พุธ 17 ส.ค.--eFinanceThai.com :
CK -STEC นำทีมหุ้นรับเหมาโชว์งบ Q2 ทะยาน 772%

        10 หุ้นกลุ่มรับเหมาฯ ประกาศงบโค้ง2 กำไรทะยาน 772.99% CK เด่นสุดผลงานโตถึง 4,000% โบรกฯ ให้ราคาเหมาะสม 9.40-10.80 บาท ส่วน STEC แม้กำไรไม่หวือหวาเท่า แต่ยังเกิน 130% โบรกฯ ประสานเสียงเชียร์ซื้อกันถ้วนหน้า เพราะมั่นใจ Backlog ในมือกว่า 5.1 หมื่นล้าน ยังเป็นฐานรายได้ให้นอนกินไปอีก 3-4 ปี ให้มูลค่าเหมาะสมสูงสุดถึง 17 บาท ด้าน SEAFCO ไม่น้อยหน้าทำกำไรมากว่า 112% ส่วน ITD ยังอ่วมขาดทุนหนักอีก 45.50%
         eFinanceThai.com รวบรวม ผลประกอบการไตรมาส 2/2554 สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2554 ของ 10 หุ้นกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง สรุปภาพรวมมีกำไรสุทธิดีขึ้นอย่างผิดหูผิดตา โดยล่าสุดทั้งกลุ่มมีกำไรสุทธิรวม 848.04 ล้านบาท พลิกเป็นกำไร 772.99% จากที่ผลประกอบการรวมติดลบ 126.01 ล้านบาท ในไตรมาส 2/53 ปรากฎว่า CK เป็นพระเอก กำไรโตถึง 4,272% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันเมื่อปี 2553 ตามมาด้วย PLE กำไรโต 220.90% และ STEC ที่กำไรเพิ่มขึ้น 131.76% ส่วนหุ้นที่ผลงานทรุดมากสุดได้แก่ NWR โดยผลงานลดลงถึง 464.90% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2553 ตามมา ด้วย CNT 72.85% และ ITD กำไรลดลง 45.50%
*** CK โบรกฯ ให้ราคาเหมาะสม 9.40-10.80 บาท
        บริษัท ช.การช่าง จำกัด (มหาชน) CK เปิดเผยถึงผลประกอบการ Q2/54 ว่ามีกำไรเพิ่มขึ้นเป็น 980.73 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น ร้อยละ 4272.40 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันกับปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ภาพรวมใน 6 เดือนแรกพลิกกำไรอยู่ที่ 523.92 ล้านบาท และจากผลประกอบการที่ออกมาอย่างโดดเด่นส่งผลให้นักวิเคราะห์ได้ประเมินทิศทางราคาใหม่ทั้งทางพื้นฐานและทางเทคนิค
        บทวิเคราะห์บล.เกียรตินาคิน เปิดเผยว่า หลังนโยบายภาครัฐมีความชัดเจน..การเร่งการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าจะเอื้อประโยชน์กับงานในมือของCK คาดว่าหลังรัฐบาลเริ่มขับเคลื่อนนโยบาย การเร่งพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อเนื่องของระบบรถไฟฟ้าจะเร่งทำให้เกิดงานในมือของCK ได้เพิ่มขึ้น โดยมีงานที่อยู่ระหว่างการพิจารณาคือสายสีเขียว (แบริ่ง-สมุทรปราการ) ที่บริษัทเป็นผู้ตั้งราคาประมูลต่ำสุด 14,138 ล้านบาท ซึ่งเราคาดว่าจะเห็นความคืบหน้าได้ภายในปลายปี 2554 รวมถึงยังมีงานใหญ่ที่บริษัทอยู่ระหว่างรอเซ็นสัญญา คือโครงการไซยะบุรี มูลค่ากว่า7หมื่นล้านบาท Backlog ในมือที่ระดับสูง ที่ระดับ 30,000 ล้านบาท จะช่วยสนับสนุนรายได้ต่อเนื่องไป 2-3ปี ข้างหน้า ซึ่งมาจากรถไฟฟ้าสายสีม่วง สายสีน้ำเงินและโรงไฟฟ้าฯลฯ เราคาดกำไรจากการดำเนินงานจะทำได้ดีขึ้นใน 2H/54 จากการรับรู้รายได้หลักที่มีอัตรากำไรขั้นต้นดีขึ้นเช่นงานโรงไฟฟ้าที่มีอัตรากำไรขั้นต้นมากกว่า 10% และภาวะต้นทุนจากงานเก่าเริ่มหมดลง เรายังคงประเมินมูลค่าเหมาะสม CK ไว้เดิมที่ 