พฤหัสฯ 5 ม.ค.2555--eFinanceThai.com :
ก.ล.ต.เปิดกลยุทธ์พัฒนาตลาดทุนปีนี้

* ชงเว้นภาษีเงินปันผล- แก้เกณฑ์เกี่ยวกับ B/E
         เปิดแผน ก.ล.ต.ปี 55 เสนอเว้นภาษีเงินปันผลทั้งระบบหวังแข่งขันในอาเซียน - แก้กฎเกณฑ์เกี่ยวกับ B/E กำหนดมูลค่าการขายขั้นต่ำดูแล นลท.รายย่อย พร้อมชู 5 กลยุทธ์เสริมความแข็งแกร่งตลาดทุน ตั้งเป้าเป็นแหล่งระดมทุนธุรกิจทุกขนาด
* กูรู หนุน เลิกเก็บภาษีเงินปันผล เชื่อส่งผลบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทย
         ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ ประธานกรรมการบริหาร บล.เอเซียพลัส เปิดเผยถึงกรณีแนวทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่อาจจะมีแนวทางยกเว้นภาษีเงินปันผลในหุ้น จากปัจจุบันที่เก็บในอัตรา 10% ว่า มีความเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว เพราะจะส่งผลบวกต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะจะสามารถเห็นข้อแตกต่างระหว่างบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์กับบริษัทที่ไม่ได้จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีกับหุ้นที่มีปันผล ขณะเดียวกันเงินปันผลที่ได้รับจะเข้ามาช่วยทดแทนในส่วนของนักลงทุนที่สูญเสียเงินจากส่วนต่างของการขาดทุนในราคาหุ้น แม้ว่าจะเป็นส่วนช่วยไม่มาก แต่การยกเว้นภาษีก็ถือว่าเป็นการช่วยสนับสนุน ส่งเสริมการลงทุนได้ในระดับหนึ่ง
         อย่างไรก็ดีนักลงทุนควรจะต้องกระจายการลงทุนในตลาดหุ้นบ้าง โดยเฉพาะนักลงทุนที่ฝากเงินไว้กับสถาบันการเงิน โดยได้ผลตอบแทนเป็นอัตราดอกเบี้ย แม้ว่าจะไม่สามารถเปรียบเทียบได้ระหว่างผลตอบแทนของเงินปันผลกับดอกเบี้ยเงินฝาก เพราะปัจจุบันผลตอบแทนจากเงินฝากจะมีความเสี่ยงต่ำ แต่เสียภาษีจากดอกเบี้ยที่นักลงทุนได้รับ 15% แต่หากยกเว้นภาษีเงินปันผลก็จะทำให้การลงทุนในหุ้นมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีการเสียภาษีจากเงินปันผลในอัตรา 10%
         ดร.ก้องเกียรติ ได้กล่าวแนะนำกลยุทธ์การลงทุนตลาดหุ้นไทยในช่วงนี้ว่า นักลงทุนควรหาแนวทางใหม่ๆในการลงทุน เพราะประเมินว่าตลาดหุ้นไทยถือว่าเริ่มมีราคาที่สูงพอสมควรแล้ว โดยหันไปพิจารณาลงทุนในตลาดต่างประเทศบ้าง และหาแนวคิดการลงทุนในบริษัทใหม่ๆ เพราะบริษัทที่เติบโตดีในปีที่แล้วก็ไม่ได้ดีที่สุดในปีนี้ เพราะหลายบริษัทมี P/E ที่อยู่ในระดับสูงมากพอสมควร
* ก.ล.ต. เผย ชง ก.คลัง เว้นภาษีเงินปันผลทั้งระบบแล้ว หวังแข่งขันในอาเซียน
         นายวรพล โสคติยานุรักษ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์ และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ในเดือนพ.ย. 54 ที่ผ่านมาก.ล.ต. ได้เสนอแนวทางการงดเว้นการจัดเก็บภาษีเงินปันผลที่ปัจจุบันจัดเก็บอยู่ที่ 10% ไปยังกรมสรรพากรเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเชื่อว่าจะสอดคล้องกับการปฏิรูปกฏหมายทางด้านภาษีที่กระทรวงการคลังอยู่ระหว่างการดำเนินงาน
         ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวเกิดขึ้น เนื่องจากมองว่าการเก็บภาษีเงินปันผลจะเป็นความซ้ำซ้อนกับการเก็บภาษีนิติบุคคลที่บริษัทจะต้องจ่ายอยู่แล้ว ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศหลักๆในภูมิภาคอาเซียนได้ เนื่องจากประเทศส่วนใหญ่ในปัจจุบันไม่มีการเรียกเก็บภาษีเงินปันผล เช่น ประเทศสิงคโปร์ มาเลเซีย และฮ่องกงเป็นต้น ขณะเดียวกันประเทศดังกล่าวยังมีการจัดเก็บภาษีนิติบุคคลที่ต่ำกว่า 20% ดังนั้นจะทำให้ประเทศไทยแข่งขันในภูมิภาคนี้ได้ยากขึ้น
         อย่างไรก็ตามเชื่อมั่นว่าหากมีการปรับเปลี่ยนระบบภาษีที่ใกล้เคียงกับประเทศ อื่นๆแล้วนั้นจะช่วยสนับสนุนในการเข้ามาลงทุนของต่างชาติ เนื่องจากระบบภาษีจะใกล้เคียงกันมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากปัจจุบันที่มีความยุ่งยากและซ้ำซ้อน
         'จากการศึกษาพบว่า อุปสรรคเรื่องใหญ่คือเรื่องภาษี เพราะบริษัทต่างชาติจะเข้ามาลงทุนจดทะเบียนในไทย การคิดภาษีก็ต่างกัน มีความซ้ำซ้อน ดังนั้นหากมีการเปลี่ยนแปลงก็จะสามารถรองรับการแข่งขันในอนาคตได้' นายวรพล กล่าว
* แก้ไขเกณฑ์ตั๋วแลกเงิน รักษาความเสี่ยงให้ นลท.รายย่อย
         นายวรพล กล่าวว่า ขณะนี้ก.ล.ต.อยู่ระหว่างการแก้ไข เพื่อออกกฎเกณฑ์ใหม่ สำหรับการออกและเสนอขายหลักทรัพย์ประเภทตั๋วแลกเงิน(บี/อี) ซึ่งในเบื้องต้นต้องการให้เกณฑ์ใหม่ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 ก.ค.55 เป็นต้นไป สำหรับ สา เหตุที่จะมีการแก้ไขเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากขณะนี้ธนาคารพาณิชย์มีการระดมทุน ในรูปของตั๋วเงินเป็นจำนวนมาก และมีการเสนอขายให้กับผู้ลงทุนรายย่อยขณะที่ตั๋วแลกเงิน ไม่ถือเป็นเงินฝากและไม่ได้รับการคุ้มครองจากสถาบันคุ้มครองเงินฝากดังนั้น ก.ล.ต.จึงต้องการเข้ามาดูแลเรื่องนี้ โดยขณะนี้ก.ล.ต. อยู่ระหว่างการร่างแก้กฏเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องในการออกตั๋ว B/E ของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งจะเป็นการกำหนดกฏเกณฑ์ด้านมูลค่าการขายขั้นต่ำ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะอยู่ที่ 10 ล้านบาท เพื่อดูแลรักษาความเสี่ยงแก่กลุ่มนักลงทุนรายย่อย ที่ปัจจุบันพบว่าธนาคารพาณิชย์มีการระดมเงินฝากผ่านรูปแบบตั๋ว B/E มากขึ้น ซึ่งพบว่ามีนักลงทุนรายย่อยเข้าลงทุนจำนวนมาก แต่ในหลักการการฝากดังกล่าวจะไม่ได้รับการคุ้มครองเหมือนเงินฝาก ซึ่งอาจทำให้เกิดความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน
         ทั้งนี้แนวทางดังกล่าวจะทำให้การออก B/E ของธนาคารพาณิชย์เป็นเสมือนหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่ต้องผ่านการพิจารณาของก.ล.ต. แต่กฏเกณฑ์ดังกล่าวก็จะไม่คาบเกี่ยวกับการดำเนินงานของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ทั้งนี้คาดว่าจะกำหนดให้มีผลของกฏเกณฑ์นี้ในวันที่ 1 ก.ค. 2555
