พุธ 10 ส.ค.--eFinanceThai.com :
ลุยหุ้นอาหาร-เกษตรรับศก.สหรัฐทรุด
          กูรู ชี้หุ้นอาหาร-เกษตร และแบงก์ จะไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยมากนัก และยังซื้อลงทุนยาวได้ ต่างจากกลุ่มอิเล็กฯ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยาง ขนส่ง       อสังหาฯ วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี และพลังงาน ด้านบิ๊ก SMT มอง วิกฤตศก.สหรัฐกระทบอุตฯ ชิ้นส่วนฯ ทั้งระบบ ขณะที่ SVI ต้องชะลอดีลซื้อกิจการ บ.ในยุโรปไปอีก 3-6 เดือน รอดูสถานการณ์
          ท่ามกลางผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้ทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง และล่าสุด ณ วันที่ 9 สิงหาคม 2554 ดัชนีฯ ปิดที่ระดับ 1,042.54 จุด ลดลง 35.66 จุด หรือ 3.31% ด้วยมูลค่าการซื้อ 63,606.85 ล้านบาท นักลงทุนต่างชาติขายสุทธิ 8,995.11 ล้านบาท และนักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 1,713.63 ล้านบาท
ฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.ฟินันเซีย ไซรัส ออกบทวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์ตลาดหุ้นไทย ในประเด็นหากเศรษฐกิจสหรัฐถดถอย หุ้นกลุ่มใดที่ควรระวัง
* มองอดีตเทียบอนาคต
          โดยมองว่า จากวิกฤต 2 ครั้งที่ผ่านมา เราพบว่ากลุ่มที่ควรระวังหากเกิดวิกฤตกับเศรษฐกิจสหรัฐในครั้งนี้ได้แก่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ขนส่ง   อสังหาฯ วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี และพลังงาน ขณะที่กลุ่มที่ Outperform ส่วนใหญ่เป็น Domestic plays ได้แก่ กลุ่มอาหาร ค้าปลีก โรงพยาบาล ประกัน สื่อสาร ธนาคาร
          ขณะที่ช่วง Dotcom crisis ส่งออกของไทยหดตัว 4.2% ซึ่งหากเศรษฐกิจสหรัฐถดถอยอีกครั้งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยและตลาดหุ้นอย่างไรบ้าง เราย้อนกลับไปดูในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สหรัฐเคยเกิดวิกฤต 2 ครั้งคือ Dotcom crisis ในปี 2001 และ Subprime crisis ปี 2008 – 2009 ในช่วง Dotcom crisis การ   เติบโตของเศรษฐกิจไทยชะลอลงเหลือเพียง 2.2% จากที่โตเฉลี่ยปีละ 4.6% เพราะยอดส่งออกหดตัว 4.2% โดยตลาดสหรัฐ (20% ของตลาดส่งออกทั้งหมด) ลดลงถึง 11% สินค้าส่งออกที่หดตัวมากได้แก่แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า ยาง เหล็ก อาหารทะเลแช่แข็ง
          ส่วนช่วง Subprime Crisis ส่งออกหดตัวถึง 13.9% ซึ่งวิกฤต Subprime ที่เกิดในช่วงปลายปี 2008 ส่งผลให้ GDP ของไทยในปี 2009 หดตัว 2.3% จากการส่งออกที่หดตัวถึง 13.9% หดตัวรุนแรงที่สุดเป็นประวัติการณ์วิกฤตที่ผ่านมา SET Index ปรับฐาน 8% - 14%