9.60 บาท (อ้างอิง APBV ที่ 2.4 เท่า) แนะนำ ”ซื้อ “ มี Upside gain 24% คาดจ่ายปันผลขั้นต่ำที่ 10 สตางค์ต่อหุ้นให้ ผลตอบแทน 1.3% (กรณีไม่รวมกำไรจากการขาย SEAN) และ จ่ายปันผลได้ที่ 25 สตางค์ต่อหุ้น ให้ผลตอบแทน 3.2%(กรณีรวมกำไรการขาย SEAN) โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องพิจารณาคือ การฟื้นตัวของผลประกอบการที่แท้จริงที่มีแรงกดดันจากภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
ราคาเป้าหมายปี 2554 ที่ 9.60 บาท
         ส่วนบล.กรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่าแนวโน้มผลประกอบการในแต่ละไตรมาสของ 2H54 ของ CK จะไม่แตกต่างจากที่เกิดขึ้นใน 2Q54 มากนัก โดยที่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างยังคงจะแสดงผลขาดทุนเช่นเดิมเนื่องจากบริษัทไม่ได้รับงานใหม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 1H54 ที่ผ่านมา แต่อาจจะมีรายการพิเศษเข้ามาพลิกผลขาดทุนเป็นกำไร ได้แก่ 1) กำไรพิเศษจากการปรับโครงสร้างการถือหุ้น SEAN โดยขายหุ้นเพิ่มเติม 117 ล้านหุ้นให้แก่บริษัทร่วมซึ่งควรจะเสร็จสิ้นทั้งหมดภายในเดือน มิ.ย. 55 และ 2) กำไรพิเศษจากการขายเงินลงทุนใน บจ. ไซยะบุรี พาวเวอร์ เพื่อลดสัดส่วนการลงทุนจากปัจจุบันที่ 50% มาที่ไม่ต่ำกว่า 30% ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะเกิดขึ้นภายในช่วงเวลาที่เหลือของปีแม้ว่าผลประกอบการในปีนี้ของ CK เกิดจากกำไรพิเศษและเป็นกำไรพิเศษเพียงครั้งเดียว บวกกับอัตราตอบเงินปันผลที่ต่ำ 1-2% ต่อปี เราคงคำแนะนำเพียง เก็งกำไร ประเมินมูลค่าพื้นฐาน 9.40 บาท (Prospective P/BV ที่ 2 เท่า) โดยคาดหวังปัจจัยบวกจากแนวโน้มที่รัฐบาลลาวจะเดินหน้าโครงการฝายน้ำล้นไซยะบุรี (มูลค่างาน 76 พันล้านบาท) ที่ CK เป็นผู้รับเหมาหลักในโครงการนี้
         ส่วนนายรณกฤต สารินวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.คันทรี่. กรุ๊ป เปิดเผยว่า กำไรของ CK เติบโตอย่างก้าวกระโดดถึง 980 ล้านบาท จากปี 2553 ที่ประสบปัญหาขาดทุน แม้ว่ากำไรดังกล่าวจะเป็นที่ทราบกันดีว่ามาจากการขายบริษัท เซาท์อีสท์ เอเชียเอนเนอร์จี จำกัด (SEAN) ออกไปจำนวนหนึ่ง แต่ถือว่าเป็นกำไรที่เกิดจากที่บริษัทเคยนำเงินไปลงทุนไว้ ประกอบกับในไตรมาส 3/2554 จะมีการขายเพิ่มเติม และจะส่งผลให้กำไรมีมากกว่าที่คนคาดการณ์ไว้ โดยราคาเหมาะสมในช่วงนี้ให้ไว้ 10.80 บาท เนื่องจากมีแนวโน้มจะได้ปัจจัยสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐบาล ส่วนสัญญาณทางเทคนิคในช่วงนี้เกิดสัญญาณ V-Shape และมีโอกาสจะไปที่ะรดับ 8.10 บาท แนะนำหากราคาเกิน 8 บาท ให้รอซื้อเมื่อราคาอ่อนตัว
***โบรกฯ แนะรุมซื้อ STEC เหตุ Backlog เพียบ
          ด้านบริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด(มหาชน) หรือ STEC เปิดเผยว่า มีผลกำไรสุทธิรวมในส่วนของผู้ถือหุ้นบริษัทใหญ่เป็นจำนวนเงิน 220.93 ล้านบาทสำหรับไตรมาส และจำนวนเงิน 387.47 ล้านบาทสำหรับงวดหกเดือน เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2553 มีผลกำไรสุทธิรวมในส่วนของผู้ถือหุ้นบริษัทใหญ่เป็นจำนวนเงิน 95.32 ล้านบาทสำหรับไตรมาสและจำนวนเงิน 177.05 ล้านบาทสำหรับงวดหกเดือนตามลำดับ ซึ่งได้แสดงผลกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อน เป็นจำนวนเงิน 125.61 ล้านบาทคิดเป็น 131.77% สำหรับไตรมาส และเป็นจำนวนเงิน 210.42 ล้านบาท คิดเป็น 118.85% สำหรับงวดหกเดือน บริษัทฯใคร่ขอชี้แจงสาเหตุดังนี้