         'ตอนนี้ธนาคารพาณิชย์จำนวนไม่น้อยระดมเงินฝากรูป B/E มากขึ้น ซึ่งรายย่อยเข้าลงทุนจำนวนมาก จึงอยากจำกัดจำนวนการขายขั้นต่ำให้ผู้ลงทุนมีความชัดเจนขึ้น เช่นระดับ 10 ล้านบาทขึ้นไป จะออกเป็นกฏ ซึ่งขณะนี้กำลังร่างแก้กฏเกณฑ์ประมาณ 10 ฉบับให้ออกเป็นกฏเกณฑ์เดียว ตั้งใจประกาศให้มีผล 1 ก.ค. 55 ซึ่งจะให้ธนาคารพาณิชย์ต่างๆเริ่มปรับตัว' นายวรพล กล่าว
* ปี 55 ก.ล.ต. เน้นยุทธศาสตร์ใหม่ 5 ด้าน
         1.การสร้างโอกาสให้ตลาดทุนไทยมีบทบาทพัฒนาและฟื้นฟูประเทศ และมีบทบาทในภูมิภาค
         2.การเปิดให้มีการแข่งขันในตลาดทุน และพัฒนาศักยภาพในการแข่งขันของผู้เกี่ยวข้อง
         3.การให้ความคุ้มครองผู้ลงทุน และรักษาความน่าเชื่อถือของตลาดทุน
         4.ยุทธศาสตร์ด้านการเตรียมระบบให้รองรับความผันผวนที่รุนแรงได้ และ
         5.การขยายฐานผู้ลงทุนและทำให้ตลาดทุนรองรับปัญหาสังคมผู้สูงอายุ
         นอกจากนี้ก.ล.ต. จะให้ความสำคัญในเรื่องการสื่อสารและเสริมสร้างความสัมพันธ์กับผู้ที่เกี่ยวข้องในเชิงรุก รวมทั้งพัฒนาประสิทธิภาพการทำงานในการจัดการด้านบุคลากร ข้อมูลและการเงินอย่างเป็นระบบ
         นายวรพล กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านการกำกับดูแลและพัฒนาตลาดทุนไทยจะสร้างความชัดเจนเรื่องบทบาทภายใต้หลักการทำงาน 4 ด้าน คือ 1. การดำเนินงานเชิงรุก และมีการคาดการณ์ล่วงหน้าเพื่อเตรียมรองรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น 2. การใช้มาตรการป้องกันควบคู่กับมาตรการลงโทษ โดยจะแยกกลุ่มคนที่ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์กับกลุ่มที่ฝ่าฝืนออกจากกันให้ชัดเจน 3. การส่งเสริมและพัฒนาตลาดทุนไทยให้มีความเข้มแข็ง เพื่อเป็นแหล่งระดมทุนหลักของภาคธุรกิจทุกขนาด และ 4. การยกระดับสู่ความเป็นหนึ่งในทุกส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีบุคลากรที่เป็นมืออาชีพ
* มองปีนี้ ธุรกิจหลักทรัพย์แข่งขันไม่รุนแรงขึ้น แม้เปิดเสรีค่าคอมฯ
         นายวรพล กล่าวว่า กล่าวว่า ในปี 55 นี้ การแข่งขันในธุรกิจหลักทรัพย์ จะไม่รุนแรงมากกว่าเดิม โดยเชื่อว่าผู้ประกอบการโบรกเกอร์ จะหันมาพัฒนาคุณภาพมากกว่า
         "การเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นในตลาดทุนไทย จะไม่ทำให้การแข่งขันของธุรกิจหลักทรัพย์รุนแรงกว่าเดิม แต่คาดว่าโบรกเกอร์ จะหันมาเน้นการสร้างคุณภาพมากขึ้น และโบรกเกอร์มีเวลาปรับตัวแล้วตั้งแต่ปี 49" นายวรพล กล่าว
         นอกจากนี้ ในปี 55 จะได้เห็นภาพการควบรวมกิจการของบริษัทหลักทรัพย์(บล.) ต่อเนื่องจากปี 54 ที่มีการควบรวมกันไปมากแล้ว จากปัจจุบันที่กลุ่มธุรกิจหลักทรัพย์จะแบ่งออกเป็นบล.ที่มีธนาคารพาณิชย์ถือหุ้น, บล.ที่มีกลุ่มต่างชาติเข้ามาถือหุ้น และบล.ที่เป็นอิสระและเชื่อว่า ในปีนี้ยังจะได้เห็นภาพต่างชาติเข้ามาถือหุ้นในบล.ของไทยเพิ่มขึ้นด้วย