          ทั้งนี้ ปี 2001 SET Index ปรับฐาน 14.5% เป็นเวลา 2 เดือนเศษ ปี 2009 SET ปรับลง 7.9% กินเวลา 2 เดือนครึ่ง หาก SET Index ปัจจุบันปรับลงในอัตรา 8% - 14% จากจุดสูงสุด จะลงไปอยู่ที่ 1,056 และ 981 จุด ตามลำดับ แต่เราไม่คิดว่าตลาดจะปรับลงลึกต่ำกว่า 1,000 จุดเพราะตลาดส่งออกได้ถูกกระจายได้ดีขึ้น ปัจจุบันเราค้าขายในเอเชียด้วยกัน 60%
          นอกจากนี้ การจับจ่ายใช้สอยในประเทศขยายตัวต่อเนื่องและแข็งแกร่ง โดยได้แรงหนุนจากรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้น รวมถึงการลงทุนจากโครงการต่างๆ ของรัฐบาลใหม่ ‘เงิน’ ต้องหาผลตอบแทนที่ดีกว่า...เลี่ยง Cyclical ซื้อ Domestic
          เราจึงยังมองบวกกับ SET Index ในระยะกลาง-ยาว เพราะนักลงทุนไม่เหลือทางเลือกในการลงทุนมากนักวันนี้ การปรับฐานจึงเป็นโอกาสในการสะสมหุ้นพื้นฐานแกร่งเช่น KBANK, BBL, LPN, AP, SIRI, DTAC, BIGC, MAKRO, HMRO, CPALL, BLA, BGH, TUF, PTT, TOP และหุ้นที่นักวิเคราะห์มีแนวโน้มปรับประมาณการขึ้น PHATRA, BLA, DRT, KSL, BEC, WORK, THCOM
* ควรระวังกลุ่มอิเล็กฯ-ยานยนต์และชิ้นส่วน-ยาง-ขนส่ง-อสังหาฯ-วัสดุก่อสร้าง-ปิโตรเคมี-พลังงาน
          บล.ฟินันเซีย ไซรัส มองว่า ในปี 2001 Dow Jones ปรับลดลง 5.8% ขณะที่ SET Index ปรับตัวเพิ่มขึ้น 11.7% อย่างไรก็ตาม GDP ช่วงที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอลงอยู่ในช่วงครึ่งปีแรก ซึ่งทำให้ SET Index พักฐาน 14.5% เป็นเวลา 2 เดือนเศษ กลุ่มที่ปรับลงมากที่สุดได้แก่กลุ่มอิเล็คทรอนิคส์ ขนส่ง อสังหาฯ ธนาคาร กลุ่มที่ยังปรับตัวบวกได้ในช่วงเวลาดังกล่าวได้แก่กลุ่มท่องเที่ยว อาหาร ยานยนต์ ประกัน โรงพยาบาล ค้าปลีก
          ในปี 2009 ที่ทั่วโลกเผชิญผลกระทบจาก Subprime แต่ SET Index ปรับตัวขึ้นแทบตลอดทั้งปีเพราะผลจาก QE1 และ QE2 ทำให้ตลาดปรับตัวขึ้นถึง 63.2%  แม้กระทั่ง Dow Jones เองก็ปรับตัวบวก 18.8% อย่างไรก็ตาม GDP ของไทยตกต่ำที่สุดใน 1Q09 -7.1% Y-Y ในช่วงดังกล่าว SET Index ปรับลง 7.9% กินเวลา 2 เดือนครึ่ง กลุ่มที่ปรับลงมากที่สุดได้แก่กลุ่มปิโตรเคมี พลังงาน อิเล็คทรอนิคส์ อสังหาฯ ยานยนต์ ขนส่ง วัสดุก่อสร้าง
          กลุ่มที่ยังปรับตัวบวกได้ในช่วงเวลาดังกล่าวได้แก่กลุ่มเหมืองแร่ เกษตร (ผลจาก QE1+2) ค้าปลีก ประกัน สื่อสาร
          จากวิกฤต 2 ครั้งที่ผ่านมา เราพบว่ากลุ่มที่ควรระวังหากเกิดวิกฤตกับเศรษฐกิจสหรัฐในครั้งนี้ได้แก่กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน ยาง ขนส่ง อสังหาฯ วัสดุก่อสร้าง ปิโตรเคมี และพลังงาน ขณะที่กลุ่มที่น่าจะ Outperform ส่วนใหญ่เป็น Domestic Plays ได้แก่ กลุ่มอาหาร ค้าปลีก โรงพยาบาล ประกัน สื่อสาร ธนาคาร