          บริษัทฯและบริษัทย่อย มีกำไรขั้นต้นสำหรับไตรมาสและงวดหกเดือนปี 2554 เป็นจำนวนเงิน 324.34 และ 597.30 ล้านบาทตามลำดับ ในขณะที่งวดเดียวกันของปีก่อน บริษัทฯและบริษัทย่อยมีกำไรขั้นต้นเป็นจำนวนเงิน 192.77 และ 369.48 ล้านบาทตามลำดับ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากงวดเดียวกันของปีก่อนเป็นจำนวนเงิน 131.57 ล้านบาท คิดเป็น 68.25% สำหรับไตรมาส และเป็นจำนวนเงิน 227.82 ล้านบาท คิดเป็น 61.66% สำหรับงวดหกเดือน เนื่องมาบริษัทฯและบริษัทย่อยมีรายได้จากงานก่อสร้างเพิ่มมากขึ้นประกอบกับมีรายได้ของโครงการที่มีอัตรากำไรขั้นต้นสูง มีจำนวนเพิ่มมากขึ้น
          บล.เกียรตินาคินเปิดเผยว่า งานในมือ Backlog ที่โดดเด่นของ STEC ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 51,838 ล้านบาท จากงานสำคัญเช่น รถไฟฟ้าสายสีม่วง รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน โครงการโรงไฟฟ้า Gulf SPPฯลฯ ยังเป็นฐานรายได้ในช่วงระยะเวลา 3-4 ปีข้างหน้า โดยเรามองโอกาสการรับงานยังคงมีอย่างต่อเนื่องหลังรัฐบาลใหม่เริ่มดำเนินงาน ซึ่งคาดว่าจะให้ความสำคัญต่อการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเป็นประเด็นหลัก และงานในมือของ STEC ได้ต่อเนื่อง โดยมีรถไฟฟ้าสายสีแดงที่รอการพิจารณาบางซื่อ-รังสิต มูลค่ารวม 34,999 ล้านบาท (บริษัทเป็น JV กับ UNIQ สัดส่วนการลงทุน 60:40) พร้อมทั้งงานโรงไฟฟ้าที่ บริษัทมีความชำนาญ ที่คาดเห็นความคืบหน้าผลได้ในช่วง 6- 9 เดือน เช่น 1) Siam Energy Gas กำลังการผลิต 1,600 MW มูลค่า 8,000 ล้านบาท 2) งานโรงไฟฟ้าพระนครเหนือ กำลังการผลิต800 MW มูลค่าโครงการ 3,000 ล้านบาท ฯลฯ โดยประเมินกำไรสุทธิ 684 ล้านบาท จ่ายปันผลเพิ่มขึ้นเป็น 33 สตางค์/หุ้น ให้ผลตอบแทนเงินปันผลทั้งปี 3% โดยมีราคาที่เหมาะสมเหลือ 14.80 บาท อ้างอิง Average Price/Book Value ที่ 3.5 เท่า ยังคงแนะนำ ซื้อ
          ส่วนบล.ยูไนเต็ด มองว่าสำหรับนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ที่จะเดินหน้าโครงการรถไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง ทำให้ STEC ยังมีโอกาสเพิ่ม Backlog ในอนาคต แต่อย่างไรก็ตามนโยบายเพิ่มแรงขั้นต่ำขึ้นไปถึง 300 บาท/วัน รวมทั้งยกค่าจ้างระดับ ป.ตรี ขี้นไปขึ้นต่ำที่ 1.5 หมื่นบาท อาจทำให้ต้นทุนของ STEC เพิ่มขึ้น ซึ่งจะส่งผลต่อ margin ของงานที่ประมูลเข้ามาแล้ว ประเมินราคาปัจจัยพื้นฐานปี 54 ที่ 15.50 บาท แนะนำจาก “ซื้อ” เป็น “ซื้อเมื่ออ่อนตัว”
          บล.ฟินันเซียไซรัส แนะนำ ซื้อ” ราคาเป้าหมายปี 2011 ที่ 16.70 บาท อิง PBV ที่ 3.2 เท่า โดย STEC มีจุดเด่นทางด้านผลประกอบการที่เป็นบวก เมื่อเทียบกับกับรายอื่นที่ยังติดลบ ฐานะการเงินดี คงความเป็น Net Cash มาตลอดตั้งแต่ปี 2009 และยังมีความสามารถรับงานได้ทั้งภาครัฐและเอกชน