         ด้านนางดวงมน จึงเสถียรทรัพย์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ก.ล.ต. กล่าวว่า การแข่งขันในธุรกิจหลักทรัพย์จะไม่รุนแรงมากขึ้น เพราะการแข่งขันที่รุนแรงเกิดขึ้นตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว แต่คาดว่าในปีนี้ ภาพรวมของอุตสาหกรรมหลักทรัพย์ จะมีรูปแบบเป็นการพัฒนาสินค้าใหม่ๆ ออกมามากขึ้น และบล.หลายแห่ง จะเริ่มหาบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.)เข้ามาอยู่ในเครือ เพื่อให้เกิดความหลากหลายของสินค้า และการให้บริการ
         ส่วนกระแสข่าวที่ระบุว่า โบรกเกอร์จับมือกัน เพื่อกำหนดอัตราค่าคอมมิชชั่นโดยรวมในระบบไว้แล้ว ว่า โดยส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะสามารถทำได้อย่างยั่งยืนเนื่องจากธุรกิจที่จะเติบโตได้ ควรมีโมเดลที่ชัดเจน และพัฒนาที่คุณภาพ เพื่อให้นักลงทุนได้รับประโยชน์มากกว่า อย่างไรก็ตาม ก.ล.ต.ไม่สามารถห้ามโบรกเกอร์ ไม่ให้ดำเนินการดังกล่าวได้เพราะขณะนี้ได้เข้าสู่การเปิดเสรีค่าคอมมิชชั่นไปแล้ว
         นางดวงมน กล่าวว่า ก.ล.ต.อยากแนะนำให้โบรกเกอร์ สร้างความแข็งแกร่งของธุรกิจเช่น การหาโอกาสเพื่อไปทำธุรกิจในต่างประเทศ โดยเฉพาะในแถบอินโดจีน เช่น ลาว และพม่า ซึ่งเป็นประเทศที่กำลังจะพัฒนาด้านการลงทุน โดยโบรกเกอร์ไทยสามารถเข้าไปทำหน้าที่อันเดอร์ไรท์ตราสารต่างๆได้ ซึ่งควรเร่งดำเนินการ ก่อนที่ประเทศอื่น เช่น เกาหลีใต้ และสิงคโปร์ จะเข้าไปทำตลาดก่อน
*บลจ.กสิกรไทย ขานรับมาตรการ ก.ล.ต. ดีเดย์ซื้อ-สับเปลี่ยน เข้า KSDLTF ได้ถึงแค่ 13 มกราคม นี้
         นางสาวยุพาวดี ตู้จินดา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ. กสิกรไทย) เปิดเผยว่า บลจ. กสิกรไทย จะหยุดรับคำสั่งซื้อและสับเปลี่ยนหน่วยลงทุนมายังกองทุนเปิดเค สตราทีจิค ดีเฟ็นซีฟหุ้นระยะยาวปันผล (KSDLTF) ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 เป็นต้นไป เพื่อให้เป็นไปตามการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ใหม่เกี่ยวกับกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ซึ่งห้ามกองทุน LTF ลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าจนอัตราส่วนการลงทุนในหุ้นต่ำกว่าร้อยละ 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุน โดยมีผลบังคับใช้เกณฑ์ดังกล่าวตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 เป็นต้นไป