* เชื่อรอบนี้ SET Index ไม่หลุด 1,000 จุด
          สำหรับ SET Index หากปรับลงในอัตรา 8% - 14% จากจุดสูงสุด จะลงไปอยู่ที่ 1,056 และ 981 จุด ตามลำดับ แต่เราไม่คิดว่าตลาดจะปรับลงลึกต่ำกว่า 1,000 จุด เพราะตลาดส่งออกได้ถูกกระจายได้ดีขึ้น ปัจจุบันเราค้าขายในเอเชียด้วยกัน 60% นอกจากนี้ การจับจ่ายใช้สอยในประเทศขยายตัวต่อเนื่องและแข็งแกร่ง โดยได้แรงหนุนจากรายได้เกษตรกรที่ดีขึ้น ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคดีขึ้น รวมถึงการลงทุนจากโครงการต่างๆ ของรัฐบาลใหม่ เราจึงยังมองบวกกับ SET Index ในระยะกลาง-ยาว เพราะนักลงทุนไม่เหลือทางเลือกในการลงทุนมากนักวันนี้
          การปรับฐานจึงเป็นโอกาสในการสะสมหุ้นพื้นฐานแกร่งเช่น KBANK, BBL, LPN, AP, DTAC, BIGC, MAKRO, CPALL, BGH, TUF, PTT, TOP และหุ้นที่นักวิเคราะห์มีแนวโน้มปรับประมาณการขึ้น PHATRA, BLA, DRT, KSL, BEC, WORK, THCOM
* แนะหลีกเลี่ยงกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ แต่ SVI ยังดีที่สุด
          สำหรับหุ้นในกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ที่ปลอดภัยที่สุดคือ SVI เพราะลูกค้าส่วนใหญ่ 62% อยู่ในสแกนดิเนเวียซึ่งมีเศรษฐกิจแข็งแกร่ง และเราเพิ่งปรับราคาเป้าหมายของปีนี้ขึ้นเป็น 6.00 บาท และปีหน้าขึ้นเป็น 6.60 บาท ในขณะที่ SMT, DELTA, HANA พึ่งพาตลาดสหรัฐมากที่สุด
* กลุ่มธนาคารยังดูแกร่ง Top picks คือ KBANK, BBL, SCB
          โดยสินเชื่อของกลุ่มธนาคารในปี 2001 หดตัว 3.2% แบงก์ใหญ่ที่มีฐานลูกค้าส่งออกได้รับผลกระทบโดยเฉพาะ BBL แต่หลังจาก SET Index พักฐานแล้ว  ตลาดรีบาวนด์ 13.6% กลุ่มแบงก์เป็นกลุ่มที่รีบาวนด์ได้แรงที่สุด และในปี 2009 สินเชื่อของธนาคารยังขยายตัวได้ 1.3% เพราะการกระจายฐานลูกค้าที่ดีขึ้น รวมทั้งกระจายรายได้หันไปหารายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยมากขึ้น
          สำหรับงวดครึ่งปีแรกปีนี้ สินเชื่อของธนาคารยังเติบโตแข็งแกร่ง 6.6% YTD ดีกว่าตลาดคาด แม้ว่าจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 3 ก.ค. ซึ่งโดยปกติเอกชนแทบจะไม่ขยับขยายการลงทุนจนกว่าจะเห็นทิศทางการเมืองที่ชัดเจน กำไรใน 2Q11 ของกลุ่มแบงก์จึงออกมาดีกว่านักวิเคราะห์คาด +35.5% Y-Y กลุ่มธนาคารจึงดูแข็งแกร่งมากสำหรับการลงทุนในปีนี้ปีหน้า หุ้นที่เป็น Top picks ของเราคือ KBANK, BBL, SCB
* ยอดขายของ TUF และ STA ไม่ได้รับผลกระทบ