          บล.ทิสโก้ แนะนำให้ “ซื้อ” เนื่องจากคาดว่าผลประกอบการจะดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปี และต่อไปยังปีหน้า หลัก ๆ จากการเติบโตของรายได้ตามงานในมือที่สูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ ยังคงประมาณการผลประกอบการเดิมและมูลค่าที่เหมาะสมเดิมที่ 17 บาท โดยมีปัจจัยเสี่ยง คือ ต้นทุนวัตถุดิบที่สูงขึ้น, โครงการใหม่ที่น้อยกว่าที่คาด, การแข่งขันที่สูงขึ้น, ความล่าช้าในการก่อสร้าง และความไม่แน่นอนทางการเมืองซึ่งอาจทำให้โครงการใหม่ชะลอตัวลง
          บล.ฟิลลิป ยังเชื่อว่าแนวโน้มกำไรยังไปได้ดี ที่ผ่านมาราคาหุ้นอ่อนลงตามสภาวะตลาดและผลลบจากการปรับค่าแรงจนราคาล่าสุดลงมาซื้อขายแค่ 2 เท่า BV ปี 54 และ 55 เทียบกับค่าเฉลี่ย 3 เท่า ปรับเป็น “ซื้อ” จาก “ซื้อเก็งกำไร” ราคาพื้นฐาน 14 บาท
          ด้านบล.กรุงศรีอยุธยา ประเมินมูลค่าพื้นฐานหุ้น STEC เท่ากับ 12.75 บาท อิง Prospective P/E ที่ 22 เท่า จุดแข็งของ STEC อยู่ที่แนวโน้มเติบโตของผลประกอบการที่ต่อเนื่องในปี 54 และ 55 ในขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่ในกลุ่มเดียวกันทั้ง CK และ ITD ขาดจุดเด่นดังกล่าวและมีแนวโน้มผลประกอบการที่ผันผวน คงคำแนะนำ เก็งกำไร เนื่องจากอัตราตอบแทนเงินปันผลที่ต่ำ 2-3% ต่อปี
*** เซอร์ไพรส์ EMC - PAE พลิกเป็นกำไร
          บริษัท อีเอ็มซี จำกัด (มหาชน) (EMC) เปิดเผยว่า ไตรมาส 2/2554 มีกำไรกำไร 4.73 ลบ. จากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ที่ขาดทุน 66.38 ล้านบาท ส่วน 6 เดือนพลิกกำไร 31.29 ลบ. โดยในไตรมาสนี้บริษัท มีรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างและค่าธรรมเนียมที่ปรึกษาโครงการ 702.62 ล้านบาทเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้น 294.27 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 72เนื่องจากในระหว่างไตรมาสที่ 2 ของปีนี้ ได้พยายามเร่งรัดงานก่อสร้างในหลายโครงการเพื่อให้เสร็จทันกำหนดส่งมอบงานในช่วงปลายปี 2554 และการขยายการรับงานเข้าไปยังธุรกิจค้าปลีกโดยเฉพาะทำให้ในไตรมาสนี้บริษัทฯ รับรู้รายได้เพิ่มขึ้นมาก
          นอกจากนี้ บริษัทฯ มีต้นทุนการรับเหมาก่อสร้างและค่าธรรมเนียมที่ปรึกษาโครงการสำหรับไตรมาสที่ สองปี 2554 จำนวน 669.80 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน 257.81 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 63ซึ่งต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเป็นการเพิ่มขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าการเพิ่มขึ้น ของรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างและค่าธรรมเนียมที่ปรึก
ษาโครงการที่รับรู้ในระหว่างไตรมาสเล็กน้อย เนื่องจากในไตรมาสนี้บริษัทฯสามารถบริหารต้นทุนค่าวัสดุก่อสร้างของโครงการต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ส่งผลให้มีสัดส่วนของกำไรที่ดีขึ้น
