการขาดทุนสะสมอยู่ แต่ในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในเบื้องต้นคาดว่าการชำระหนี้ทั้งหมด ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยคงจะแล้วเสร็จภายใน 25 ปี แต่ทั้งนี้ภาระต่อสถาบันการเงินจะต้องไม่สูง โดยจะต้องศึกษาต่อไป แต่ทางภาครัฐได้ลดภาษีนิติบุคคลปีนี้เหลือ 23% จากเดิม 30% ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยลดภาระของสถาบันการเงินได้บางส่วน' นายธีระชัย กล่าว