          อย่างไรก็ตาม แม้ว่าอาหารทะเลแช่แข็งและอาหารกระป๋องส่งออกจะหดตัวในปี 2001 แต่ปริมาณการขายของ TUF ไม่ได้รับผลกระทบ เรายังเห็นว่าเป็นบริษัทที่น่าลงทุน เช่นเดียวกับ STA ที่แม้ว่ากลุ่มยานยนต์จะปรับลงมากกว่าตลาดในช่วงวิกฤตทั้ง 2 ครั้ง แต่ปริมาณการขายของ STA ไม่ได้รับผลกระทบ ปัจจุบัน STA ซื้อขายที่ PE ถูกที่สุดในกลุ่มเกษตรคือ 8 เท่า ยังสามารถซื้อลงทุนระยะยาวได้แต่ระยะสั้นไม่มีปัจจัยกระตุ้น
* บิ๊ก SMT มอง วิกฤตศก.สหรัฐกระทบ อุตฯชิ้นส่วนฯ ทั้งระบบ
          นายพลศักดิ์ เลิศพุฒิภิญโญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทสตาร์ส ไมโคร อิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ SMT เปิดเผยกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐมีความเสี่ยงที่จะถดถอยอีกครั้งว่า จะกระทบต่อภาพรวมทั้งระบบของธุรกิจชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการที่มีอัตราการส่งออกในระดับสูง จากปัจจัยอัตราแลกเปลี่ยนที่จะมีความผันผวนมากขึ้น
          โดยในกรณีนี้ทำให้ค่าเงินสกุลดอลลาร์มีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีกจากการแรงกด ดันทางเศรษฐกิจและการย้ายฐานการลงทุนสินทรัพย์ประเภทต่างๆ มายังภูมิภาคเอเชียมากขึ้น ซึ่งย่อมทำให้ค่าเงินบาทมีโอกาสแข็งค่ามากขึ้นในระยะนับจากนี้ และรายได้จะลดลงหลังจากแปลงสกุลเงินหลักจากดอลลาร์เป็นสกุลเงินบาทเมื่อมี การรายงานงบการเงินของแต่ละบริษัท
          นอกจากนี้ เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐในฐานะประเทศที่มีกำลังซื้อในระดับสูงในช่วงที่ผ่านมา เผชิญปัญหาด้านการเงินและภาระหนี้สินที่เพิ่มขึ้น อาจทำให้ต้องมีการชะลอการสั่งซื้อสินค้าต่างๆ เพื่อควบคุมค่าใช้จ่ายในระยะต่อไป และหากธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟดจะยังคงเดินหน้าออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจปริมาณเป็นครั้งที่ 3 หรือ QE3 เพื่อป้องกันไม่ให้เศรษฐกิจสหรัฐฯเผชิญภาวะถดถอยครั้งใหม่ก็ยิ่งอาจส่งผลกระทบต่อธุรกิจชิ้นส่วนฯเพิ่มมากขึ้นได้ เนื่องจากจะยิ่งมีเม็ดเงินจำนวนมากไหลเข้ามาสู่เอเชีย และค่าเงินสกุลต่างๆในภูมิภาคนี้จะยิ่งแข็งค่าเพิ่มมากขึ้นอีก
          อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ต่างๆในขณะนี้ยังไม่มีความแน่นอน และขาดความชัดเจนถึงทิศทางที่จะเป็นไปในอนาคต ดังนั้นจึงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด และใช้ช่วงเวลานี้ในการประเมินความเป็นไปได้ในระยะต่อไป เพื่อรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นและปรับตัวให้ทันต่อการดำเนินธุรกิจ
          สำหรับต้นเดือนสิงหาคมนี้บริษัทจะทบทวนเป้าหมายรายได้ และกำไรในปีนี้อีกครั้ง โดยมีแนวโน้มว่าอาจต้องปรับลดลง ซึ่งในครั้งนี้คาดว่าต้องใช้ระยะเวลาอีกสักระยะหนึ่ง เพื่อรอให้สถานการณ์ต่างๆ ชัดเจนมากขึ้นและเพื่อให้มั่นใจได้ว่าหากบริษัทมีการปรับแผนงานแล้ว จะไม่พบกับปัญหาความไม่แน่นอนจนมีผลให้ต้องพิจารณาแผนงานใหม่อีกครั้งในอนาคต
          อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้คาดการณ์ไว้แล้วว่าจะเกิดเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะในระบบของการเงินในสหรัฐ ซึ่งจากที่บริษัทเป็นผู้ส่งออกในอัตราส่วนที่สูง จึงได้ปรับตัวและเตรียมแผนรับมือไว้แล้วอย่างต่อเนื่อง ตามประสบการณ์ที่เคยเกิดขึ้นเมื่อครั้งวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 โดยบริษัทฯได้ทำการควบคุมค่าใช้จ่ายและลดต้นทุนในด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง พร้อมทั้งติดตามและประเมินแนวโน้มคำสั่งซื้อของลูกค้าในอนาคตด้วย ซึ่งเชื่อว่าหากในระยะต่อไปคำสั่งซื้อไม่เพิ่มขึ้น หรือลดลง บริษัทฯจะยังสามารถดำเนินธุรกิจได้จากการควบคุมต้นทุนเป็นหลัก
          นอกจากนี้ บริษัทฯ ได้มีการทำประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนไว้รองรับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนบาทต่อดอลลาร์ไว้ ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งช่องทางในการบริหารจัดการธุรกิจ อย่างไรก็ดี รูปแบบในการดำเนินธุรกิจของบริษัทที่ต้องมีการนำเข้าวัตถุดิบ เพื่อมาผลิตก่อนการส่งออก ก็ถือเป็นประโยชน์ที่ได้รับจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้น ทำให้ต้นทุนด้านวัตถุดิบต่ำลง และช่วยชดเชยรายได้ในบางส่วนที่กระทบจากค่าเงินได้
* SVI ชะลอดีลซื้อกิจการ บ.ในยุโรปไปอีก 3-6 เดือนข้างหน้า
          นายพงษ์ศักดิ์ โล่ห์ทองคำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสวีไอ จำกัด (มหาชน) หรือ SVI กล่าวถึงความคืบหน้าของแผนการซื้อกิจการในยุโรปว่า บริษัทฯ  จะชะลอออกไปอีก 3-6 เดือนจากนี้ หลังจากล่าสุดยุโรปยังคงมีเรื่องของวิกฤตด้านการเงิน ซึ่งเริ่มต้นจากกรีซจนล่าสุดลุกลามมายังสเปน และอิตาลี บริษัทฯ จึงขอรอดูสถานการณ์ก่อน เนื่องจากหากเข้าไปซื้อกิจการในตอนนี้ บริษัทฯ อาจต้องซื้อในราคาแพง เนื่องจากราคาที่จะเข้าซื้อใช้การประเมินงบการเงินย้อนหลัง 2-3 ปีที่ผ่านมา  ซึ่งยังไม่สะท้อนถึงมูลค่าของกิจการที่แท้จริงในสถานการณ์ปัจจุบัน
          'เข้าไปซื้อตอนนี้เสี่ยงมาก เพราะเราจะต้องซื้อของแพง และยังไม่ทราบว่าลูกจ้างจะต้องเผ่นหนีไปอีกกี่ราย เราจึงต้องรอดูสถานการณ์ให้นิ่งก่อน เพื่อที่ราคาที่เราจะเข้าซื้อจะได้สะท้อนมูลค่าที่แท้จริง จะให้เราซื้อได้ราคาที่ดีกว่า'นายพงษ์ศักดิ์ กล่าว
          ทั้งนี้ บริษัทฯ ที่จะเข้าซื้อจะมีขนาดประมาณ 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งบริษัทฯ จะใช้เงินลงทุนเพื่อซื้อกิจการในครั้งนี้ 100-150 ล้านเหรียญสหรัฐ