บริษัท พีเออี (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ PAE เปิดเผยว่าในไตรมาส 2/2554 พลิกกำไรอยู่ที่ 13.40 ล้านบาท จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้วขาดทุน 52 .26 ล้านบาท ส่งผลงวด 6 เดือนพลิกกำไรอยู่ที่ 19.92 ล้านบาท
          โดย PAE ชี้แจงว่า รายได้จากการขายบริการของบริษัท ใน Q2/54 มีถึง 312 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 170.36% ในไตรมาสเดียวกันกับปีก่อน เช่นเดียวกับต้นทุนขายและบริการที่เพิ่มขึ้น โดยต้นทุนขายเพิ่มขึ้น 90.05% ส่วนการขายบริการเพิ่มขึ้น 119.48% เนื่องจากนโยบายการปรับโครงสร้าง และเน้นหลักการดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ
*** โบรกฯยังมอง PLE เชิงลบ หลังมีขาดทุนสะสม
          ด้านบริษัท เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ PLE มีกำไรในไตรมาส 2/2554 ที่ระดับ 33.92 ลบ. จากไตรมาสเดียวกันปี 2553 ที่อยู่ที่ 10.57 ล้านบาท
2Q54 กำไรดีกว่าคาด
          โดย บล.ดีบีเอสวิคเคอร์ส เปิดเผยว่า PLE ประกาศผลการดำเนินงาน 2Q54 ออกมาดีกว่าคาด โดยที่ 2Q54 บันทึกรายได้จากการก่อสร้างที่สูงเป็น 2.5 พันล้านบาท ถือว่าเติบโตดีมาก อัตรากำไรขั้นต้นอยู่ในเกณฑ์พอใช้ที่ 8.1% ฟื้นตัวจาก 1Q54 ที่ -1.4% และได้มีการปรับประมาณการปี 2554 ให้มีขาดทุนสุทธิลดลงเล็กน้อยเป็น -54 ล้านบาท จากเดิมที่ขาดทุนสุทธิ -65 ล้านบาท เช่นเดียวกับปี 55 ให้มีขาดทุนสุทธิลดลงเล็กน้อยเป็น -107 ล้านบาท จากเดิมที่ขาดทุนสุทธิ -110 ล้านบาท โดยปรับกำไรในส่วนการขายอสังหาริมทรัพย์ให้ดีขั้น
          แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้วงติดตามคือการกลับรายการสำรองหนี้สงสัยจะสูญมาเป็นรายได้ยังไม่ให้เพิ่มขึ้น แม้ 1H54 ได้ขยับเข้าใกล้ทั้งปีแล้ว ก็เพราะรายการนี้ไม่แน่นอน และต้นทุนทางการเงินยังคิดดอกเบี้ยจ่ายเต็มที่ เป็นที่น่าสังเกตว่าในรอบ 1H54 บริษัทจ่ายดอกเบี้ยในรูปเงินสดถึง 156 ล้านบาท แต่ในงบกำไรขาดทุนบันทึกเพียง 65 ล้านบาท ขณะที่หนี้เงินกู้บริษัทเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ด้านงบดุล ณ ปลาย 2Q54 อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนอยู่ในระดับสูงเป็น 1.5 เท่า ถือว่ามีความเสี่ยงทางการเงิน มูลค่าทางบัญชีต่อหุ้นเป็น 2.78 บาท กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 1H54 เป็น +487 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน -1,086 ล้านบาท รายการที่ดีขึ้น คือ เงินรับล่วงหน้าจากลูกค้าเพิ่มขึ้นมาก
          ทั้งนี้คงคำแนะนำในเชิงลบ คือ เต็มมูลค่า (Fully Valued) ราคาพื้นฐานขยับขึ้นเล็กน้อยเป็น 1.81 บาท ซึ่งประเมินด้วย P/BV ปี 54 ที่ 0.7 เท่า ราคาปิดมีส่วนเพิ่มเทียบกับราคาพื้นฐานน้อยเพียง 3% แต่ไม่คาดว่าบริษัทจะมีการจ่ายเงินปันผล เพราะยังมีขาดทุนสะสม ปัจจัยลบคือ 1) ผลการดำเนินงานระหว่างไตรมาสผันผวนสูง 2) อัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อทุนมาก คือมีความเสี่ยงทางการเงิน และ 3) ยังไม่เห็นปัจจัยที่จะกระตุ้นราคาหุ้นได้ในระยะนี้