         “เนื่องจากกองทุนเปิดเค สตราทีจิค ดีเฟ็นซีฟหุ้นระยะยาวปันผล (KSDLTF) ของ บลจ. กสิกรไทย อยู่ในข่ายกองทุนที่ได้รับผลกระทบจากเกณฑ์ที่ได้กล่าวไป บลจ.กสิกรไทย จะเปิดให้ซื้อและสับเปลี่ยนเข้ามายังกองทุน KSDLTF ถึงวันที่ 13 มกราคมนี้เท่านั้น โดยผู้ลงทุนที่ได้ซื้อหรือสับเปลี่ยนเข้ามายังกองทุน KSDLTF ภายใน 13 มกราคม 2555 จะยังคงได้รับสิทธิ์ลดหย่อนภาษีสำหรับปีภาษี 2555 และสามารถถือครองหน่วยลงทุนกองทุน KSDLTF ต่อไปจนกว่าจะครบเงื่อนไขทางภาษีของกรมสรรพากร คือ 5 ปีปฏิทินได้เช่นเดิม แต่จะไม่สามารถซื้อเพิ่ม และไม่สามารถสับเปลี่ยนจากกองทุน LTF อื่นเข้ามายังกองทุนนี้ได้อีกตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2555 เป็นต้นไป อย่างไรก็ตาม หากผู้ลงทุนต้องการโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนในหุ้นและรับความเสี่ยงได้สูงขึ้น ก็สามารถสับเปลี่ยนออกจากกองทุน KSDLTF ไปยังกองทุน LTF อื่นๆ ได้ รวมทั้งสามารถขายคืนเมื่อได้เมื่อถือหน่วยลงทุนมาครบตามเงื่อนไขทางภาษี ส่วนผู้ถือหน่วยลงทุนที่สมัครใช้บริการ K-Saving Plan (บริการลงทุนรายงวดกองทุนรวมกสิกรไทย) เพื่อลงทุนอย่างสม่ำเสมอกับกองทุน KSDLTF บลจ. กสิกรไทย จะยกเลิกการหักบัญชีเงินฝากเพื่อซื้อกองทุนดังกล่าวให้โดยอัตโนมัติ ตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2555 เป็นต้นไป” นางสาวยุพาวดีกล่าว
         นางยุพาวดีกล่าวเพิ่มเติมว่า “กองทุน KSDLTF เป็นกองทุนที่ได้รับความนิยมจากผู้ลงทุนพอสมควร โดยปี 2554 มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิเพิ่มขึ้นประมาณ 1,600 ล้านบาท รวมเป็น 4,914 ล้านบาท ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2554 คิดเป็นการเติบโตถึงร้อยละ 48 จากปี 2553 เหตุที่ได้รับความนิยมเพราะ KSDLTF มีนโยบายลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้า จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่ไม่นิยมความผันผวนจากการลงทุนในหุ้น รวมถึงยังเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการสับเปลี่ยนเข้ามายังกองทุนนี้เมื่อตลาดหุ้นมีความผันผวนอีกด้วย อย่างไรก็ตาม หลังจากเกณฑ์ ก.ล.ต.บังคับใช้ ผู้ลงทุนที่ต้องการจำกัดความเสี่ยงจากการลงทุนในหุ้นไม่ให้สูงเกินไปนัก ก็สามารถเลือกลงทุนกับกองทุนเปิดเค 70 หุ้นระยะยาวปันผล ซึ่งมีนโยบายลงทุนในหุ้นไม่เกินร้อยละ 70 เพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงได้เช่นกัน”
         กองทุนเปิดเค สตราทีจิค ดีเฟ็นซีฟหุ้นระยะยาวปันผล (KSDLTF) เป็นกองทุน LTF ลำดับที่ 6 ของ บลจ. กสิกรไทย จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2550 มีนโยบายลงทุนในหุ้นสามัญจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยเฉลี่ยในรอบปีบัญชีไม่น้อยกว่าร้อยละ 65 และอาจลงทุนในสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารพอร์ตการลงทุน โดย ณ วันที่ 30 ธันวาคม 2554 กองทุนมีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิ 4,914.94 ล้านบาท ผลการดำเนินงานในรอบ 6 เดือนที่ผ่านมาให้โอกาสรับผลตอบแทนที่ 2.62% ในขณะที่ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ที่ -1.55%