          ด้านบริษัท ซีฟโก้ จำกัด (มหาชน) (SEAFCO) เปิดเผยถึงผลประกอบการใน Q2/54 ว่า มีผลกำไรสุทธิในงวด 3 เดือน และ 6 เดือน ของปี 2554 เท่ากับ 2.47ล้านบาท และ 9.71 ล้านบาท ในปี 2553 มีผลขาดทุนสุทธิเท่ากับ (20.40) ล้านบาทและ (42.31)ล้านบาท ซึ่งในงวด 3 เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 112.09 และในงวด 6 เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 122.95เนื่องจากบริษัทมีการควบคุมต้นทุนได้ดีขึ้นกว่าปี 2553
          ส่วนรายได้หลักในงวด 3 เดือน และ 6 เดือน ของปี 2554 เท่ากับ 377.97ล้านบาท และ 789.35 ล้านบาท ในปี 2553 เท่ากับ 341.35 ล้านบาท และ 769.78 ล้านบาท ซึ่งงวด 3 เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.73 และในงวด 6 เดือน เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.54 บริษัทฯ สามารถส่งมอบงานได้เพิ่มขึ้น
          ทั้งนี้บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD และ บริษัทเนาวรัตน์พัฒนาการ จำกัด (มหาชน) หรือ NWR สองผู้นำด้านรับเหมาก่อสร้างของไทย กลับมีผลประกอบการไนไตรมาสนี้ขาดทุน โดย ITD ขาดทุนเพิ่มเป็น 389.65 ล้านบาท ส่วน 6 เดือนขาดทุนพุ่งเป็น 597.10 ล้านบาท ส่วน NWR พลิกขาดทุน อยู่ที่ 70.43 ลบ. จากไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา กำไร 19.30 ล้านบาท ส่งผลให้งวด 6 เดือนขาดทุน 88.97 ลบ.
          ด้าน บริษัท ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ UNIQ แม้ว่าจะไม่ประสบปัญหาขาดทุนในช่วงไตรมาสนี้ แต่ผลประกอบการกลับออกมาไม่ดีนัก เนื่องจากมีกำไรลดลง อยู่ที่ 23.62 ลบ. จากไตรมาสเดียวกันของปี 2553 ที่มีกำไร 28.77 ล้านบาท ส่งผลงวด 6 เดือนกำไรลดลงอยู่ที่ 58.01 ลบ.
          เช่นเดียวกับ บริษัท คริสเตียนีและนีลเส็น (ไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ CNT ที่ผลประกอบการไตรมาส 2/2554 มีกำไรลดลงเหลือ 28.34 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไร 104.42 ล้านบาท ส่วนครึ่งปีแรกมีกำไร 75.30 ล้านบาท ลดลงจากช่วงครึ่งปีแรกในปี 2553 ที่อยู่ที่ 271.49 ล้านบาท
****************
ตารางแสดงผลการดำเนินงานกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง สิ้นสุด 30 มิ.ย.54 (ลบ.)
หลักทรัพย์ กำไร(Q2/54) กำไร(Q2/53) เปลี่ยนแปลง (ลบ.)   คิดเป็น(%)
CK         980.73           22.43          958.30      4272.40
CNT        28.34          104.42         (76.08)      (72.85)
EMC         4.73           (66.38)         71.11       107.12
ITD        (389.65)       (267.80)        (121.85)    (45.50)
NWR        (70.43)         19.30          (89.73)    (464.9)
PAE         13.40          (52.26)          65.66     125.64
PLE         33.92           10.57           23.35     220.90
SEAFCO    2.46            (20.38)        22.84     112.07
STEC       220.92          95.32        125.60     131.76
UNIQ       23.62            28.77          (-5.15)     (17.90)
รวม         848.04        -126.01        974.05     772.99